Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากวันนั้นไม่นานผมได้พูดคุยกับคุณ อ๋อ นิกร อาทิตย์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานงานบางกอกไพรด์ในครั้งนี้ คุณอ๋อบอกว่า การจัดงานในปีนี้ เป็นการจัดงานในตีม ( theme ) ความสดใสร่าเริง การเดินพาเหรดในงานไพร์ด เป็นการแสดงตัวตนของเกย์ ให้สังคมได้และยอมรับ ถึงแม้ว่าปีนี้ อาจจะมีขบวนที่เข้ามาร่วมน้อย เริ่มเร็วและจบเร็ว ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ขบวนใหญ่กว่านี้ มีคนให้ความสนใจมากว่านี้ แต่ก็ถือว่ายังไงปีนี้ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่สู้ปีก่อนก็ตาม

ผมได้ถามพี่อ๋อ เกี่ยวกับคำว่า ประสบความสำเร็จของงานบางกอกไพรด์ ความต้องการที่จะสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับเกย์กับสังคมไทยว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ หากพิจารณาดูข่าว ตามหน้าหนังสือพิมพ์ในเช้าวันรุ่งขึ้น พี่อ๋อ บ่นอย่างไม่ค่อยพอใจว่า

"พี่ไม่ค่อยพอใจกับการเสนอข่าวของสื่อมวลชนไทยสักเท่าไหร่ พี่ได้ดูข่าวจากหนังสือพิมพ์แล้ว ส่วนมากมันมีแต่ภาพ เป็นภาพที่หวือหวา ภาพที่เป็นข่าว แต่ไม่มีเนื้อข่าว ในขบวนเมื่อวาน มันมีอะไรตั้งเยอะแยะที่สื่อถึงเรื่องราวดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม มันมีเยอะนะ ในขบวนน่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรณรงค์เรื่องโรคเอดส์ เรื่องภาคใต้ เราก็มี แต่เรื่องดีๆ พวกนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องการจะนำเสนอ กลับไม่ถูกสื่ออกไป เพราะสื่อมวลชนมีแต่ถ่ายภาพชุดแต่งกายที่หวือหวา ข่าวที่เกิดขึ้นจึงมีแต่ภาพ แต่ไม่มีเนื้อข่าว ว่าเราต้องการนำเสนอประเด็นอะไร เพื่ออะไร เมื่อมันเป็นแบบนี้ สิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอจริงๆ จึงไม่ถูกสื่อผ่านไปถึงสังคม คนอื่นๆ ก็มองเพียงภาพความสนุกสนาน และการแต่งตัวของเราเท่านั้นเอง"

ผมถามพี่อ๋อ ต่อไปว่า ถ้ารู้ว่าการนำเสนอแบบนี้มีปัญหา แล้วปีหน้าจะปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอไหม พี่อ๋อตอบว่า

"ไม่หรอก ถึงแม้มันจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เราต้องคุมธีมให้อยู่ ปัญหามันมีอยู่แล้ว อย่างเช่น หน่วยงานของรัฐไม่ให้ความร่วมมือ เราปิดถนนไม่ได้ ถ้าเราปิดถนนได้ และทำได้อย่างเป็นระบบ คนก็จะมาร่วมมากขึ้น แต่พอเราจะทำทีไร เราก็ไม่ได้ความร่วมมืออย่างเต็มที่จากหน่วยงานของรัฐเลย"
นอกจากองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาร่วมงานในวันนั้น ยังมีกลุ่มของคุณ นที ธีระโรจนพงศ์ เกย์ที่ประกาศตัวเป็นว่าที่ผู้สมัครส.ว. เข้าร่วมในขบวนนี้ด้วย เป็นการประกาศตัวของกลุ่มเกย์การเมืองที่น่าสนใจอย่างมากในสังคมไทยในปัจจุบันนี้ คุณนทีได้พูดคุยกับผมในการตัดสินใจลงเล่นการเมืองในครั้งนี้ว่า

"พี่คิดว่า พี่มีความพร้อมแล้วในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านฐานะ ด้านประสบการณ์การทำงานกับสังคม ก่อนหน้านี้ พี่ก็ทำงานด้านเอดส์ ด้านยาเสพย์ติดมาก่อน ทำให้พี่มีแนวคิดเรื่องทางสังคม และตอนนี้ก็พร้อมที่จะทำงานการเมืองแล้ว"

การประกาศตัวว่าเป็นเกย์ในการลงมาทำงานด้านการเมืองในครั้งนี้ของคุณนที ก็เพื่อที่จะนำปัญหาเรื่องเกย์ ผลักดันเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาทางรัฐสภา เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่มีตัวแทนของของตัวเอง ที่จะคอยเป็นปากเป็นเสียงในทางการเมือง ปัญหาต่างๆ จึงถูกเพิกเฉย คุณนที เชื่อว่าหากมีเกย์เป็นตัวแทนเข้าไปทำงานด้านการเมือง การเป็นส.ว. จะช่วยชี้แนะแนวทางในการจัดการปัญหาเรื่องเกย์ในสังคมได้อย่างถูกวิธี สังคมก็จะเข้าใจเกย์มากขึ้น เกย์ก็จะได้ไม่ต้องมาแสดงออกอย่างวี๊ดว้ายกระตู้วู้ ให้เป็นที่รังเกียจ และจะได้ไม่มีการแต่งงานอย่างผิดพลาดจากเกย์กับผู้หญิง ซึ่งปัญหาพวกนี้มันเป็นเพราะแรงบีบจากสังคม และคุณนทีเองก็คิดว่า สังคมเองก็พร้อมที่จะให้เกย์เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานทางการเมือง

"พี่คิดว่าตอนนี้สังคมก็พร้อมแล้วนะ ดูได้จากงานพาเหรดที่ผ่านา หน่วยงานรัฐก็เข้ามามีส่วนร่วม รองผู้ว่าฯ ก็มาเปิดงานให้ มีกระแสสังคมเกื้อหนุน จากหน่วยงานองค์กรต่างๆ และพี่เองก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเรื่อเด็ก สตรี และคนรักเพศเดียวกัน"

"สำหรับเรื่องงานพาเหรด พี่คิดว่าเป็นการทำให้สังคมให้เห็นว่าเกย์มีตัวตนอยู่จริง เป็นเรื่องจริงในสังคม เป็นการนำเสนอให้สังคมเห็นถึงความหลากหลาย เป็นการพูดถึงเกย์อย่างมีทางเลือก ไม่ใช่เป็นเกย์แบบวี๊ดว้ายกระตู้วู้เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นพวกที่มาเดินพาเหรดจนถึงระดับนักการเมือง รวมถึงคนอื่นๆที่มายืนดูอยู่ริมถนนในวันนั้นด้วย เพียงแต่เขายังไม่พร้อมที่จะเปิดตัว"

ประเด็นที่ผมมีความสงสัยอยู่ในเรื่องการทำงานการเมืองของเกย์ การที่เกย์คนหนึ่งเอาตัวเองเข้าไปทำงานในโครงสร้างจะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือ เพราะปัญหาส่วนมากของเกย์โดยเฉพาะที่ประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรม การที่คุณนที อาสาเข้ามาทำงานการเมือง เป็นการทำงานเชิงนโยบาย จะสามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเกย์ได้จริงหรือ และผมก็ได้รับคำตอบจากคุณนทีในประเด็นนี้ โดยที่คุณนทีกล่าวว่า

"การเข้ามาทำงานทางการเมืองของพี่นั้น ถึงแม้มันจะเป็นการแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีองค์กรอื่นๆ คนอื่นๆ ในสังคมที่คอยทำงานเรื่องนี้อยู่ และประเทศของเราก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว เรามีทั้งพ่อค่าแม่ค้าหาบเร่ เกย์ และคนอื่นๆ อีกที่เป็นคนชายขอบ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ไม่มีตัวแทนในระบบการเมือง คนที่เข้าไปเป็นตัวแทนก็ไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริง พวกที่ไม่มีตัวแทนของตนในสภา ปัญหาของพวกนั้นก็จะถูกทิ้ง พี่จึงขออาสาเข้าไปเป็นกระบอกเสียงแทนกลุ่มรักเพศเดียวกัน"

ในขณะที่การเลือกตั้งสว. นั้นยังอีกยาวไกล และในขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่าสังคมนั้นจะให้การยอมรับเกย์ในการเข้ามาทำงานด้านการเมืองหรือไม่ ถึงแม้ว่า การเปิดตัวของคุณนที จะได้รับเสียงตอบรับจากสังคมในด้านบวกเป็นส่วนมากก็ตามที แต่การเลือกตั้งสว. ในครั้งหน้า การได้รับเลือก หรือไม่ได้รับเลือก คงเป็นเสมือนกับคำตัดสินของสังคม ในการที่จะบอกได้ว่ายอมรับหรือไม่ยอมรับเกย์ ในการทำหน้าที่ทางการเมือง ซึ่งในจุดนี้เอง คุณนทีก็ได้กล่าวไว้ว่า การเลือกตั้งสว. คงเป็นเครื่องชี้วัดได้จริง แต่ถึงแม้ตนเองจะไม่ได้รับการเลือกตั้งก็จะไม่ท้อถอย และคงจะยังทำงานด้านสังคมต่อไป

ถึงแม้ว่างานบางกอกไพรด์ จะเป็นงานที่กลุ่มองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันร่วมกันสร้างสสรรค์ขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มองค์กรอื่นๆ ที่ทำงานกับชายรักชายเลือกที่จะไม่เข้าร่วมในงานครั้งนี้ ผมได้คุยกับพี่ สมถวิลย์ เอี่ยมโก เจ้าหน้าที่ประจำองค์กรฟ้าสีรุ้ง ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานรณรงค์เกี่ยวกับชายรักชาย ในด้าน การป้องกัน สุขภาพ และการพัฒนา และในงานบางกอกไพรด์ครั้งนี้ องค์กรฟ้าสีรุ้ง ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่ทำงานกับกลุ่มผู้รักเพศเดียวกัน เลือกที่จะไม่เข้าร่วมในการจัดงาน โดยที่พี่สมถวิลย์ บอกกับผมว่า

"องค์กรของเราไม่ส่งเสริมในกิจกรรมด้านบันเทิง เพราะเราคิดว่ากิจกรรมในส่วนนี้ไม่สามารถส่งผ่าน หรือขับเคลื่อนการทำงานในเรื่องเกย์ให้มีการพัฒนาขึ้นไปได้ จริงๆ แล้งองค์กรของเราไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับเกย์มาตั้งแต่ต้น แต่เราทำงานเรื่อง prevention and care ในกลุ่มเกย์มาก่อน แล้วเราจึงรวมตัวกัน เพราะคนทำงานของเราเป็นเกย์ทั้งหมด เราคิดว่าความสนุกสนานในกิจกรรมแบบนี้มันไม่ส่งผล impact ต่อสังคม ซึ่งตามจริงแล้ว คนไทยไม่ยอมรับหรอก ในเรื่องการโชว์ identities ความเป็นเกย์ แต่คนไทยจะยอมรับในเรื่องของความสามารถของคนเหล่านั้นมากกว่า"
แล้วพี่สมถวิลย์ก็ยังให้ความคิดเห็นต่อการจัดงานเกย์พาเหรดไว้อย่างน่าสนใจว่า

"งานเกย์พาเหรด เป็นเพียงงานสนุกสนานรื่นเริง เพราะตามธรรมชาติของเกย์แล้วชอบการ presentation แต่การจัดงานแบบนี้มันเป็นเพียงฟองสบู่ เดี๋ยวก็แตกไม่ส่งผลอะไรกับสังคม เราต้องการการทำงานที่เหมือนพลุ จุดแล้วส่งผลสั่นสะเทือนและสวยงาม และการจัดงานแบบนี้พูดกันจริงๆ แล้ว มันไม่ชัดเจนในการสื่อสาร ในการนำเสนอ มันมีอยู่นิดเดียว ถึงแม้ว่างานแบบนี้คนจะมาเยอะก็จริง แต่มันไม่ส่งผลอะไรต่อสังคม"

ผมถามพี่สมถวิลย์ต่อไปว่า แล้วเรื่องการหันมาทำงานการเมืองของเกย์อย่างเช่นในกรณีของคุณนที จะสามารถช่วยแก้ปัญหา และพัฒนาการทำงานเกี่ยวกับเกย์ได้หรือไม่ พี่สมถวิลย์บอกว่า

"เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของ one man show มันไม่ใช่การทำงานเชิงนโยบาย เพราะหากมันจะเป็นนโยบายจริงมันจะต้องวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม เพราะความจริงแล้วกฎหมายมันพัฒนามาจากกรอบของสังคมวัฒนธรรม ตอนนี้ในสังคมมันมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ในเรื่องเพศ หากสังคมมันมีความเท่าเทียมกันแล้ว มีการปฏิบัติต่อกันจนเป็นวัฒนธรรม กฎหมายมันก็จะตามมา"

พี่สมถวิลย์ คุยกับฉันต่อไปว่าการทำงานเรื่องนี้จะต้องเป็นการทำงานเชิงพัฒนา ซึ่งจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช้เวลา เพื่อสร้างความมั่งคงและยั่งยืน ให้ทุกคนเห็นศักยภาพในตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วการยอมรับกันและกันอยู่ที่ความสามารถของเรามากกว่า

ผมพูดคุยกับพี่สมถวิลย์นานพอสมควร แต่ก็ยังมิวายสงสัยว่า หากกลุ่มองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันมีความเห็นไปในทิศทางที่แตกต่างกัน และไม่สามารถที่จะรวมกันได้เป็นกลุ่มก้อนหนึ่งเดียว แล้วการผลักดันเรื่องนี้ในทางสังคมจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่มีความเป็นเอกภาพ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว พี่สมถวิลย์กล่าวไว้ว่า จะเป็นอย่างนั้นได้จะต้องมีปัญหาร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว และมีการทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน และเป็นทีมเวอร์ก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่อย่างไร

ก่อนหน้าที่จะไปงานเกย์พาเหรด ผมได้อ่านข่าว สกู๊ป หรือเรื่องราวตามหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ กลุ่มคนต่างๆ ที่ล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องนี้มากมาย ในหนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มหญิงรักหญิง ที่เรียกว่ากลุ่ม Lesla ซึ่งก่อนหน้านี้ข่าวคราวของกลุ่มนี้ก็มีปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง แต่ในวันงานพาเหรดที่จัดขึ้น กลับไม่เห็นกลุ่ม Lesla หรือกลุ่มหญิงรักหญิงกลุ่มอื่นๆ เดินในขบวนเลยแม้แต่น้อย ในขบวนล้วนแต่เป็นกลุ่มชายรักชาย ผมเดาด้วยความรู้อันน้อยนิดว่า คำว่าเกย์ในที่นี้น่าจะหมายรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง

แต่เหตุใด ในงานบางกอกไพรด์จึงมีเพียงกลุ่มชายรักชายเพียงเท่านั้น ที่ออกมาปรากฏกายต่อสาธารณชนในขบวน ผมพยายามติดต่อเพื่อที่จะสอบถามกับกลุ่มหญิงรักหญิง Lesla ถึงสาเหตุของการไม่เข้าร่วมขบวนในครั้งนี้ แต่น่าเสียดาย ที่ไร้การติดต่อกลับ ไร้สิทธิเสียงในการอธิบายตัวตนของตนเองจากกลุ่มหญิงรักหญิง จึงไม่สามารถจะวิเคราะห์ อธิบาย หรือทราบถึงเหตุผลดังกล่าวได้อย่างแจ้งชัด เพียงแต่ได้ยินมาว่า กลุ่มหญิงรักหญิงรู้สึก "ห่างไกล" กับขบวนและงานบางบากกอกไพรด์

งานบางกอกไพรด์จบลงแล้ว และคาดว่าในปีหน้าคงจะมีอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่การต่อสู้ทางสังคมของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันคงยังไม่จบสิ้นเพียงแค่งานนี้งานเดียว การเดินทางของการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมทางเพศ การยอมรับทางสังคม สิทธิเสียง ตัวตน พื้นที่ในสังคม ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ยังคงต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน อย่างไร ไม่รู้ว่าปลายทางแห่งความสำเร็จดังที่หวังของพวกเขา จะต้องเดินไปไกลสักแค่ไหน จะมาถึงเมื่อไหร่ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน ของกลุ่มใด ล้วนไม่ได้มาเพียงง่ายดาย และรวดเร็ว แต่มันจะต้องผ่านเหตุการณ์ เรื่องราวมากมาย มีวิวัฒนาการอย่างเป็นขั้นตอน ถึงแม้ในระหว่างทางอาจจะต้องมีการล้มหายตายจาก มีบทเรียนที่ต้องจดจำ และถึง
แม้ว่าในวันนี้อาจจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่ก็ขอให้มันเป็นการเริ่มต้นที่เส้นชัย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net