Skip to main content
sharethis

ย้อนกลับไปมองตลอด 365 วันของปี 2547 หากจะกล่าวว่าเป็นปีแห่งความ Ugly หรือน่าเกลียด ของเมืองเชียงใหม่ ก็คงไม่ผิดนัก และเชื่อว่าคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธด้วย

ประเด็น เชียงใหม่เริ่มจะน่าเกลียด ได้ก่อตัวขึ้นมาเมื่อ "พลเมืองเหนือ" ตีพิมพ์ผลสำรวจการจัดอันดับเมืองน่าเที่ยวของโลกของนิตยสารเพื่อการท่องเที่ยวของชาติตะวันตกอย่าง "National Geographic Traveler" ฉบับประจำเดือนมีนาคม 2547 ที่เสนอผลสำรวจการจัดอันดับเมืองน่าท่องเที่ยวทั่วโลก 115 เมือง

ผลปรากฏว่า มีเมืองท่องเที่ยวแม่เหล็กสำคัญของไทยคือ เชียงใหม่และภูเก็ต ติดอันดับ "Getting Ugly" หรือเมืองที่กำลังจะน่าเกลียด ซึ่งสวนทางกับนโยบายของจังหวัดที่มีโครงการ "เชียงใหม่เมืองงาม" อย่างสิ้นเชิง

ใช่ว่าเชียงใหม่จะไม่เคยถูกจัดอันดับ หรือไม่เคยถูกวิจารณ์ แต่ปรากฏการณ์ครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งอื่น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจ ตื่นตัว มองรอบตัวถึงปัญหา และพยายามหาทางแก้ไข

ความสำเร็จยังมองไม่เห็น เราจึงหวังว่า ก้าวเข้าสู่ปีใหม่เราจะไม่หลงลืมและปล่อยทิ้งความ Ugly
เหล่านี้ไปกับเวลาที่ผ่านการจัดให้เชียงใหม่เป็นเมือง Getting Ugly นั้นเราได้รับการเตือน (Warning) ใน
3 ประเด็นคือ 1.ด้านสิ่งแวดล้อม 2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม 3.ขาดการจัดการด้านการท่องเที่ยวที่ดี

ซึ่งโดยภาพรวมเป็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ลบ เป็นประเด็นปัญหาที่ยากจะปฏิเสธได้ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่สื่อชื่อดังระดับโลกฉบับนี้กล่าวถึง แต่มันคือข้อเท็จจริงที่เมืองเก่า เมืองประวัติศาสตร์ที่มีอายุกว่า 700 ปี
กำลังเผชิญชะตากรรมอยู่อย่างสาหัสในขณะนี้ มิใช่ระยะเวลาสั้น ๆ 5 หรือ 10 ปีเท่านั้น ที่ภาพของเมืองที่งดงามเริ่มเปลี่ยนไป ทว่าระยะเวลายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ ที่เชียงใหม่เจริญเติบโตแบบสุดขีด

แต่น่าเสียดายที่การเติบโตกลับถูกปล่อยปละละเลยในเรื่องของการจัดการเมืองในแบบที่ไร้ทิศทางมาโดยตลอด

วัฒนธรรมเลือนหาย

รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มองว่าเหตุการณ์ในอดีต เมื่อราวปี 2503 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นปีเริ่มต้นของการเปลี่ยนของเมืองเชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวจากเมืองกรุงหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวงานประเพณีสงกรานต์ที่เชียงใหม่ เป็นประเพณีแบบแบบล้านนาที่คนกรุงไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ประเพณีสงกรานต์ของเชียงใหม่กลายเป็นจุดขายหนึ่งในเรื่องของการท่องเที่ยวนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

แต่การทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยวจากเมืองกรุง ได้ส่งผลให้ประเพณีสงกรานต์ของเชียงใหม่เปลี่ยนไปและเริ่มแย่ลงเป็นลำดับ จากประเพณีที่สวยงาม การสาดน้ำจะเดินเล่นกันเฉพาะคนที่รู้จักหรือยินดีให้สาดเท่านั้น กลับกลายพัฒนาไปสู่การสาดน้ำใครก็ได้ที่อยากจะสาด ทั้ง ๆ ที่คนที่ถูกสาดไม่ปรารถนาที่จะโดนสาดแต่อย่างใด

และจากการเดินเล่นน้ำสงกรานต์อย่างสนุกสนานในเขตคูเมืองหรือตามวัดวาอารามในอดีต ตรงกันข้ามกับวันนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์กลับเบียดเสียดกันเข้ามาเต็มสี่เหลี่ยมคูเมือง การแต่งกายของวัยรุ่นมีทั้งเกาะอก สายเดี่ยว กางเกงขาสั้น โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่กระทำกันอยู่มิใช่ประเพณีล้านนาที่ดีงามที่เคยมีมาในอดีตนับหลายร้อยปี

"ตัวอย่างของประเพณีสงกรานต์แค่เพียงเรื่องเดียว เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงวัฒนธรรมล้านนาที่ได้เลือนหายไปแล้วในวันนี้ สะท้อนถึงการจัดการที่หน่วยงานรับผิดชอบปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด ทำไมเราไม่บอกให้เขารู้ว่า ประเพณีสงกรานต์ล้านนาที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ประเพณีวัฒนธรรมที่งดงามของล้านนาในอดีตควรค่าได้รับการอนุรักษ์ไว้ เพราะสงกรานต์ไม่ใช่แค่การเล่นสาดน้ำกันไปมาเพื่อความสนุก
มันเป็นความละเลยของผู้บริหารบ้านเมืองตั้งแต่ยุคอดีต"

"ตอนนี้คุณภาพทางกายภาพของเมืองเชียงใหม่เริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่ง 3 ประเด็นปัญหาที่สื่อต่างชาติฉบับดังกล่าวเตือนนั้น คงยากที่จะปฏิเสธ เพราะนั่นคือปัญหาที่เชียงใหม่กำลังเป็นอยู่ และกำลังจะ Ugly จริง ๆ และเป็นปัญหาในเรื่องการจัดการที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องใส่ใจอย่างจริงจัง"

รศ.ดร.ธเนศวร์ บอกว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่าเชียงใหม่กำลังจะน่าเกลียดจริง ๆ ปัจจัยสำคัญคือ ความสมบูรณ์แข็งแรงด้านสังคมและวัฒนธรรมที่ขาดหายไป เช่น การอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอ่อนแอมาเป็นเวลานาน ปล่อยให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมตะวันตก ต้องยอมรับความจริงว่าปัญหาของเชียงใหม่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นเรื่องของการจัดการที่มีปัญหาสะสมมาจากอดีต ปัญหาใหญ่ที่สุดของเชียงใหม่ในอดีตก็คือ ระบบบริหารราชการไม่มีความต่อเนื่อง เปลี่ยนผู้บริหารบ่อย ทำให้การพัฒนาเมืองของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละยุคแต่ละสมัยขาดตอนและไม่ต่อเนื่องกัน ที่สำคัญผู้ว่าฯแต่ละคนก็มีบุคลิกที่แตกต่างกัน

เมืองก็เหมือนร่างกายของคนเรา ที่ต้องมีการควบคุมให้อยู่ในภาวะที่สมดุล เมืองใหญ่ไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์กลางหรือมีทุกสิ่งทุกอย่างรวมไว้ในที่เดียว…แต่วันนี้ เชียงใหม่กำลังเป็นเช่นนั้น

เมืองมลพิษ-ขยะท่วม

ขยะกับมลพิษทางอากาศ 2 วิกฤติสำคัญของปัญหาเมืองเชียงใหม่พัวพันเป็นเรื่องเดียวกันอย่างแยกไม่ออก และกำลังบ่มเพาะรอวันปะทุ คนเชียงใหม่หายใจเอาอากาศเสียเข้าไปโดยไม่รู้ตัว อยู่ในอาการ "กบต้มสุก" หรือ "Boiled Frog Syndrome" ที่เปรียบเสมือนกบในหม้อน้ำที่ค่อย ๆ ร้อนขึ้น ๆ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

นี่คือสภาพปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบันมีคนป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจแล้วมากกว่า 700,000 คน สามารถแยกกรณีของโรคสำคัญ 3 โรคคือ โรคหอบหืด, โรคที่เกิดจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และมะเร็งปอด ปัญหามลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ขณะนี้ ส่งผลกระทบกับคนที่อยู่ในพื้นที่นี้อย่างแน่นอน และอาจกล่าวได้ว่าอยู่ในภาวะที่อันตรายมาก
ซึ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศ เมื่อมีปริมาณฝุ่นละอองหรือมลพิษในอากาศเพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ประชากรเสียชีวิตได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือเด็กและผู้สูงอายุ

เชียงใหม่เป็นจังหวัด 1 ใน 3 ที่มีสถิติปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particulate Matter) เกินมาตรฐาน
ซึ่งเป็นฝุ่นขนาดเล็กที่มีอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือ PM-10 ซึ่งมีกำหนดเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษเกิดจากการเผาทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กมากถึงร้อยละ 50 และที่เกิดจากการก่อสร้างและการจราจรอีกร้อยละ 30

ทั้งนี้ ฝุ่นละอองดังกล่าวจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน จะมีผลรุนแรงต่อปอด ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด อาจจะมีอาการรุนแรงขึ้นมาได้ เมื่อใครก็ตามหายใจเอาฝุ่นละเอียดเข้าไปจะไม่มีการขับออกมา แต่จะติดตามหลอดลม ถุงลม และปอด ยิ่งฝุ่นปริมาณมากเท่าไร ปอดก็จะยิ่งสกปรก และทำงานได้น้อยลง

สถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงขณะนี้ก็คือ พบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในจังหวัดเชียงใหม่เปรียบเทียบอัตราต่อแสนประชากร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดสูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งพบในกลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่ และพบว่าในปี 2545 จังหวัดเชียงใหม่มีอัตราผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดต่อแสนประชากร 138.7 พื้นที่ที่พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดมากที่สุดคือ อำเภอหางดง รองลงมาคืออำเภอสารภี โดยพบในผู้หญิงมากที่สุด ซึ่งจากการศึกษาคาดว่าสาเหตุหลักมาจากการเผาขยะและการใช้ฟืนประกอบอาหาร ที่เป็นต้นเหตุของการสะสมสารพิษ

เป็นที่น่าสังเกตว่าคุณภาพอากาศในพื้นที่แอ่งกะทะเชียงใหม่-ลำพูนในช่วงระยะที่ผ่านมา คุณภาพนั้นเลวร้ายและวิกฤติลงทุกขณะ จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลไล่ตั้งแต่ปี 2537 มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 487,213 คน ปี 2543 เพิ่มเป็น 626,950 คน และในปี 2545 เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 704,800 คน

จากการประชุมเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศและเสียงในเมืองเชียงใหม่ เมื่อ
วันที่ 9 กรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมา ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยนายปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานการประชุมคราวนั้นได้ตอกย้ำให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบถึงกรณีที่นิตยสาร
National Geographic Traveler จัดอันดับเชียงใหม่อยู่ในกลุ่มเมืองที่กำลังจะน่าเกลียด และมีมุมมองต่อเชียงใหม่ในอนาคตว่ามีการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง

ทั้งยังเตือนด้วยว่าหากปัญหาใน 3 ด้านคือ ด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมและวัฒนธรรม และขาดการจัดการท่องเที่ยวที่ดี ยังไม่ได้รับการแก้ไข อนาคตของเชียงใหม่ก็คงจะกลายเป็นเมืองที่น่าเกลียดจริง ๆ

โดยเฉพาะปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศเป็นพิษของเชียงใหม่ ซึ่งต้องวางมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว มาตรการระยะสั้นเฉพาะการแก้ปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้างคือ 1.ควบคุมการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากการก่อสร้างต่าง ๆ 2.ให้หน่วยงานคู่สัญญาและองค์กรท้องถิ่น ควบคุมดูแลฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้างทุกสถานที่ 3.ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองมลพิษทางอากาศและเสียง โดยเน้นการตรวจสอบการดำเนินงานและใช้มาตรการทางกฎหมาย

ส่วนมาตรการระยะยาวคือ 1.ต้องมีฐานข้อมูลการก่อสร้างทุกชนิดในจังหวัดเชียงใหม่ 2.ต้องมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบแต่ละรายการปัญหา 3.ควรเร่งให้มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มงวด 4.ขอความร่วม
มือผู้ประกอบการและภาคเอกชนที่ทำโครงการต่าง ๆ ช่วยดูแลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

แต่จนถึงขณะนี้มาตรการทั้งสั้นและยาวที่ว่ามานั้น ก็ยังไม่เห็นมีความเป็นรูปธรรมออกมาแต่อย่างใด
ขณะที่ตัวเลขขยะของเชียงใหม่ ในข้อเท็จจริงแล้วมิได้มีเพียงวันละ 250-350 ตันตามที่ปรากฏเป็นข่าว
เพราะนั่นเป็นเพียงตัวเลขในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่เท่านั้น หากแต่ทั่วทุกหย่อมเมืองในเขตเทศบาลตำบล อบต.และอำเภอต่างๆ ล้วนผลิตขยะขึ้นมาปริมาณมิใช่น้อย ๆ แต่ยังคงประสบปัญหาสถานที่ทิ้ง
ภาพรวมของการจัดการปัญหาขยะของเมืองเชียงใหม่ ที่แยกส่วนกันมานานทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน และกำลังบ่มถึงวิกฤติได้ที่ ยังไม่มีการนำมารวมบนโต๊ะและชี้ชัดให้คลี่คลายเสียที

ทางหนึ่งที่ประชาชนใช้แก้ปัญหาขยะท่วมบ้านตัวเองอยู่ขณะนี้คือการเผาขยะกันเอง เพราะไม่อาจปล่อยให้ขยะกองเน่าเหม็นหนอนขึ้นได้ นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเร่งเครื่องให้ท้าได้ว่า ปัญหามลพิษของเชียงใหม่
ยังเป็นหนทางทีตีบตันและยังแก้ไม่ได้แบบเบ็ดเสร็จ ทั้งที่นายกรัฐมนตรีบ่นให้คนไทยทั้งประเทศได้รู้ถึงวิกฤติด้านอากาศของเชียงใหม่มาแล้ว ดูเหมือนว่าทั้ง 2 เรื่องนี้ได้พัวพันกันแบบแยกไม่ออก มลพิษอากาศของเชียงใหม่ไม่อาจคลี่คลายได้ถ้าการบริหารจัดการขยะล้มเหลวและ 2 เรื่องนี้ควรจะเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัด

นี่หรือเมืองสุขภาพนานาชาติที่รัฐบาลวาดฝันให้เป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของเชียงใหม่ จะคุ้มค่ากันหรือไม่กับชีวิตของคนเมืองนี้ที่กำลังอยู่ในภาวะฝันร้ายและตายผ่อนส่ง และคงจะกลายเป็นเมืองที่ Ugly ในอีกไม่ช้านี้แน่นอน

Cheap Destination

หลายปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวทั่วโลกส่วนใหญ่ต่างมองเชียงใหม่ไปในแนวทางเดียวกันว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก (Cheap Destination) อะไรทำให้ภาพการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ในสายตาชาวโลกคิดกันเช่นนั้น

นายอมรดิษฐ์ สมุทรโคจร ผู้บริหารโรงแรมแทมมารีน วิลเลจ และโรงแรมราชมรรคา บอกว่า เมืองเชียงใหม่มีความน่าสนใจในตัวเองหลายด้าน ความเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องวัฒนธรรม สามารถขายเชียง
ใหม่ได้มาถึง 700 กว่าปี โรงแรมเกิดขึ้นหลายร้อยแห่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่รวมถึงที่พักประเภทเกสท์เฮ้าส์ราคาถูก ส่งผลให้เกิดปัญหาการตัดราคากันมาโดยตลอด ในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติตอนนี้ก็ยังมองว่าเชียงใหม่ยังคงเป็น Cheap Destination

นักท่องเที่ยวต่างชาติเคยสะท้อนว่าไปเที่ยวเชียงใหม่แล้วไปทำอะไร นั่นแสดงว่าตอนนี้จุดขายของเชียงใหม่ยังไม่ชัดเจนว่าจะชูในเรื่องธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม หรือมีจุดขายอื่นที่แตกต่างกว่า ธรรมชาติก็ถูกทำลายไปเยอะ

สิ่งที่หลายคนบอกว่ ามาถ้าเชียงใหม่ไม่รู้จะไปทำอะไร น่าจะหมายความว่าเมื่อก่อนคนชอบมาเที่ยวเชียง ใหม่เพราะความเป็นเชียงใหม่ การได้มาดูบรรยากาศเก่า ๆ ของเชียงใหม่ที่มีความเป็นวัฒนธรรมแบบล้านนาที่หาดูที่ไหนไม่ได้มากกว่า

นายบุญเลิศ เปเรร่า นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ ยอมรับว่า ความเจริญและการเติบโตของเมืองเชียงใหม่ที่ผ่านมาถือว่าเป็นการเติบโตแบบถดถอย เป็นการพัฒนาในเชิงวัตถุมากเกินไป จนทำให้ความเป็นเชียงใหม่หรือความเป็นล้านนาเริ่มจืดจาง เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักให้มากและให้ความสนใจที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข การท่องเที่ยวของเชียง ใหม่อาจลดบทบาทลงในเวทีโลก

ปัญหามลพิษทางอากาศของเชียงใหม่ขณะนี้ค่อนข้างวิกฤติ ทั้งฝุ่นและควัน ที่เกิดจากการกระทำของคนเชียงใหม่เองและการก่อสร้างต่าง ๆ ส่วนในเชิงโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะวัฒนธรรมของเมืองก็เริ่มถูกวัตถุนิยมต่าง ๆ กลืนไปเรื่อย ๆ คนท้องถิ่นแท้ ๆ ไม่พูดภาษาท้องถิ่นหรือคำเมือง การแต่งกายที่สื่อถึงความเป็นเชียงใหม่หรือล้านนาไม่มีความชัดเจนและขาดเอกลักษณ์ รวมถึงการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ก็ขาดเอกลักษณ์ด้วยเช่นกัน

ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการท่องเที่ยว เพราะทิศทางของนักท่อง
เที่ยวทั่วโลกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และมักจะปฏิเสธต่อแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน เช่น เมืองที่มลภาวะ หรือเมืองที่มีการพัฒนาเชิงวัตถุมากเกินไป อนาคตนักท่องเที่ยวจะเริ่มปฏิเสธที่จะเข้าไปเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวโลก
ที่มาเยือนเชียงใหม่มากที่สุด ก็เริ่มให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน

ขณะเดียวกันมีความพยายามของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ที่เร่งสร้างภาพพจน์การท่องเที่ยวที่ดีให้กลับคืนมา โดยกลุ่ม Chiangmai Charm Cluster ซึ่งเป็น Cluster ด้านท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ที่เร่งวางกลยุทธ์แก้ไขปัญหาเชียงใหม่ไม่ให้เป็นจังหวัดทางผ่าน หรือ (Stop Over Destina
tion) และแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก (Cheap Destination) โดยมุ่งเป้าไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนคือให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่มีคุณภาพ (World Class Destination) ตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการที่จะขับเคลื่อน และทำให้เชียงใหม่ในอนาคตเป็นเมืองน่าอยู่หรือเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่นี่
จริง ๆ

กลยุทธ์ 4 แนวทางของกลุ่ม Chiangmai Charm Cluster ที่กำหนดเป็นแผนออกมาแล้วว่า เชียงใหม่จะต้องปรับเปลี่ยนจุดยืนหรือ Repositioning ใหม่นั้น ได้แก่ การเน้นการท่องเที่ยวด้านตลาดประชุมและงานแสดงนิทรรศการและสินค้านานาชาติ (MICE) การท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Spa)การท่องเที่ยวและสันทนาการ (Golf) และกลยุทธ์สุดท้าย การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco-Tourism)ซึ่งอาจช่วยเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส นำข้อบกพร่องนั้นมาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งหากทำได้ก็น่าจะลบคำกล่าวหาว่าเชียงใหม่กำลังจะน่าเกลียด Getting Ugly ให้เป็น Lovely Chiangmai ได้ในไม่ช้า

ฤาเชียงใหม่จะ Ugly จริง ๆ เสียแล้ว
ต้องยอมรับว่าประเด็น "เชียงใหม่ Getting Ugly" ส่งผลต่อปฏิกิริยาของหลายฝ่ายในจังหวัดเชียงใหม่มากพอสมควร ภายหลังที่สื่อตีแผ่และรายงานข่าวอย่างครึกโครม กระแสของความรักบ้านรักเมืองจากหลายกลุ่มพลังเริ่มปรากฏให้เห็น ได้เห็นพลังการตื่นตัวของคนเชียงใหม่ที่รักเชียงใหม่ และอยากเห็นการพัฒนาเชียงใหม่เดินไปในทางที่ถูกต้องสวยงาม

ตรงกันข้ามการเคลื่อนไหวและแสดงบทบาทของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงแทบนับครั้งได้ และที่
เห็นการตื่นตัวในระดับองค์กร ก็คงจะเกิดจากการริเริ่มจัดสัมมนาเรื่อง "เชียงใหม่ Getting Ugly จริงหรือ?" ของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 ณ วิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น หลังจากนั้น เทศบาลนครเชียงใหม่ในฐานะเจ้าภาพที่ถูกพาดพิงมากที่สุด ก็รับเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ "แก้ไขปัญหาเชียงใหม่ Getting Ugly" เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว

การจัดเวที Workshop ครั้งที่สอง เป้าหมายใหญ่คือต้องการให้ได้แผนปฏิบัติการและเจ้าภาพออกมารับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาไม่ให้เชียงใหม่น่าเกลียดยิ่งขึ้น และเป็นแผนงานที่เป็นรูปธรรมออกมา การจัดสัมมนาคราวนั้นมีผู้เข้าร่วมจากกลุ่มสาขาอาชีพ และหน่วยงานที่หลากหลายกว่า 200 คน กับการคาดหวังว่าจะได้สิ่งที่เป็นแนวทางแก้ไขออกมาเป็นรูปธรรม ทว่า เนื้อหาหลักของการสัมมนายังวนอยู่กับการสะท้อนปัญหาที่ทุกฝ่ายทราบดี

หลังจากการสัมมนาอนุสนธิที่ทางเทศบาลนครเชียงใหม่รับจะดำเนินการต่อคือ การเป็นเจ้าภาพต่อเนื่องที่จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการลงลึกในแต่ละกลุ่ม โดยจะมุ่งเน้นผู้ที่มีความสนใจและมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ โดยตรง มาร่วมประชุมที่เทศบาลนครเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละกลุ่มปัญหา โดยจะจัดอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการกำหนดตัวเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน

แต่ทว่าในปัจจุบันที่จะข้ามปีแล้ว ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมที่จะแก้ไขปัญหาเชียงใหม่ Getting Ugly
ออกมาจากเทศบาล และจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีระบบการบริหารงานแบบบูรณาการหรือ CEO ที่จะแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์เช่นนี้โดยตรง ซึ่งหากปล่อยให้ปัญหาทับถมไปเรื่อยๆ เช่นนี้ การแก้ไขปัญหาก็จะซับซ้อนและยากยิ่งขึ้น เมืองเชียงใหม่ที่มีรากฐานทางด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่สวยงาม ก็จะกลายเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่า Ugly ในอนาคตแน่นอน

เราจึงหวังว่าในปี 2548 จะเป็นปีที่ผู้บริหารจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาคมจังหวัด และประชาชน จะมามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อรักษาแผ่นดินนี้ให้ลูกหลานได้ชื่นชมความสวยงาม น่าอยู่ในอนาคตต่อไป.

สุธิดา สุวรรณกันธา
โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาคพลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net