นโยบายแก้ปัญหาจว.ชายแดนใต้ของรัฐ(2524-2545)

นโยบายการแก้ปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดนและขบวนการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 - 2545

การแก้ปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดน และขบวนการก่อการร้าย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษฐ์ ธนรัชต์ จอมพลถนอม กิติขจร จนถึงรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งถือว่าเป็นยุคอำนาจนิยม ได้ใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบให้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง เหมือนกับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ เป็นการปราบปรามที่โหดร้ายผิดมนุษย์

นโยบายของรัฐในยุคอำนาจนิยมในขณะนั้น เป็นนโยบายที่แบ่งแยกผู้คนที่เห็นต่างจากรัฐให้เป็น "อื่น" เป็นอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่คนไทย เพื่อให้ง่ายต่อการปราบปราม แต่รัฐก็ได้บทเรียนที่สำคัญยิ่งคือ การใช้ความรุนแรงกับประชาชน เป็นสิ่งที่ทำให้กองกำลังติดอาวุธ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนและขบวนการก่อการร้าย ต่าง ๆ รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์กลับแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ได้รับกำลังสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น

โดยเฉพาะขบวนการแบ่งแยกดินแดน และขบวนการก่อการร้ายในภาคใต้ ได้มวลชนในพื้นที่และเงินสนับสนุน จากกลุ่มมุสลิมที่อยู่นอกประเทศไทย เพราะมีความรู้สึกเห็นใจ และมองว่ารัฐบาลไทย กดขี่ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ให้เป็น "นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์" วัตถุประสงค์ เพื่อยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติ ของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ การยอมรับการดำรงอยู่ของอีกฝ่าย การลดเงื่อนไขที่สร้างความอยุติธรรมต่าง ๆ ในสังคมเพื่อไม่ให้พลังการสนับสนุน พรรคคอมมิวนิสต์ขยายวงกว้างออกไป และการยอมรับอดีตศัตรูให้เป็นผู้หลงผิดเท่านั้นโดยเขาเหล่านั้น คือ คนไทย เป็นการปฏิบัติต่อ ศัตรูในฐานะมิตร สามารถใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้

แนวทางของนโยบาย 66/23 ได้ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ ซึ่งเป็นที่มาของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 8/24 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารราชการ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จัดตั้งกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท.43) มีอำนาจหน้าที่ในการปราบปรามการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และให้กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีหน้าที่ในการดำเนินงานด้านการเมือง และสังคมจิตวิทยา

เป็นการปฏิบัติงานด้านการเมือง ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานด้านการทหาร ภายใต้การควบคุมของแม่ทัพภาค 4 การผนึกกำลังระหว่างหน่วยงาน และส่วนราชการของพลเรือน ตำรวจ ทหาร ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน และขบวนการโจรก่อการร้ายต่าง ๆ ประสบความสูญเสียอย่างหนัก จากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ สมาชิกของ BRN และ PULO ถูกปราบปราม ถูกจับกุม และมอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเป็นจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ศอ.บต. กล่าวว่า ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่มีการยุบ พตท. 43 ช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้เข้ามอบตัวเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,200 คน

ในอดีตรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลจากศูนย์กลางของอำนาจ และอยู่ติดกับเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมเดียวกัน มีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีภาพลักษณ์ของพื้นที่ที่มีความไม่สงบ สภาพปัญหามีความละเอียดอ่อน ซับซ้อนทั้งในด้านสังคมจิตวิทยา เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง โดยเฉพาะความไม่เข้าใจ และหวาดระแวงกัน ในความสัมพันธ์ ของเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนที่ฝังใจมาจากอดีต

ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลจึงกำหนดนโยบาย ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการเฉพาะมาเป็นนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง ต่อมาในปี 2521 รัฐบาลได้พิจารณากำหนดนโยบาย ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยครอบคลุมการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และให้นโยบายแต่ละด้าน สนับสนุนซึ่งกันและกัน

จึงเป็นที่มาของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2521 - 2530) มีวัตถุประสงค์ มุ่งให้เกิดการประสานงาน ระหว่างส่วนราชการในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นโยบายฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง ศอ.บต.เมื่อปี 2524 เพื่อแปลงนโยบายลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในห้วง 10 ปีที่มีการดำเนินการตามนโยบายฉบับนี้ปรากฏว่า ได้ผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหาด้านสังคมจิตวิทยา การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน การป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย และการแก้ไขปัญหาการแทรก
แซงจากต่างประเทศ โดยเสริมสร้างความสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับประเทศมุสลิม มิให้สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือขบวนการโจรก่อการร้าย ได้มีการใช้นโยบายแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างต่อเนื่อง และมีวิวัฒนาการของนโยบายจากฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2521 - 2530) ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2531 - 2536) ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2537 - 2541) และฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542 - 2546)

โดยเฉพาะฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการมีส่วนร่วมของประชาชน ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยเน้นการให้ความสำคัญกับ "คน" ในเชิงวัฒนธรรม โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ให้สามารถ "อยู่อย่างมุสลิมในสังคมไทยอย่างมีความสุข และมีความสามัคคี"

นับเป็นครั้งแรกที่นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แพร่หลายสู่สาธารณชน โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้แปลนโยบายฉบับนี้ เป็นภาษามลายู อักษรยาวี และอักษรรูมาไนซ์ และภาษาอังกฤษ แจกจ่ายให้แก่ชนชั้นนำ และประชาชนทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยดำเนินงานร่วมกับนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เผยแพร่นโยบายนี้ผ่านทางสถานีวิทยุ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี พร้อมทั้งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบัน (2540) เป็นภาษามลายูไปยังประชาชนมลายูมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ความรู้ ในเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ที่กำลังเผชิญอยู่อย่างสันติวิธี

ขณะเดียวกัน ได้มีการดำเนินการทางลับ และเปิดเผย ในการจัดส่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ได้แปลเป็นภาษามลายูทั้งอักษรรูมาไนซ์ และยาวี ไปยังผู้นำของขบวนการ PULO เมื่อปี 2543 และ มลายูมุสลิมที่อาศัยอยู่ ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสื่อสารกับคนมลายูปัตตานีว่า สังคมไทยได้เปลี่ยนไป ประเทศไทยขณะนี้มีรัฐธรรมนูญ ที่ให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำหรับคนที่มีความแตกต่าง ทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม

ข้อมูลของหน่วยราชการด้านความมั่นคงระบุว่า จากการดำเนินการตามนโยบายความมั่นคงแห่ง
ชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับที่ 1 และ 2 ระดับนำของบวนการต่าง ๆ ที่มีบทบาทประมาณ 120 คน กองกำลังติดอาวุธ มีประมาณ 1,000 กว่าคน เหลือประมาณ 200 คน ส่งผลให้แนวโน้มสถานการณ์การก่อการร้าย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นตามลำดับ

รัฐบาลได้ทบทวนปรับปรุงนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉบับที่ 3 โดยได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 127/41 เรื่องนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ต่อผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมอบหมายให้ ศอ.บต. ดำเนินการ ทำให้มีโจรก่อการร้ายมอบตัว เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจำนวนมาก

หลังจากมีคำสั่ง สร.ที่ 127/41 ได้มีสมาชิก BRN และ PULO เข้ามอบตัวภายใต้คำสั่งนี้ถึง 34 คน (ก.ค. 41 - มี.ค. 44)(http:// www.isoc4-2.mi.th) และในช่วงระยะเวลาของการใช้นโยบายฉบับที่ 4 ซึ่งเน้นในเรื่องของการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ดังที่เคยกล่าวมาแล้วข้างต้น ข้อมูลจาก พตท. 43 ระบุว่า" สมาชิกโจรก่อการร้าย BRN และ PULO ที่เหลืออยู่ระดับนำประมาณ 120 คน กองกำลังติดอาวุธประมาณ 200 คน ถูกกดดันและปราบปรามอย่างหนัก ด้วยการขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่เคยให้การสนับสนุน ทำให้ระดับนำถูกลดบทบาทลง ซึ่งเหลือไม่เกิน 20 คน และมีอาชีพเป็นของตนเอง ไม่มีศักยภาพในการบงการหรือชี้นำในการก่อการร้าย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกต่อไป"

และข้อมูลของหน่วยงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า กองกำลังติดอาวุธของโจรก่อการร้าย คงเหลืออยู่ประมาณ 30 - 40 คน มีสภาพขวัญต่ำและขาดระดับนำ ขาดการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้าน อุดมการณ์ที่จะแบ่งแยกดินแดนด้วยการก่อการร้ายลดลงหรือไม่มี แต่ยังคงสภาพเพื่อความอยู่รอด และรักษาอิทธิพลของกลุ่มในอดีต ด้วยการรับจ้างก่อเหตุร้าย ข่มขู่กรรโชกทรัพย์ โดยแสวงประโยชน์ร่วมกับกลุ่มผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย มีการกระทำ ไม่ต่างไปจากโจรมิจฉาชีพธรรมดาทั่วไป

เช่น เมื่อ 4 มิ.ย. 2544 ได้เกิดเหตุร้ายเป็นคดีสะเทือนขวัญ ในกรณีการจับนักธุรกิจสองอาหลานเรียกค่าไถ่ และฆ่าตัดศีรษะในพื้นที่ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี และนำศีรษะมาวางไว้ หน้าโรง
งานไม้ยางพาราในเขต อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งคดีนี้ได้ทำให้สาธารณะชนทั่วไปรับทราบว่า กลุ่มหรือขบวนการก่อการร้ายต่าง ๆ ไม่ได้มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน หรือ ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ให้กับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการกระทำเยี่ยงอย่างโจรมิจฉาชีพทั่วไป

ซึ่งเป็นที่มาของข้อสรุปของทางการว่า สถานการณ์การก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ยุติแล้ว คงมีแต่เพียงสถานการณ์การก่อเหตุร้าย เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ของประเทศไทย และจะไม่มีนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาค
ใต้อีกต่อไป ฉบับที่ 4 จะเป็นฉบับสุดท้าย คงจะมีแต่การใช้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เหมือนกันภูมิภาคอื่น ซึ่งไม่ใช่นโยบายเฉพาะพื้นที่อีกต่อไป

นอกจากรัฐบาล จะใช้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น รัฐบาลพยายามลดเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อไม่ให้กลุ่มการก่อการร้าย ต่าง ๆ ได้รับกำลังสนับสนุนจากมวลชน

รัฐบาลได้เริ่มมองเห็นข้อผิดพลาด ในการแก้ไขปัญหา คือละเลยต่อการบริหารและพัฒนาเศรษฐกิจ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ความสำคัญ เกี่ยวกับความมั่นคงเพียงอย่างเดียว ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบาย ที่จะสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชนและข้าราชการ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่โดย ศอ.บต. ได้จัดให้มีการปฐมนิเทศข้าราการที่บรรจุใหม่ และที่มาปฏิบัติราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณี และหลักการที่สำคัญของศาสนาอิสลาม เพื่อที่จะได้ปฏิบัติต่อประชาชนมลายูมุสลิมอย่างถูกต้อง ให้เกียติแก่คนมุสลิมโดยเฉพาะผู้นำศาสนา ก็ได้รับเชิญ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้พยายามทุ่มเทพัฒนาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจ

ประกอบกับได้มีโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (IMT-GT) ขึ้น ทำให้มีแผนที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับโครงการดังกล่าว มีการยอมรับภาษามลายู ว่าเป็นภาษาสำคัญ ต่อการพัฒนาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการเปิดสอนกันอย่างแพร่หลาย สถาบันอุดมศึกษาของรัฐหลายแห่ง ได้มีเกณฑ์และกำหนดสิทธิพิเศษ เพื่อให้โอกาสแก่คนมุสลิม ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อ ในระดับอุดมศึกษาของรัฐเป็นจำนวนมากขึ้น

จากความพยายามของรัฐดังกล่าวข้างต้น สามารถฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจ ระหว่างรัฐกับประชาชนได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเองได้มีโอกาสสัมภาษณ์ เยาวชนที่กำลังศึกษา อยู่ในระดับ
อุดมศึกษาของรัฐแห่งหนึ่ง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี 2544 และเยาวชนผู้นั้นได้กล่าวว่า "เมื่อเรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนราธิวาส เคยถูกชักชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมบางอย่าง ร่วมกับเยาวชนจากหลายสถาบันการศึกษา และเป้า
หมายกิจกรรมนั้น มีจุดประสงค์เพื่อปลุกระดมให้เยาวชน ที่เข้าร่วมในกิจกรรมมีความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลไทย และพยายามชี้ให้เห็นว่า รัฐไทยกดขี่ประชาชนมุสลิม

แต่หลังจากที่ได้เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแล้ว จึงได้เข้าใจว่ารัฐบาล พยายามให้โอกาสและสิทธิแก่คนมุสลิมอย่างดี และเท่าเทียมเช่นเดียวกับคนไทยพุทธ"

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย ประสบผลสำเร็จด้วยดีในระยะนี้ เพราะระบอบประชาธิปไตยของไทยได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะประเทศไทย ได้มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (2540) ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้นกว่าเดิม

มีการนำเอาระบบการกระจายอำนาจ มาใช้อย่างจริงจัง คือมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เกิด
ขึ้นทั่วไประเทศรวมทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ประชาชนมีโอกาส เข้ามามีส่วนร่วม ในการปกครองและพัฒนาท้องถิ่น ชาวมลายูมุสลิมได้เป็นสมาชิก อบต. กันมากมาย ระบบอบต. ถือว่ามีส่วนช่วยลดแรงกดดันทางการเมือง ในเรื่องการปกครองตนเอง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลงอย่างมาก

เมื่อรัฐบาล จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ โรงแรมรอยัลปริ้นเซส อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส แม่ทัพภาค 4 และผู้บัญชาการ พตท.43 ได้ชี้แจงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีรับทราบว่า การเกิดเหตุร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ และปัญหาอาชญากรรมธรรมดา เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย

ดังนั้นคงเป็นอำนาจและหน้าที่ ของเจ้าพนักงานที่มีอำนาจและหน้าที่ ตามกฎหมาย ได้แก่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการป้องกัน และปราบปรามการก่อเหตุร้าย ทุกรูปแบบ ทหารไม่ควรมีอำนาจหน้าที่ในการปราบปรามอีกต่อไป และเสนอให้ยุบเลิก พตท.43 ในที่สุด ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 123/45 ลงวันที่ 30 เมษายน 2545 ให้ยุติภารกิจของพตท. 43 ลงตั้งแต่ 1 พฤษภา
คม 2545 เป็นต้นไป

ทั้ง ๆ ที่มีหลายฝ่ายรวมทั้งประชาชนจำนวนมากคัดค้าน เนื่องจากยังไม่มีการสร้างชุมชนมุสลิม ให้เข้มเข็งเพียงพอ เพื่อที่จะปกป้องตนเองได้ และประชาชนส่วนใหญ่ เกิดความไม่มั่นใจ ที่จะให้ตำรวจเข้ามามีบทบาท ในการรักษาความสงบในพื้นที่ เพียงหน่วยงานเดียว นอกเหนือจากฝ่ายปกครอง

เพราะภาพลักษณ์ของตำรวจ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่อบอุ่น และเป็นมิตรกับประชาชนเท่าที่ควร มีความรู้สึกหวาดระแวง ระหว่างประชาชนกับตำรวจสูงมาก ขณะเดียวกันภายใต้คำสั่ง สร. ที่ 123/45 มีผลต่อการปรับโครงสร้าง ศอ.บต. ใหม่ ซึ่งไม่แปลกถ้าจะใช้คำว่ายุบ ศอ.บต. ภาย
ใต้คำสั่งนี้เช่นเดียวกัน

ทัศนะของประชาชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อการยุบ พตท.43 และ ศอ.บต. นั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จในการแก้ปัญหาความไม่สงบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างดี เพราะประชาชนส่วนใหญ่อาลัยอาวรณ์ และไม่อยากให้ยุบ 2 หน่วยงานนี้ในทันที เพราะประชาชนรู้สึกไม่พร้อมที่จะดูแลตนเอง

ขณะเดียวกันประชาชนมีความรู้สึกว่า 2 หน่วยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งในสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2545 เป็นปีที่สรุปว่าประสบความสำเร็จ ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมาจากการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ และใช้นโยบายเฉพาะในการแก้ไขปัญหา มาเป็นระยะเวลาอันยาว
นาน ตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4 ฉบับ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 - 2546 รวมระยะเวลา 25 ปี

บวกกับภารกิจและบทบาทของ พตท.43 และศอ.บต. ที่เป็นหน่วยงานพิเศษ เข้ามาแก้ปัญหา ตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2524 รวมอายุ 21 ปี 3 เดือน 11 วัน คงจะเป็นอดีตที่จะต้องบันทึกและจดจำไว้เป็นประวัติศาสตร์ต่อไป และคงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นความสำเร็จของใคร หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพลเรือน ตำรวจ หรือทหารก็ตาม แต่เป็นความสำเร็จของประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่ได้ปฏิบัติงานร่วมกัน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท