การเมืองแพร่ ขับเคี่ยว - เคี้ยวกันไม่ขาด

ความเข้มข้นของการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา ของเวลาที่งวดใกล้เข้ามาถึงวันเลือกตั้งมาทุกขณะ
แต่ความดุ เด็ด เผ็ด มัน ดูเหมือนกำลังเทกันไปรวมที่เมืองแพร่ - เมืองที่เลือดสาดกระเซ็นไปก่อนหน้านี้และได้รับสมญาว่า "เมืองนักเลงและเต็มไปด้วยมือปืน"

คล้อยหลังการไปเยือนแพร่ของหัวหน้าพรรคไทยรักไทยผู้นำรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และประกาศลั่นว่าเมืองแพร่มีอิทธิพล 2 วันจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าตรวจค้นจุดต้องสงสัย 11
จุดพร้อมกันซึ่งล้วนเป็นบ้านพักของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น เกิดอะไรขึ้น

ก่อนหน้านี้เมื่อกลางปี 2547 แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ คนสนิทของนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรูถูกยิงเสียงชีวิต ด้วยเหตุขัดแย้งในธุรกิจใบยาสูบซึ่งเป็นธุรกิจการเมืองในภาคเหนือ นักการเมืองของจังหวัดแพร่เองก็ผูกชีวิตไว้กับธุรกิจยาสูบหลายคน งานนี้นายชวน หลีกภัย ผู้นำฝ่ายค้านเดินทางมาร่วมพิธีศพด้วยตนเอง

วันที่ 4 ธันวาคม นายภิญโญ เสือเพชร นายกอบต.แม่ยางตาล ถูกยิงเสียชีวิตในบ้านญาติของตนเองที่ ต.แม่ยางตาล ตำรวจมุ่งประเด็นไปที่การเมือง เนื่องจากนายภิญโญ เป็นหัวคะแนนคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย

คืนวันที่ 9 ธ.ค. นายเจริญ จันทนู อดีตข้าราชการครูในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 1 จังหวัดแพร่ บิดาของนางสาวทรัตน์ภร จันทนู เลขาฯ นายอนุวัธ วงศ์วรรณ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต
2 พรรคไทยรักไทย ถูกมือปืนประกบยิงกลางถนน บริเวณต.แม่หล่าย อ.เมือง จ.แพร่ แต่เหยื่อกระสุดรอดหวุดหวิด

เพียงเริ่มต้นยกแรกของการเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดแพร่ ไม่กี่วันความวุ่นวายก็บังเกิดขึ้นในพื้นที่แพร่ให้อุณหภูมิได้ร้อนระอุขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว

-----------------------------------------------

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ และนายอนุวัธ วงศ์วรรณ 3 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดแพร่จากพรรคไทยรักไทย ทั้ง 3 เขตเลือกตั้ง ก็ได้เปิดแถลงข่าวทันทีที่หัวคะแนนโดนยิงโดยระบุว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมเดิมๆ ที่มีการสังหารคนที่ทำงานการเมืองในท้องถิ่นมาทุกปี ครั้งนี้เกิดกับคุณเจริญซึ่งไม่เคยมีเรื่องกับใครมาก่อนนอกจากเรื่องการเมืองหลังจากเข้ามาสนับสนุนพรรคไทยรักไทย และส่งลูกสาวลงเล่นการเมืองในสนาม ส.จ. ซึ่งการเลือกตั้ง ส.จ.ครั้งล่าสุดมีความขัดแย้งกับกลุ่มผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงเนื่องจากคะแนนแพ้ชนะสูสี ต้องนับคะแนนถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้ อ.หนองม่วง ถือเป็นพื้นที่ชี้เป็นชี้ตายในการเลือกตั้ง ส.ส. เขต 2
ดังนั้นอาจมีผู้ไม่หวังดีต้องการได้คะแนนเสียงในพื้นที่นี้ให้มากที่สุดก็เป็นได้

นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่งดูแลพื้นที่เลือกตั้งภาคเหนือ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์คาดหวังว่าคนแพร่อยากจะเปลี่ยนแปลงและผู้สมัคร ทรท.ก็พร้อมให้เลือกทรท.ทั้งหมด
ก็คงจะหมดสมัยที่จังหวัดแพร่เป็นจังหวัดอิทธิพล และตนเองจะดูแลจังหวัดแพร่เป็นกรณีพิเศษ เพราะเมื่อวันที่10 ธ.ค. ก็ได้รับการร้องเรียนจากผู้สมัครของพรรคว่ารถถูกยิงจนพรุน ซึ่งเรื่องอิทธิพลเช่นนี้น่าจะหมดสมัยได้แล้ว

จากนั้นในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ขึ้นปราศรัยที่สนามเทศบาล อ.สอง ว่า "ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรีพวกนักเลงต้องชิดซ้าย คนแพร่เลือกแม่เลี้ยงติ๊ก มาหลายครั้งแต่ได้ไปเป็นฝ่ายค้าน คราวนี้ให้เปลี่ยนมาเลือกนายอนุวัธ ลูกพรรคไทยรักไทยคือตัวแทนของผม ต้องเอาตระกูลวงศ์วรรณมาสู้ ถึงจะได้ คราวที่แล้วมาหาเสียงมาแต่พวกนักเลง แต่คราวนี้ไม่มีเด็ดขาด"

ซึ่งหลังจากที่นายกฯทักษิณได้เข้าไปเดินสายช่วยลูกพรรคหาเสียงที่จังหวัดแพร่เพียง 2 วัน 14 ธันวาคม พ.ศ.2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าค้นบ้านพักของนายสุรพงศ์ ศุภศิริ และนางพรพิไล ศุภศิริ ส.อบจ.กลุ่ม "ฮักเมืองแป้" ซึ่งเป็นพี่ชาย-พี่สะใภ้ของนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู หรือแม่เลี้ยงติ๊ก ส.ส.แพร่พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งได้เข้าตรวจค้นบ้านของ แกนนำของพรรคประชา
ธิปัตย์ในพื้นที่จังหวัดแพร่ พร้อมกันรวม 11 จุด เจ้าหน้าที่ยึดปืนลูกซองยาวจำนวน 6 กระบอก ปืนพกอีก 1 กระบอก แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ

นางพรพิไล เปิดเผยว่า เสียใจกับการกระทำของรัฐที่ใช้อำนาจเข้าตรวจค้นบ้านของตน ซึ่งไม่ได้มีความผิดอะไรพอถึงฤดูกาลเลือกตั้งเมื่อไร เราก็ต้องถูกค้นอยู่ตลอด ครั้งนี้มีการพาดพิงเราและกล่าวหาว่าเป็นผู้มีอิทธิพล

"ไม่เพียงเรื่องถูกค้นเท่านั้น แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาติดต่อกับ ส.อบจ.ก็มักจะถูกต่อว่า เรียกว่าห้ามข้าราชการทุกหน่วยติดต่อด้วย อย่างนี้ใครเป็นผู้มีอิทธิพลกันแน่ ที่บ้านอยู่กัน 5-6 คน มีพ่อแม่ มีน้อง แม่บ้าน สามีที่ป่วยมาตลอดหลังเกิดอุบัติเหตุ ทุกวันนี้ไปไหนทำงานอยู่คนเดียว มีเพียงน้องมาช่วยขับรถให้เท่านั้นเอง" นางพรพิไล กล่าว

ด้านนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู กล่าวว่า ตนคิดว่าพี่น้องประชาชนชาวแพร่ก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย จุดที่เข้าค้นเป็นบ้านสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมทั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และ อบต.ซึ่งสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เราเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาตรวจค้น ซึ่งอ้างว่านายสั่ง
เราไม่อยากมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทำให้คนทำงานต้องขวัญเสีย อยากเรียกร้องให้นายก
รัฐมนตรีที่ท่านใช้กำลังของทางราชการมาปราบฝ่ายตรงข้ามท่าน อย่างนี้ประเทศชาติ ประชาชนคงอยู่ไม่ได้ การตรวจค้นครั้งนี้เป็นการเมืองอย่างเดียวไม่ใช่เรื่องอื่นอย่างแน่นอน

"ดิฉันเป็นคนที่มีอุดมการณ์ แต่ที่หวาดหวั่นคือเรื่องการย้ายพรรค พอไม่ย้ายก็จะมีการแกล้งกันหรือเปล่า ทุกคนที่ช่วยเหลือก็อยากให้ไปสนับสนุนพรรคไทยรักไทย แต่เขายังรักประชาธิปัตย์จึงยังสนับสนุนดิฉันอยู่ คนเหล่านี้ทำผิดอะไรจึงกลายเป็นผู้มีอิทธิพลกันหมด ถามคนในพื้นที่ก็รู้ว่าประธานสาขาพรรคก็เพิ่งถูกยิงตายเสียชีวิตไป ในพื้นที่มีการย้ายคนเข้ามาเพื่ออะไร มาทำเพื่ออะไร จะกลั่นแกล้งอะไรกันหนักหนาเราเป็นแค่ผู้หญิง" นางศิริวรรณกล่าว

ส่วน พล.ต.ต.มาโนช ชลวิศิษฎ์ ผบก.ภ.จว.แพร่ กล่าวว่า การตรวจค้นดังกล่าวเป็นมาตรการเข้มงวดและเป็นช่วงของการปราบปรามผู้มีอิทธิพลเพื่อไม่ให้ออกมาก่อเหตุร้ายในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.โดยมาตรการเข้มงวดดังกล่าวได้มีการกำชับเป็นพิเศษเนื่องจากมีการดักยิงรถยนต์ของหัวคะแนนและสังหารนายกอบต.แม่ยางตาลเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย ซึ่งตำรวจต้องมีมาตรการเข้มงวดบ้าง

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยก็กล่าวหลังจากที่มีเหตุการณ์ตรวจค้นขึ้นแล้วว่า พื้นที่เขต 2 จ.แพร่ ที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง แต่หลังจากที่ลงพื้นที่กระแสตอบรับดีกว่าที่คิดไว้มาก และมั่นใจว่าจะมีโอกาสชนะ เพราะได้ทำโพลสำรวจดูแล้ว เพียงแต่ระวังเรื่องการข่มขู่ในพื้นที่เท่านั้น แต่ถ้าข่มขู่กันมากๆ ก็ต้องระวังจะโดนยกธงแดง

ส่วนการที่อีกฝ่ายได้กล่าวหาว่ามีการใช้อำนาจรัฐเข้าไปช่วยผู้สมัครบางคนนั้น หัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ต้องให้ดูว่าอำนาจรัฐคืออะไร เพราะบางฝ่ายใช้ญาติสนิท เช่น การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เรื่องยังคาอยู่ เพราะกรณีมีการเอารถมาพ่นสี และบุกหาเสียงข้ามจังหวัดซึ่งเรามีลูกข่ายเต็มไว้หมด เพียงแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่เอาเรื่อง

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าการที่ตำรวจกองปราบปรามเข้าตรวจค้นบ้านพี่ชาย นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.แพร่ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นคำสั่งจากรัฐบาล เพราะถ้าหากฟังจากคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีที่ จ.แพร่ จะพบว่าเป็นการส่งสัญญาณให้มีการดำเนินการกับคู่แข่ง ซึ่งหลังสิ้นสุดการหาเสียงไม่กี่วันตำรวจก็ลงมือทันที ถือเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายในระบอบประชาธิปไตย เป็นการข่มขู่คุกคามในทางการเมือง

3 เขตขับเคี่ยวหนัก
สนาม แพร่มี ส.ส.ได้ 3 คนใน 3 เขตเลือกตั้ง เขต 1. นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ หรือ "หมอทศ" จากพรรคไทยรักไทย เขต2.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู หรือ" แม่เลี้ยงติ๊ก" พรรคประชาธิปัตย์ และเขต3.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล หรือ" เสี่ยแมว" พรรคไทยรักไทย

ทั้งสามเขตสามนักการเมืองในจังหวัดแพร่ล้วนมีที่มาที่ไปและดูเหมือนว่าจะเป็น ส.ส.ผูกขาดของจังหวัดแพร่ก็เป็นได้ เพราะทั้งสามล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นมาสู่เวทีการเมืองด้วยฐานบันไดการเมืองจากคนระดับพ่อทั้งสิ้น

นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ ลูกเขยนายเมธา เอื้ออภิญญกุล หรือ "คุณป๋าเมธา" และ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุลก็คือลูกชายนายเมธานั่นเอง ทั้งสองจึงถูกสร้างมาจากรากทางการเมืองขั้วเดียวกัน
ลำดับการก้าวเดินนั้นกลุ่มเอื้ออภิญญกุลมาจากการทำการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ก่อน แล้วย้ายมาอยู่พรรครวมไทยและสามัคคีธรรมของพ่อเลี้ยงณรงค์ และพรรคชาติไทย ตามลำดับ

ส่วนอีกรายคือ ส.ส.ติ๊ก ศิริวรรณ ปราศจากศัตรูรายนี้ก้าวเดินเดี่ยวด้วยการทำงานร่วมกับพ่อที่เป็นมือขวาของพ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ ทุกสมัยที่พ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ ได้เป็นส.ส.แพร่ ก็ต้องผูกหัวแม่มือไว้ได้เลยว่าจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พ่วงเข้ามาด้วยทุกครั้ง น้อยครั้งมากที่พ่อเลี้ยงณรงค์จะได้เป็นฝ่ายค้าน ภารกิจใหญ่ของพ่อเลี้ยงณรงค์ ก็คืองานการเมืองระดับประเทศเป็นผู้ที่รวม ส.ส.ประคับประคองรัฐบาลเสมอมา พ่อเลี้ยงมีส.ส.ในกลุ่มมากซึ่งปัจจุบันกลายๆ
มาอยู่ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันหลายคนเช่น นายเนวิน ชิดชอบ เป็นต้น ดังนั้นงานในส่วนกลางจึงมาก
งานในเมืองแพร่จึงถูกถ่ายเทมาให้กับนายศานิตย์ ศุภศิริ มือขวาคนสำคัญได้ทำหน้าที่เดินเกมให้ในท้องถิ่น ทั้งการประสานจัดการข้าราชการ ความเดือดร้อนของเกษตรกรจนพัฒนาไปถึงการสร้างโครงการเพื่อการเกษตร เช่นอ่างเก็บน้ำ การเลี้ยงโค ศูนย์บำรุงพันธุ์สัตว์ ศูนย์วิจัยต่างๆ ทางการเกษตร และป่าไม้ การประกาศอุทยานในจังหวัดแพร่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นงานของพ่อเลี้ยงณรงค์ และ พ่อเลี้ยงศานิตย์ ที่ทำงานร่วมกันในอดีต แต่ด้วยการทำงานดังกล่าวทำให้ต่อมาแม่เลี้ยงติ๊ก
สามารถกุมคะแนนไว้ได้มากในทุกอำเภอของจังหวัดแพร่

พ่อเลี้ยงศานิตย์ ในวันที่ต้องการทำงานเบื้องหน้า เขาลงเล่นการเมืองสมัคร ส.ส. 1 สมัยแต่ไม่ประสบความสำเร็จ สมัยต่อมาจึงส่งลูกสาวลงแข่งบ้างโดยขอกับพ่อเลี้ยงณรงค์ แต่ทางยังไม่เปิดถึงระดับประเทศ พ่อเลี้ยงณรงค์และให้ทำงานการเมืองในระดับจังหวัดไปก่อน แต่ในมุมของพ่อเลี้ยงศานิตย์เองคิดเสมอว่าถ้าขืนทำงานเบื้องหลังต่อไปตระกูลศุภศิริ ก็คงยังไม่มี ส.ส.เป็นประวัติให้วงศ์ตระกูลเสียที น้ำมีขึ้นก็มีลง จึงติดสินใจเอาตอนน้ำขึ้นนี่แหละประกอบกับพ่อเลี้ยงณรงค์ ถูกมรสุมการเมืองข่าวเรื่องการค้าสิ่งผิดกฎหมาย และ การผิดหวังจากการเป็นนายก
รัฐมนตรีสมัยรัฐบาลสุจินดา คราประยูร ตรงนี้เองจึงเป็นช่วงน้ำขึ้นให้ศิริวรรณ ดึงหัวคะแนนทั้งหมดออกมาร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์และลงเลือกตั้ง เอาชนะพ่อเลี้ยงณรงค์ได้อย่างขาดลอย

ในขณะที่พ่อเลี้ยงณรงค์ ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรครวมไทย ถึงแม้ลูกทีมอาทินายเนวิน ชิดชอบ
ใครต่อใครหลายคนได้เข้าไปแต่พ่อเลี้ยงณรงค์ก็ไม่อาจเข้าร่วมเนื่องจากไม่ได้เป็น ส.ส.อีกต่อไป
ตรงนี้เป็นบันไดของแม่เลี้ยงติ๊กที่อาศัยน้ำขึ้นในการคุมคะแนนเสียงทั้ง 8 อำเภอที่เคยส่งให้พ่อเลี้ยงณรงค์มีคะแนนติดอันดับประเทศมาแล้ว วันนี้มาใช้กับตนเองก็ได้ผล ได้เป็น ส.ส.สมัยแรกที่มีชื่อเสียงมาก เนื่องจากเป็นผู้ที่โค่นล้มยักษ์ใหญ่ทางการเมืองอย่างพ่อเลี้ยงณรงค์ได้สำเร็จ ซึ่งตรงนี้เองจึงมีกระแสเอาคนรุ่นใหม่ในที่สุด คุณป๋าเมธาจึงไม่ลงสมัครในสมัยต่อมาโดยส่ง ทั้งวรวัจน์
ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกเทศมนตรีเมืองแพร่และหมอทศ ลงชิงส.ส.ด้วย

ที่มาที่ไปของการเมืองในจังหวัดแพร่และถือว่าทั้ง 3 คนเป็นน้ำใหม่ที่ก้าวขึ้นมาจากรากทางการ
เมืองที่ใกล้ชิดกันมาก ข้าวพรรคไปข้ามพรรคมาตลอดเวลา แต่ทั้งหมดมีขั้วการเมืองรวมอยู่ที่
"พ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ" ทั้งสิ้น

ขณะที่สถานการณ์เลือกตั้งครั้งนี้ 6 กพ.2548 กระแสเลือกตั้งจังหวัดแพร่มีการก่อขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2547 ถือว่าไม่ธรรมดาเลย

เขตเลือกตั้งที่ 1
นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ จากพรรคไทยรักไทย ถึงแม้จะมองว่าเป็น ส.ส.ที่หา
คู่แข่งยากเมื่อเข้ามาอยู่ในปีกของพ่อเลี้ยงทักษิณ ชินวัตร นอกจากหาความนอบน้อมจากผู้อื่นต่อประชาชนแล้วไม่มีใครสู้ หมอทศ แล้วยังเข้าไปเป็นเลขาฯรัฐมนตรีอดิศัย โพธารามิกอีกด้วย
วันนี้หมอทศออกมาให้หน่วยงานการศึกษาแทนคลีนิกหมอตาเป็นศูนย์กลางการหาเสียงไปแล้วโครงการพัฒนาการศึกษา การปฏิรูปการศึกษากำลังเป็นเครื่องมือสำคัญของหมอทศพร

ดังนั้นในเขตเลือกตั้งนี้จึงได้เปรียบอย่างยิ่ง มีทั้งกระบวนการของบทางราชการที่ชงเรื่องให้ทำทั้งสิ้น ยกเว้นวงการกีฬาจังหวัดแพร่นายแพทย์ทศพร แตะได้เพียงเดินเข้าไปในงานแล้วยกมือไหว้ผู้คนเท่านั้น เพราะงานกีฬาจังหวัดเป็นของนางศิริวรรณ นายกสมาคมกีฬาจังหวัดแพร่ และสนามกีฬาอยู่ในการดูแลของนายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่นั่นเอง ซึ่งกลุ่มแม่เลี้ยงติ๊กและหมอชาญชัย ได้ส่งนายประสงค์ ชุ่มเชย เลขานุการนายก อบจ.แพร่ ลงสมัครแข่งงานนี้

ประสงค์ โชว์ผลงานในเรื่องของความหนุ่มสดทางการเมืองที่ใกล้ชิดติดดินคลุกอยู่กับชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มอาชีพเช่นกลุ่มทำไม้ในทุกอำเภอของเขต 1 กลุ่มการศึกษาที่โรงเรียนประถมแย่งกันเข้าสังกัดใน อบจ .แพร่ ซึ่งเป็นประวัติการณ์ทีเดียว ด้วยการส่งเสริมการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ฐานคิดของประสงค์ ที่เคยเป็นครูนิเทศน์ กศน.แพร่มาก่อน สร้างโรงเรียนต้นแบบพัฒนาเด็กแพร่อย่างจริงจังและขยายไปทุกตำบล ตำบลละ 2 โรงเรียนที่มีความพร้อมทั้งครูและอุปกรณ์การศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม สองคนนี้ดูจะประกบกันได้ อีกกลุ่มเป็นผู้สมัครจากพรรคมหาชน คือนายสาโรจน์ ศุภศิริ

"โกโรจน์" รายนี้จะประมาทไม่ได้เพราะเคยเป็นหัวหน้าศูนย์ประสานงานพรรคประชาธิปัตย์ ประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว เป็นญาติของแม่เลี้ยงติ๊ก แต่ด้วยวัยวุฒิและหัวก้าวหน้าจะสู้สองคนแรกไม่ได้

สังคมเมืองแพร่มองว่า "โกโรจน์" อาจยังไม่เหมาะสมในการขึ้นมาเป็น ส.ส. และที่สำคัญหลายคนมองว่าเป็นคนมาปิดที่ว่างไม่ให้คนอื่นได้เกิด อาทิ นายสุขุม กันกา ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหม่ที่พรรคมหาชนเลือกเองถึงแม้จะเป็นอดีตรองนายก อบจ.แพร่ก็ตาม ก็ถือเป็นอ่อนเกมส์ทางการเมืองของ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์อยู่มิใช่น้อย เรียกว่ายังไม่กว้างพอที่จะเลือกคน

ดังนั้นในเขตเลือกตั้งที่ 1 นายแพทย์ทศพร น่าจะยังคงเต็งหนึ่งตามด้วยนายประสงค์ชุ่มเชย
ซึ่งอยู่ที่ว่าใครจะดึงคะแนนได้มากกว่ากันเท่านั้น ตรงนี้พรรคไทยรักไทยเชื่อว่า หมอทศ ไม่มีปัญหา

เขตเลือกตั้งที่ 2
ถือว่าเป็นเขตไฮไลท์ของการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ว่าได้ เพราะ มีคู่ต่อสู้ระหว่างแม่เลี้ยงติ๊ก ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู กับนายอนุวัธ วงศ์วรรณ (เสี่ยเอน) ลูกชายพ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ และอีกรายคือนายพนมพันธ์ คำชื่น น้องชาย ส.ว.ต๋อง สมพร คำชื่น หลายคนเคยเห็นหน้า ส.ว.ต้องในช่วงที่ไปห้ามทัพกรณี ส.ว. ประทิน สันติประภพมาแล้วนั่นเอง ส.ว.ต๋องได้รับเลือกเป็นส.ว.แพร่ด้วยคะแนนท่วมท้นถล่มทลายโดยเฉพาะคนในอ.สอง เลือก ส.ว.ต๋องกันถ้วนหน้า ตรงนี้เองทำให้มีการส่งพนมพันธ์ อดีต ส.จ.แม่ทะ ลำปาง น้องชายลงชิง ส.ส.แพร่เขต 2 เพราะที่นี่เป็นบ้านเกิดของพนมพันธ์ ซึ่งพนมพันธ์นั้น ในสายของข้าราชการ เป็นวิศวกรโยธาระดับ 8 อยู่ในจังหวัดลำปาง
และลาออกเล่นการเมือง ก็ประสบความสำเร็จระยะหลังเข้าไปเหยียบเท้านักการเมืองใหญ่ในลำปางทำให้ไม่สามารถเล่นการเมืองในลำปางได้สะดวกนัก จึงหักเหชีวิตการเมืองเข้ามาสู่จังหวัดแพร่

พนมพันธ์เคยใช้ชีวิตเป็นข้าราชการกรมโยธาธิการ เมื่อออกมาอยู่นอกระบบจึงเข้าไปอยู่ในแวดวงของกลุ่มรับเหมาก่อสร้างตามวิชาชีพ และมีบริษัทของพี่ชายที่เป็นผู้รับเหมารายใหญ่ของจังหวัดแพร่อยู่ในขณะนี้ พนมพันธ์เป็นคนอ.สองโดยตรงเป็นญาติกำนันเล็ง บัวลอย อดีตกำนันตำบลสะเอียบ ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว พนมพันธ์จึงทราบหัวอกของชาวอ.สอง จึงเสนอเป็นแนวทางชัดเจนนอกจากนโยบายพรรคคือการไม่เอาเขื่อนแก่งเสือเต้น

แต่การแก้ปัญหาภัยแล้งความใช้ทฤษฎีปล้องไม้ไผ่ กักเก็บน้ำเป็นช่วง และช่วงต้นน้ำให้ทำท่อผันน้ำส่วนเกินไหลลงเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลที่เป็นอ่างขนาดใหญ่ต้องการน้ำมาก เมื่อถึงฤดูแล้งก็ปล่อยระบบส่งน้ำจากสิริกิติ์ ไปยังลุ่มน้ำยมตอนล่างที่ขาดแคลนน้ำเช่นสุโขทัย พิจิตรเป็นต้น
อีกทั้งยืนยันจัดว่าป่าห้วยป้อมไม่พร้อมรับผู้อพยพจากสะเอียบ เพราะป่าห้วยป้อมเป็นป่าจัดสรรให้คนเข้าทำกินมาตั้งแต่ พนมพันธ์ยังเป็นเด็กแต่ปัจจุบันไม่ออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้านเหล่านี้
ยังไม่พอยังอ้างว่าป่าห้วยป้อมเป็นป่าอยู่ไม่มีคนเข้าไปอยู่ "ที่ไหนได้" บ้านผมเอง คนไปอยู่เต็มหมดแล้ว นี่คือความผิดพลาดของรัฐที่ผ่านมารวมทั้งรัฐบาลไทยรักไทยด้วย
พนมพันธ์ดูจะเอาจริงเหมือนกัน แต่ถึงแม้จะเอาจริงอย่างไร…ก็ตามกระแสที่สื่อและผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดในเขตเลือกตั้งที่ 2 น่าจะเป็นมวยคู่เอกของการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ว่าได้ หรืออาจเป็นคู่เอกของภาคเหนือเลยก็ว่าได้มีคนจับจ้องว่า ระหว่างแม่เลี้ยงติ๊ก กับ เสี่ยเอน ใครจะเป็นผู้ชนะ ใครจะล้างแค้นใคร ตรงนี้ทำให้พนมพันธ์ ด้อยไปทันที มาดูกันว่า การเดินเกมการเมืองของทั้งสองเป็นอย่างไร

เสี่ยเอน เป็นมือวางสำคัญของพรรคไทยรักไทยในการเฟ้นหาตัวผู้สมัครในเขตที่ไม่มีไทยรักไทยภาคเหนืออยู่ กอรปกับเสี่ยเอนต้องการลงมาเล่นการเมืองแทนพ่อด้วยโดยตรงทำให้ทั้งพรรคและตัวบุคคลทุ่มสรรพกำลังเข้าพื้นที่ตั้งแต่ ต้นปี 2547 ใช้กลยุทธทุกทางในการเอาใจคนในเขตเลือกตั้งที่ 2 และทำงานสบายมากในการแจกแถมเพราะกฎหมายเลือกตั้งไม่ได้กำหนดในช่วงปี 2547 ทั้งน้ำ น้ำแข็ง เต้น โต๊ะ เก้าอี้ จาน ชาม ช้อน ที่ ส.ส.เก่าเขามีกัน เสียเอนยังไม่ได้เป็น ส.ส.มีมากกว่า และทุกอย่างใหม่ถอดด้าม ทุกงานที่ทางราชการจัดขึ้นไม่ว่าในเมืองหรือบ้านนอก เตนท์เสี่ยเอนสีน้ำเงินขาวก็ได้ไปใช้บริการ เป็นเวอร์ชั่นเตนท์ใหม่ทีเดียว

ชาวบ้านประสบปัญหาพืชผลเกษตร เช่นข้าวโพดที่ อ.สอง โรคข้าวที่ อ.เมือง และยาสูบที่ปลูกเกินโควต้ากรมสรรพสามิตและยาสูบด้วยคุณภาพ เป็นภาระของเสี่ยเอนไปในที่สุดรับซื้อหมดยกเว้น
คนในสังกัดแม่เลี้ยงติ๊กไม่รับซื้อ งานประเพณี ไม่ว่าจะเป็นงานสงกรานต์ที่ผ่านมาเสี่ยเอนไปหมด …! ? คนทั้งเขต 2 มีเสื้อหม้อห้อมใหม่ "ไทยรักไทยหัวใจคือประชาชน" น้ำดื่มยี่ห้ออนุวัธแห่งไทยรักไทยไปทั่วทุกงานศพ นี่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของเสียเอนที่ลงพื้นที่เขต 2 ไม่เพียงเท่านี้กระบวน
การของพรรคได้ยกทีมการเมืองขนนักการเมืองของไทยรักไทยที่มีตำแหน่งทางการเมืองเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ทุกกระบวนการปลุกกระแสเอาอนุวัธ เอาทักษิณให้บริหารประเทศต่อไปในอีก 4 ปีสร้างจึงดูสมจริงมากในเขตเลือกตั้งที่ 2 ล่าสุด ดร.ทักษิณ ลงทุนไปนอนวัดพระธาตุพระลอเพื่อเดินเกมการเมืองให้ถึงที่สุด กำชัยชนะให้กับเสี่ยเอนแต่เพียงผู้เดียว โดยมีนายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยควบคุมบัญชาการหาเสียงในจังหวัดแพร่โดยตรง

กระบวนการดังกล่าวสร้างความสั่นสะเทือนให้กับแม่เลี้ยงติ๊กไม่น้อย แต่ดูเหมือนว่าการจะยอมแพ้พ่ายง่ายๆ คงไม่ใช่นักการเมืองอย่างแม่เลี้ยง ที่ต่อสู้มาอย่างโชกโชน เข้าไปมีบทบาทในสภา ในพรรคประชาธิปัตย์ แต่แม่เลี้ยงเองนั้นมีธุรกิจอยู่กับโรงบ่มใบยา การค้าใบยาสูบ และโรงโม่หินที่อ.ร้องกวาง
ปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับการเมืองจนธุรกิจสะดุดไปบ้างปัญหาใหญ่คือทุนการหาเสียงไม่สามารถเทียบเสี่ยเอนได้เลย ดังนั้นแม่เลี้ยงจึงออกเดินสายด้วยตนเองและเข้าพื้นที่เพื่อหาคะแนนแบบเก่าใช้ความคุ้นเคยเรียกคะแนนกลับคือ สร้างเครือข่ายใต้ดินแทนการขึ้นโชว์พลังประชาชนเพราะถ้าทำเช่นนั้น พรรครัฐบาลได้เปรียบกว่า เชื่อว่า "สิงห์อย่างแม่เลี้ยงติ๊ก" ไม่สิ้นลายง่ายๆ อย่างแน่นอน ดังนั้น การเลือกตั้งในเขต 2 จึงดุเด็ดเผ็ด และ มัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลของวันที่ 6 กุมพาพันธ์ จะเป็นวันที่ฝ่ายแพ้ต้องเลียแผลที่ยับเยิน ยังกะเกนฑ์ไม่ได้ว่าฝ่ายใดจะชนะในสนามนี้หรือจะมีใบแดงเกิดขึ้นก็เป็นได้ ส่วนพนมพันธ์นั้นน่าจะเป็นผู้ที่อยู่นิ่งๆ และรอความพ่ายแพ้จาก กกต.ประกาศใบแดงแล้วเลือกตั้งใหม่ตรงนั้นน่าจะเป็นจังหวะของพนมพันธ์

เขตเลือกตั้งที่ 3
เขตนี้ดูท่าว่าจะเป็นเวทีที่ออกมารุนแรงดุเด็ดเผ็ดมันด้วยผู้คนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดแพร่วิ่งเข้าไปสมัครพรรคมหาชนเพื่อเป็นช่องทางเกิดในเวที ส.ส.หลายคน อาทิ นายพิพัฒน์ ซื่อทรงธรรม ส.จ.ร้องกวาง นายยรรยง สมจิตร ผ.อ.สวท.แม่สะเรียง พ.ท.วิชิต มีผดุง นายทหารนอกราชการคนเด่นชัย เป็นต้น แต่ในที่สุดพรรคมหาชนยังไม่สามารถตัดสินใจนำใครลงในเขตนี้ได้

ดังนั้นในเขตเลือกตั้งที่ 3 จึงมีเพียงนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.เขต 3 จากไทยรักไทย และนายสมชัย จำปี ผู้สมัครจากประชาธิปัตย์ ทั้งสองขับเคี่ยวกันมาทุกยุคทุกสมัย สมชัยเป็นฝ่ายแพ้มาตลอด และครั้งนี้ดูท่าว่าสมชัยจะมีภาษีขึ้นบ้างเนื่องจากประชาชนในเขต 3 มีบทเรียนหลายประการกับ ส.ส.เขตที่ไม่ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือย่างจริงจังหรือช่วยแต่ไม่ประสบความสำเร็จในสายตาประชาชน กระแสใน อ.วังชิ้นจึงเกิดขึ้นว่าเลือก สมชัยเข้าไปลองดูน่าจะดี เพราะสมชัยเองนั้นจบปริญญาตรีทางด้านกฎหมายสมควรที่จะเข้าสภาไปร่างกฎหมาย สมชัยยังได้คะแนนสมจากกลุ่ม ส.จ.ที่สนับสนุนนายแพทย์ชาญชัย ที่สามารถกุมคะแนนของ อ.ลองไว้ได้ส่วนใหญ่สังเกตได้จากการเลือกตั้ง ส.อบจ.ที่ผ่านมา ทีมไทยรักไทยแพ้ กลุ่มฮักเมืองแป้ของนายแพทย์ชาญชัยอย่างขาดลอย

แต่อย่างไรก็ตาม ส.ส.แมว ยังคงเดินหน้าฟื้นกลุ่มเก่าๆ ที่ทำมาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผ้าพื้นเมือง กลุ่มส้มเขียวหวาน กลุ่มเฟอร์นิเจอร์รากไม้ และเข้าไปผูกสัมพันธ์กับสมาชิก อบต.จำนวนมาก รวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้นวรวัจน์เป็นผู้ที่คนเหล่านี้เกรงใจยิ่งนัก จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้ ส.ส.แมว ทำเซอร์ไพส์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางมาช่วยหาเสียง มีถึง 10 ตำบลที่ทำประชาคมแล้วลงมติเลือกพรรคไทยรักไทยแบบ 100% ตรงนี้ฉุดกระแสได้มากและทำให้ เสี่ยแมวขึ้นมาเป็นเต็งหนึ่ง ว่าที่ ส.ส.แพร่เขต 3 อีกครั้ง อย่างไรก็ตามเขตนี้ยังถือว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือ
ไม่เปลี่ยนแปลง 50 / 50

ล้อมกรอบ
ข้อมูลสำคัญที่เป็นปัจจัยในการเลือกตั้งครั้งนี้
เขต 1 มี 23 ตำบลใน อ.เมือง อ.สูงเม่น รวม 213 หมู่บ้าน เขต 2. อ.เมือง 7 ตำบล อ.ร้องกวาง 11 ตำบล อ.สอง 8 ตำบล อ.หนองม่วงไข่ 6 ตำบล รวม 32 ตำบล 264 หมู่บ้าน เขตเลือกตั้งที่ 3 มีอ.สูงเม่น 2 ตำบล อ.เด่นชัย 5 ตำบล อ.ลอง 9 ตำบล อ.วังชิ้น 7 ตำบล รวม 23 ตำบล 236 หมู่บ้าน ประชากรของจังหวัดแพร่มีทั้งสิ้น เป็นหญิง 244,080 คน ชาย 234,992 คน รวม 479,072 คน มีสิทธิ์เลือกตั้งรวม 368,627 คน

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเขต 1 ชาย 58,854 คน หญิง65,636 คน รวม124,490 คน เขต 2. ชาย58,320 คน หญิง62,666 คน รวม 120,986 คน เขต 3 ชาย61,139 คน หญิง62,012 คน รวม 123,151 คน สถิติการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 370,242 คน มาใช้สิทธิ์ 287,610 คน คิดเป็นร้อยละ 77.68 บัตรเสียร้อยละ 9.47 ไม่ประสงค์ลงคะแนนร้อยละ 1.62

สถิติผลคะแนนของ 3 เขตเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา6มกราคม2544 เขต 1 นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ 59,174 คะแนน จากผู้มาใช้สิทธิ์ 101,636 คน เขต 2.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู 50,010คะแนน จากผู้มาใช้สิทธิ์95,103 คน เขต 3 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล 42,007 คะแนน จากผู้มาใช้สิทธิ์ 90,871 คน

ผลคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ เขต 1. พรรคไทยรักไทย 61,374 คะแนน ปชป.27,086 คะแนน เขต 2.พรรคไทยรักไทย 47,522 คะแนน ปชป.36,510 คะแนน เขต 3. พรรคไทยรักไทย 48,646 พรรคประชาธิปัตย์ 29,433 คะแนน

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท