Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 3 ก.พ.48 "รัฐบาลต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 มกราคม 2548 ที่ได้รับหลักการร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษไปแล้ว และต้องยึดมั่นต่อแนวทางการกระจายอำนาจ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมประชาชนในการกำหนดการพัฒนาท้องถิ่นและพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง รวมทั้งรัฐบาลต้องโปร่งใสในการกำหนดนโยบายสาธารณ" ข้อเรียกร้องที่ปรากฏในแถลงการณ์ของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากครม.เห็นชอบกฎหมายฉบับนี้และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ในแถลงการณ์ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อเจตนารมณ์และสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่มาตราที่ ๑ ที่บัญญัติว่า "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้ " เพราะเป็นการรวบอำนาจการบริหารประเทศ ทำให้เป็นเสมือนรัฐอิสระที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายใดๆ ของประเทศไทย โดยให้อำนาจแก่เขตเศรษฐกิจ หรือคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจพิเศษ ในการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติของรัฐสภา รวมทั้งให้อำนาจในการตัดสิน บังคับคดี โดยไม่ผ่านกระบวนการทางทางตุลาการ

อีกทั้งยังปฏิเสธการใช้หรือยกเว้นการใช้กฎหมายสำคัญๆ ของไทยเกือบทุกฉบับที่เป็นอุปสรรคในการแสวงหาประโยชน์ในทุกพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น กฎหมายอุทยานแห่งชาติ กฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายชลประทานราษฎร์ กฎหมายแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม
กฎหมายผังเมือง กฎหมายที่ดิน พระราชบัญญัติสงฆ์ อีกทั้งยังละเมิดสิทธิของแรงงานต่างด้าวอีกด้วย

นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจแก่เขตเศรษฐกิจพิเศษในการถอนสภาพที่สาธารณะสมบัติทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นที่ป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไปถึงที่ธรณีสงฆ์
ซึ่งอาจรวมไปถึงที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้มาเป็นสมบัติของเอกชนเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ได้โดยไม่จำกัด

"เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจและสิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติ ในการลงทุนในทุกๆ ด้านอย่างไร้ขอบเขตเป็นช่องทางในการประกอบธุรกิจที่ยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายไทย ทั้งในด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ เช่น บ่อนกาสิโน การปลูกพืช GMOs การบริการด้านการเงิน ซึ่งเท่ากับเป็นการยินยอมตามข้อเรียกร้องที่อยู่ในการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี ( FTA)" แถลงการณ์ระบุ

อนึ่ง องค์กรที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ได้แก้ 1. สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม 2. สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย 3. สมาคมนักผังเมืองไทย 4. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล 5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6. สมัชชาคนจน 7. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) 8. โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 9. โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม 10. เครือข่ายสิ่งแวดล้อม " 48

11. เครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนต้านคอรัปชั่น 12. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 13. สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 14. คณะทำงานโลกาภิวัตน์ 15. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH) 16. กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม 17. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย 18. เครือข่ายสลัมสี่ภาค 19. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ 20. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน 21. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
22. ศูนย์การศึกษาการใช้ชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงสมัยโลกาภิวัตน์ (จ.นครนายก) 23. โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา ภาคใต้ 24. องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย
25. ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน ( RRAFA)

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net