Skip to main content
sharethis

พักหนี้ให้ประเทศที่ประสบภัยซึนามิ ทางเลือกที่เป็นไปได้?
พลันที่คลื่นยักษ์ซึนามิถาโถมสร้างความวิปโยคย่อยยับให้เกิดขึ้นกว่า 12 ประเทศในโลก ชายฝั่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียใต้และซัดเลยไปไกลถึงชายฝั่งทวีปแอฟริกา การร่วมแรงร่วมใจของพลโลกครั้งสำคัญจึงเกิดขึ้น ข้อเสนอความช่วยเหลือหนทางในการบรรเทาทุกข์นานาประการจึงเกิดขึ้น

การพัก/ผ่อนปรนหนี้แก่ประเทศที่ประสบภัยซึนามิก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ถูกเสนอโดยนายกอร์ดอน บราวน์
อัครมหาเสนาบดีแห่งสหราชอาณาจักร เนื่องจากเห็นว่าประเทศเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องใช้เงินไปในการฟื้นฟูประเทศ โดยนายบราวน์เสนอให้เริ่มต้นอย่างน้อยที่ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแต่ละปี

สำหรับข้อเสนอเรื่องการพัก/ผ่อนปรนหนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาเคยมีการเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยยกเลิกหรือลดหนี้ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ในปีที่ผ่านมาก็มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างเข้มข้นโดยผู้มีชื่อเสียงหลายคนร่วมในการรณรงค์เรื่องนี้ด้วย อาทิ ป๊อบสตาร์อย่าง โบโน และผู้ที่ดำเนินการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม บ๊อบ เกลด๊อฟ

สงครามอิรัก การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้นานาชาติต้องหันมาสนใจต่อประเด็นการรณรงค์ดังกล่าว

ภาระหนี้ที่ประเทศเหล่านี้แบกอยู่ คือเท่าไร
ข้อมูลจากธนาคารโลกล่าสุดแสดงว่าหนี้สินต่างประเทศที่ประเทศที่ประสบภัยซึนามิแบกอยู่สูงสุดคืออินโดนีเซีย 132.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยอินเดีย 104.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีไทยอยู่ในลำดับที่สาม59.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วย มาเลเซีย 48.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ, ศรีลังกา 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ, โซมาเลีย 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ, ซีแชล 560 ล้านเหรียญสหรัฐ, มัลดีฟส์ 270 ล้านเหรียญสหรัฐ

และเมื่อดูจากมูลค่าหนี้ที่แต่ละประเทศจะต้องจ่ายคืนนั้นข้อมูลจากการรณรงค์เพื่อการบรรเทาภาระหนี้ของWorld Development Movement ระบุมูลค่าหนี้ที่แต่ละประเทศต้องจ่ายคืนในแต่ละปีไว้ พบว่าไทยอยู่ในลำดับต้นสุดคือ 17.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วย อินโดนีเซีย 13.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ, อินเดีย 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ, ศรีลังกา 653 ล้านเหรียญสหรัฐ และมัลดีฟส์ 20.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ซึ่งจำนวนที่เสนอให้มีการผ่อนปรนหนี้อย่างน้อย 3 พันล้านเหรียญสหรัฐจะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ให้แก่ห้าประเทศที่ประสบภัยเหล่านี้ได้ประมาณเดือนครึ่ง

แล้วหนี้ก้อนโตนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
เงินส่วนใหญ่ถูกกู้ยืมมาในระหว่างปี 1960-1970 โดยผ่านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก นอกจากนี้ยังมีการให้กู้ยืมโดยตรงจากประเทศ ธนาคารหรือองค์กรภาคธุรกิจอีกด้วย ซึ่งเงินกู้ยืมเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่บ่อยครั้งที่พบว่าเงินกู้ยืมเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในทางอื่นแทน เช่น กลายเป็นช่องทางในการกอบโกยหรือใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยของผู้นำประเทศที่เป็นเผด็จการ หรือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อเม็ดเงินที่ยืมไปไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศที่จะทำให้เกิดโภคผลแก่ประเทศอย่างแท้จริง อัตราดอกเบี้ยที่พอกพูนทบกลับมาเป็นระลอกใหญ่ในปี 1970 และ 1980 ผนวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและราคาสินค้าตกต่ำ จึงทำให้หลายประเทศกลับมีหนี้พอกพูนขึ้นมาแทนที่จะเป็นการจ่ายคืนหนี้

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าการจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศยิ่งยากขึ้นไปอีก เนื่องด้วยสกุลเงินที่ต้องจ่ายคืนส่วนใหญ่คือดอลลาร์สหรัฐ, ปอนด์สเตอริง หรือยูโร ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีความคงที่ ในขณะที่สกุลเงินในประเทศลูกหนี้กลับมีมูลค่าลดต่ำอย่างน่าใจหายกลายเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มูลค่าหนี้ที่ต้องชำระสูงขึ้นไปอีก

ฝันที่อยากให้เป็นของนักรณรงค์
นักรณรงค์เรียกร้องให้มีการยกเลิกหนี้ให้แก่ประเทศที่ยากจน ด้วยเหตุผลว่าการแบกรับภาระการชำระหนี้นำมาซึ่งการตัดลดงบประมาณด้านสังคมและโครงการด้านการพัฒนา องค์การออกแฟมกล่าวต่อเรื่องนี้ว่า "หากประเทศที่ยากจนต้องนำเงินมาใช้คืนหนี้แทนที่จะจ่ายไปเพื่อสุขภาพและการศึกษาของประชาชนในประเทศถือว่าเป็นเป็นการดำเนินการที่ขาดศีลธรรมและไม่มีเหตุผลในทางเศรษฐกิจอีกด้วย"

นอกจากนี้ยังมีข้อโต้แย้งต่อหนี้ที่เกิดขึ้นในอดีตเช่น เงินที่กู้ยืมมาในสมัยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตถือเป็นหนี้ที่น่าเกลียดน่าชัง เนื่องจากถูกนำมาใช้เพื่อการรักษาอำนาจของตนเองไว้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรอย่างยิ่งที่ประชาชนอินโดนีเซียจะต้องมาจ่ายคืนเงินที่ยืมมาเพื่อการกดขี่ตนเอง

อีกวิธีหนึ่งที่มีการเสนอคือการชำระคืนในลักษณะแลกเปลี่ยน หรือให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ แต่นักรณรงค์ก็เตือนว่าการทำดังกล่าวอาจจะทำให้วงจรการชำระหนี้มีลักษณะพันไปพันมาเป็นงูกินหางและอาจจะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น

ความจริงที่เกิดขึ้นยังไกลจากฝัน
โครงการช่วยเหลือประเทศลูกหนี้หรือ HIPC (Heavily Indebted Poor Countries) ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1996โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก อย่างไรก็ตามมีข้อวิพากษ์ของกลุ่มรณรงค์ให้ยกเลิกหนี้ หรือ JDC (Jubilee Debt Campaign) ที่เห็นว่าโครงการที่อ้างว่าจะให้การช่วยเหลือประเทศลูกหนี้นั้นเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่ได้ช่วยอะไรมากเท่าที่มีการกล่าวอ้าง นอกจากนี้พบว่ามีข้อเสนอให้มีการตัดลดงบประมาณด้านสุขภาพและการศึกษาอีกด้วย

ในขณะที่ผลจากการรณรงค์ของ JDC ล้วนๆทำให้มีการยกเลิกหนี้ไปแล้วถึง 36.3 พันล้าน หรือคิดเป็นอัตราน้อยกว่า 10% ของหนี้ที่ถูกยกเลิก

หนี้ที่ต้องยกเลิกมากกว่าผ่อนปรน
แม้ว่านักรณรงค์ให้มีการยกเลิกหนี้จะตอบรับเป็นอย่างดีต่อข้อเสนอของนายบราวน์ที่ให้มีการผ่อนปรนหนี้ แต่ก็ยังเห็นว่าข้อเสนอนี้ยังไม่เพียงพอ การหยุดพักชำระหนี้เป็นเพียงการบรรเทา ในขณะที่การฟื้นฟูต้องกินเวลาอีกหลายปี การยกเลิกหนี้จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และหวังว่าเดือนหน้าอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ นายบราวน์ยังกล่าวด้วยว่าการตัดลดหนี้สินให้แก่ประเทศยากจนเป็นหนึ่งในเป้าหมายของสหราชอาณา
จักรในฐานะประธานของกลุ่มประเทศ G8 และสหภาพยุโรป

(แปลและเรียบเรียงจาก Q&A: The weight of debt จาก BBC News)
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net