Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคใต้- 5 ก.พ.48 ด้วยความอึดอัดใจของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสื่อมวลชนนำเสนอข่าว และความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นและก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการเรียนของนักศึกษา

ความวิตกกังวลและไม่มั่นใจในความปลอดภัย นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงกับนักศึกษา ทั้งการตรวจค้นหอพักนักศึกษา หรือกระทั่งล่าสุดมีการจับกุมนักศึกษาต้องสงสัยบางคนแล้ว ในส่วนของผู้ปกครองนักศึกษา มีไม่น้อยที่ไม่แน่ใจในสถานการณ์และขอย้ายบุตรหลานของตนไปเรียนที่
สถานศึกษาอื่น อย่างไรก็ตามในด้านบวก สื่อก็มีส่วนในการสร้างความมั่นใจและความเข้าใจอันดีแก่นักศึกษาเช่นกัน

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานักศึกษาวิชาสัมนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษากลุ่มหนึ่ง ได้ริเริ่มเวทีพูดคุยทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าว โดยจัดการสัมมนา เรื่อง "สื่อกับการรับรู้ปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผลกระทบต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี" ขึ้นที่ห้องประชุมสำนักวิทยาบริการ มอ.ปัตตานี

การสัมมนาครั้งนั้นได้เชิญสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ เช่น นายศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์เนชั่น นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน ผู้สื่อข่าวมติชน ประจำจังหวัดยะลา และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์การปฏิรูปสื่อ(คปส.) มาร่วมให้ความรู้กับนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วม 100 คน

การสัมนามีการพูดถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่า มีความน่าเชื่อถือเพียงใดโดยเฉพาะข้อมูลข่าวที่ได้รับมาจากหน่วยงานข่าวกรองของรัฐ

นายศุภลักษณ์ กล่าวว่า การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน อยู่ที่ว่าสื่อนั้นจะนำเสนอในแง่มุมไหน ถ้าสื่อทำข่าวในแง่ของรัฐ หรือหากสื่อตั้งธงว่า ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคเกิดจากพวกต้องการแบ่งแยกดินแดน ข่าวที่ออกมาก็จะเป็นลักษณะของการก่อการที่เกิดจากพวกแบ่งแยกดินแดน ข่าวที่ออกมาก็จะเป็นลักษณะ "จับแก๊งค์อุสตาซป่วนใต้"

ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากเนชั่นเล่าว่า ส่วนตัวสนใจเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มมาตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหาร เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 47 เพราะเป็นเหตุที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก โดยเหตุการณ์นั้นข่าวระบุว่า มีนายมะแซ อุเซ็งเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ก็ยังไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าเกี่ยวข้องกันได้

ทั้งนี้ ชื่อมะแซ อุเซ็งนั้น เป็นเพียงชื่อที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อผู้ก่อความไม่สงบของเก่าที่ทางการไทยส่งให้กับมาเลเซียช่วยจับกุมเท่านั้น ในขณะที่กรณีของนายเจ๊ะกูแม กูเต๊ะ ซึ่งกำลังเป็นข่าวดังอยู่ขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถหาจุดเชื่อมได้

ส่วนเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย. 47 มีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้ง ชาวบ้าน เยาวชน คนดี คนที่เป็นที่รักของชุมชน เข้ามาปฏิบัติการเพื่อต้องการต่อสู้เพื่อศาสนา และ เพื่อต้องการปลดปล่อยรัฐปัตตานี คนกลุ่มนี้ไม่ได้สังกัดขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งตนถามคนที่ก่อการบางคนแล้ว เขาบอกว่าไม่รู้จักมะแซ อูเซ็งเลย จึงเชื่อมโยงไม่ได้ว่า เกี่ยวข้องกัน

รัฐไม่ได้ตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้รับมา ข้อมูลจึงไม่มีความน่าเชื่อถือมานัก เช่น
เดียวกับนายสะแปอิง บาซอ ครูใหญ่ของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำก่อความไม่สงบนั้น จะมีความน่าเชื่อถือด้วยหรือไม่

ข้อมูลเหล่านี้ ออกจากปากของคนเพียง 2-3 คน ที่ซัดทอดมา เช่นเดียวกับกรณีน.พ.มาฮาดี แวดาโอ๊ะ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกขบวนการก่อการร้ายเจ.ไอ. เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ทำงานมากพอที่จะตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับมาว่า มีความน่าเชื่อถือเพียงใด เมื่อมีข้อมูลที่หาความน่าเชื่อถือไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดการละเมิดต่อไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดเมื่อพิสูจน์ออกมาว่า ไม่ผิดก็ตาม แต่ผู้ที่ถูกกล่าวหาต้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม 10 ปี ซึ่งชีวิตได้หายไปแล้วช่วงหนึ่ง

ลักษณะนั้นคือที่มาของเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 47 คือเหตุการณ์ที่ตากใบ เมื่อเริ่มต้นพลาด ปฏิบัติการที่ตามก็พลาดหมด ในขณะที่สื่อตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่ตากใบไม่มากพอ ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับชาวบ้านไม่มากพอ ทั้งที่สื่อต้องตั้งคำถามรอบด้าน

รัฐจะต้องตรวจสอบข่าวกรองทั้งหมดมาว่า มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ข้อมูลของหน่วยข่าวกรองที่บิดเบี้ยวกลายเป็นวรรณกรรมตลก เพราะมีข้อมูลผิดเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับโครงสร้างของขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ อาจไม่ได้มีฐานที่มั่น ณ จุดใดจุดหนึ่ง ไม่ได้มีลักษณะเป็นปิรามิด อาจมีกัน 4 คน เข้าร่วมขบวนการ มีการสาบานแล้วก็ทำเลย ไม่ต้องรอรับคำสั่ง ต้องดูว่าในเหตุการณ์ เช่น การวางระเบิด การลอบฆ่า มีอุดมการณ์อะไรอยู่ในเหตุการณ์นั้น ตนมองว่าจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายระบบ ซึ่งความจริงขณะนี้ระบบต่างก็ถูกทำลายแล้ว เช่น ระบบเศรษฐกิจ

เมื่อเกิดความเสียหาย ปฏิบัติการนี้ก็จบ ไม่ต้องโทรศัพท์ไปรายงานใครว่างานจบแล้ว แต่รัฐก็ยังมุ่งอยู่กับการจัดการกับแกนนำในขณะที่แกนไม่นำยิงชาวบ้านอยู่ทุกวัน รัฐจะจัดการอย่างไร การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจต้องมาคิดใหม่ทั้งหมด และจะต้องรื้อแฟ้มข้อมูลข่าวทั้งหมด

ส่วนค่าหัวที่มีการตั้งขึ้น อย่าหวังว่าชาวบ้านธรรมดา จะได้ ซึ่งการตั้งค่าหัวนั้น ตั้งเพื่อจูงใจให้เจ้าหน้ารัฐทำงานมากขึ้นเท่านั้น ชาวบ้านธรรมดาที่ชี้เบาะ อาจจะได้บ้าง ก็เพียงค่ากินน้ำชาเท่านั้น

ขณะที่ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดปัตตานี คนหนึ่งกล่าวว่า ยอมรับว่าสับสนกับข้อมูลที่ได้รับมาจากทางการ ตนสามารถอธิบายได้ ว่าอะไรเป็นอะไร แต่จะนำเสนอทั้งหมดมันไม่คุ้มกันกับความปลอดภัยในชีวิต เพราะตนอยู่ในพื้นที่จึงมีความเสี่ยงมากกว่าสื่อที่อยู่ส่วนกลาง

กรณีที่นักข่าวที่ปัตตานีถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2548 นั้น ไม่รู้ว่าเหมือนกับกรณีนักศึกษาที่ถูกยิงเสียชีวิตหรือไม่ เพราะนักศึกษาคนนั้น ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับบ้าง เป็นซีไอเอ บ้าง เพราะชอบทำตัวเป็นสายลับ

ส่วนนักข่าวที่ถูกยิง ที่จริงไม่ใช่นักข่าว แต่เป็นผู้ช่วยผู้สื่อข่าว ชอบถ่ายรูป ชอบทำตัวเหมือนตำรวจ ชอบนั่งอยู่บนโรงพัก ซึ่งเวลาชาวบ้านมาที่โรงพัก เจอเขาอยู่ทุกวัน จึงคิดว่าเขาเป็นตำรวจ

เพราะฉะนั้น จึงได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่า อย่าทำตัวเหมือตำรวจ เพราะอาจจะไม่ปลอดภัยได้
ประสบการณ์เหล่านี้เรียนรู้จากสนามข่าวจริง ไม่มีอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย

เขายกตัวอย่างกรณีคนร้ายลอบวางระเบิด ซึ่งเป็นทฤษฎีใหม่ที่คนร้ายนำมาใช้ ตัวอย่างเช่น คนร้ายลอบวางระเบิดปลอมที่จุดหนึ่ง ในรัศมี 200 เมตร เป็นจุดที่ปลอดภัย ห่างจากนั้นจะมีระเบิดจริงวางอยู่ เหล่านี้เป็นต้น ถ้าไม่ลงสนามข่าวจริง ก็จะไม่รู้

นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน กล่าวถึงการนำเสนอข่าวที่มีผลกระทบต่อนักศึกษามหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ว่า ทุกครั้ง นักศึกษาต้องกล้าที่จะตอบโต้ข่าวดังกล่าวด้วย ไม่ใช่การคุยกันเองในกลุ่มนักศึกษา และนักศึกษาต้องรู้จักการใช้สื่อทางเลือกเพื่อตอบโต้ข่าวและต้องกล้าวิพากษ์สื่อต่างๆ

เขากล่าวอีกว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่ท้าทายสติ
ปัญญาในการแก้ปัญหามาก เพราะไม่มีสูตรสำเร็จในวิธีการแก้ปัญหาตามที่คนไทยชอบ เช่น เหตุการณ์ เมื่อวันที่ 28เม.ย.47 ยังไม่สายไปที่จะเรียนรู้ เพราะคนที่ก่อการเขาพร้อมที่จะตาย เพราะฉะนั้นต้องดูว่า เขาตายบนสัญลักษณ์อะไร ซึ่งนักรัฐศาสตร์จะต้องคิด

นายมูฮำหมัดอายุบเห็นว่า การจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องทำความเข้าใจ 7 ประการ คือ 1.องค์ความรู้เกี่ยว ศาสนาอิสลาม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ 2.ทำความเข้าใจถึงการดำรงอยู่ของ
อัตลักษณ์ความเป็นปัตตานี 3.ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองใน 3 - 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

4.ประวัติศาสตร์การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5.ประวัติศาสตร์เบื้องต้นในการเกิดเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น เหตุการณ์ลักษณะเหมือนที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่28 เม.ย. 47 ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ในอดีต ไม่เพิ่มเคยเกิดขึ้น ซึ่งต้องความเข้าใจด้วย 6.ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ในทุกวัฒนธรรมตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย และ 7.ทำความเข้าใจสภาพปัจจุบันและความต้องการของประชาชนในพื้นที่

นอกจากการทำความเข้าใจทั้ง 7 ประการแล้ว ต้องเข้าถึง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวด้วย และเจ้าหน้าที่ต้องมีความบริสุทธิ์ใจในการเข้ามาแก้ปัญหาก่อนเป็นอันดับแรก และต้องเข้าถึงจิตวิญญาณของประชาชนในพื้นที่ให้ได้

แน่นอนว่า การเข้าถึง และทำความเข้าใจ ย่อมส่งผลต่อการข่าวของรัฐด้วย รวมทั้งการตรวจสอบข่าวที่ได้มาให้มีความชัดเจน เหตุการณ์ที่ยุ่งยากและการละเมิดสิทธิไปเรื่อยๆ คงไม่เกิดขึ้น เพราะข่าวที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net