Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 ธ.ค.47 "การคิดถึงเขตปลอดการฆ่า เป็นการพยายามจัดการกับปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะพูดอะไรกัน ก็ต้องหยุดเรื่องการฆ่าให้ได้ก่อน" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในงานเสวนา "แนวทางสร้างสันติสุขสู่ภาคใต้" จัดโดยคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา

รศ.ชัยวัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า มีความจำเป็นที่ต้องชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ที่ไม่แปดเปื้อนการฆ่าซึ่งมีอยู่จริงในพื้นที่เป็นอย่างไร ซึ่งการพิจารณาเรื่องนี้เป็นภาคส่วนของการคิดเรื่องภูมิศาสตร์ของสันติ เป็นการตั้งคำถามในทางงานวิจัยว่ามีพื้นที่เช่นนี้ได้อย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ โดยเงื่อนไขเหล่านี้น่าสนใจศึกษาให้จริงจัง เพื่อขยายพื้นที่สีขาว ดังที่ประสบผลสำเร็จในหลายประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย

"เหตุผลหลักที่ทำให้สังคมไทยต้องคิดเรื่องภาคใต้ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนมลายูมุสลิม หรือไทยพุทธในพื้นที่ แต่เพื่อประโยชน์ของคนไทยเอง เพราะมันมีผลกระทบต่อสังคมไทยนั้นเอง เนื่องจากการใช้ความรุนแรงเป็นการตอบปัญหาที่การตายชนะการมีชีวิต ถ้าสังคมถึงจุดนี้ได้ มันก่อให้เกิดโรคภัยแก่สังคมอย่างมาก" รศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าว พร้อมทั้งเสนอให้ประชาสังคมนำเสนอนโยบายความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนฉบับเก่าที่สิ้นสุดไปแล้ว ซึ่งมีลักษณะควรพิจารณาตรงที่มีความเคารพในความแตกต่างหลากหลาย

นายศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี จากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กล่าวว่า รากเหง้าของปัญหาคืองานข่าวของรัฐ ซึ่งไม่สามารถจำแนกแยกแยะผู้ปฏิบัติการหัวรุนแรงได้ เพราะใช้การมองด้วยสายตาจากศูนย์กลางโดยไม่ยอมรับลักษณะเฉพาะในพื้นที่ ทำให้คนเคร่งศาสนาในสังคมมุสลิมกลายเป็นผู้ที่น่าสงสัย นอกจากนี้ยังสร้างฐานข้อมูลบนจินตนาการที่เต็มไปด้วยอคติ และไม่มีการปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบันทันสถานการณ์ ทั้งที่กระบวนการก่อการร้ายทุกวันนี้เปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก ไม่ใช่กลุ่มเดิม

"วิธีแก้ปัญหาที่ประณีประนอมที่สุดคือ เปลี่ยการจัดการในกอ.สสส.จชต. ให้มีองค์ประกอบของผู้นำประชาชนนั่งอยู่มากขึ้น และมีอำนาจสั่งการทางทหารได้ เพราะประชาชนย่อมเป็นผู้ที่รู้ปัญหาดีที่สุด และการประสานงานของตำรวจและทหารในพื้นที่ทำไม่ได้จริง " นายศุภลักษณ์กล่าว

นายนิติ ฮาซัน ประธานสภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศกล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่น่าจะมีการพิจารณาคือการปกครองตนเอง เหมือนกรุงเทพมหานคร หรือพัทยา ซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา 282-283 มีการพูดถึงเรื่องนี้ ประเทศจีนเองก็มีเขตปกครองตนเอง ซึ่งเป็นการปกครองท้องถิ่นโดยเคารพและรับฟังความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ส่วนมาตรการเฉพาะหน้าของรัฐควรเน้นความจริงใจเป็นสำคัญ

ขณะที่นางสาวนารี แซ่ตั้ง จากกลุ่มองค์กรศาสนิกเพื่อสันติ กล่าวว่า สาเหตุของปัญหาในภาคใต้อาจไม่ได้มีอย่างเดียว และมีหลายสาเหตุที่ยังหาไม่เจอ แต่บางเรื่องเห็นชัดเจนแล้ว อย่างปัญหาอันเกิดจากกลไกของรัฐ เช่นการที่เจ้าหน้าที่อุ้มฆ่าและสร้างความอยุติธรรมให้ประชาชนในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้รัฐต้องรีบดำเนินการแก้ไข รวมทั้งต้องมีการจำแนกแยกแยะคดีต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เหมารวมและขยายอาณาจักรแห่งความหวาดกลัว

"ถ้านี่เป็นรอยต่อของพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย จากเผด็จการทหารไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ เราต้องหามาตรการมาจำกัดเผด็จการโดยนายทุนไม่ให้ครองอำนาจยาวนานนัก และต้องไม่ให้มีการเปลี่ยนมือไปสู่ทุนรถยนต์ หรือทุนอาหารสัตว์ ถ้ายาวนานความรุนแรงอาจขยายพื้นที่
รวมทั้งต้องหามาตรการสร้างความสมดุล ไม่ให้อำนาจบริหารแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระอย่างที่เป็นอยู่" พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ จากกลุ่มเสขิยธรรมกล่าว

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net