Skip to main content
sharethis

"รศ.ดร.ครองชัย หัตถา" หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักวิชาการทางธรณีวิทยา ให้สัมภาษณ์ "ประชาไทออนไลน์" อธิบายถึงปรากฏการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิ ที่เกิดจากแผ่นดินไหว ณ เกาะสุมาตรา เข้าถล่มประเทศไทย ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน อันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุด เท่าที่ประเทศไทยเคยได้รับ

คำอธิบายพร้อมคำเตือนของนักวิชาการทางด้านภูมิศาสตร์ มีว่าอย่างไร เชิญทัศนาโดยพลัน

……………………..............
บริเวณทะเลอันดามัน มีแนวรอยเลื่อนแนวใหญ่ ตั้งแต่ประเทศพม่า หมูเกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะอันดามัน เลียบชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย อ้อมไปถึงประเทศฟิลิปปินส์

รอยเลื่อนดังกล่าว เป็นรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น คือ แผ่นเปลือกโลกยูเรเซียกับแผ่นเปลือกโลกอินเดีย - ออสเตรเลีย

ประเทศไทยตั้งอยู่บนขอบของแผ่นทวีปซุนดา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ซึ่งเป็นแผ่นเปลือกโลกที่ใหญ่ที่สุด ส่วนพื้นที่มหาสมุทรอินเดียเป็นแผ่นเปลือกโลกอินเดีย - ออสเตรเลีย

ปกติแผ่นอินเดีย - ออสเตรเลีย จะมุดลงใต้แผ่นยูเรเซีย บริเวณรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกทั้ง 2 รอย เลื่อนบริเวณขอบของเกาะสุมาตราฝั่งตะวันตก จะมุดลงใต้เกาะสุมาตรา สังเกตได้จากแนวภูเขาไฟบนเกาะ ส่วนบริเวณอื่นๆ แนวภูเขาไฟจะอยู่ขนาน หรืออยู่ใกล้แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกด้วย

ขณะที่แผ่นดินขยับตัวมุดลง แผ่นดินบริเวณนั้น ก็จะยุบลงทั้งสองแผ่น ลักษณะเหมือนเวลาเอานิ้วกดขนมชั้น

แต่เกาะภูเก็ตหรือพื้นดินแถบฝั่งอันดามัน จะไม่จมหายไปหมด เพราะว่าเกาะภูเก็ตตั้งอยู่บนแผ่นดินที่แข็งเกร่งแล้ว แผ่นดินภาคใต้ตั้งบนแผ่นเปลือกโลกที่แกร่ง ไปเป็นศูนย์กลางของแผ่นดนไหว แต่จะได้รับผลกระทบจากความสั่นสะเทือน

นอกจากที่มีภูมิประเทศต่ำ มีความสูงไม่เกิน 3 - 5 เมตร อย่างเช่นที่เกาะมัลดีฟ อาจจะจมหายไปได้เลย ถ้าน้ำขื้นสูง

แผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดจากการขยับตัวของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย - ออสเตรเลีย ซึ่งครั้งนี้มีศูนย์กลาง 2 จุด คือ ที่เกาะสุมาตรา กับที่รัฐฉาน ประเทศพม่า

ถือเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงมาก เพราะแรงสั่นสะเทือนสูงถึง 8.9 ริกเตอร์ ถ้าความรุนแรงสูงถึงระดับ 10 ริกเตอร์นี่โลกแตก ทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นโลกจะราบเป็นหน้ากลอง

ผลกระทบจากแผ่นดินไหว ที่มีศูนย์กลางบนบกกับมีศูนย์กลางอยู่ในทะเล จะแตกต่างกัน
เหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิ ถล่มครั้งนี้ก็ร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งบังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย

ตอนที่เปลือกโลกบริเวณรอยเลื่อนในทะเลขยับตัว จะเกิดช่องว่าง น้ำจะเข้าไปแทนที่ช่องว่างตรงนั้น แล้วกระฉอกขึ้นมา เกิดคลื่นขนาดใหญ่แผ่กระจายออกไปเป็นคลื่นขนาดใหญ่ ม้วนอยู่ใต้น้ำในเขตทะเลลึก คลื่นยักษ์ซึนามิ จะโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำแค่ 10 เปอร์เซ็น เท่านั้น

คลื่นจะม้วนตัวออกไปจากจุดศูนย์กลาง พอเข้าไปใกล้ฝั่งที่ตื้นยิ่งขึ้นทุกที คลื่นก็จะแรงขึ้น เพราะผืนดินจะดันคลื่นพุ่งสูง อำนาจทำลายล้างจะมากมายมหาศาล

ยิ่งชายฝั่งเป็นพื้นราบมากเท่าไหร่ ความรุนแรงจะมากขึ้น เพราะคลื่นจะซัดขึ้นฝั่งลึกเข้าไปตามความลาดเอียงของพื้นที่

คลื่นใหญ่จากแผ่นดินไหว หรือซึนามิ ที่เข้าถล่มชายฝั่ง จะทิ้งระยะประมาณครึ่งชั่วโมง เป็นคลื่นเล็กๆ ซัดเข้ามา เรียกว่าริ้วคลื่น เป็นลักษณะปรากฏการณ์น้ำขึ้นสูง และลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนลูกใหญ่จะทิ้งช่วงประมาณ 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ณ จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว

ตอนนี้ ภาคใต้ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะจะมีอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีก ถ้าแรงสั่นสะเทือนของอาฟเตอร์ช็อคสูง โอกาสจะเกิดคลื่นยักษ์อีกครั้งก็เป็นไปได้

สำหรับการขยับตัวของเปลือกโลกนั้น จะส่งผลให้เกิดแนวรอยเลื่อนย่อยๆ ขึ้นมา เรียกว่าแนวรอยเลื่อนภายใน เกิดจากความเครียดของเปลือกโลก ลักษณะเหมือนแก้วแตกมีรอยร้าวอยู่

แนวรอยเลื่อนในประเทศไทยมีหลายแห่ง เช่น แนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี แนวรอยเลื่อนจังหวัดระนอง แนวรอยเลื่อนอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช แนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย จังหวัดสุราษฎร์ธานี แนวรอยเลื่อนอ่าวพังงา - อ่าวบ้านดอน เป็นต้น

ไม่นานมานี้ มาเลเซียเคยมาศึกษาแนวรอยเลื่อนในภาคใต้ของไทย ที่ต่อเนื่องกับในประเทศมาเลเซีย ก็พบว่า แนวแม่น้ำปัตตานี กับแม่น้ำสายบุรี ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนที่ต่อเนื่องเข้าไปในมาเลเซีย แนวรอยเลื่อนดังกล่าว อยู่ลึกลงไปใต้ดินถึง 40 กิโลเมตร

พื้นที่ที่อยู่ในแนวรอยเลื่อน และเป็นจุดเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว มีจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปกติมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะเป็นที่ตั้งของเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่

ส่วนเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน แต่ว่าปัจจุบันการก่อสร้างอาคารสูง มีการออกแบบรองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว จึงทำให้ความเสี่ยงมีน้อยกว่าในอดีต

ผลกระทบของแผ่นดินไหวจะแรงขนาดไหน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของเปลือกโลก ครั้งนี้ถือว่าแรงมาก เป็นครั้งแรกที่รู้สึกได้ที่ปัตตานี

วันเกิดเหตุ ผมไปทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า นั่งทำงานชั้น 2 ของตึกคณะ รู้สึกสั่น และเวียนหัว ทั้งๆ ที่ปัตตานี อยู่ในเขตปลอดภัยจากแผ่นดินไหว ระดับ 0 มีเส้นแบ่งความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว อยู่ที่แม่น้ำเทพา จังหวัดสงขลา ที่ผ่านมาแผ่นดินไหวจึงรู้สึกได้ที่หาดใหญ่ แล้วมาหยุดอยู่แค่แม่น้ำเทพาเท่านั้น

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขตปลอดภัยจากแผ่นดินไหว อยู่ที่เขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรงแนวเทือกเขาหลวง - สิชล ต่อมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหว รู้สึกได้ถึงหาดใหญ่ แนวเขตปลอดภัยก็ต้องเปลี่ยน มากำหนดไว้ที่แนวแม่น้ำเทพา

เขตปลอดภัยจากแผ่นดินไหวในทางธรณีวิทยา มีการกำหนดไว้ 3 ระดับ คือ ระดับ 2 เขตเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลจากแผ่นดินไหว ประเทศไทย คือ จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ตาก เชืยงใหม่ ระดับ 1 คือ รู้สึกถึงการสั่นสะเทือน มีกรุงเทพฯ ภูเก็ต และระดับ 0 คือ ไม่เคยรู้สึกถึงความั่นสะเทือน หลังจากนี้คงต้องเปลี่ยนแนวเขตปลอดภัยจากแผ่นดินใหม่

ต่อไปนี้หน่วยงานต่างๆ จะต้องมาหารือกันว่า จะมีมาตรการรับมือกับภัยพิบัติ ต่างๆ อย่างไร รัฐต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น

เราตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก มาตรการต่างๆ ก็ต้องเป็นมาตรฐานระดับโลก

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net