Skip to main content
sharethis

โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ตั้งอยู่เลขที่ 762 ถ.สิโรรส อ.เมือง จ.ยะลา เดิมเป็น โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม (ปอเนาะ) เพียงอย่างเดียว ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สอนทั้งวิชาศาสนาและสามัญ ขณะเริ่มเปิดดำเนินการ โรงเรียนยังไม่มีที่ดินและอาคารเรียนเป็นของตนเอง ต้องอาศัยโรงยางหลัง สุเหร่าบ้านกำปงบารู เป็นสถานที่เรียน

จนถึง พ.ศ. 2494 นายหะยีมูฮำหมัดตอเฮร์ สุหลง ได้อุทิศที่ดิน 7 ไร่ 3 งาน 45 ตารางวา ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 1 ติดถ.สายยะลา - ปัตตานี (ที่ตั้งโรงเรียนปัจจุบัน) ให้แก่โรงเรียน และด้วยความร่วมมือของพี่น้องประชาชนของหมู่บ้านกำปงบารู ได้ช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นในที่ดินดังกล่าว การเรียนการสอนในระยะเริ่มต้นยังไม่มีระบบเหมือนปัจจุบัน กล่าวคือยังไม่เป็นชั้นเรียน ไม่มีหลักสูตร ผู้บริหารขาดประสบการณ์

ต่อมานายหะยีฮารน สุหลง ได้เป็นผู้เข้ามาดำเนินการจัดระบบการเรียนการสอนภายในโรงเรียน ตามที่เห็นสมควร ระยะแรกเปิดรับเฉพาะนักเรียนชายเข้าเรียน ต่อมาเปิดรับนักเรียนหญิง โดยแยกเป็น 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ และ โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ เปิดสอนวิชาศาสนาเพียงอย่างเดียว

พ.ศ.2506 ยื่นคำร้องต่อทางราชการเพื่อขอจัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้น เรียกว่า "อิสลามวิทยามูลนิธิ" และได้รับอนุญาตในกลางปีนั้นเอง นายหะยีฮารน สุหลง ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูใหญ่ และผู้จัดการโรงเรียน และได้ยกทรัพย์ทั้งหมดของโรงเรียนให้อยู่ในความควบคุมดูแล และรับผิดชอบของมูลนิธิ มูลนิธิจึงเป็นผู้บริหารโรงเรียนในรูปของคณะกรรมการจึงได้มีการปรับปรุงการเรียนการสอนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

หลังจากนั้น 2 ปีก็เปิดสอนวิชาศาสนาควบคู่วิชาสามัญเป็นครั้งแรก และขยายอาคารสถานที่และชั้นเรียนเรื่อยมา ปัจจุบันมีมีครูศาสนา จำนวน 196 คนครูสามัญ จำนวน 204 คน และมีโรงเรียนในเครืออิสลามวิทยามูลนิธิ 5 แห่ง คือ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ สาขาจะนะ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ สาขาเบตง โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ สาขาบันนังสตา

ปรัชญา วัตถุประสงค์ นโยบาย มาตรการและแนวทางการพัฒนา
โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนมาตรา 15 (1) เปิดทำการสอนวิชาศาสนาอิสลามควบคู่วิชาสามัญ เป็นโรงเรียนที่มีแนวดำเนินการแตกต่างไปจากโรงเรียนเอกชนทั่วไป คือเป็นโรงเรียนที่เปิดเพื่อการกุศล ไม่ใช่เพื่อธุรกิจ จากสาเหตุดังกล่าว จึงทำให้โรงเรียนประเภทนี้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวค่อนข้างสูง การพัฒนาจึงมีรูปแบบของตนเอง
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ซึ่งบังคับให้ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนรู้หลักการของศาสนาอิสลาม
2. เพื่อสงเคราะห์นักเรียนกำพร้า - อนาถา
3. เพื่อส่งเสริมนักเรียนด้านการศึกษาศาสนาอิสลาม วิชาสามัญ และวิชาชีพ
4. เพื่อสนับสนุนและให้คำแนะนำนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสทางการศึกษาเล่าเรียน
5. เพื่อปลูกฝังศาสนาอิสลามแก่เยาวชน
นโยบาย
1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียน ได้ดำเนินชีวิตตามแบบแผนและหลักการของศาสนาอิสลามอย่างถูกต้อง
2. เน้นการปฏิบัติศาสนา เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความสามัคคี และ หน้าที่รับผิดชอบต่อตนเอง สังคม ประเทศชาติ
3. พัฒนาทรัพยากรของโรงเรียนเพื่อนำมาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนา การศึกษา
4. ปลูกฝังค่านิยม เจตคติที่ดี เคารพยึดมั่นต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
มาตรการ
1. นักเรียนทุกคนต้องเรียนวิชาศาสนาอิสลามเป็นวิชาบังคับ
2. นักเรียนที่จบชั้นสูงสุดด้านศาสนาอิสลามจะผ่านการฝึกภาคปฏิบัติ (ฝึกสอน) เพื่อหาประสบ การณ์
3. เน้นการเรียนให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด
4. นักเรียนจะต้องปฏิบัติศาสนกิจประจำวันตามหลักการของศาสนา
5. จัดหาทุนเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนยากจนได้เรียนฟรี
หลักสูตร ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ

1. วิชาศาสนาอิสลาม
- หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น (อิบตีดาอียะห์) 4 ปี
- หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนกลาง (มูตาวัสซีเตาะห์) 3 ปี
- หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลาย (ซานาวียะห์) 3 ปี

สาระสำคัญโปรแกรมวิชาที่เปิดสอน
อัล-กุรอาน กิจกรรมศาสนา เอกภาพ ศาสนบัญญัติ หลักการอ่านกุรอาน วากยสัมพันธ์ อักขรวิธี การอ่าน การเขียน เรียงความ สนทนา วรรณคดี ศาสนประวัติ จริยธรรม

2. วิชาสามัญ
- หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ. 2521
- หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2524
- หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2533
- หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2534

โปรแกรมวิชาที่เปิดสอน
ม.ต้น เปิด 2 กลุ่มวิชา
1. กลุ่มวิชาอังกฤษ - คณิต - สังคม
2. กลุ่มวิชาวิทย์ - คณิต
ม.ปลาย เปิด 3 กลุ่มวิชา
1. กลุ่มวิชาวิทย์ - คณิต
2. กลุ่มวิชาคณิต - สังคม
3. กลุ่มวิชาอังกฤษ - สังคม

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net