Skip to main content
sharethis

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาคพลเมืองเหนือ-ประชาไท
-----------------------------------------------------------

ไม่ต่ำกว่า 3 เวที ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยและนายกรัฐมนตรีอีกสมัย จะมากล่าวถึงโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีในการหาเสียงก่อนเลือกตั้ง6 ก.พ. 2548

ที่สันทราย ที่ฝาง และที่จอมทอง เขาบอกถึงทิศทางเชียงใหม่ในการเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2ของเขาว่า จะต่อเนื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเมษายนนี้(13 เมษายน 2548) ไนท์ซาฟารีจะเปิดตัวจะมีปางช้างขนาดใหญ่ และจะมีเคเบิลคาร์หรือกระเช้าลอยฟ้าเชื่อมโยงกับสวนสัตว์ที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ที่ดึงดูดคนให้หลั่งไหลเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ในอีกไม่ช้า

ความลื่นไหลของงบประมาณที่ผ่านการอนุมัติอย่างง่ายดายติดต่อกันเมื่อนำเข้าสู่การประชุมครม.ก่อนการบริหารประเทศจะหมดสมัย

และข่าวความพร้อมของการโยกสัตว์ป่าจากประเทศเคนยาเข้าสู่เมืองไทยโดยอาจนำไปพักและดูแลที่สวนสัตว์โคราชด้วยดูเหมือนว่าความพร้อมของโครงการนี้จะรุกคืบไปอย่างไร้ปัญหา

อย่างไรก็ตามโครงการในฝันของนายกรัฐมนตรีที่ทรงอิทธิพลผู้นี้ก็กำลังถูกจับตามองจากต่างประเทศเป็นอันมาก
และตีแผ่ข่าวต่อเนื่องถี่มากขึ้นในปีนี้ เรียกว่า โกอินเตอร์สมดังเป้าหมายแล้ว

ขณะเดียวกันวงการสัตวแพทย์เฝ้ามองด้วยความวิตกในขณะนี้คือประสิทธิภาพการเฝ้าระวังโรคสัตว์ว่าจะเป็นไปตามมาตรฐานดีพอหรือไม่การขนย้ายสัตว์จากต่างถิ่นจำนวนมากมายมาในเวลากระชั้นสิ่งที่วงการนี้มีคำถามคือ
"แค่โรคไข้หวัดนกยังไม่พออีกหรือ ?"
๑๑๑๑๑๑

สารพัดองค์กรต่างชาติรุมจวกทันทีที่ข้อตกลงระหว่างไทยกับประเทศเคนยาเริ่มเป็นที่ชัดเจนว่าเคนยาจะส่งสัตว์มาให้ไนท์ซาฟารีราว 300 คน และไทยจะส่งเสือกับควาญช้างไปให้เคนยา สื่อมวลชนต่างชาติก็ให้ความสนใจโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และจับข่าวเรื่องนี้มาเสนออย่างต่อเนื่อง

25 ม.ค. หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์และสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ป่าในประเทศเคนยา แอฟริกาตะวันออก ประณามและประท้วงแผนการของรัฐบาลเคนยาของประธานาธิบดี ไวคิบาคิ ที่เตรียมส่งสัตว์ป่า 300 ตัว มาให้กับสวนสัตว์ในประเทศไทย แลกกับการที่ทางการไทยจะส่งควาญช้างไปฝึกช้างเคนยาและช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวเคนยาในเมืองไทย

ฟิลิป มูรติ เจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าแอฟริกัน กล่าวว่า สัตว์ป่าในเคนยาไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมในสวนสัตว์ไทย และมีข้อสงสัยว่าข้อตกลงแลกเปลี่ยนสัตว์ป่าระหว่างฝ่ายรัฐบาลเคนยากับรัฐบาลไทยเป็นเรื่องของผล ประโยชน์เชิงพาณิชย์ล้วนๆไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลสัตว์

ดาฟเน เชลดริก หัวหน้าศูนย์เลี้ยงดูช้างในกรุงไนโรบี กล่าวว่าข่าวการส่งสัตว์ป่าเคนยาไปเมืองไทยครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าตกใจมากและจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเคนยาอย่างแน่นอน ทั้งยังจะทำลายชื่อเสียงของเคนยาที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่คุ้มครองและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าด้วยดีมาโดยตลอดด้วย

วินนี่ เคียรู ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์สัตว์บอร์นฟรี กล่าวว่า รัฐบาลเคนยาอ้างว่า สัตว์ป่าเคนยามีจำนวนมากไป
ทั้งที่จริงแล้วประชากรสัตว์ป่าเคนยาลดลงทุกวันในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และสัตว์บางชนิดที่จะส่งไปยังเมืองไทยนั้นก็ใกล้สูญพันธุ์ไปจากประเทศ อาทิ แรดขาว เสือชีตาห์ และสิงโต นอกจากนั้น ถ้ากวาดต้อนจับสัตว์ป่าเพื่อย้ายถิ่นฐานจะทำให้สัตว์เครียดหนักและเสียชีวิตในที่สุด

อลิซาเบธ วัมบาโฆษกกองทุนพิทักษ์สัตว์นานาชาติ กล่าวว่า การนำควาญช้างไทยมาฝึกช้างเคนยาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจะมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะวิธีการที่ควาญช้างไทยใช้ฝึกช้างให้วิ่ง นั่ง หรือยืน 2 ขา ล้วนเป็นวิธีการทารุณช้างทั้งสิ้น อาทิ การทุบตีและล่ามโซ่เพื่อทำให้ช้างเชื่องและทำตามคำสั่ง

กระนั้นแผนการแลกเปลี่ยนสัตว์นี้ก็คืบหน้าต่อไป โดย 29 มกราคม 2548 ในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือในภูมิภาคเกี่ยวกับการจัดการเพื่อเตือนภัยล่วงหน้าในกรณีคลื่นยักษ์ ที่ จ.ภูเก็ต ตัวแทนประเทศเคนยา ได้เข้าหารือกับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.การต่างประเทศ โดยประเทศเคนยามีความสนใจที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับไทยให้มากขึ้น และเสนอให้มีการเพิ่มพูนปริมาณการค้าร่วมกันทั้งสองฝ่ายโดยจะ
มีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่าง 2 ประเทศ โดยไทยรับที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอีกครั้งที่กทม.

นอกจากนี้ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยว โดยทางเคนยาได้ตกลงจะมอบสัตว์จำนวน 300 ตัวมาให้กับฝ่ายไทย เพื่อจัดแสดงในสวนไนต์ซาฟารีหลังจากทำการเจรจาเป็นที่เรียบร้อย ทั้งนี้ประเทศเคนยากำลังพิจารณาที่จะเปิดสถานทูตของเคนยาในประเทศไทย แทนที่จะใช้สถานทูตเคนยาอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ดูแลประชาชนเคนยาประเทศไทย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของไทยมากยิ่งขึ้น

กระนั้นเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2548 เอพีได้รายงานว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสากลประณามรัฐบาลไทยกรณีนำเข้าสัตว์ป่าจากประเทศเคนยาเพื่อนำมาเลี้ยงในสวนสัตว์กลางคืนหรือไนท์ซาฟารีที่เชียงใหม่ โดยระบุว่าเป็นการ
ทรมานสัตว์และขอให้ทบทวนโครงการนี้

เอพีระบุว่า สัตว์ต่างๆ ที่ประธานาธิบดีเคนยาจะมอบให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อนำมาไว้ในไนท์ซาฟารีทั้งสิ้นกว่า 300 ตัวนั้น เป็นสัตว์ที่ได้รับความคุ้มครองจากการค้าขายสัตว์ป่าในตลาดโลกตามทะเบียนของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส

วิล ทราเวอร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิบอร์น ฟรี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสากลกล่าวด้วยความกังวลว่า นึกไม่ออกว่าสัตว์เหล่านั้นที่มีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติในป่าของแอฟริกาจะถูกนำมาขังไว้ตลอดชีวิตในป่าคอน
กรีตของไทยได้อย่างไร

แกร์รี่ ริชาร์ดสัน ผู้อำนวยการสมาคมพิทักษ์สัตว์โลกออกแถลงการณ์กังวลถึงอนาคตสัตว์ป่าหากขนส่งสัตว์ป่าข้ามประเทศดังกล่าวจริง เพราะหมายถึง การเข้ามาดำรงชีวิตอยู่ในประเทศที่เลื่องลือกระฉ่อนในเรื่องของการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายรวมทั้งสวนสัตว์มีคุณภาพต่ำ

อย่างไรก็ตามนายปลอดประสพ สุรัสวดี ซีอีโอโครงการนี้ก็ให้สัมภาษณ์เอพีว่า สัตว์ป่าจากเคนยานั้นมีชีวิตอยู่ตามสวนสัตว์ทั่วโลก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมาอยู่ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และสัตว์ที่นำเข้ามาก็เป็นสัตว์ทั่วไป ไม่ใช่สัตว์ป่าหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ และไทยก็นำเข้าสัตว์ป่าจากแอฟริกามากกว่า 30 ปีแล้ว

ใช่เพียงแค่เคนยาที่ไทยจะนำสัตว์มาอยู่ที่ไนท์ซาฟารี ยังมีสัตว์อีกชุดหนึ่งจากออสเตรเลียโดยแผนการจัดการสัตว์ระบุว่า จะนำมาจากออสเตรเลียโดยการแลกเปลี่ยน 38 รายการ 379 ตัว เช่นจิงโจ้ 40 ตัว โคอาล่า 6 ตัว จระเข้ 20 ตัวหงส์ Mute Swans,Black Swans และ Whooper Swans เป็นต้น

ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์โคอาล่าอย่างกองทุนออสเตรเลียน โคอาล่า ก็ออกมาเตือนว่า เป็นสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์แล้วโดยกองทุนฯ ได้สำรวจถิ่นที่อยู่ของโคอาล่า 1,000 แห่งพบว่าพื้นที่ 30 % ไม่มีโคอาล่าอาศัยอยู่อีกแล้ว

ขณะที่พื้นที่อีก 60 % อยู่ในภาวะเสื่อมโทรมจนส่งผลกระทบต่อโคอาล่า และเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียประกาศให้โคอาล่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เพราะจำนวนโคอาล่าที่มีอยู่ปัจจุบันเหลือเพียงกว่า 1 แสนตัว แต่แหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่หลักทับซ้อนกับพื้นที่การขยายตัวของเมือง ซึ่งตัวเลขโคอาล่าถูกฆ่าด้วยสุนัขปีละกว่า 4,000 ตัวเป็นข้อยืนยันได้

สัตว์แพทย์ห่วงกักโรค ถาม
"แค่หวัดนกยังไม่พอหรือ ?"

จากแผนการจัดหาสัตว์ของโครงการ สัตว์ที่มีอยู่ในประเทศกำลังอยู่ระหว่างการกักโรคจากต้นทาง

ส่วนสัตว์ที่แลกเปลี่ยนและจะต้องซื้อจากต่างประเทศอยู่ระหว่างการคัดเลือก จัดหา กักโรคและฝึกสัตว์จากต้นทาง บางรายการระบุว่า จะขนย้ายมาเชียงใหม่ในเดือนก.พ.และมี.ค.นี้แล้ว

แหล่งข่าวจากวงการสัตวแพทย์ ได้ตั้งคำถามถึงมาตรการการกักสัตว์และการขนย้ายว่า มั่นใจได้แค่ไหนว่าจะไม่มีขอแถมคือโรคระบาดสัตว์แปลกๆ จากแอฟริกามายังไทยด้วย

"การกักโรคต้องใช้เวลา 3 เดือน เชื่อว่าเมื่อเป็นรูปการนี้จะต้องเป็นการเซ็นต์หนังสือรับรองการกักโรคมาจากต้นทางแน่ แต่ในทางปฏิบัติจะยืนยันความปลอดภัยได้แค่ไหน ในสถานการณ์ที่เร่งรีบโดยปักธงไว้ว่า จะต้องเปิดให้ทัน 13 เมษายน เพราะเคยมีหลายกรณีที่สัตว์เคลื่อนย้ายจากต่างประเทศแล้วมาตายในเมืองไทยก็มาก"

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากเกิดการตายก็อาจเพียงแค่เสียดายเท่านั้น แต่ผลกระทบที่ตามมาเช่นโรคแปลกๆ จาก
แอฟริกาซึ่งเป็นแหล่งโรคอยู่แล้วเมื่อมาถึงเมืองไทย จะควบคุมดูแลได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะต้องไม่ลืมว่าการนำเข้าสัตว์จากแอฟริกาครั้งนี้มากันกว่า 300 ตัว สิ่งที่เรากังวลคือ ช้างแอฟริกาเพราะมีไวรัสชนิดหนึ่งที่ต้องควบคุมเป็นพิเศษอยู่ ส่วนสัตว์อื่นที่การแพร่ระบาดอาจไม่รวดเร็วเหมือนสัตว์ปีก เพราะต่างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ก็มีโรคที่ติดต่อทางเห็บบางชนิดที่ต้องระมัดระวัง หากมาติดต่อในสัตว์บ้านเรา หรือแพร่กระจายไปตามแหล่งชุมชน ซึ่งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีก็อยู่ในรัศมีชุมชนด้วยยิ่งต้องระมัดระวัง อย่าเห็นว่าเป็นของฟรีที่จะต้องนำเข้ามาก เพราะยิ่งเป็นของฟรีการการันตีด้านอื่นเช่น การประกันสัตว์ตายการดูแลโรค อาจไม่เหมือนกับการซื้อขาย

"สิ่งเหล่านี้ละเอียดอ่อน ไม่อาจมักง่ายได้ เพียงแค่โรคไข้หวัดนกที่ต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้ยังไม่พออีกหรือ"

กรมปศุสัตว์ ระบุว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้โรคระบาดแพร่ไปได้อย่างรวดเร็ว คือ การเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดจากท้องที่หนึ่ง ไปยังอีกท้องที่หนึ่ง ทั้งนี้ระเบียบกรมปศุสัตว์ในการนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักรนั้นต้องยื่นคำขอต่อสัตวแพทย์ประจำท่าเข้านั้นไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อพิจารณาออกใบแจ้งอนุมัตินำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร

และแม้จะมีการตรวจกักโรคมาจากต้นทางแล้ว ผู้นำเข้านำสัตว์นั้นก็ยังต้องนำสัตว์ไปยังสถานกักกันสัตว์หรือที่พักซากสัตว์ของท่าเข้า หรือสถานกักกันสัตว์หรือที่พักซากสัตว์เพื่อการนำเข้าที่กรมปศุสัตว์รับรอง หรือสถานกักกันสัตว์หรือที่พักซากสัตว์ที่สัตวแพทย์ประจำท่าเข้ากำหนดเพื่อให้สัตวแพทย์ประจำท่าเข้าตรวจโรค และทำลายเชื้อโรคตามระเบียบของ กรมปศุสัตว์ ก่อนด้วยขั้นตอนสำคัญนี้ไม่อาจจะละเลยได้

อย่างไรก็ตามขณะนี้ นายธีระ อนันต์วรปัญญา ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการประสานงานจากกรมปศุสัตว์หรือจากโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เพราะขั้นตอนการเคลื่อนย้ายสัตว์ระหว่างประเทศ จะต้องขออนุญาตจากกรมปศุสัตว์ เป็นอำนาจของอธิบดี โดยจะต้องดูสัญญาระหว่างประเทศและโรคระบาดจากประเทศต่างๆ ที่กำหนดไว้ต่างกันด้วยทั้งที่ด่านกักสัตว์ดอนเมืองและด่านกักสัตว์ที่ท่าเรือคลองเตย

ซึ่งปศุสัตว์เชียงใหม่อาจได้รับการประสานให้ตรวจสอบเพิ่มเติมเมื่อสัตว์เข้ามาแล้ว แต่โดยปกติแต่ละสวนสัตว์จะมีสัตวแพทย์ประจำอยู่ด้วย เพียง 2 ประเด็นที่เริ่มคุกรุ่นขึ้นมาให้ต้องใคร่ครวญ มองเห็นภาพการเปิดตัวไนท์ซาฟารี ที่นึกเห็นภาพการตัดริบบิ้นหรือการปล่อยลูกโป่ง อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net