Skip to main content
sharethis

ประชาไท-29 ธ.ค.47 จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิถล่ม 6 จังหวัดในภาคใต้ฝั่งอันดามันจนมีผู้เสียชีวิตทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไปแล้วกว่าพันราย โดยมีรายงานจากในพื้นที่แจ้งว่ามีแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาทำงานรับจ้าง เป็นลูกเรือตังเก คนงานที่สะพานปลา เสียชีวิตและสูญหายไปจำนวนมาก โดยเฉพาะอ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งเป็นจุดใหญ่ที่มีคนเสียชีวิต แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนที่ชัดเจนได้ ในเบื้องต้นคาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 คน
นายอ่องเตง แรงงานพม่าที่ อ.ตะกั่วป่า กล่าวว่าตอนนี้ไม่สามารถแยกได้ว่าศพไหนเป็นคนไทยคนพม่าเพราะหน้าตาคล้ายกัน ไม่มีคนไปชี้ตัว แต่ที่ตนรู้จักก็ตายไปมากพอสมควร คนงานบางคนภรรยาตาย สามีตาย ลูกตาย งานก็ไม่มีทำ ไม่มีที่อยู่ เสียหายหมด
"เมื่อวานเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ ส่งคนงานกลับพม่าไป 4 คันรถ ประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง วันนี้ก็ส่งอีกไม่รู้กี่คนส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย" นายอ่องเตง กล่าว
นักสิทธิมนุษยชนชาวพม่า ที่กรุงเทพฯ กล่าวว่าตนได้รับแจ้งจากคนงานในพื้นที่มาในช่วงเย็นวานว่า คนงานพม่าที่รอดชีวิต 200 คน ถูกนำตัวไปแต่ไม่ทราบสถานที่ซึ่งคนงานกลัวมาก แต่ก็ยังคิดกันว่าน่าจะถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ในที่ปลอดภัย และล่าสุดวันนี้ทราบว่าคนงานติดต่อกลับมาว่าถูกนำไปส่งเกาะสอง ประเทศพม่าเรียบร้อยแล้ว โดยคืนที่ผ่านมาถูกนำไปไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง
"ตอนนี้คนไทยก็เดือนร้อน คนพม่าก็เดือดร้อน เงินเดือนยังไม่ได้ หมดตัว นายจ้างก็หมดตัว งานไม่มี แต่เขาจดทะเบียนเขาย้ายนายจ้างได้ ทำไมต้องส่งกลับ รัฐบาลอนุมัติงบเรื่องประกันสังคมดูแลคนไทยแต่คนพม่าไม่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ ที่ติดใจคือเรื่องส่งกลับ" นักสิทธิมนุษยชนชาวพม่า กล่าว
ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ กล่าวว่า ตอนนี้ข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้วคือที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ประมาณ 200 คน จ.ระนอง ประมาณ 300 คน และสูญหายไม่ต่ำกว่า 1,000 คนส่วนใหญ่เป็นลูกเรือตังเกและคนงานที่สะพานปลา ส่วนพื้นที่ที่เหลือยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน
พื้นที่ 6 จังหวัดที่ประสบภัยนั้นมีแรงงานข้ามชาติอยู่ทุกจังหวัด โดย จ.ระนอง 47,501 คน จ.ภูเก็ต 36,483 คน จ.พังงา 29,730 คน จ.ตรัง 8,000 คน จ.สตูล 3,000 คน และ จ.กระบี่ 3,000 คน รวมทั้งหมด128,735 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานรับจ้าง เช่น ลูกเรือประมง คัดแยกปลา โดย จ.ภูเก็ต ส่วนใหญ่เป็นแรงงานบริการและคนงานก่อสร้าง แต่ที่มาขึ้นทะเบียนกับนายจ้างนั้นมีเพียง 22,504 คน
"การจัดการระยะยาวจะมีปัญหาแน่นอน เพราะคนงานที่ขึ้นทะเบียนคนงานนายจ้างและรัฐบาลต้องดูแลแต่ว่าที่ขึ้นทะเบียนจริงๆก็มีเพียง 2 หมื่นกว่าคนหรือประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลืออาจถูกปฏิเสธ และคนกลุ่มนี้ก็น่าเป็นห่วงเพราะจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือทีหลัง กระแสหลักตอนนี้จับไปที่โรงแรมขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ การท่องเที่ยว แม้แต่ประมงพื้นบ้านไทยยังไม่ได้รับการเหลียวแลแล้วนี่เป็นแรงงานข้ามชาติ" รองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่ากรณีที่มีข่าวว่ามีการส่งกลับแรงงานไปเมื่อวานนั้น ตนยังไม่ทราบเหตุผลของรัฐ แต่มีข้อสังเกตว่าในช่วงนี้รัฐไทยน่าจะให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องคนเจ็บและคนตายมากกว่าแทนที่จะไปจัดการส่งกลับคนเหล่านี้ นอกจากนี้ตามมติครม.และประกาศของกระทรวง มหาดไทยแล้วเขามีสิทธิ์อยู่ในประเทศไทยได้จนถึง 30 มิ.ย.48 และที่สำคัญจะเห็นว่าข่าวเกี่ยวกับพม่าในเหตุการณ์ครั้งนี้ทั้งภาพและข่าวเป็นที่รับรู้น้อยมาก จึงไม่แน่ใจว่าการส่งไปที่เกาะสองจะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยกว่า อ.ตะกั่วป่าจริงหรือไม่

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net