เจาะนโยบายเศรษฐกิจ "ทักษิณ" (2) อกชนจี้เมกะโปรเจ็กต์ รุกเชื่อมภาคเหนือ - GMS

นโยบายสำคัญอันดับแรกที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ประกาศว่าจะผลักดันทันทีทันใดภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นก็คือ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ การแก้ปัญหาความยากจน และการปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน

ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารรัฐบาลนโยบายแบบพรรคเดียว ซึ่งเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สิ่งที่พรรคไทยรักไทยจะนำมาใช้ในการบริหารประเทศช่วง 4 ปีข้างหน้า ที่เน้นเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตร บริการ เพื่อเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เป้าหมายเร่งด่วนคือการที่นายกรัฐมนตรีคนนี้จะต้องปรับบทบาทตัวเองเป็นเซลล์แมนมากขึ้น และเน้นนำสินค้าบุกไปขายในตลาดโลกมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจุดนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตและการตลาดของผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถมากยิ่งขึ้น

นโยบายการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะแบ่งการใช้กับคน 3 กลุ่มคือ1.ระดับรากหญ้า 2.ระดับชนชั้นกลาง และคนทำงาน 3.กลุ่มคนรวยและนักธุรกิจ สำหรับกลุ่มคนในระดับรากหญ้า จะปรับเปลี่ยนจากการให้เงินทุนสนับสนุนโดยตรงรายบุคคลมาเป็นการที่รัฐบาลเข้าไปอุดหนุนในภาพรวมมากขึ้น เช่น การแปลงกองทุนหมู่บ้านเป็นธนาคารชุมชน ซึ่งขณะนี้ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดตั้งสภาชุมชนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสภาชุมชนที่จัดตั้งขึ้นจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการธนาคารชุมชนในอนาคต

รวมทั้งการเร่งจ่ายเงินให้หมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศตามโครงการเอสเอ็มแอล โดยหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ นายกฯจะเร่งโอนเงินให้หมู่บ้านทั่วประเทศที่เหลือทันที คาดว่าเงินจะลงไปถึงประชาชนในโครงการเอสเอ็มแอลทั่วประเทศภายในเดือน เมษายนนี้ ขณะเดียวกันรัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการออมในระดับครัวเรือน โดยรัฐบาลจะเข้าไปเป็นผู้จัดหาปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร เพื่อนำมาประกอบอาชีพ ซึ่งจะเริ่มโครงการนำร่องที่ โค 1 ล้านครอบครัว รวมทั้งจะมีการลงทุนในเรื่องของการพัฒนาแหล่งน้ำใน 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการเกษตร

กลุ่มคนชั้นกลาง วางแนวทางไว้คือจะเน้นสร้างผู้ประกอบการใหม่ ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมอาชีพให้แก่นักศึกษาที่จบใหม่ ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ โดยรัฐบาลจะจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่ผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสร้างผู้ประกอบการย่อยในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็อาจจะนำโครงการเออร์ลีรีไทร์ ของข้าราชการมาใช้ใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้ข้าราชการที่ต้องการออกไปประกอบอาชีพ

ขณะเดียวกัน เช่นเดียวกันรัฐจะเน้นส่งเสริมการออมของชนชั้นกลาง ผ่านตลาดเงินและตลาดทุน ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการประกันชีวิต การถือหน่วยลงทุน และพันธบัตรรัฐบาล รวมทั้งจะมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางให้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะระดมทุน เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี

สำหรับนโยบายของกลุ่มคนระดับบน โดยเฉพาะนักธุรกิจ ซึ่งการบริหารงานภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ รัฐบาลจะไม่เข้าไปมีบทบาทในการปรับโครงสร้างหนี้ หรือลดหนี้ให้แก่ภาคเอกชนมากเหมือนช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทว่าจะเน้นการให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ รวมทั้งจะเดินหน้าเจรจาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีในระดับทวิภาคีกับประเทศต่างๆ เพื่อขยายตลาดส่งออกสินค้าของไทย รวมทั้งจะส่งเสริมการออมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาลมากขึ้น

ดร.สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวง การคลังแสดงความเห็นว่าการกลับมาเป็นรัฐบาลของพรรคไทยรักไทยอีกครั้ง จะทำให้นโยบายทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง และเชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงจุดเน้นบ้าง เช่นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความ สามารถการแข่งขัน จากเดิมที่มุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลเน้นหนักนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ภายหลังที่ประเทศไทยประสบภาวิวิกฤติเศรษฐกิจ และขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว จึงมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ เช่น ลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ หรือการปรับโครงสร้างการศึกษาและสาธารณสุข เพื่อรองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต

อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังจะยังไม่ปรับตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจใหม่ แม้จะมีปัจจัยบวกที่เพิ่มขึ้นมาจากเสถียรภาพของรัฐบาลที่เข้มแข็งขึ้น โดยทำนายเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะขยายตัวประมาณ 6.1% เท่าเดิม แต่เชื่อว่าเสถียรภาพทางการเมืองที่แข็งแกร่งขึ้น จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ ได้อย่างมาก

มุมมองเอกชนต่อรัฐบาลทักษิณ (2)

ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า นโยบายต่อเนื่องในการเจรจาเอฟทีเอ กับประเทศคู่ค้า เพื่อขยายตลาดสินค้า โดยต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานเจรจาเท่าเทียมไม่ให้ไทยเสีย เปรียบ ซึ่งภาคเอกชนมองว่าเอฟทีเอ จะช่วยสร้างศักยภาพให้มีการลงทุนในไทยมากขึ้น ไม่เฉพาะกับประเทศคู่เจรจาเท่านั้น ยังดึงดูดประเทศอื่นๆ ให้เข้ามาลงทุนได้อีกด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ควรเร่งดำเนินการ พร้อมกันนั้นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจภาย ในประเทศด้วย รณรงค์ส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาวะที่น้ำมันมีความผันผวน อัตราดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องให้ความสำคัญเรื่องหนี้ภาคครัวเรือนด้วย โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้านับจากนี้ ต้องการให้รัฐบาลกระตุ้นการลงทุน ทั้งของภาครัฐและเอกชน เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยทำให้ประชาชน มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกันต้องเข้ามาดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตทั้งเรื่องพลังงาน น้ำมัน และค่าไฟฟ้า ซึ่งหากจะปรับขึ้นราคาก็ต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่วนเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทน ก็ควรที่จะมีการสานต่ออย่างต่อเนื่อง

เอกชนเหนือจี้เมกะโปรเจ็กต์ - เชื่อม GMS
วอนรัฐเพิ่มขีดแข่งขันสินค้าไทยไปขายจีน

นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 ภาคเอกชนมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการต่างๆมีความต่อเนื่อง สำหรับ จ.เชียงใหม่ ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วผลักดันเมกกะโปรเจ็กต์หลายโครงการ ก็ควรถูกเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วในรัฐบาลชุดนี้ อาทิ โครงการส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ควรเร่งให้รูปธรรมเกิดขึ้นโดยเร็ว และการเตรียมแผนระยะยาวขยายสนามบินแห่งที่ 2 รองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรเร่งขับเคลื่อนการเชื่อมโยงระหว่างภาคเหนือกับกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรและกำลังซื้อมหาศาล ซึ่งหากไทยเดินหน้าไปอย่างช้าๆ ก็อาจยิ่งเสียเปรียบหลายประเทศ ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ GMS เช่นเดียวกับไทย อาทิ ประเทศเวียดนาม ที่เริ่มเร่งนโยบายเชิงรุกทั้งการค้าการลงทุน การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศต่างๆที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งเส้นทางบก ทางน้ำและทางอากาศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้เวียดนามเริ่มรุกคืบเชื่อมกับจีนตอนใต้คือคุนหมิงอย่างหนัก ซึ่งขณะนี้ถือเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ ขณะที่ ภาคเหนือของไทยก็มีศักยภาพเชื่อมโยงกับจีนตอนใต้ได้ไม่แพ้กัน แต่ที่ผ่านมายอมรับว่าการผลักดันโครงการต่างๆจากภาครัฐเป็นไปด้วยความล่าช้า ซึ่งการพัฒนาเรื่องระบบโลจิสติกถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญ ในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงในกลุ่มประเทศ GMS

นายณรงค์ กล่าวว่า ภาคเอกชนค่อนข้างมีความมั่นใจที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย และเชื่อมั่นว่าจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนการที่รัฐบาลมีเอกภาพในการบริหารงานแบบพรรคเดียว ความมีเสถียรภาพต้องมีความมั่นคงทั้งในและต่าง
ประเทศ และน่าจะมีความคล่องตัวมากขึ้น ขณะที่อีกด้านหนึ่งการบริหารแบบพรรคเดียวก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในหลายๆส่วน และไม่ประมาท แต่เชื่อว่ากระบวนการตรวจสอบจากภาคประชาชนก็คงจะมีมากขึ้นตามไปด้วย

นายยุทธพงศ์ จีระประภาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ค่อนข้างมั่นใจต่อทีมรัฐบาลชุดเดิมที่ได้เป็นรัฐบาลอีกสมัย ซึ่งเชื่อว่าการต่อยอดนโยบายหรือโครงการต่างๆจะทำได้ต่อเนื่อง แต่อยากฝากรัฐบาลว่าไม่ควรเปลี่ยนรัฐมนตรีหรือผู้รับผิดชอบโครงการต่างๆบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้งานไม่ต่อเนื่องหรือชะงักไปได้ เช่น โครงการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผ่านมาเปลี่ยนรัฐมนตรีที่รับผิดชอบดูแลมาหลายคนแล้ว และน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการดังกล่าวยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน ดังนั้น โครงการแต่ละโครงการควรมีเจ้าภาพที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่หันมามองการเชื่อมโยงเชียงใหม่หรือภาคเหนือเข้ากับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสินค้าไทยไปขายในตลาดจีนภายหลังการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งขีดความสามารถของไทยยังคงเสียเปรียบจีนอยู่มาก ขณะนี้ผักผลไม้จีนราคาถูกไหลทะลักเข้ามายังภาคเหนือและประเทศไทยมากขึ้นในช่วงกว่า 1 ปี แต่ตรงกันข้ามสินค้าไทยเข้าไปบุกตลาดจีนค่อนข้างยาก เพราะจีนมีกฎหมายแต่ละมณฑลที่แตกต่างกัน และเข้มงวดการตรวจ
สอบมาตรฐานสินค้า และสินค้าไทยมีราคาแพงกว่า ดังนั้น ภาครัฐควรเพิ่มขีดความสามารถของสินค้าให้มากกว่านี้.

**************

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท