อีกสิบปีมีวัคซีนเอดส์หวั่นสิทธิบัตรกีดปท.ยากจนเข้าถึง

IPS - (8 ก.พ.48) เจนีวา- องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า กว่าจะมีวัคซีนเอดส์ให้ใช้ได้จริงคงต้องรอไปอีกสิบปี และถึงแม้จะมีวัคซีนแล้วอุปสรรคที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิบัตรก็เป็นปัญหาต่อการกระจายให้มีวัคซีนใช้ได้ทั่วโลก

ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนขององค์การอนามัยโลก ดร.มารี พอลเล เคียนี กล่าวถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนเอดส์ว่ายังอยู่ในขั้นของการทดสอบว่า" จะป้องกันเอชไอวีได้หรือไม่" ในขณะที่ปัจจุบันมีผู้มีเชื้อเอชไอวีทั่วโลกประมาณ 39.4 ล้านคน

ดังนั้นการวิจัยที่จะต้องทำต่อไปก็ยังถือว่าเป็นอยู่ในระยะกลาง อาจพอกล่าวว่า ไม่น่าจะมีวัคซีนให้ใช้ได้ในห้าปีนี้ แต่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าที่จะบอกว่าจะมีวัคซีนให้ใช้ได้ในราวสิบปีนี้

ดร.เคียนีเปิดเผยด้วยว่า เป็นที่น่าผิดหวังที่ผลการวิจัยทางคลินิกในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยใน พ.ศ.2546-2547 พบว่ากลุ่มประชากรที่ได้รับการฉีดกระตุ้นภูมิด้วยวัคซีนทดลองไม่ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้

สำหรับการวิจัยทดลองวัคซีนระยะที่สามในประเทศไทย ที่จะมีอาสาสมัครได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้น 16,000 คน คาดว่าผลการวิจัยจะรู้ได้ใน พ.ศ.2550 หรือ 2551

เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกยังได้เปิดเผยอีกด้วยว่าอนาคตของวัคซีนเอดส์ที่เกิดขึ้นมานี้ยังคงต้องเจอกับการจำกัดอันเนื่องมาจากข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก(WTO) "แม้ว่าHIVจะเป็นประเด็นฉุกเฉินก็ตาม" ดร.เคียนีเน้น

"แม้ว่าวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการทดสอบทั้งหลายจะมีการดำเนินการจดสิทธิบัตรหรืออย่างน้อยที่สุดสมัครเพื่อขอรับสิทธิบัตร แต่เราก็ยังหวังว่าเมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผลจริง ชุมชนโลกจะร่วมกันในการที่จะดำเนินการให้ชัดเจนว่าสิทธิในสิทธิบัตรจะไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงวัคซีนของประชากรที่ได้รับผลกระทบ"

โดย ดร.เคียนีได้ยกกรณีที่เกิดขึ้นกับยาต้านไวรัส ซึ่งเป็นยาที่ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสเอชไอวีในร่างกายว่า ภายหลังจากการรณรงค์ร่วมกันของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยการนำของประเทศแอฟริกาใต้, อินเดีย, บราซิล และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ จนกระทั่งที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าโลกที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ มีมติร่วมกันว่าประเทศยากจนควรได้รับสิทธิในการที่จะเข้าถึงยาราคาต่ำเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์, มาลาเรีย และวัณโรค

คำประกาศโดฮาได้ยืนยันว่าข้อตกลงว่าด้วยการค้าและสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาไม่ควรจะกีดกันและกลายเป็นผลกระทบต่อการปกป้องคุ้มครองด้านการสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การค้าโลก ทั้งยังได้รับรองสิทธิของประเทศสมาชิกในการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อที่จะผลิตยาสูตรสามัญ รวมไปถึงว่าสามารถใช้เพื่อการนำเข้าคู่ขนานได้(ในกรณีของประเทศที่ไม่สามารถจะผลิตยาเองได้)

ดังที่ได้เห็นจากการเรียกร้องเรื่องการเข้าถึงยาแม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลานาน แต่ในที่สุดมันก็คลี่คลายไป ดร.เคียนี จึงได้ชี้ประเด็นต่อด้วยว่า "ไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่าจะการเรียกร้องดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้กับกรณีของวัคซีนเอดส์"

เธอกล่าวเสริมด้วยว่าเงินทุนของสาธารณชนจำนวนมากถูกใช้ไปเพื่อการค้นคว้าวัคซีน ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์วัคซีนจะมีให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายต่างๆได้ใช้

ความพยายามในการพัฒนาวัคซีนเริ่มขึ้นใน พ.ศ.2530 โดยการทดลองครั้งแรกในมนุษย์เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา จากนั้นมาทั่วโลกมีวัคซีนทดลองกว่า 70 ชนิดที่ได้ผ่านการทดลองในระยะที่หนึ่ง

โดยวันจันทร์ที่ผ่านมามีการประกาศวัคซีนทดลองชนิดล่าสุดที่กรุงนิวเดลลี ประเทศอินเดีย โดยจะทดลองในกลุ่มประชากรชายหญิง 30 คน ระหว่างกลุ่มอายุ 18 และ 45 ปี วัคซีนทดลองดังกล่าวนี้พัฒนาตามสายพันธุ์ของเอชไอวีที่พบในอินเดีย สาลาดิน ออสมานอฟ รักษาการผู้ประสานงานขององค์การอนามัยโลกและโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติที่ดำเนินโครงการด้านการพัฒนาวัคซีนได้อธิบายถึงการดำเนินการดังกล่าว

เขายังได้ให้ความเห็นต่อด้วยว่า "มองในแง่บวก เมื่อเรายังไม่รู้ว่าวัคซีนตัวไหนที่จะมีประสิทธิผลที่สุด ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการนำวัคซีนทดลองเหล่านี้มาทดสอบในประชากรกลุ่มต่างๆต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องมีการทดลองวัคซีนในส่วนต่างๆของโลก"

นายออสมานอฟยังเสริมอีกว่าการทดลองในอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากร 1.1 พันล้านคนมีความสำคัญยิ่ง เพราะประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อก็สูงขึ้นตามมาด้วย ดังนั้นความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนนี้จะหมายถึงประโยชน์ต่อประชากรจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามเขาได้เน้นว่ากระบวนการพัฒนาวัคซีนนั้นมีมูลค่าสูงมาก ต้องใช้เงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯทั้งในการวิจัยเบื้องต้น ทั้งการวิจัยก่อนการทดลองในมนุษย์สู่การวิจัยที่มีการทดลองในมนุษย์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในการประชุมที่สวิสเซอร์แลนด์มีการแลกเปลี่ยนของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา โดยผู้ร่วมประชุมได้เห็นด้วยว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องส่งเสริมศักยภาพกว้างขวางเพื่อให้สามารถดำเนินการวิจัยทดลองได้ทั่วโลก เพื่อตอบสนองต่อเอชไอวีสายพันธ์ที่ต่างกันไปตามพื้นที่และรูปแบบของการติดต่อ

ทั้งยังได้มีข้อเสนอต่อองค์การอนามัยโลกและโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติในการร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมให้การวิจัยทดลองวัคซีนต้องคำนึงถึงผู้หญิงและวัยรุ่น

แปลและเรียบเรียงจาก HEALTH: AIDS Vaccine Elusive - Even for Patents โดย Gustavo Capdevila http://www.ipsnews.net

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท