Skip to main content
sharethis

เดิมทีโครงการนี้เรียกกันติดปากตามสถานที่ตั้งว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า (ICD) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ทว่าภายหลังจากชุมชนท้องถิ่นคัดค้านการดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว คณะทำงานที่ ครม.มอบหมายให้เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาโครงการจึงมีมติให้ย้ายสถานที่ก่อสร้างจาก อ.เชียงแสนไปยัง อ.เชียงของ โครงการนี้จึงมีการเรียกชื่อใหม่เป็น โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า จ.เชียงราย แทน

โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า (ICD) จ.เชียงราย ถือเป็นโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นในลักษณะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อเปิดประตูการค้า การลงทุนระหว่างจีนตอนใต้กับอินโดจีน เอเซียใต้ และอาเซียน ถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

โครงการนี้ถือกำเนิดขึ้นจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2546 อนุมัติงบกลางปี 2546 วงเงิน 3,002 ล้านบาท ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งนิคมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า (ICD) ซึ่งครั้งนั้นมีการกำหนดพื้นที่ดำเนินการไว้บริเวณ อ.เชียงแสน

ต่อมา กนอ. ,สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), จ.เชียงราย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ตามที่บริษัทไทย-จีนร่วมพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่เกิดขึ้นภายใต้การร่วมทุนของ บริษัทปภามาศ จำกัด (ฝ่ายไทย) และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเกาซิง ที่เป็นกลุ่มนิคมฯที่ใหญ่ที่สุดในจีนยูนนาน ซึ่งจะเข้ามาเป็นกลุ่มนักลงทุนหลัก นำเสนอเนื้อที่ 3,162 ไร่ เขตบ้านศรีบุญยืน ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสนตามแผนการดำเนินการโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณลงทุนก่อสร้างประมาณ 4,000 ล้านบาท สามารถรองรับโรงงานอุตสาหกรรมได้ประมาณ 100 โรง มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมด้านเวชภัณฑ์ อัญมณี อิเล็กทรอนิกส์ ตัดเย็บเสื้อผ้า และเครื่องจักรกล

ที่ผ่านมาโครงการนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างถึงความไม่เหมาะสมรวมทั้งพื้นที่ในการก่อสร้าง ทั้งนี้เพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นทุ่งนากว้าง ได้รับการยืนยันจาก นายสายทัศน์ วงศ์ปินตา หัวหน้าสำนักงานเกษตร อ.เชียงแสนว่า เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของ อ.เชียงแสน มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ขณะที่ อ.เชียงแสนเองมีสถานะเป็นเมืองเก่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ มีโบราณสถานต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วอำเภอ

ดังนั้น หลังจากที่มีข่าวว่าจะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นที่ อ.เชียงแสน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชุมชนท้องถิ่นจะลุกขึ้นมาคัดค้านเพื่อทวงถามถึงความเหมาะสมต่อโครงการนี้

การคัดค้านโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้าชาว ต.ศรีดอนมูล ให้เหตุผลว่า แม้ว่านิคมอุตสาหกรรมจะช่วยให้ชาว ต.ศรีดอนมูล มีความเป็นอยู่ดีขึ้นจากการจ้างงาน ขณะเดียวกันโครงการนี้ก็นำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างที่เกิดขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนที่จะต้องปรับเปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
ที่สำคัญ ปัจจุบัน อ.เชียงแสนมีประชากร 48,000 คน กระจายอยู่ทั่วอำเภอ แต่หากมีนิคมฯ จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 40,000 คนโดยแรงงานทั้งหมดจะกระจุกอยู่เฉพาะพื้นที่ ต.ศรีดอนมูล ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาสังคมได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนชาว ต.ศรีดอนมูล ที่ออกมาคัดค้านโครงการจะมีจำนวนเพียงน้อยนิดหากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งตำบลที่มีเกือบ 5 หมื่นคน ทว่า เหตุผลในการคัดค้านครั้งนั้นกลับได้รับการหนุนเสริมจากสาธารณะรวมทั้งประชาชนใน จ.เชียงรายอย่างล้นหลาม

จนในที่สุดช่วงต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา นายพินิจ จารุสมบัติ และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะทำงานที่ ครม.มอบหมายให้เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีข้อสรุปจากการประชุมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่า ควรให้ย้ายพื้นที่ดำเนินการจาก อ.เชียงแสนไปยังพื้นที่อื่นเพราะต้องการอนุรักษ์ อ.เชียงแสนไว้ในฐานะเป็นเมืองเก่าตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง

อ.เชียงของ ถูกกำหนดเป็นทางเลือกแรกที่จะย้ายนิคมอุตสาหกรรมลงไป !

พื้นที่เป้าหมายการก่อสร้างใน อ.เชียงของ ที่ กนอ.รวมทั้งกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังเล็งไว้คือ บริเวณทุ่งสามหมอนอยู่ในเขต ต.สถาน เชื่อมกับ ต.ศรีดอนชัย สภาพพื้นที่เป็นทุ่งนากว้างใหญ่ มีเนื้อที่หลายพันไร่ และสามารถขยายได้ออกเป็นหลายหมื่นไร่

ปัจจุบันข่าวคราวการย้ายนิคมอุตสาหกรรมจาก อ.เชียงแสน ไปยัง อ.เชียงของ ชาว อ.เชียงของยังรับรู้น้อยมาก หากแต่คนที่รู้ข้อมูลบางส่วนก็เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นบ้างแล้ว อย่างเช่น นายเกษม อรรถวงศ์ษา นายก อบต.ศรีดอนชัย เห็นว่า หากจะย้ายมาที่ อ.เชียงของควรมีการประชุมประชาคมหมู่บ้าน สอบถามความเห็นชุมชนในพื้นที่ตั้งแต่ต้นว่าคิดเห็นอย่างไร เพราะหากอยู่ ๆ จะย้ายมาโดยไม่ถามความเห็นชาวบ้านอาจเกิดปัญหาขึ้นได้อีก

นอกจากนี้แม้นิคมอุตสาหกรรมจะช่วยสร้างงานในท้องถิ่น แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้นั่นคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะปัญหามลพิษ ปัญหาสังคมที่จะตามมา ดังนั้นทางออกที่ดีต่อกรณีดังกล่าวคือ ก่อนดำเนินการใด ๆทางการต้องเปิดเผย และชี้แจงรายละเอียดโครงการทั้งหมดให้ชาวบ้านรับรู้อย่างชัดเจน

ข้อเสนอแนะดังกล่าวจาก อบต.ศรีดอนชัย ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน ซึ่งปรากฎว่ายังไม่มีการตอบสนองจาก กนอ.รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม ภายหลังจากมีข้อสรุปให้ย้ายพื้นที่ดำเนินการ กนอ.กลับไปเจรจากับกลุ่มนักลงทุนจีนยูนนาน ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนหลักที่จะเข้ามาดำเนินการดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ายอมรับการเปลี่ยนแปลงการย้ายพื้นที่ได้หรือไม่ การเจรจาดังกล่าวมีกำหนดเสร็จภายใน 60 วัน

แน่นอนว่า หากนักลงทุนชาวจีนยูนนานยอมรับในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ได้ การดำเนินการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.เชียงของ ก็จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

แล้วเหตุใดนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จึงต้องเป็นจีนยูนนาน !

กรณีนี้ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้ง นสพ.ผู้จัดการ ชี้ชัดในเวทีเสวนาเรื่อง มุมมองต่างมิติต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงรายว่า คนจีนยูนนานเป็นคนจีนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเก่งที่สุดในโลก สกปรกและเขี้ยวลากดิน แม้แต่คนจีนด้วยกันยังรังเกียจ

ดังนั้น เป้าหมายการเกิดขึ้นของโครงการดังกล่าวจึงมิได้อยู่ที่การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม แต่เป็นเรื่องของความต้องการการค้าที่ดินแถว อ.เชียงแสน ของกลุ่มทุนบางกลุ่มที่มีการตกลงกับกลุ่มทุนจีนยูนนานไว้แล้ว แล้วจึงไปล็อบบี้รัฐบาล สรุปชัด ๆ จากความเห็นของสนธิคือ เบื้องหน้าเป็นการลงทุน ทว่าฉากหลังที่มืดดำเป็นเรื่องการค้าที่ดิน !

อีกทั้งเมื่อมีการย้ายพื้นที่ดำเนินการมาเป็น อ.เชียงของ จากการตรวจสอบข้อมูลกับชุมชนในพื้นที่บริเวณทุ่งสามหมอนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ กนอ.พิจารณาเป็นตัวเลือกแรกไว้นั้นพบว่าที่ดินส่วนใหญ่บริเวณดังกล่าวเป็นของกลุ่มทุนเกือบทั้งหมดโดยเฉพาะแปลงที่ติดถนนใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่าเหตุใดจีนยูนนานจึงเข้ามาลงทุนในไทยทั้งที่ต้นทุนการผลิตในไทยสูงกว่าในจีนหลายเท่า ทั้งวัตถุดิบ แรงงาน ฯลฯ กระแสข่าวบางกระแสระบุว่าเป็นเพราะ จีนยูนนานต้องการนำสินค้าที่ผลิตได้ตีตราเมดอินไทยแลนด์แล้วส่งขายตีตลาดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรณีเหล่านี้ยังไม่มีคำอธิบายใด ๆ จาก กนอ. นอกจากคำชี้แจงที่ว่าโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมนี้กำหนดให้โรงงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นเข้ามาดำเนินการ ทุกกระบวนการต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ที่สำคัญจะเกิดการจ้างงานถึง 40,000 คน
ดังนั้น แท้จริงแล้วประเทศไทยจะได้อะไรจากโครงการนี้
หลายคนวิตกว่าเรากำลังยืนอยู่บนความเสี่ยงด้านผลกระทบต่าง ๆ มากมายโดยเฉพาะผลกระทบด้านสังคมรวมทั้งสิ่งแวดล้อม เพราะโครงการนี้แม้ระบุว่าอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาดำเนินการในนิคมฯ ได้นั้นต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สะอาด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ กนอ.จะยืนยันได้อย่างไรว่าปัญหาจะไม่เกิดขึ้น
เพราะอย่างนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน เดิมนั้นถูกกำหนดเป็นนิคมอุตสาหกรรมเกษตร แต่ในการดำเนินการประสบภาวะขาดทุนภายหลัง จึงเปลี่ยนมาเป็นนิคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพคนงานในนิคมฯจากปัญหาสารอะลูมินา ปรอท ตะกั่วปนเปื้อนในเลือด
ดังนั้น โครงการนิคมอุตสาหกรรม จ.เชียงราย ที่กำลังเดินหน้าอยู่ทุกขณะสังคมไทยโดยเฉพาะชาว จ.เชียงราย คงต้องร่วมกันติดตาม ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ทั้งยังต้องร่วมกันพิจารณาว่าโครงการนี้ระหว่างไทยกับนักลงทุนชาวจีนยูนนานแล้วใครได้ ใครเสียกันแน่

สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.053-810779,09-759-9705
Email : newspnn@hotmail.com

อานุภาพ นุ่นสง
สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net