เสียงจากเยาวชน...ในเงามืดแห่งดวงจันทร์

วันเด็กดูเหมือนจะเป็นหนึ่งวันในรอบสามร้อยหกสิบกว่าวันที่เด็กถูกให้ความสำคัญกว่าวันอื่นๆ และเป็นวันที่ดูเหมือนว่าเด็กจะได้รับความสำคัญอย่างทั่วถึง

หากแต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น...

เพราะในวันเด็กทุกๆ ปี ภาพของเด็กจะถูกฉายไปที่เด็กที่สังคมตีเครื่องหมายการค้าว่า "เด็กดี" แต่กับเด็กที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น "เด็กเลว" กลับมีสภาพไม่ต่างกับการอยู่ในด้านมืดของดวงจันทร์

อาจเป็นเพราะเหตุนี้ สภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร ทีมสื่อสารสาธารณะ โครงการเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) จึงร่วมมือจัดวงเสวนา "วันเด็ก (ที่เขาว่า) เลว" ขึ้น โดยรวบรวมเสียงจากคนที่ไม่ได้อยู่ในทำเนียบ "เด็กดี" ของสังคม เพื่อจะเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว อะไรที่ทำให้เขากลายเป็น "เด็กเลว"

...หรือเขาอาจจะไม่ใช่ "เด็กเลว" หากแต่ถูกใครบางคนมอบคำนี้ให้เขาโดยไม่เต็มใจ

"หลายๆ คนมองเด็กที่มาจากคลองเตยว่าเป็นเด็กไม่ดี" ไนท์-ทศพร เทพรักษาฤาชัย ตัวแทนเยาวชนจากชุมชนคลองเตยเล่าสิ่งที่เขาเจอให้เราฟัง "อย่างเวลาที่ทำกิจกรรมที่โรงเรียนจนดึก พอจะเรียกรถแท็กซี่กลับบ้าน พอบอกที่หมายว่าเป็นคลองเตย แท็กซี่ก็จะไม่ค่อยรับ แล้วก็อ้างว่าต้องรีบเอารถกลับอู่ พอจะเดินกลับค่ำๆ มืดๆ ก็ถูกตำรวจจับบ้างละ ยัดยาบ้างละ อย่างมีอยู่ครั้งนึงที่เพื่อนเคยกลับจากการออกค่ายตอนตีห้า ก็ถูกตำรวจจับ ตอนนี้ก็เลยงงๆ ว่าเวลาเท่าไหร่ที่ตำรวจเขานับว่าเป็นเวลาเช้ากันแน่"

"เด็กคลองเตยหลายๆ คนที่ไปสมัครงาน ก็มักจะไม่ค่อยได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานสักเท่าไหร่ อย่างมีตัวอย่างนึงที่เรียนจบปริญญาตรีได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง แต่ก็ยังหางานทำไม่ได้ จนสุดท้ายก็ต้องกลับมาขายน้ำเต้าหู้ในชุมชนแทน" ไนท์เล่าถึงปัญหาที่เขาได้เจอให้วงเสวนาฟัง

มุมมองของ เตี้ย-ชาญณรงค์ นักดนตรีแนว Hardcore ใต้ดินก็ถูกสังคมมองว่าเลวจากดนตรีที่เขาเล่น "หลายๆ คนบอกว่าเพลงที่พวกเราเล่นมันโรคจิต ป่าเถื่อน แต่มันเป็นการปลดปล่อยและระบายความเครียดที่ต้องเจออยู่ทุกวัน และอยากจะให้ลองฟังที่เนื้อหาของเพลงดูบ้าง เพราะเพลงเหล่านี้มีเนื้อหาระบายถึงความรู้สึกต่อสังคมรอบข้าง ซึ่งจะว่าไปมันก็ไม่ต่างกับเพลงเพื่อชีวิต"

เตี้ยยังพูดถึงบรรยากาศของการแสดงสดของวงดนตรีเหล่านี้ ที่ในสายตาคนทั่วไปอาจดูว่ารุนแรง แต่เขากลับมองไปอีกด้าน "คอนเสิร์ตของพวกพังค์ พวกฮาร์ดคอร์ พวกเมทัลอาจจะดูรุนแรง เพราะนอกจากดนตรีจะรุนแรงแล้ว การแสดงออกของของคนดูก็รุนแรงไปด้วย ทั้งชน ทั้งกระแทกกันจนบางทีถึงขั้นเลือดตกยางออกกันเล็กน้อย แต่พอคอนเสิร์ตเลิก ก็สามารถเดินกอดคอกันกลับบ้านได้"

กัน-อนุชิต กันทอง ตัวแทนกลุ่มเด็กเล่น Skateboarding (เขาบอกเราตอนหลังว่าอย่าเรียกพวกเขาว่า "เด็กบอร์ด" เพราะมันความหมายออกไปในทางไม่ดีสักเท่าไหร่) ที่ใช้ลานหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 หน้าสะพานพระพุทธยอดฟ้าในยามค่ำคืนเป็นที่พบปะสังสรรค์และเป็นสนามสเกตบอร์ดเล่าให้เราฟังว่า "ธรรมดาจะมารวมกลุ่มกันในเวลาตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงตีสาม ส่วนที่มาเล่นกันตอนกลางคืนก็เพราะอากาศกำลังสบาย และหลายคนที่มาเล่นก็ต้องทำงานในเวลากลางวัน"

"คนที่เล่นสเกตบอร์ดที่นี่มีหลากหลายกลุ่ม ทั้งที่เรียนอยู่ในโรงเรียนดีๆ พวกที่ออกจากโรงเรียนแล้ว จนถึงพวกที่ทำงานแล้ว แต่ทุกคนก็สามารถพูดคุยกันได้เพราะเรื่องสเกตบอร์ด" กันเล่าให้ฟังถึงสภาพโดยรวมของพวกเขา ก่อนจะเล่าถึงปัญหาที่ที่เขาพบให้เราฟัง "กลุ่มพวกผมมักจะโดนรังควานโดยเจ้าหน้าที่บ่อยๆ บ้างก็เข้ามาด่าหยาบๆ คายๆ บ้างก็เข้ามาจับตัวพวกเรา ที่หนักที่สุดก็เคยถูกใช้มือแพ่นกบาล หรือไม่ก็ถูกถีบตอนที่ยืนบนบอร์ด ทั้งๆ ที่พวกเราก็มาเล่นบอร์ดกันเฉยๆ ซึ่งเราก็ยอมรับว่าในลานกว้างก็มีพวกที่เข้ามามั่วสุมกันจริงๆ แต่ก็ไม่น่าจะเหมารวมถึงพวกเราด้วย"

"สิ่งที่พวกผมต้องการ คือพื้นที่สำหรับการเล่นกีฬาทุกประเภท โดยที่พวกผมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดสรรพื้นที่ด้วย" กันปิดท้าย

กิตติพันธ์ กันจินะ จากเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน ผู้ที่ได้มีโอกาสคลุกคลีกับ "เด็กแกงค์" เล่าให้ฟังของมุมมองที่แตกต่างจากที่คนรู้สึกกับเด็กเหล่านี้ "บางคนจะนึกว่าเด็กแกงค์เป็นพวกนิยมความรุนแรง แต่ที่จริงแล้วกลุ่มเหล่านี้แต่ละกลุ่มเองก็มีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งแข่งมอเตอร์ไซค์ เล่นดนตรี เที่ยว ฯลฯ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มเหล่านี้ก็ไม่ใช่เด็กเหลือขอเสียทั้งหมด หลายคนเป็นนักเรียนของโรงเรียนประจำจังหวัด แต่ที่เข้ากลุ่มก็เพราะต้องการพบปะกับคนวัยเดียวกัน"

"สิ่งที่พวกเขาต้องการ คือพื้นที่เฉพาะสำหรับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นสนามแข่งรถ สถานที่เล่นคอนเสิร์ต จะได้ไม่ต้องออกมาแข่งกันกลางถนน หรือต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ แต่ดูเหมือนผู้ใหญ่จะหูตึง เลยไม่ได้ยินในสิ่งที่เรารู้สึก" กิตติพันธ์เล่าให้เราฟังต่อ

"ผู้ใหญ่มักจะมองว่าวัยรุ่นคือปัญหา ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ววัยรุ่นคือส่วนหนึ่งของปัญหาที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใหญ่และหลายๆ ส่วนเท่านั้น เมื่อผู้ใหญ่มองวัยรุ่นเป็นปัญหา ก็มักจะคิดว่าการเข้าไปควบคุมวัยรุ่นเป็นหนทางในการแก้ปัญหา แต่หารู้ไม่ว่าการเข้าไปควบคุมทำให้ทักษะในการแก้ปัญหาของวัยรุ่นลดลง ทำให้เมื่อต้องเจอปัญหาจริงๆ พวกเขาจะแก้ปัญหาไม่ได้ อย่างเช่นการป้องกันโรคเอดส์ที่ผู้ใหญ่มักจะเน้นไปที่การรักนวลสงวนตัวมากกว่าการป้องกันด้วยวิธีอื่นๆ พอเกิดพลาดพลั้งขึ้นมา ก็ทำอะไรไม่ได้" กิตติพันธ์มองถึงวิธีแก้ปัญหาวัยรุ่นในปัจจุบัน

@#@#@#@#@#@

หลังวงคุย ผมเดินออกมาเพื่อหารถเมล์กลับที่ทำงานที่แถวๆ หน้าโรงเรียนสวนกุหลาบ ผมเห็นคำขวัญวันเด็กปีปัจจุบันติดอยู่ที่หน้าโรงเรียน

"เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด"

เสียงของวัยรุ่นตกสำรวจที่ผมได้ยินเมื่อครู่ก็อาจจะดังไม่ถึงหูของคนตั้งคำขวัญคนนั้นอยู่ดี เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการ คือการก้าวเดินบนทางของตัวเอง โดยมีผู้ใหญ่คอยแนะนำ ไม่ใช่การก้าวไปโดยมีผู้ใหญ่คอยถือพวงมาลัยบังคับอยู่ข้างหลัง

ผมถอนหายใจเบาๆ ก่อนเดินละลายไปในหมู่ผู้คนบนถนน...

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท