ลึกลับยิ่งกว่า นิยาย อภินิหาร เทศบาลนครเชียงใหม่ ซ่อนขยะกองเท่าภูเขา ไร้ร่องรอย

หลังเงื่อนเวลาสัญญาการว่าจ้างการจัดเก็บขยะโดยเอกชนคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธเนศร์ก่อสร้าง และสัญญาการขอใช้พื้นที่ทิ้งขยะที่อำเภอฮอดและอำเภอดอยเต่าสิ้นสุดลงเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา คงไม่ต้องคาดเดาเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเชียงใหม่ "นครศิวิไลซ์"

นับจากวินาทีนั้นทัศนะอุจาดและกลิ่นขยะคละคลุ้งก็เริ่มทะยอยกองสุมให้เห็นเกลื่อนเมือง เพราะขยะวันละกว่า 300 ตัน ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่...ไม่มีที่ทิ้ง!!

ทุกพื้นที่ที่ผู้บริหารเทศบาลยืนยันว่ายังสามารถรองรับขยะจากเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอำเภอฮอด ดอยเต่า ดอยสะเก็ด หรือแม้แต่พื้นที่ตำบลเหมืองจี้ จังหวัดลำพูน ตรงกันข้ามเที่ยวนี้ชาวบ้านไม่ยอมอ่อนข้อให้เหมือนทุกครั้ง และปฏิเสธทุกกระบวนท่าไม่ให้นำขยะจากเมืองเชียงใหม่มาทิ้งที่บ้านของเขาเป็นอันขาด

แม้ผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ จะยืนยันหนักแน่นว่ามีที่ทิ้งขยะแน่ ๆ ระหว่างเฝ้ารอเครื่อง
จักรจากประเทศอังกฤษ ซึ่งจะทำเป็นศูนย์อบขยะ ที่คาดว่าจะเดินทางมาในอีก 2 เดือนข้างหน้า

แต่ถึงวันนี้ก็ยังคงเป็นปริศนาว่านับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว จนถึงเดือนมีนาคมปีนี้ ก่อนที่เครื่องจักรอบขยะจะเดินทางมาถึง ขยะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่มีปริมาณมากถึง 300 ตันต่อวันถูกนำไปทิ้งที่ไหน? และมีวิธีการกำจัดอย่างไร? ถูกสุขลักษณะหรือไม่?

ระยะเวลา 6 เดือนกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการจัดการที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง นับเป็นประเด็นที่น่ากังวลไม่น้อยในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจปะทุขึ้นในอนาคต

ปัญหาซ้ำซาก-ย่ำอยู่กับที่

มีการคาดการณ์กันว่าปริมาณขยะเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ที่สูงถึงวันละ 300 ตัน ณ ปัจจุบัน อาจมีแนวโน้มพุ่งขึ้นทะลุถึงระดับ 500 ตันต่อวันในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ ด้วยเพราะอัตราเร่งของการเจริญ
เติบโตของความเป็นศูนย์กลางในทุกๆด้าน

ทุกคนล้วนทราบกันดีว่า ปัญหาขยะของเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อวานนี้ แต่เป็นปัญหาที่สะสมและหมักหมมมานานนับทศวรรษ เป็นปัญหาที่แก้กันไม่ตก ย่ำอยู่กับที่ และดูเหมือนว่าทางออกนั้นจะตีบตันลงไปทุกขณะ

แผนการจัดการปัญหาขยะที่สวยหรูของเทศบาลนครเชียงใหม่ ในยุคของนายกเทศมนตรีที่ชื่อ "บุญเลิศ บูรณุปกรณ์" ก็คือ การผุดโครงการโรงอบขยะพลังไฟฟ้าขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยได้ร่วมลงนามสัญญาตามข้อตกลงในการแปลงขยะให้เป็นพลังงานกับบริษัทเซปโก้-เอเชีย จำกัดของประเทศอังกฤษ วางพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างไว้หลายแห่ง ในพื้นที่ทิ้งขยะเดิมที่อำเภอฮอดและดอยเต่า และหมู่ 2 และหมู่ 6 ต.เหมืองจี้ และหมู่ 5 ต. หนองหนาม อ.เมือง จ.ลำพูน แต่เรื่องกลับไม่ง่ายดั่งคิด เพราะมิทันได้เริ่มต้น มวลชนก็ต่อต้านอย่างหนัก

ที่ผ่านมาพื้นที่ในเขตอำเภอฮอดและอำเภอดอยเต่าคือ พื้นที่ทิ้งขยะจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดพื้นที่หนึ่ง สามารถช่วยแก้ปัญหาขยะล้นเมืองได้มาตลอดระยะเวลา 5 ปี แต่เมื่อสัญญาที่เทศบาลนครเชียงใหม่ทำไว้กับบริษัท บ้านตาล กรุ๊ป จำกัด สิ้นสุดลงเมื่อเดือนกันยายน 2547 พร้อมๆกับบ่อขยะทุกบ่อในพื้นที่สองอำเภอดังกล่าวเต็มและไม่สามารถรองรับขยะได้อีกต่อไป เทศบาลนครเชียงใหม่ จึงต้องเผชิญกับการแก้ปัญหาเฉพาะที่เป็นภาระอันหนักอึ้งอีกครั้ง

เมื่อไม่มีที่ทิ้ง ขยะในเขตเทศบาลฯ จึงเริ่มล้นเมือง ซ้ำยังทะลักไปซุกยังพื้นที่อื่นใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นที่ดอยสะเก็ด ลำพูน และลำปาง ซึ่งทุกพื้นที่ไม่ยอมเปิดประตูต้อนรับ ขณะที่เทศบาลฯ ก็ออกมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยยืนยันว่ามีสถานที่ทิ้งขยะอย่างแน่นอนระหว่างรอการก่อสร้างโรงอบขยะเป็นพลังงาน แต่ทว่า ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของเชียงใหม่ในขณะนี้ถูกนำไปทิ้งที่ไหน และใช้วิธีการกำจัดอย่างไร

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมประจำมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย "พลเมืองเหนือ" ว่า ระยะเวลากว่า 10 ปี ที่เชียงใหม่มีปัญหาเรื่องขยะและวันนี้ยังไม่สามารถบริหารวิกฤตินี้ได้ ก็ต้องถือว่าเป็นการบริหารจัดการที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะในความเป็นจริงช่วงกว่า 10 ปี ระดับซีอีโอของจังหวัดและผู้บริหารเทศบาลฯ น่าจะมีแผนการจัดการที่ดีและถูกต้อง ไม่ใช่ทำสัญญาทิ้งขยะเป็นปีๆ หรือวิ่งหาที่ทิ้งเมื่อเกิดกรณีบ่อขยะเดิมเต็ม แต่การจัดการต้องทำแบบยั่งยืน ควรมองไปในระยะยาวถึง 20 ปีข้างหน้าว่าปริมาณขยะน่าจะอยู่ที่ระดับเท่าไร เพราะด้วยความที่เชียงใหม่ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางในทุกๆด้าน แน่นอนว่าปริมาณขยะที่มาพร้อมกับความเจริญเติบโตของเมืองย่อมเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับวิธีการจัดการขยะของเทศบาลนครเชียงใหม่จำนวน 300 ตันต่อวันในขณะนี้ หากนำไปทิ้งไว้เฉยๆ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างแน่นอน ทั้งในเรื่องกลิ่น แมลงวัน แต่หากกำจัดแบบการฝังกลบ ก็ต้องมาดูว่าถูกต้องตามสุขลักษณะที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพราะการฝังกลบมิใช่แค่ขุดดินนำขยะไปเทและเอาดินกลบเท่านั้น หากทำผิดวิธีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นแน่

วิธีการฝังกลบที่ถูกสุขลักษณะนั้น จะต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งเหตุรำคาญอื่น ๆ เช่น กลิ่นเหม็น ควัน ฝุ่นละออง และการปลิวของกระดาษ พลาสติกและเศษวัสดุอื่น ๆ ซึ่งจะต้องควบคุมให้อยู่ภายในขอบเขตจำกัด ไม่ทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่ทัศนียภาพของพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง สำคัญที่สุดคือต้องมีพื้นที่มากพอรองรับปริมาณขยะที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาวอีก 20 ปีข้างหน้า

ซึ่งการฝังกลบนั้น พื้นที่ฝังจะต้องอยู่ไกลจากชุมชน หลุมอาจมีขนาดกว้าง 2 - 4 เมตร ยาว 6 - 12 เมตร มีการกรุก้นหลุมอย่างด ีเพื่อมิให้ของเหลวจากกองขยะซึ่งอาจจะมีเชื้อโรคอยู่ซึมถึงน้ำใต้ดินได้ พื้นต้องปูด้วยพลาสติกกันน้ำอย่างดี เมื่อทิ้งขยะเต็มแล้วควรกลบดินหนา 150 - 100 เซนติเมตร และต่อท่อระบายก๊าซซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ ก๊าซมีเทน เพื่อป้องกันการระเบิดหรือลุกไหม้ แต่ปัญหา คือ ในเมืองใหญ่ๆ อาจจะหาที่ฝังกลบได้ยาก

นอกจากนี้ยังจะต้องมีมาตรการในการควบคุมดูแลคือ1. ต้องควบคุมไม่ให้มีการนำของเสียอันตรายมากำจัดรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไปในบริเวณที่ฝังกลบขยะ นอกจากจะมีมาตรการการกำจัดโดยวิธีการพิเศษตามลักษณะของของเสียนั้น 2. ต้องควบคุมให้ขยะที่ฝังกลบถูกกำจัดอยู่เฉพาะภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ ทั้งบนพื้นผิวดินและใต้ดิน 3. ต้องกำจัดหรือบำบัดน้ำเสียจากกองขยะอย่างถูกต้อง

4. ต้องตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เช่น ตรวจสอบการปนเปื้อนของแหล่งน้ำใต้ดินบริเวณใกล้เคียง 5.ต้องคำนึงถึงทัศนียภาพของพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงเช่น การจัดให้มีสิ่งป้องกันการปลิวของขยะหรืออาจปลูกต้นไม้ล้อมรอบ เป็นต้น การฝังกลบเป็นวิธีการที่ใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยที่พื้นดินอย่างถูกต้องตามหลักสุขภิบาล ไม่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญและเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ควรเทขยะมูลฝอยลงไปแล้วเกลี่ยให้กระจาย บดทับให้แน่นแล้วใช้ดินหรือวัสดุอื่นที่มีดินปนอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 กลบแล้วบดทับให้แน่นอีกครั้งหนึ่ง

โดยวิธีการฝังกลบขยะมูลฝอย อาจแบ่งออกได้เป็น 2 แบบคือ 1.แบบถมที่ เป็นการฝังกลบขยะมูลฝอยในพื้นที่ที่เป็นหลุม เป็นบ่อ หรือเป็นพื้นที่ที่ต่ำอยู่ก่อนแล้ว และต้องการถมให้พื้นที่แห่งนั้นสูงขึ้นกว่าระดับเดิม เช่น บริเวณบ่อดินลูกรังริมตลิ่ง เหมืองร้าง หรือบริเวณที่ดินที่ถูกขุดออกไปทำประโยชน์อย่างอื่นมาก่อนแล้ว เป็นต้น

2.แบบขุดเป็นร่องเป็นการกำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบในพื้นที่ราบซึ่งเป็นที่สูงอยู่แล้วและไม่ต้องการที่จะให้พื้นที่แห่งนั้นสูงเพิ่มขึ้นไปอีกหรือสูงขึ้นไม่มากนักแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการใช้พื้นที่ฝังกลบขยะมูลฝอยให้ได้จำนวนมากๆ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีขุดเป็นร่องก่อน การขุดร่องต้องให้มีความกว้างประมาณ 2 เท่าของขนาดเครื่องจักรที่ใช้เพื่อความสะดวกต่อการทำงานของเครื่องจักร และมีความยาวตลอดพื้นที่ที่จะฝังกลบ

ความลึกขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ดิน จะลึกเท่าไรก็ได้แต่ต้องไม่ให้ถึงระดับน้ำใต้ดิน ส่วนมากจะขุดลึกประมาณ 2-3 เมตร และต้องทำให้ลาดเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อไม่ให้น้ำขังในร่องเวลาฝนตก ดินที่ขุดขึ้นมาจากร่องก็กองไว้ทางด้านใดด้านหนึ่ง สำหรับใช้เป็นดินกลบต่อไป

นอกจากนั้นยังสามารถใช้ทำเป็นคันดิน สำหรับกั้นมิให้ลมพัดขยะออกไปนอกบริเวณได้อีกด้วย ส่วนวิธีการฝังกลบขยะมูลฝอยนั้น ก่อนที่จะเทขยะลงไป พื้นต้องปูด้วยพลาสติกกันน้ำ เพื่อไม่ให้ซึมลงใต้ดินเมื่อเทขยะมูลฝอยลงไปในร่องแล้วก็เกลี่ยให้กระจาย บดทับแล้วใช้ดินกลบและบดทับอีกครั้งหนึ่ง และต้องมีพลาสติกปิดคลุมอีกชั้นหนึ่ง

ทั้งนี้ หากระบบการจัดการแบบฝังกลบทำไม่ถูกวิธี ผลกระทบเกิดขึ้นตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะน้ำเสีย กลิ่น แมลงวัน ฝุ่น เชื้อโรคต่างๆ ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ฝังกลบว่าอยู่ใกล้แหล่งชุมชนหรือไม่ ซึ่งโอกาสที่ขยะจะย่อยสลายมีสูงมาก ถ้ายิ่งอยู่ใกล้กับบริเวณแหล่งน้ำ น้ำเสียจากบ่อขยะสามารถซึมลงไปในแหล่งน้ำ แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาการทิ้งสั้นๆก็อาจกระทบต่อสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นได้

แหล่งข่าว กล่าวว่า การกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบ หากทำถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ถือได้ว่าเป็นการจัดการที่ดีมากวิธีหนึ่ง และมีต้นทุนที่ต่ำขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ ซึ่งไม่ควรอยู่ห่างไกลมากเกินไป เพราะอาจแบกภาระเรื่องต้นทุนค่าขนขยะไปทิ้ง แต่พื้นที่ควรอยู่ห่างจากชุมชนมากพอสมควร

สำหรับการแก้ปัญหาขยะของเมืองเชียงใหม่ อาจต้องใช้หลักแบบผสมผสานในหลายๆแนวทาง ทั้งการเผาที่ใช้วิธกำจัดแบบเตาเผา วิธีนี้ใช้พื้นที่น้อย แต่ต้นทุนนั้นแพงที่สุดระดับพันล้านขึ้นไป การกำจัดด้วยวิธีการหมัก ก็มีความเป็นไปได้ที่น่าจะทำ เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองเกษตรกรรม สามารถนำขยะที่กลายเป็นปุ๋ยจากการหมักมาใช้ได้ ซึ่งวิธีการกำจัดมีหลายระดับตั้งแต่ใช้เงินทุนไม่มากถึงการใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งต้นทุนก็อาจจะสูงตาม

ส่วนการฝังกลบเป็นวิธีการที่ต้นทุนถูกที่สุดและมีความเหมาะสมกับสภาพของเมืองเชียงใหม่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานที่และพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญ โดยต้องมาแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจนว่าวิธีการกำจัดขยะแบบใดควรจะทำในสัดส่วนเท่าไร ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาขยะของเชียงใหม่ได้เร็วขึ้นและยั่งยืน แต่เหนือสิ่งอื่นใดทุกครัวเรือน ทุกองค์กรและทุกสถานประกอบการ ต้องช่วยกันลดขยะและแยกขยะให้ได้ก่อน ถ้าทุกคนเริ่มต้นทำตั้งแต่วันนี้เชื่อแน่ว่าในระยะยาวขยะจะไม่ล้นเมืองเชียงใหม่

เมื่อปัญหาขยะของจังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นวังวนปัญหาของเมืองใหญ่เมืองเดียวของประเทศที่ยังแก้ไขไม่ได้ สิ่งทึ่ตามมาคือผลกระทบที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ในเรื่องภาพลักษณ์ของเมือง การท่องเที่ยว ชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมของเมือง ทั้งหมดจะกลายเป็นปัจจัยใหญ่ที่ทำลายความเป็นเมืองเชียงใหม่ให้เสื่อมสลายไปในอนาคตอย่างแน่นอน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท