Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รูปโดย ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
----------------------------------------------------------------------------------

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - "ผมถือว่าหมู่บ้านเฮาล่มสลายไปแล้ว หลังจากรัฐเอาพวกเราลงจากดอยมาอยู่ที่ราบ 10 ปี มีคนเครียดฆ่าตัวตายแล้ว 11 ราย และเมื่อปีที่แล้วมีคนพยายามจะฆ่าตัวตายอีก 3 ราย" นายคมสันต์ แซ่เติ๋น ชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยน หรือเย้า หนึ่งในจำนวนที่ถูกอพยพโยกย้ายครอบครัวออกจากป่า เปิดเผยให้ฟัง

นับตั้งแต่ที่รัฐได้มีนโยบายอพยพโยกย้ายชาวบ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ออกจากพื้นที่ เมื่อปี พ.ศ.2537 ตามแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และการควบคุมพืชเสพติดบนพื้นที่สูง โดยกรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งย้ายชาวบ้าน 5 หมู่บ้าน คือบ้านแม่ต๋อม บ้านป่าคา บ้านแม่ส้าน บ้านห้วยฮ่อมเหนือ และบ้านห้วยฮ่อมใต้ หมู่ 12 ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ .ลำปาง ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าเมี่ยน(เย้า) ลีซู ลัวะ จากนั้นสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำการอพยพชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้านดังกล่าว จำนวน 160 ครอบครัว 880 คน ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านวังใหม่(ผาช่อ) ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง

จนถึงปัจจุบัน ชาวไทยภูเขากลุ่มนี้ ลงมาอยู่ในพื้นที่ที่ทางการจัดสรรให้ ซึ่งเป็นสภาพพื้นป่าเต็งรัง ที่เต็มไปด้วยดินลูกรัง แข็งและแห้งแล้ง จนทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกเพื่อยังชีพได้ การดำเนินงานของรัฐครั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องที่ทำกิน ขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการทำเกษตร ปัญหาหนี้สิน ปัญหายาเสพติด ปัญหาโสเภณีและโรคเอดส์ รวมไปถึงปัญหาเกิดจากความเครียดอย่างรุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

ด้วยเหตุนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน,ศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, ศูนย์ประสานงานองค์กรพัฒนาชาวไทยภูเขา จึงได้ร่วมกันทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม พลังร่วมสร้าง กระบวนทัศน์และฐานคิดใหม่ในการพัฒนาบนพื้นที่สูง สิทธิความมั่นคงของมนุษย์ และสิทธิทางวัฒนธรรม โดยมีตัวแทนชาวบ้านได้ร่วมกันวิจัยงานดังกล่าว ในช่วงระเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เห็นปัญหาและความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่น่าสนใจเป็นกรณีศึกษา ในเรื่องการอพยพคนออกจากป่าของรัฐที่ผ่านมานั้นประสบความสำเร็จ หรือว่า ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ย้อนอดีตวิถีชุมชนบนดอยหลวง

"กลุ่มชุมชนเผ่าเมี่ยน บ้านป่าคา" ซึ่งย้ายมาจากบ้านป่าคา ต.วังแก้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ว่ากันว่า เดิมทีนั้นได้อพยพมาจาก หลวงน้ำทา ประเทศลาว ต่อมาเกิดความขัดแย้งกันภายในกลุ่ม จึงย้ายขึ้นไปอยู่ที่แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ตรงกันข้ามกับ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย หลังจากได้อพยพเข้ามาประเทศไทย โดยข้ามฝั่งแม่น้ำโขงทางด้าน อ.เชียงแสน และไปอยู่บนดอยแม่สลอง

ช่วงนั้น ในประเทศลาวมีปัญหาทางการเมืองอย่างหนัก มีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงเอกราชจากฝรั่งเศสของกองทัพกู้ชาติลาว และการปฏิวัติการปกครองของลาว หรือแม้แต่สถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลไทย กับกองทัพประชาชนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

เนื่องจากกลัวไม่มีความปลอดภัยในชีวิต จึงมีการอพยพจากภูลังกา มาอยู่ดอยหลวง บ้านป่าคา จ.พะเยา ในปี พ.ศ.2485 หลังจากนั้น ได้มีกลุ่มที่มาจากเมืองจีน ได้อพยพถอยร่นลงทางเมืองหงสาวดี ก่อนเข้าประเทศไทยที่ อ.เชียงแสน จากนั้นย้ายไปอยู่ที่บนดอยแม่สลอง อ.แม่จันในขณะนั้น และได้ย้ายอพยพมาอยู่ที่บ้านป่าคา บนดอยหลวง เมื่อปี พ.ศ.2505

บางกลุ่มได้อพยพมาจาก เมืองจีนหนีภัยเข้ามาประเทศไทย ในสมัยก๊กมินตั๋งแตกพ่าย ข้ามมาจากฝั่งลาว ข้ามมาที่เชียงแสน ดอยแม่สะลอง ก่อนอพยพมาอยู่ที่ดอยหลวง

กลุ่มชุมชนเผ่าเมี่ยน บ้านแม่ต๋อม เดิมที มาจากบ้านผาดำ แขวงไทรบุรี ประเทศลาว ก่อนข้ามยังฝั่งไทย ประมาณปี พ.ศ.2495 อพยพมาอยู่ที่บ้านผารก อ.ท่าวังผา จ.น่าน ก่อนโยกย้ายมาอยู่เขตพื้นที่ดอยหลวง ต.วังแก้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง

นอกจากนั้น จะมี กลุ่มลั๊วะ ซึ่งเป็นอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงในเขต จ.เชียงราย ก่อนย้ายอพยพเข้ามาในเขตพื้นที่ดอยหลวงเมื่อปี พ.ศ.2518 และ กลุ่มชุมชนเผ่าลีซู ได้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2496 มาอยู่ดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ก่อนย้ายเรื่อยมา และมาอยู่ที่บ้านห้วยฮ่อม ต.ป่าหุ่ง อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวงเช่นกัน

"สมัยนั้น พื้นที่บนดอยหลวง มีการปลูกฝิ่นกันมาก เนื่องจากช่วงนั้นการปลูกฝิ่นยังไม่ผิดกฎหมาย ต่อมามีองค์กรระหว่างประเทศและภาครัฐ ได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น กรมประชา
สงเคราะห์ได้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ.2525 โครงการไทย-นอรเว เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ 7 ชุมชน จากหย่อมบ้านป่าคา แม่ส้าน แม่ต๋อม ปางปูเลาะ ห้วยฮ่อมเหนือ ห้วยฮ่อมใต้ และผาแดง ได้มีการสนับสนุนจัดตั้งกองทุนปุ๋ย ธนาคารข้าว จัดหาเมล็ดพันธุ์พืช กองทุนอาชีพ ช่วงนั้น ถือว่าชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านเริ่มดีขึ้น" นายคมสันต์ บอกเล่าให้ฟัง

วิถีชีวิตของผู้คนบนดอยหลวงกำลังเป็นไปด้วยดี เมื่อชาวบ้านมีการปรับตัวและหันมาปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนฝิ่น ตามนโยบายของรัฐ

ท่ามกลางความหวาดหวั่น
เมื่อรัฐประกาศเขตทับพื้นที่หมู่บ้าน

ปี พ.ศ.2533 มีการประกาศพื้นที่ของหมู่บ้าน ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง และในเดือนกันยายน 2535 เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาแจ้งให้ทราบว่า มีมติ ครม.ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ มี 3 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่ต๋อม บ้านป่าคา และบ้านแม่ส้าน

ถือว่าเป็นห้วงระยะเวลาที่ชาวบ้านถูกบีบคั้นอย่างหนักหน่วง มีการควบคุม จำกัดสิทธิในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การห้ามปรับปรุงขยายถนนเข้าหมู่บ้าน ห้ามขนส่งพันธุ์พืชต่างๆ จากข้างนอกเข้าสู่หมู่บ้าน ไม่ให้ขนปุ๋ย ยา เข้าหมู่บ้าน จนทำให้พืชผลิตเสียหาย บางครอบครัวจำต้องทิ้งไร่กาแฟ บ๊วย ท้อ ลิ้นจี่ กลายเป็นป่ารกร้าง เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปจัดการดูแล และเก็บเกี่ยวได้ นอกจากนั้น มีการจำกัดพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน

"ตอนนั้น ชาวบ้านพยายามเรียกร้องกับทางราชการ มีการต่อรอง ในเรื่องต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ค่าชดเชย ต้นกาแฟ ต้นละ 100 บาท เจ้าหน้าที่รับเรื่องไป แต่หลังจากนั้น มีคำตอบจากทางราชการว่า ไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยให้ได้" นายคมสันต์ กล่าว

รับปากให้สิทธิ แต่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา
เจ้าหน้าที่รัฐได้ให้สัญญากับชาวบ้านว่า เมื่อลงพื้นที่ที่รองรับ จะมีการแต่งตั้งเป็นหมู่บ้านทางการ จะออกเอกสารสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้ ชาวบ้านจะได้ค่าชดเชย จะจัดสาธารณูปโภคให้ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างส้วม จัดหาแหล่งน้ำสะอาด จัดให้มีไฟฟ้า มีการลงรายการสัญชาติ เป็นต้น

ครั้นชาวบ้านยอมลงมาอยู่ในพื้นที่รองรับจริง ในปีพ.ศ.2537 กลับพบความจริงว่า สิ่งที่รัฐให้สัญญารับปากเอาไว้ กลายเป็นสัญญาที่ว่างเปล่า เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภคที่เพียงพอ ยิ่งกว่านั้น ที่ดินทำกินที่จัดสรรให้ไม่สามารถทำกินได้ เนื่องจากเป็นดินลูกรังปนหิน ไม่มีแหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตร ในช่วง 2 เดือนแรก ชาวบ้านต้องเดินไปขนน้ำที่อ่างแม่สุก ซึ่งห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ตามที่สัญญาเอาไว้

ชี้รัฐมีกระบวนการ แผนงานชัดเจน แต่ไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์
ทุกคนยอมรับว่า การดำเนินการอพยพโยกย้ายชุมชน มีกระบวนการ มีแผนงาน แต่สิ่งที่ขาดไป คือ การเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวบ้านในหลายประการ ชาวบ้านต้องจำยอมในสิ่งที่รัฐคิดเอง ดำเนินการเอง ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ว่ามันจะต้องเกิดปัญหาผลกระทบที่ตามมาอีกมากมาย

และที่สำคัญ คือ รัฐละเลยผลกระทบที่จะเกิดต่อวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม จารีตประเพณีอันดีงามของชนเผ่า รวมไปถึงการประเมินผลเพื่อจะป้องกันและจัดการแก้ปัญหาในอนาคต รัฐไม่ได้ดำเนินการในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ระบุถึงการคุ้มครองสิทธิเอาไว้หลายประการ

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net