Skip to main content
sharethis

"เราบอกเราใช้ก๊าซ เขายังบอกชาวบ้านว่าเราใช้ถ่านหิน เราบอกว่าใช้ก๊าซ 25 ปี เขาบอกว่าวันหนึ่งเราจะหมกเม็ดเปลี่ยนเป็นถ่านหิน…เราเป็นคนชี้แจงเองว่าเราย้ายมาจากโครงการที่บ่อนอก แต่หลังจากประชาคมไปแล้ว เขาก็ไปเปิดประเด็นว่าเราไม่ยอมรับ" ......สัมภาษณ์ "ธีระศักดิ์ จตุรพรประสิทธิ์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท กัลฟ์อิเล็คตริก จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการ "โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2" กับประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่

ในวันที่ 1 มี.ค. 2550 หรืออีกราว 27 เดือนข้างหน้า โรงไฟฟ้าแก่งคอย2 จังหวัดสระบุรีของบริษัท กัลฟ์ พาเวอร์เจนเนอเรชั่น จำกัด ก็จะต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเครื่องแรก 734 เมกกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)

ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลา 30 เดือน รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการ อีกทั้งการต่อต้านจากชาวบ้านบางกลุ่มในพื้นที่ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงพอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่าความตึงเครียดในพื้นที่กำลังงวดเข้าทุกขณะ

ประมาณ 2 เดือนก่อนหน้านี้ เรามีโอกาสเข้าไปสอบถามเรื่องราวและข้อกังวลใจจากกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าในพื้นที่แก่งคอย โดยแกนหลักเห็นจะหนีไม่พ้น "ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย" และได้ข้อมูลมากมายมานำเสนอ ซึ่งก่อให้เกิดประเด็นคำถามต่อบริษัทเจ้าของโครงการจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

กระทั่งวันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับระดับผู้บริหารโรงไฟฟ้าอย่าง "ธีระศักดิ์ จตุรพรประสิทธิ์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท กัลฟ์อิเล็คตริก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด และเป็นที่ปรึกษาโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย2 เพื่อให้ได้ข้อมูลและภาพอีกด้านหนึ่งมาต่อเชื่อมเรื่องราว พร้อมกับค้นหาคำตอบของหลายคำถาม โดยเฉพาะประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
. . . . . . . . . . .

อาจเป็นเพราะความรำคาญใจที่ข้อมูลบนเว็บไซต์ "ประชาไท" ถูกนำเสนอเพียงฝ่ายเดียวมานานพอสมควร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของบริษัทกัลฟ์ฯ จึงเริ่มต้นชี้แจงข้อมูลที่เขาระบุว่า "คลาดเคลื่อน" ไล่เรียงตั้งแต่ที่มาที่ไปของโครงการ ซึ่งชมรมอนุรักษ์ฯ ยืนยันว่าโรงไฟฟ้าปกปิดกับคนในพื้นที่มาโดยตลอด

"ในวันที่จัดประชาคมที่เทศบาลแก่งคอย เราเป็นคนชี้แจงเองว่าเราย้ายมาจากโครงการที่บ่อนอก แต่หลังจากประชาคมไปแล้ว เขาไปเปิดประเด็นว่าเราไม่ยอมรับ ทั้งที่เราชี้แจงชัดเจนว่าเหตุที่ต้องย้ายมาเพราะอะไร ปัญหาที่ต้องย้ายมาเพราะอะไร การเจรจาระหว่างเรากับรัฐมีความเป็นมาอย่างไร เพราะผมเองก็ไม่มีเหตุต้องไปปิดบังอำพรางว่าเรามาจากไหน อย่างไร เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงต่อสาธารณะชน"

พร้อมๆ กันนั้น ธีระศักดิ์สะท้อนความไม่เข้าใจว่า เหตุใดกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้า ซึ่งร่วมฟังการชี้แจงในเกือบทุกเวทีจึงยังคงนำเสนอข้อมูลราวกับไม่เคยได้ยินได้ฟังคำตอบ กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีการปราศรัยกันอยู่ว่าโรงไฟฟ้านี้ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง

"เราบอกเราใช้ก๊าซ เขายังบอกชาวบ้านว่าเราใช้ถ่านหิน เราบอกว่าใช้ก๊าซ 25 ปี เขาบอกว่าวันหนึ่งเราจะหมกเม็ดเปลี่ยนเป็นถ่านหิน เรื่องถ่านหินนี้น่าจะจบไปได้แล้ว รวมทั้งที่บอกว่าทำให้เกิดฝนกรดก็น่าจะจบได้แล้ว เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ซัลเฟอร์ต่ำที่สุด ต่ำจนค่าพารามิเตอร์จับไม่ได้"

"ก๊าซธรรมชาติ" สะอาด-ปลอดภัยไร้กังวล

นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวครั้งแรกๆ ชมรมอนุรักษ์ฯ พยายามนำเสนอตัวอย่างปัญหาของโรงไฟฟ้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าแก่งคอย2 ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่ออธิบายความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

โดยมีการยกประเด็นผลกกระทบทั้งน้ำเสีย และอากาศเป็นพิษจนเกิดฝนกรดทำลายสวนส้มรอบๆ "โรงไฟฟ้าวังน้อย" ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าแก่งคอย2

เรื่องนี้ที่ปรึกษาโรงไฟฟ้าแก่งคอย2 ยืนยันว่าจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยถึง 3 แห่งเมื่อราว 2-3 ปีก่อน ไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่ระบุว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นที่วังน้อย มีสาเหตุมาจากโรงไฟฟ้าแต่อย่างใด

โดยเฉพาะคำยืนยันของผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่าง รศ.ดร.วราวุธ เสือดี ที่ระบุว่า "โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ผลกระทบในเรื่องของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ต่ำแทบจะไม่มี เพราะก๊าซเป็นพลังงานสะอาด" บนเวทีสัมมนาที่ชมรมอนุรักษ์ฯ จัดขึ้น

แม้รศ.ดร.วราวุธ จะเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 แต่ธีระศักดิ์ยืนยันความเป็นอิสระทางวิชาการของดร.ท่านนี้ ประกอบกับรศ.ดร.วราวุธไม่ได้ส่วนได้ส่วนเสียกับโรงไฟฟ้า เพราะไม่ได้ร่วมประเมินโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ทั้งยังไปให้ข้อมูลในเวทีสัมมนาโดยไม่ได้บอกทางบริษัทล่วงหน้า

คำถามจากโรงไฟฟ้า

ขณะเดียวกันก็มีคำถามจากที่ปรึกษาโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย2 กลับไปยังกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าว่า เหตุใดความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมจึงพุ่งเป้ามายังโรงไฟฟ้าเท่านั้น ในขณะที่ปัญหาจากโรงงานอื่นๆ ในพื้นที่ก็ยังเป็นประเด็นปัญหาอีกมากมาย และไม่ได้รับการแก้ไข พร้อมทั้งเชื่อมโยงไปถึงความชอบธรรมของกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วย

"ขณะที่ใช้ชื่อชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คนที่มาค้านผมเป็นเจ้าของโรงงานที่ใช้ถ่านหิน 2 โรงและบุกรุกที่สาธารณะ มีคดีกันอยู่ในขณะนี้ ก็ยังมาค้านผมซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติ ประธานชมรมก็เป็นผู้จัดการโรงโม่หินที่ไม่มีสัมปทานที่หน้าพระลาน"

นอกจากนี้เขายังระบุว่า มีการจัดตั้งผู้คนบางส่วนในการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้า พร้อมทั้งแสดงเอกสารร้องเรียนของคนงานจากโรงงานหนึ่ง ซึ่งร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัดว่า เจ้าของกิจการบังคับให้ไปเดินขบวนต่อต้านโรงไฟฟ้าโดยไม่จ่ายค่าแรง

EIA ความมั่นใจที่ไม่อาจเปิดเผย

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั้น หลายๆ ประเด็นเขาพร้อมจะให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ในขณะที่บางประเด็นโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผู้ประกอบการเช่นเขายังต้องรักษามารยาท เพราะได้นำเสนอต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้วตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการ

"มีหลายเรื่องที่เราชี้แจงข้อมูลในเวทีต่างๆ ไปแล้ว รวมทั้งข้อมูลเรื่องสารเคมีที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย แต่หากเปิดเผยจะเป็นการเสียมารยาท เนื่องจากมันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการ และคงต้องใช้เวลาพิจารณาอีกซักระยะ ยังไม่สามารถจะออกมาเป็นคอมมิทเม้นท์กับชุมชนได้"

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทกัลฟ์ให้ข้อมูลด้วยว่า แม้ว่ายังไม่มีกฎหมายลูกกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องทำอีไอเอ แต่บริษัทก็ยินดีจัดทำ ด้วยเข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี โดยผู้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับโรงไฟฟ้าแก่งคอย2 คือ บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด

โครงการนี้ก็เช่นเดียวกับโครงการใหญ่หลายๆ โครงการ ซึ่งว่าจ้างให้บริษัทเอกชนเป็นผู้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งธีระศักดิ์ชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นเสมือนตราบาปของผู้ประกอบการ ที่ไม่ว่าจะไปทางไหนก็เลี่ยงไม่พ้นข้อสงสัย ต่อให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้จัดทำรายงานอีไอเอ ก็ยังถูกตั้งคำถามกับความเป็นอิสระ เนื่องจากมหาวิทยาลัยก็รับจ้างจากผู้ประกอบการอยู่ดี

"นอกเหนือจากการจ้างบริษัททีมฯ แล้ว เรายังจ้างนักวิชาการภายนอก เพื่อตรวจสอบข้อมูลซ้ำ เพราะเราลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และต้องอยู่ร่วมกับชุมชนถึง 25 ปี ฉะนั้น ในการจัดทำรายงานต่างๆ จะต้องมีการรีเช็คข้อมูล"

"กระบวนการจัดทำ EIA ของเราให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น สิ่งเหล่านี้ถ้าพวกผมทำไม่สมบูรณ์แบบ สิ่งที่มันขาดมาช่วยกันเติม สิ่งที่ไม่เหมาะสมมาแสดงความเห็นกัน แต่ไม่ใช่ว่าทั้งหมดคือสิ่งผิดและเลวร้าย" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทกัลฟ์สะท้อนความอึดอัด

อย่างไรก็ตาม เขาเองก็ต้องการรู้ผลการพิจารณาอีไอเอไม่แพ้กับชาวบ้านที่คัดค้านโครงการ เพราะนั่นหมายถึงอนาคตของโรงไฟฟ้า เนื่องจากต้องใช้อีไอเอในการขอใบอนุญาตอย่างน้อย 3 ประเภท ทั้งใบสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้า ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและจุดปล่อยน้ำ ถ้าอีไอเอไม่ผ่าน ใบอนุญาตก็ไม่ตามมา

ปัญหาว่าด้วย "น้ำขาด-น้ำเสีย"

ธีระศักดิ์เล่าว่า ในการทำอีไอเอนั้น ทางบริษัทมีการแก้ไขเพิ่มเติมรายงานอยู่ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเป็นการเพิ่มเติมในส่วนของบ่อเก็บกักน้ำ เนื่องจากได้รับฟังความกังวลจากชาวบ้านว่าโรงไฟฟ้าจะไปแย่งน้ำในแม่น้ำป่า ซึ่งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง

ดังนั้น จึงมีการปรับปรุงพื้นที่เก็บน้ำสำรองที่จะสูบน้ำในช่วงฤดูฝนมาเก็บไว้ใช้หากเกิดวิกฤตการณ์ขาดน้ำ จากเดิมพื้นที่นี้จุได้ประมาณ 500,000 ลูกบาศก์เมตร ก็จะซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อขยายพื้นที่สำรองน้ำเป็น 1,300,000 ลูกบาศก์เมตร โดยธีระศักดิ์ยืนยันว่า ด้วยปริมาณน้ำขนาดนี้ ต่อให้โรงไฟฟ้าหยุดสูบน้ำไปเลย ก็ยังสามารถเดินเครื่องได้ต่อถึง 1 เดือน

ในส่วนข้อสงสัยเรื่องการบำบัดน้ำเสียนั้น เขายืนยันว่าได้เปิดเผยเรื่องสารเคมี และกระบวนการบำบัดต่อผู้ที่สงสัยไปเรียบร้อยแล้ว

"เรื่องสารเคมี กระบวนการบำบัด เปิดเผยหมดแล้ว แต่ประเด็นเรื่องตัวเลขสารเคมีที่ชอบยกกันมา ต้องเรียนว่าภายใต้มาตรฐานกฎหมาย ณ ขณะนี้เราไม่ผิด แต่สิ่งที่สังคมและชุมชนจะได้คือสิ่งที่เราทำดีกว่ามาตรฐานสูงสุดที่กฎหมายกำหนด ซึ่งนี่เป็นนโยบายของบริษัทที่ทำกับทุกบริษัท แย่ที่สุดของเราคืออยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย"

นอกจากนี้เขายังยืนยันถึงข้อสรุปเรื่องน้ำ โดยอธิบายการใช้น้ำในกระบวนการผลิตไฟฟ้าว่า น้ำจากแม่น้ำป่าสักที่สูบเข้ามา จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งทำเป็นน้ำประปาใช้ในโรงไฟฟ้าและระบบหล่อเย็น อีกส่วนหนึ่งคือ น้ำปราศจากแร่ธาตุ เพื่อหมุนเวียนในหม้อไอน้ำ กระบวนการทำมีการใช้สารเคมีบางตัวและมีต้นทุนสูง จึงหมุนเวียนใช้ในระบบโดยไม่ปล่อยออก

"ในเวทีสาธารณะวันที่ 8 สิงหาที่มีคนเข้าร่วมเกือบ 3,000 คน มีสมาชิกสภาเทศบาลแก่งคอยจำนวน 11 คนจาก 12 คน มีผู้นำชุมชนทั้ง 16 ชุมชน ได้บอกกับเราว่าจากการที่เข้าไปศึกษาดูงานแล้วศึกษาข้อมูลต่างๆ เขาเชื่อมั่นว่าน้ำไม่มีปัญหา น้ำจากโรงไฟฟ้าไม่ใช่น้ำในกระบวนการล้างขวด ต้มปลาหรือไปปรุงแต่งอะไร"

ส่วนพีระพันธ์ ศรีสุโข ผู้จัดการทั่วไปบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ที่ช่วยอธิบายเรื่องกระบวนการใช้น้ำในโรงไฟฟ้าอย่างละเอียด ได้สรุปยืนยันว่า ระบบน้ำที่ใช้ในโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 นั้นถือดีกว่าโรงไฟฟ้าแก่งคอย1 เพราะโรงไฟฟ้ายิ่งทันสมัยมากขึ้นระบบก็ยิ่งดีขึ้น จากเดิมของแก่งคอย 1 ใส่เชื้อเพลิงไป 100 ได้พลังงานออกมา 45 แต่ที่แก่งคอย 2 ได้ถึง 50
"เครื่องจักรของเรา ถ้า ณ วันนี้ต้องเรียกว่ารุ่นล่าสุดของโลก"

ความมั่นใจในคุณภาพการบำบัดน้ำของโรงไฟฟ้า นำไปสู่การตอบคำถามเรื่องการต่อท่อน้ำที่จะปล่อยลงแม่น้ำป่าสักยาวถึง 8.9 กม.จากที่ตั้งโรงไฟฟ้า และมีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท โดยคำอธิบายเรื่องนี้ก็คือ จุดปล่อยน้ำที่ใกล้กับโรงไฟฟ้าบริเวณเทศบาลแก่งคอยนั้น มีปัญหาน้ำเสียอยู่เดิม เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียอยู่ถึง 5 แห่ง

"ไม่มีใครยอมรับว่าทำน้ำเสีย และเราไม่อยากเป็นจำเลยที่ 6" ธีระศักดิ์กล่าว

กระนั้นก็ตาม เคยมีข้อเสนอจากเทศบาลแก่งคอย ที่ต้องการให้โรงไฟฟ้าไปปล่อยน้ำในเขตเทศบาล แล้วขอรับเงินส่วนต่างที่วางท่อจากโรงไฟฟ้ามาถึงเทศบาล ที่ทุ่นไป 8 กม.

"ส่วนต่างตรงนี้เขาขอมาทำบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาล ซึ่งทางเราก็ยินดี แต่ว่าการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเรื่องบ่อบำบัดต้องแยกออกจากเรา แต่ถ้าฝ่ายเทศบาลไม่สามารถพูดคุยกับผู้บริหารได้เราก็ต้องทำตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเราไป เพราะเรารอกันไม่ได้"

นอกจากนี้บริเวณจุดปล่อยน้ำ โรงไฟฟ้ามีโครงการจะสร้างสถานีตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนปล่อยออกบนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ และจะยกสถานีนี้ให้เป็นสวนหย่อมของชุมชนของคณะกรรมการภาคชุมชนที่จัดตั้งมา คือตำบลสองคอน และตำบลตาลเดี่ยว ทำให้สามารถตรวจค่าของน้ำที่ขึ้นบนจอได้ตลอด 24 ชม. รวมทั้งสามารถไปตรวจน้ำที่ปล่อยออกจากบ่อพักได้ด้วย

ณ บริเวณจุดปล่อยน้ำนี้ โรงไฟฟ้ายังมีโครงการจะให้พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของโครงการ "นักสืบสายน้ำป่าสัก" ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลแม่น้ำ โดยเป็นโครงการที่ทำร่วมกับโรงไฟฟ้าตลอด 25 ปี เพื่อส
มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net