กล่อมอธิการบดี ตั้งสภาทปอ.-รับสัตยาบรรณแม่โจ้

ประชาไท - 18 ธ.ค.47 ทปอ.กล่อมอธิการบดีมหาวิทยาลัยตั้งสภาอธิการฯ-รับสัตยาบรรณฉบับแม่โจ้ หนุนเปิดเสรีด้านการศึกษาตามแนวทางองค์การการค้าโลก

ภายหลังการประชุมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ศ.นพ.อดุลย์ วิริยเวชกุล ประธาน
ทปอ. กล่าวถึงกรณีการตั้งสภาอธิการบดีแห่งประเทศไทยที่ประสบความล้มเหลวในการลงสัตยาบรรณที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีความคิดเห็นขัดแย้งกันในบรรดาอธิการบดีว่า ขณะนี้มีอธิการบดีลงชื่อเกือบครบถ้วนแล้ว

โดยรูปแบบใหม่ที่เสนอก็คือ ประธานทปอ. จะทำหน้าที่ประธานชั่วคราว เพื่อสร้างหลักเกณฑ์ความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่างๆ แล้วนำมาเสนอต่ออธิการบดีทุกคนในประเทศไทยให้ความเห็นชอบก่อน จากนั้นคณะทำงานที่ดำเนินการอยู่ก็จะสลายตัวไป เพื่อจะหาคณะใหม่ที่เป็นไปตามระบบ

"ตอนนี้คลื่นระหว่างรัฐกับเอกชนยังไม่ตรงกันเท่าไร ถ้าม.รัฐชัดเจน ม.เอกชนชัดเจนก็จะคุยกันง่ายขึ้น" ศ.นพ.อดุลย์กล่าว

ส่วนกรณีปฏิญญาการพัฒนาการศึกษาที่มีอธิการบดีบางส่วนไม่ร่วมเห็นชอบด้วย เพราะเกรงว่าจะเป็นการเปิดเสรีการศึกษาในขณะที่ประเทศยังขาดความพร้อมนั้น ศ.นพ.อดุลย์ชี้แจงว่าคำปฏิญญาดังกล่าวเกือบทุกคำเหมือนกับคำปฏิญญาของทปอ.ที่เคยเซ็นไป เพราะลอกมา เพียงแต่ใส่หัวข้อแตกต่างกันไปเท่านั้น

"อาจจะเป็นไปได้ว่าหลายท่านที่ไม่เห็นด้วย เวลานี้อาจจะเห็นด้วยแล้วเพราะว่า ได้มีเวลาพิจารณานานพอสมควร เราดำเนินการมาแล้ว 6 เดือน ประชุมทปอ.ทุกครั้งเราเข้าทุกครั้ง ผมคงแยกไว้อีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก แล้วอาจจะดำเนินการซัก 2-3 เดือนเสร็จแล้วคณะผมก็เลิกกันไป" ประธาน
ทปอ.กล่าว

ศ.นพ.อดุลย์ กล่าวด้วยว่า สภาที่จะตั้งนี้ เป็นสภาที่เรียกว่าสมาชิกอัตโนมัติ มหาวิทยาลัยใดไม่ประสงค์เป็นสมาชิกก็ได้ และจะเข้าเป็นเมื่อใดก็ได้ เพื่อใช้เป็นเวทีที่พูดคุยกัน ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้จะจัดทำมาเสนอที่ประชุมใหญ่อีกครั้ง หากไม่ตกลงก็ต้องนำไปปรับปรุงแล้วนำมาเสนอใหม่

"ฉบับนี้จะเป็นฉบับที่มีการปรับปรุงแก้ไข เพราะว่าฉบับแรกที่เห็นเราได้แก้ไป 3- 5 ครั้งตามความเห็นของอธิการบดีส่งมาที่สนง.เลขาธิการทปอ. เป็นเชิงบวกทั้งหมด พัฒนาส่งเสริมความร่วมมือ" ศ.นพ.อดุลย์กล่าว

ด้านรศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) หาดใหญ่ ในฐานะประธานทปอ.คนใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกในที่ประชุมวันนี้กล่าวถึงประเด็นสำคัญเรื่องนี้ว่า ขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยจำนวนมากกว่า 50 แห่ง ไม่นับรวมมหาวิทยา ลัยสงฆ์ และมหาวิทยาลัยเอกชน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประสานความร่วมมือกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อการจัดการอุดมศึกษาเกิดประสิทธิภาพ

"ความร่วมมือระหว่างกันเป็นประเด็นสำคัญ ต้องหาแนวทางประสานงานกันทั้งทางตรงและทางอ้อม และต้องดูแลความสัมพันธ์กับสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งต้องเพิ่มระดับความร่วมมือให้มากขึ้น โดยทปอ.จะเป็นตัวประสานเครือข่าย กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาซึ่งประสานงานกับระบบราชการให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น" รศ.ดร.ประเสริฐกล่าว

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท