รายงานพิเศษ เสียงสะท้อนจากเยาวชนไร้สัญชาติ...ท่ามกลางความหวังในชีวิต

"...ทุกวันนี้ หนูใช้ชีวิตจำกัดอยู่แค่ในที่โรงเรียน กับที่ทำงานตอนกลางคืนเท่านั้น ไม่กล้าออกไปที่โจ่งแจ้ง แต่หนูยังมีความหวังอยู่...ว่าสักวันจะต้องได้สัญชาติไทย..." เสียงของ สายสมร แสงแก้ว เยาวชนไร้สัญชาติ จาก บ.แสนสุข ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เอ่ยออกมาด้วยความรู้สึกลึกๆ ในใจ

เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่อาคารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ได้จัดเวทีเสวนา เรื่องปัญหาเด็กไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทยขึ้น โดยในช่วงเช้า มีการเชิญเด็กไร้สัญชาติจากภาคเหนือ มาสะท้อนปัญหาให้ตัวแทน อนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ วุฒิสภา อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตัวแทนอธิบดีกรมการปกครอง ได้รับฟัง

นาย อู่เซ็ง แซ่ว่าง อายุ 24 ปี เยาวชนเผ่าเมี่ยน หรือเย้า จากบ้านสามเหลี่ยม ม.11 ต.ปงเตา อ.งาว จ.ลำปาง เปิดเผยว่า ตอนนี้ตนเป็นนักศึกษาอยู่ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ชั้นปีที่ 4 เอกภาษาอังกฤษ ซึ่งปัจจุบัน ตนยังเป็นคนไร้สัญชาติ ทั้งๆ ที่เกิดในประเทศไทย พูดภาษาไทย และกำลังจะจบการศึกษาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

"ทุกวันนี้ ถูกสังคมมองชีวิตเหมือนกับไม่ใช่คน ไม่มีสิทธิมีเสียงที่จะทำอะไรได้เหมือนคนอื่นๆ แม้การไปสมัครทำงาน เขาก็ไม่รับ บางครั้งนายจ้างรับทำงานเพราะสงสาร ว่าเป็นนักศึกษา แต่ก็ให้ค่าจ้างเป็นรายวัน แต่ไม่สามารถบรรจุทำงานให้ได้" นายอู่เซ็ง กล่าว

นายอู่เซ็ง กล่าวอีกว่า อยากให้สังคมรู้ว่า พวกผมมีความรู้สึกว่าเป็นคนไทย และสัญญาว่า จะสร้างคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติ ขอเพียงให้เรามีสัญชาติ จึงขอวิงวอนผู้ที่มีอำนาจช่วยเร่งพิจารณาให้สัญชาติแก่เราด้วย

น.ส. สายสมร แสงแก้ว อายุ 20 ปี เยาวชนจากบ้านแสนสุข ม.11 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตอนนี้กำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้น ปวส. ปีที่ 1 ร.ร.อาชีวะศึกษา เชียงใหม่ และทำงานในช่วงตอนเย็นถึงกลางคืน เพื่อหาเงินส่งตัวเองเรียน

" ก่อนนั้นแม่เคยถามหนูว่า เรียนหนังสือไปทำไม เรียนจบแล้วก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน เพราะทำงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ เพราะไม่มีสัญชาติ แต่ที่หนูตอบแม่ไปว่า ยังไงก็ต้องเรียน เผื่ออนาคตรัฐจะเห็นใจและให้สัญชาติ ทุกวันนี้หนูมีเพียงบัตรประจำตัวบุคคลพื้นที่สูง เวลาเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่แม่อาย ก็มักจะถูกตำรวจตรวจค้น และถามถึงใบขออนุญาตออกนอกพื้นที่ ซึ่งทำให้หนูไม่กล้ากลับไปบ้านอีก" น.ส. สายสมร เอ่ยออกมาเบาๆ

เมื่อถูกถามว่า กลัวไหม ที่ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้น เธอยังกล่าวว่า กลัวเหมือนกัน แต่หนูก็ต้องสู้ เพราะมีหนูเพียงคนเดียวในหมู่บ้านที่ได้ออกมาเรียนหนังสือในระดับอุดมศึกษา แต่ทุกวันนี้ ยังมีนายจ้างที่ให้หนูทำงาน เพราะเขาสงสารหนูที่ต้องส่งตัวเองเรียน และชีวิตหนูทุกวันนี้ ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน กับที่ทำงานเท่านั้น ไม่อยากออกไปในที่โจ่งแจ้ง ไม่อยากมีปัญหา

น.ส. มึดา นาวานารถ อายุ 18 ปี เป็นเยาวชนเผ่าปกากะญอ หรือกะเหรี่ยง จากบ้านท่าเรือ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งตอนนี้ กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ร.ร.สบเมยวิทยาคม บอกว่า นอกจากปัญหาเรื่องสัญชาติ ปัญหาเรื่องการเดินทางแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการ
ศึกษา คือทุกวันนี้ ตนเองไม่เคยได้รับทุนการศึกษา หรือเงินกู้ใดๆ เลย เพราะติดที่เป็นคนไร้สัญชาติ

"ในห้องเรียนของหนู มีนักเรียนทั้งหมดจำนวน 44 คน ทุกคนต่างมีสิทธิได้รับเงินกู้จากรัฐ ยกเว้นหนูคนเดียวที่ไม่ได้รับ ทั้งๆ ที่หนูก็เข้าข่าย เรียนดีแต่ยากจน แต่ครูก็บอกว่า หนูผิดระเบียบเพราะไม่มีสัญชาติ" เธอเอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อย

น.ส.มึดา กล่าวอีกว่า แม้กระทั่งมีปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาล ทุกวันนี้ยังมีการเลือกปฏิบัติ ยังมีอคติกับชาวเขา และยิ่งเป็นคนไร้สัญชาติ ยิ่งถูกมองซ้ำร้าย ทุกวันนี้ ยังไม่ได้บัตรประกันสุขภาพแต่อย่างใด

ในช่วงท้าย, ตัวแทนเด็กเยาวชนไร้สัญชาติ ได้เสนอเรียกร้องให้องค์กรหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ได้รับรู้และนำไปปรับแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติ

"อยากให้ยกเลิก พ.ร.บ.สัญชาติ ในมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 เพราะในกฎหมายระบุและอ้างถึง ภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งต้องถูกกลายเป็นคนต่างด้าว เป็นคนหลบหนีเข้าเมือง ทั้งๆ ที่พวกเราเกิดในประเทศไทย และมีความสำนึกในความเป็นคนไทย" นายอู่เซ็ง กล่าว

น.ส.สายสมร กล่าวว่า อยากให้เร่งแก้ไขและพิจารณาเรื่องสัญชาติเร็วๆ และลดขั้นตอนไม่ให้เกิดปัญหา อย่างเช่น การยื่นหนังสือคำร้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา สามารถออกนอกพื้นที่ได้ภายใน 3-7 วัน หรือ 7-15 วัน ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น พวกตนซึ่งมาเรียนหนังสือในเมือง ไม่สามารถทำได้

ในส่วนของ น.ส.มึดา กล่าวว่า อยากให้มีการตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับชนเผ่าขึ้นมาโดยตรง เพื่อให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และนำเสนอมุมมองต่างๆ เหล่านี้ให้สาธารณะได้รับรู้ว่า เราไม่ใช่ตัวปัญหา และเราอยากเป็นคนมีสถานะ เราอยากเป็นคนไทย

นั่น,เป็นเสียงสะท้อนของเด็กเยาวชนที่ไร้สัญชาติ ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นต่างก็ถือกำเนิดอยู่บนผืนแผ่นดินไทย เช่นเดียวกับ เรา- -คนไทยทั้งประเทศ และเสียงสะท้อนเหล่านี้ อาจคล้ายเป็นสัญญาณเตือนภัย ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้ว่า นี่คือปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่กำลังรอการปะทุ... หากผู้มีอำนาจบางกลุ่มยังคงมองเห็นว่า พวกเขาเป็นเพียงคนนอก เป็นคนชายขอบ ไม่ใช่คนไทย

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท