Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ-5 ม.ค.48 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ประธานประชุมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์ซึนามิ และฟื้นฟูกิจการ สถานที่ท่องเที่ยวแถลงภายหลังประชุมร่วมกับรัฐมนตรี 9 กระทรวง ว่า ที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 9 ชุดได้แก่

1.การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงการคลัง นายรองพล เจริญพันธุ์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ ที่ปรึกษากฎหมาย สบ.11 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นคณะอนุกรรมการเข้าไปช่วยเหลือ และร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือ รวบรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลจะเป็นภาระในการรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายทั้งหมด

2. คณะอนุกรรมการดูแลผู้ประสบภัยที่เป็นคนไทยมี นายรองพล เจริญพันธ์ เป็นประธานพิจารณา ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ โดยให้ทุกหน่วยงานหารือกันว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดที่จะก่อให้เกิดเอกภาพในการช่วยเหลือ

3. การช่วยเหลือชาวประมง ซึ่งพบว่ามีเรือประมงเสียหายประมาณ 2,418 ลำ และยังมีอุปกรณ์ประมงต่างๆ ทีเสียหายอีกเป็นจำนวนมากด้วย โดยทางกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือตามขนาดของประเภทเรือ อยู่แล้ว เช่น เรือขนาด 10 เมตรขึ้นไป ก็ถือเป็นเรือขนาดใหญ่ ต่ำกว่านั้นก็เป็นเรือ ขนาดเล็ก

โดยให้กรมประมงเป็นผู้ทำหลักเกณฑ์ช่วยเหลือแบบปกติ พร้อมกับพิจารณาช่วยเหลือเพิ่มเติมพิเศษ เพราะถือว่าเหตุการณ์นี้มีความเสียหายเกิดขึ้นมาก ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กองทัพเรือ กระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย

4.การช่วยเหลือผู้ตกงาน อันเนื่องมาจากสถานประกอบการถูกทำลาย จากคลื่นยักษ์ถล่ม ไม่ใช่ผู้ตกงานทั่วไป ทั้งหมด 4 หมื่นคน เป็นคนไทย 3 หมื่นคน แรงงานต่างด้าว 1 หมื่นคน โดยกระทรวงแรงงาน จะเป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์ ช่วยเหลือว่า ในเบื้องต้นจะช่วยเหลือเป็นเงินจำนวนเท่าไร ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นกรรมการ พิจารณาด้วย

ส่วนเรื่องการหางาน ก็จะเป็นเรื่องของคณะกรรมการที่ นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา

5.ผู้ประกอบการรายย่อย อย่าง ร้านค้าเล็กๆ ตามริมหาด หรือรถเข็นต่างๆ มี กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพเข้าไปดูแล และสำรวจโดยด่วนว่ามีทั้งหมดกี่ราย และจะช่วยเหลือรายละเท่าไร

6. ผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้แก่ เจ้าของกิจการ โรงแรม รีสอร์ต หรือโรงงาน ต่างๆ ที่ประสบภัย ก็จะมีการช่วยเหลือโดยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งทางกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้พิจารณาวางหลักเกณฑ์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ททท. กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์

7.เรื่องการปลูกบ้าน ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบาย ให้ผู้ประสบภัยมีบ้านชั่วคราวอยู่ในทันที และสร้างบ้านถาวรให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ได้พิจารณาแบบบ้านที่ทหารนำเสนอ โดยเป็นบ้านขนาดพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 36 ตรม.วงเงินก่อสร้างประมาณ 1 แสนบาท ใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 15 วัน และจะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี เป็นอย่างต่ำ

8.กระทรวงศึกษาธิการเสนอเรื่องที่เด็กบางคนที่อาจจะไม่มีที่เรียน พ่อแม่ หรือหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต กระทรวงศึกษาฯจึงเสนอขอทุนให้เด็กเหล่านั้น ที่ประชุมจึงมอบหมายให้กระทรวงศึกษาฯร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ไปสำรวจเด็กเหล่านั้นที่ต้องการทุนการศึกษา

9.การช่วยเหลือสถานที่ราชการที่เสียหาย ไม่รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งพบว่ามีหลายแห่ง เช่นกองทัพเรือ กระทรวงคมนาคม บางส่วน ได้รับความเสียหาย และรวมไปถึงโรงเรียนหลายแห่ง ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปรวบรวมส่วนราชการที่ต้องการความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการทั้ง 9 คณะ จะเร่งประชุมด่วนภายใน 1-2 วันนี้ แล้วลงสำรวจพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัด รวมทั้งขอข้อมูลจากศูนย์บัญชาการที่ จ.ภูเก็ต และสรุปให้เสร็จภายในเสาร์-อาทิตย์นี้หลังจากนั้น จะนัดประชุมเพื่อสรุปข้อมูลและความเสียหายรวมทั้งวงเงินทั้งหมด ในวันที่ 10 ม.ค.นี้ เวลา 8.30 น.เพื่อจะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันที่ 11 ม.ค. ที่จ. เชียงราย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net