Skip to main content
sharethis

ไม่ใช่เรื่องแปลกอันใด ที่ "นายชวน หลีกภัย" ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะตกปากรับคำ "นายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมหมัด" นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

เป็นการตกปากรับคำ ขณะนายกรัฐมนตรีใหม่หมาดของไทยนาม "นายชวน หลีกภัย" เดินทางไปเยือนมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 6 - 8 มกราคม 2536

เป็นการตกปากรับคำว่า จะร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะไตรภาคี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ภาคเหนือของมาเลเซีย ภาคเหนือของเกาะสุมาตรา แห่งอินโดนีเซีย

เป็นการตกปากรับคำ ภายใต้การริเริ่มและผลักดันของมาเลเซีย

แล้วภาระในการจัดทำร่างขอบเขตการศึกษาทั้งมวล ก็ตกอยู่กับ "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ"

รวดเร็วปานสายฟ้าแลบ "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ได้จัดทำร่างขอบเขตการศึกษาแล้วเสร็จ พร้อมกับประสานจัดส่งร่างขอบเขตการศึกษาฉบับนี้ ให้ "สำนักงานวางแผนกลาง" ของมาเลเซียและอินโดนีเซียนำไปพิจารณา ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2536

เมื่อ "นายชวน หลีกภัย" ในฐานะนายกรัฐมนตรีน้องใหม่ เดินทางไปเยือนอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 26 - 28 เมษายน 2536 "ประธานาธิบดีซูฮาร์โต" แห่งอินโดนีเซีย ก็ให้ความเห็นชอบต่อแนวคิดความร่วมมือดังกล่าว

อันนำมาสู่ความเห็นชอบร่วมกันของทั้ง 3 ประเทศ ที่จะร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยมาเลเซียรับเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมไตรภาคีระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสพิเศษ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 19 - 20 กรกฎาคม 2536
การประชุมครั้งนั้น ได้กำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางความร่วมมือ โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "Indonesia - Malasia - Thailand Growth Triangle : IMT - GT" หรือ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย" ที่บรรดาสื่อมวลชน ต่างคุ้นเคยกันในชื่อย่อ IMT - GT

อันเป็นขอบเขตการศึกษาและแนวทางความร่วมมือ ที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์ ต้องการให้ภาคเอกชนในพื้นที่ความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศ เป็นผู้นำในด้านการค้าการลงทุน

ส่วนภาครัฐจะทำหน้าที่สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และขจัดอุปสรรคในการผ่านแดนและมาตรการกีดกันการค้า เพื่อเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เสริมสร้างความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีเฉพาะด้าน และพัฒนาความเชื่อมโยงการท่องเที่ยว การสื่อสาร

ถึงกระนั้น ไทยยังมีวัตถุประสงค์เฉพาะอีกต่างหาก นั่นคือ ต้องการจะยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ ให้ก้าวขึ้นสู่ระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการค้าการลงทุนกับเกาะสุมาตรา

พร้อมกับหวังให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และยังต้องการให้แรงงานจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปทำงานในมาเลเซียได้โดยถูกต้อง เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

นี่คือ จุดเริ่มต้นของ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย และอินโดเซีย" ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้กว่า 10 ปี ล่วงแล้ว ดังปรากฏผลการดำเนินงาน ที่แบ่งออกเป็น 3 ช่วง

ช่วงแรก ระหว่างปี 2536 - 2537 : วางแนวคิดและศึกษาจัดทำกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย โดยได้รับการสนับสนุนการศึกษาจาก "ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย" หรือ "ADB" เพื่อใช้เป็นกรอบหลัก ในการพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่าย

อันส่งผลให้ "ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย" หรือ "ADB" ธนาคารที่มีญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แห่งนี้ มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนา และกำหนดกรอบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ IMT - GT สูงยิ่ง

ช่วงที่สอง ระหว่างปี 2538 - 2544 : เป็นช่วงของการดำเนินงาน ตามกรอบความร่วมมือ ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าการค้าในพื้นที่ IMT - GT ขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อันเห็นความเติบโตได้ชัดเจน ในช่วงปี 2533 - 2543 ทั้งๆ ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งไหม้ลามไปทุกหย่อมหญ้าของทั้ง 3 ประเทศ ทว่า มูลค่าการค้าโดยเฉลี่ย ยังคงเพิ่มขึ้น 4 - 6 เท่า

พร้อมกับมีการเปิดเสรีทางการบินระหว่างกันในพื้นที่ ซึ่งตามมาด้วย การขยายเวลาเปิดด่านชายแดน ตลอดจนปรับปรุงกฎระเบียบการอำนวยความสะดวก เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน

ช่วงที่สาม ระหว่างปี 2545 - ปัจจุบัน : ปรับแนวทางความร่วมมือใหม่ ที่เน้นการนำไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะความร่วมมือตามแผนงาน หรือโครงการที่ภาคเอกชนสนใจอย่างแท้จริง และสามารถปฏิบัติได้

ข้อพึงพิจารณาอย่างเป็นพิเศษ ก็คือ ยุทธศาสตร์ไทยในเวที "IMT - GT" ที่บัดนี้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ

หนึ่ง ยุทธศาสตร์ระดับนโยบาย : ขยายพื้นที่ความร่วมมือของไทยใน IMT - GT ให้มากขึ้น โดยเพิ่มจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง รวมพื้นที่ประมาณ 18,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อให้ขนาดพื้นที่ความร่วมมือของไทย ใกล้เคียงกับขนาดพื้นที่เขตความร่วมมือของมาเลเซีย

สนับสนุนการขยายฐานเศรษฐกิจ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และส่งเสริมภาคเอกชนเป็นผู้นำหลักในการเข้าไปดำเนินธุรกิจในพื้นที่ IMT - GT มากขึ้น โดยเฉพาะในเกาะสุมาตรา โดยภาครัฐจะสนับสนุนการแสวงหาข้อมูล และข่าวสารเชิงลึก ในการลงทุนและประกอบธุรกิจ

รวมทั้ง การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยด้วยกันเอง ภายใต้แผนกลยุทธที่ชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ IMT - GT ได้จริง

สอง ยุทธศาสตร์ระดับปฏิบัติการ : หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะต้องเร่งดำเนินการตามกรอบความร่วมมือให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยจัดทำแผนปฏิบัติการ และติดตามขจัดปัญหาอุปสรรคอย่างใกล้ชิด

สาม ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ : ปรับกลไกและการดำเนินงานภาคเอกชนและภาครัฐ โดยให้ภาคเอกชนมีบทบาทการเป็นผู้นำในการพัฒนา มีทิศทางและแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างเหมาะสม
ส่วนภาครัฐจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก และสนับสนุนให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างคล่องตัว และมีอุปสรรคน้อยที่สุด โดยมีแผนปฏิบัติการเชิงรุก - เชิงลึกมากขึ้น และติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธได้ทันท่วงทีในอนาคต

นี่คือ ภาพรวมของ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย" หรือ "Indonesia - Malasia - Thailand Growth Triangle : IMT - GT" ณ วันนี้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net