Skip to main content
sharethis

ประชาไท-17 ธ.ค.47 นายอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่โครงการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิป ไตยในพม่า (กรพ.) กล่าวถึงแนวโน้มการย้ายถิ่นในอนาคตว่าปัจจัยสำคัญหนึ่งในการย้ายถิ่นในภูมิภาค คือการเกิดเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งการสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับไม่ให้คนย้ายถิ่นนั้นเป็นไปไม่ได้

เพราะจากประสบการณ์ของเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ( NAFTA) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ยังมีการย้ายถิ่นเหมือนเดิม เนื่องจากมีปัจจัยดึงดูดอย่างอื่น นอกจากนี้การสร้างเขตเศรษฐกิจทำให้ต้องมีการลงทุนในปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เช่น การสร้างถนน การสร้างเขื่อน ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ต้องเกิดการเคลื่อนย้าย และในพื้นที่ประเทศที่มีสถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ เช่น พม่าจะมีการเคลื่อนย้ายจำนวนมาก

"จุดที่น่าจับตาตอนนี้ คือ ชายแดนไทย-ตอนเหนือของพม่าและ ชายแดนไทย-ลาว เพราะมีโครง การต่างๆ เข้าไปในพื้นที่ซึ่งจะส่งผลให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายคนจำนวนมาก เพราะจากกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วคือส่วนหนึ่งของกะเหรี่ยงและมอญจากพม่า ที่มาเป็นคนงานและอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยมาจากพื้นที่ที่ก่อสร้างท่อก๊าซไทย-พม่า" นายอดิศร กล่าว

นายอดิศร กล่าวอีกว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การลงทุนและการจ้างงานระดับโลก ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการย้ายถิ่น โดยเฉพาะการถอนความช่วยเหลือขององค์การการค้าโลก(WTO) จะทำให้โรงงานสิ่งทอในกัมพูชาต้องถอนออกไป ซึ่งจะส่งผลให้คนงานจากกัมพูชาย้ายเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น ในส่วนคนไทยก็มีแนวโน้มว่าจะไปทำงานที่เกาหลีมากขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงระบบการจ้างงานใหม่ที่ดีขึ้น

ด้านนายวสันต์ สาทร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว(กบร.) กล่าวว่าสถานการณ์การลงทุนในประเทศยังทรงตัวดังนั้นแนวโน้มการพัฒนาประเทศน่าจะไปในระดับที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ การย้ายถิ่นมาในประเทศไทยจึงน่าจะไม่ลดลงนอกจากการพัฒนาเศรษฐ กิจในประเทศเพื่อนบ้านจะก้าวกระโดซึ่งคงเป็นไปไม่ได้

"ข้อตกลงระหว่างประเทศหรือระดับภูมิภาคจะเป็นการเปิดประตูให้ประเทศต่างๆ ได้ผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายคน ซึ่งในอนาคตน่าจะมีการเคลื่อนย้ายคนโดยไม่มีขีดของกฎหมาย แต่ระยะเวลาก็ขึ้นอยู่กับผู้นำของแต่ละประเทศ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU)เรื่องแรงงานกับทั้งลาว พม่า เขมร ซึ่งพยายามให้ถูกกฎหมาย" ผอ.กบร. กล่าว

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net