ทำความรู้จัก "พิธีสารเกียวโต" *

พิธีสารเกียวโตคืออะไร

จากสาเหตุและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติและองค์กรอุตุนิยมวิทยา จึงมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์เพื่อผลักดันให้มีการกำหนดนโยบายเพื่อจัดการกับปัญหานี้ โดยการตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) เพื่อประเมินผลการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเมื่อปลายปี 1998

คณะกรรมการนี้สรุปว่ามนุษย์เป็นผู้ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาเพิ่มถึง 0.6 องศาเซลเซียส และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 1.0 - 3.5 องศาเซลเซียสในปี 2100 แม้อุณหภูมิจะดูเหมือนไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก แต่ก็อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ความห่วงใยต่อผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มนุษย์เป็นผู้ก่อขึ้นทำให้เกิดการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโลก โดยในปี 1992 ได้มีการเรียกร้องให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เท่ากับระดับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศตนเองในปี 1990 ให้ได้ภายในปี 2000

ต่อมาเห็นได้ชัดเจนว่า มีประเทศอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่ประเทศที่พยายามจะทำตามข้อตกลงที่กล่าวมา มีข้อสนับสนุนทางการเมืองในหมู่ประเทศ Annex I น้อยมากที่จะสนับสนุนตามเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซร่วมกัน

หลังจากมีการเจรจาต่อรองด้านการเมืองอย่างมากมาย พิธีสารอย่างเป็นทางการจึงเกิดขึ้นมีชื่อว่า Kyoto protocol หรือพิธีสารเกียวโต ในการประชุมวางแผนงานของสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่จัดขึ้นที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1997 โดยกำหนดข้อตกลงร่วมกันในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซของประเทศพัฒนาแล้ว เฉลี่ยลด 5.7 % จากระดับการปล่อยก๊าซในปี 1990

ช่องโหว่ของพิธีสารเกียวโต

พิธีสารเกียวโตมีกลไกการจัดการที่ซับซ้อนมาก ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีอุตสาหกรรมซึ่งใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล พยายามที่จะลดบทบาทของพิธีสารนี้ลง โดยพยายามยัดเยียดกลไกต่าง ๆ ที่จะไม่ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตน ข้อตกลงร่วมกันในพิธีสารนี้ จึงไม่ประสบผลสำเร็จในการที่จะปกป้องโลกจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และกฎระเบียบ (provision) ในพิธีสารนี้มีช่องโหว่ /ข้อบกพร่องมากมายที่ทำให้เป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโลกเป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้ แหล่งใหญ่ของก๊าซเรือนกระจกคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากการผลิตพลัง งานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ในปี 1990 -1995 องค์กรด้านพลังงานได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ปริมาณ 6 พันล้านตัน (60 % ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด) และก๊าซมีเธน (CH4) และก๊าซไนทรัสออกไซด์

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่าใน 100 ปีข้างหน้าถ้าระดับการปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก (ในปี 2100) จะสูงขึ้น 2.5 - 2.9 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าระดับก๊าซที่มีอยู่ช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 23 - 29 เซนติเมตร ในช่วงปี 1990 - 2100

อย่างไรก็ตาม ช่องโหว่ประการสำคัญของพิธีสารนี้ คือข้อตกลงที่แตกต่างกันของประเทศพัฒนาแต่ละประเทศโดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซ ของแต่ละประเทศให้คล้ายกัน หลังจากการเจรจา บางประเทศ (อเมริกา สหภาพยุโรป ประเทศยุโรปตะวันออก) ตกลงจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซให้ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์

แต่ในบางประเทศ (รัสเซีย ยูเครน นิวซีแลนด์) สามารถคงระดับปริมาณการปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศเท่าเดิม และบางประเทศ (ออสเตรเลีย นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์) กลับได้รับอนุญาตให้ปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ พีธีสารนี้ยังได้รวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเธน (CH4) ไนทรัสออกไซค์ (N20) เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) และซัลเฟอร์ เฮกซาฟลูออไรด์ (SF6) ก๊าซ 6 ชนิดนี้ ส่งผลกระทบต่อโลกได้เมื่อมีการรวมตัวขึ้น ปริมาณที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของก๊าซแต่ละชนิดนั้นไม่สำคัญเท่ากับการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งหมดโดยรวมทั้งประเทศ

ข้อบกพร่องในพิธีสารนี้คือ ประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับอนุญาตให้เลือกปี 1990 หรือ ปี 1995 เป็นฐานปีที่ใช้คำนวณ ระดับปริมาณการปล่อยก๊าซ HFCs และ SF6 ในการเลือกปี 1995 ของประเทศพัฒนาแล้วให้เป็นปีฐานที่ใช้กำหนดค่าคำนวนระดับการปล่อยก๊าซ ย่อมทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถเพิ่มฐาน (baseline) และปริมาณการปล่อยก๊าซได้ประมาณ 0.6-0.7 เปอร์เซ็นต์

ที่สำคัญพิธีสารยังอนุญาตให้ประเทศพัฒนาส่วนใหญ่ สามารถกำหนดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยืดหยุ่นได้ เช่น กำหนดให้มีการค้าปริมาณการปล่อยก๊าซ (Emission Trading) โดยประเทศพัฒนาแล้วที่มีการปล่อยก๊าซน้อยกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซที่กำหนด สามารถขายสัดส่วนที่ไม่ได้ใช้นี้ให้กับประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซสูงกว่ากำหนดได้

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่าระบบนี้จะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพทางด้านเศรษฐกิจ ที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศโลกในราคาถูกที่สุด ในทางทฤษฎี วิธีทางการค้านี้เป็นวิธีการที่น่าสนใจในการลดการปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศ แต่มีวิธีการหลายวิธีที่จะทำให้วิธีการทางการค้านี้อาจดำเนินผิดพลาดได้

ในขณะที่ปัจจุบันนี้พิธีสารนี้ยังขาดกลไกบังคับที่จะทำให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม โดยใช้กฎระเบียบที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีผลบังคับลงโทษแก่ประเทศ ที่ไม่ปฏิบัติตามตามข้อตกลงการปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศ รวมทั้งไม่มีกระบวนการตรวจสอบเฉพาะด้านข้อตกลงในการปล่อยก๊าซ ซึ่งประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งท่ามกลางข้อบกพร่องมีหลายส่วน และควรได้รับความสนใจโดยด่วน

องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ เคยมีข้อเสนอเรียกร้องให้ทุกประเทศสนับสนุนให้มีการทบทวน ข้อตกลงร่วมกันในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซในพิธีสารเกียวโต และชักจูงให้มีการเจรจาถึงปริมาณการลดการปล่อยก๊าซในรายละเอียดทันที ยกเลิกการผลิตและการใช้ถ่านหินอย่างเร่งด่วน และจำกัดประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ให้มีการขุดเจาะนำแหล่งน้ำมันและก๊าซที่สำรวจพบเพิ่มขึ้น และหยุดการเสาะหาแหล่งน้ำมัน และก๊าซแหล่งใหม่ แต่ควรลงทุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดแทน

* เรียบเรียงจากจากเอกสารของกรีนพีซชื่อว่า Greenpeace" s Guide to the Kyoto Protocol ซึ่งได้จัดทำเพื่อการประชุม COP - 4 ที่ Buenos Aires ประเทศอาเจนตินา (GPI, 1998)

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท