Skip to main content
sharethis

คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลในอนาคตซึ่งจัดตั้งโดยพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว เริ่มดำเนินการผลักดันแผนปฏิบัติการนโยบายด้านเศรษฐกิจ และจะเสนอเป็นแนวนโยบายของรัฐต่อสภาผู้แทนราษฎรปลายเดือนมีนาคมศกนี้

แก่นกลางแนวคิดของแผนฯ อยู่ที่ กรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะ 4 ปี(2548-2551) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมนอกสถานที่ ที่จังหวัดเชียงราย วันที่ 11 มกราคม 2548 "ประชาไท" ประมวลสาระสำคัญ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนของแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 4 ปีของรัฐบาลไทยรักไทย 2/1 ตอนนี้เป็นตอนที่ 1

-------------

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯ (สศช.) ศึกษาการปรับโครงสร้างเศรษฐ กิจประเทศไทยในภาพรวม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า ภาคการผลิต การประกอบการใดควรทบทวน ระงับ ฟื้นฟู และพัฒนาหรือเร่งส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวให้มากขึ้น

โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการผลิตไทยให้เหมาะ สม ตลอดจนสามารถเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการใหม่ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการผลิตและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างเป็นระบบและมั่นคงต่อไป

ทั้งนี้ที่ประชุมครม.วันที่ 19 ต.ค. มอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ ศึกษาเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะปานกลางให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยพิจารณาในภาพรวมและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่สำคัญ อาทิ

การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ, การเปิดเสรีและความร่วมมือทางการค้าและเทคโนโลยี, การสร้างความสมดุลในการพัฒนา โดยต้องคำนึงถึงการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นชุมชนเมือง และการพัฒนาชนบทให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และเกิดความสมดุลระหว่างกัน

การคำนึงถึงผลกระทบของการพัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม การประกอบอาชีพ การใช้แรงงาน และการลงทุนในการพัฒนาซึ่งจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับศักยภาพทางการเงินของประเทศ โดยทั้งหมดต้องประสานเชื่อมโยงกันอย่างเหมาะสมทั้งแนวโยบายของผู้กำหนดและส่วนที่เป็นความต้องการของประชาชน

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและ สภาพัฒน์ฯ โดยเลขาธิการฯเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ได้รับมอบหมายให้จัดทำ

"แผนยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในภาพรวม และฐานข้อมูลเศรษฐกิจเชิงลึก ( Economic Intelligence)" ซึ่งเป็นที่มาของกรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างฯ 4 ปี เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาและประกอบการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร

ในด้านการดำเนินการ สภาพัฒน์ฯได้นำเสนอรายงานขั้นต้นต่อนายกรัฐมนตรี และมีการประชุมหารือกับภาคเอกชนอาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย รวมถึงหารือกับ Professor Dipak C.Jain อธิการบดี Kellogg School of Management ที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรี และ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้วิเคราะห์จุดแข็งของประเทศ ว่า อยู่ที่ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นสินค้าบริการที่แข่งขันได้

แผนฯ ดังกล่าว สภาพัฒน์ฯ ได้นำเสนอในรูปของการแถลงสรุปภาวะของประเทศและผลงานรัฐบาลในช่วง 4 ปี ในการประชุมครม.เมื่อมกราคมที่ผ่านมา และกำหนดที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีใหม่เพื่อประกอบการจัดทำนโยบายของรัฐบาล และเมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ให้จัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินระยะ 4 ปี เสนอต่อรัฐบาลต่อไป

บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งสัมพันธ์กับการทำแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจฯ อย่างแยกไม่ออก คือ การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่10 (2550-2554) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2547 ที่ผ่านมา ทั้งนี้โดยภาพรวมของภารกิจสำคัญของสภาพัฒน์ฯ ทำให้ดูเหมือนว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศถูกวางไว้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบภายใต้การดำเนินการของหน่วยงานนี้

กรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะ 4 ปี(2548-2551)

กรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะ 4 ปี(2548-2551) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เป็นผู้ศึกษานั้น มีเป้า หมายอยู่ที่ประเทศจะต้องผลิตและเติบโตเต็มศักยภาพ(Full Steam) โดยใช้ประโยชน์จากทรัพย์ สิน(asset) ต่างๆ ที่มีอยู่และยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็น value creation economy และพึ่งตัวเองทางเศรษฐกิจให้มาก

ทั้งนี้สศช.เสนอว่า เพื่อให้บรรลุผลของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยภายใต้หลักการพื้นฐาน 4 ประการได้แก่ ฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน เพิ่มมูลค่าผลผลิตด้านฐานความรู้ นโยบายสังคมเชิงรุก และเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ทางสศช.ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ 5 ด้านได้แก่

ยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่าภาคเกษตรและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กระทำได้โดย
-ปรับปรุงประสิทธิภาพของปัจจัยการผลิต อาทิ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 6 ล้านไร่ จัดระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจอื่น ปรับปรุงและฟื้นฟูคุณภาพดินและคามหลากหลายทางชีวภาพ

-ขยายการผลิตสินค้าเกษตร อาทิ การใช้เอธานอล และเชื้อเพลิงชีวภาพ(Biofuel) จากพืชหลัก การส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงและขุนโคเป็นอาชีพรวมทั้งการศึกษาวิจัยเรื่องผสมเทียม การส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของสาขาประมง พัฒนาพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าโอทอปให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อสร้างรายได้นอกภาคเกษตร และการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ทางเลือกที่สอดคล้องกับแนวโน้มการบริโภคของโลก

-การจัดระบบตลาดและกระจายสินค้าที่สดและตรงถึงผู้บริโภค

-สร้างเสถียรภาพทางราคาสินค้าเกษตรโดยบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรและการรวมตัวของผู้ผลิตสินค้าเกษตรในภูมิภาค รวมทั้งสร้างความมั่นคงของอุปทานอาหารในภูมิภาค
-พัฒนาระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรและความปลอดภัยทางอาหาร และข้อปฏิบัติต่างๆ

-เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช ปศุสัตว์ และประมง

โดยสศช.ประมาณว่า ผลของยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะทำให้สินค้าเกษตรซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนของ ผลผลิตมวลรวมของประเทศ(GDP) 9.2% ในปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 9.9% เมื่อสิ้นแผนฯ(2551)

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net