Skip to main content
sharethis

ประชาไท--23 ธ.ค. 2547 -- นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นักวิชาการและรองผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา และนายไพบูลย์ มัฆวิมาลย์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประจำจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันแถลงข่าวผลการศึกษา "พฤติการณ์การหาเสียงล่วงหน้าก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส. 2548 " โดยการศึกษาดังกล่าวได้มาจากข้อมูลภาคสนามผ่านแกนนำชาวบ้านของกลุ่มสมัชชาต่าง ๆ นักพัฒนาองค์กรเอกชน (NGO) และเครือข่ายผู้สื่อข่าว 19 จังหวัดภาคอีสาน ใช้เวลาในการหาข้อมูลระหว่างก.ย.-ธ.ค.ที่ผ่านมา

จากการศึกษา พบว่า ปรากฏการณ์การหาเสียงของพรรคการเมือง รวมทั้ง ส.ส.และบรรดาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในภาคอีสานแบ่งออกเป็น 4 พฤติการณ์หลักๆ คือ

พฤติการณ์ก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง พบว่า พรรคใหญ่จะยังไม่หาเสียงมากนัก แต่จะใช้กลยุทธ์เก็บข้อมูลของทุกพรรคว่ามีนโยบาย หรือ โจมตีพรรคอย่างไร จากนั้นจะเปิดปราศรัยใหญ่เพื่อแก้ข้อกล่าวหาเหล่านั้น แล้ว "แจกแบบปูพรม"โดยไม่สนใจ กกต. เพราะเป็นรู้กันว่า กกต.มักไม่กล้าให้ใบแดง ใบเหลืองกับการเลือกตั้งระดับ ส.ส. และ ส.ว. แต่มักจะกล้าให้ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมากกว่า พฤติการณ์ก่อนการเลือกตั้งจะประกอบด้วย การทอนเงินเกิน อาหารฟรี และการเก็บข้อมูลล่วงหน้า

การทอนเงินเกิน โดยนักการเมืองจะไปจ่ายเงินให้กับร้านโชห่วยในชุมชนที่มีคนเข้าพลุกพล่าน ไปซื้อข้าวของมากเป็นพิเศษ เมื่อชาวบ้านไปซื้อของจะได้รับเงินทอนมากเป็นผิดปกติ

อาหารฟรี โดนักการเมืองร่วมมือกับร้านอาหาร ให้ชาวบ้านไปรับประทานได้ตามโควต้าที่กำหนดไว้ เช่น 500-1,000 บาท

เก็บข้อมูลล่วงหน้า โดยพรรคการเมืองจะส่งเจ้าหน้าที่ของพรรคไปเก็บข้อมูลจำนวน ชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งพร้อมเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาเก็บข้อมูล ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.)

นอกจากนี้ยังพบว่าโทรศัพท์ที่มีกล้องถ่ายภาพจะขายดีมากขึ้น เพื่อเอาไปจับผิดฝ่ายตรงข้ามแล้วมาตัดต่อ และการใช้งบประมาณแก้ปัญหาภัยแล้ง มีการให้น้ำมันดีเซลสำหรับเครื่องสูบน้ำครอบครัวละ 10 ลิตร เกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดียว ทั้งที่บางแห่งไม่ทราบว่าจะเอาน้ำที่ไหนมาสูบ อีกทั้ง ยังมีการเรียกประชุมสัมมนาพระสงฆ์และไวยาวัจกร โดยไม่ผ่านสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่กระทำผ่านกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งอ้างว่าเป็นการถวายความรู้แด่พระสงฆ์และบุคลากรในวัด

พฤติการณ์ต่อมาคือ "ยุทธศาสตร์จังหวัดใหญ่" โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา, บุรีรัมย์ และหนองคาย บุคคลซึ่งมีความสำคัญรับผิดชอบการเลือกตั้งของพรรคใหญ่ ต่างวางเป้าหมายคือการยึดเพื่อชนะแบบยกทั้งจังหวัด และกุมคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้ได้มากที่สุด โดยจะใช้วิธีการ 1. ขอให้ฝ่ายตรงข้ามถอนตัว ทั้งข่มขู่ ซื้อตัว โดยใช้กลไกของรัฐ ผู้ว่าฯ ,รองผู้ว่าฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก วิธีการนี้เกิดขึ้นแล้วที่บุรีรัมย์

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net