รายงานพิเศษ ตอน 1 ฉกี่คึ ศรัทธาแห่งวิถี...ที่ไม่สิ้นสูญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รถกระบะกลางเก่ากลางใหม่บรรทุกผู้โดยสารเต็มท้าย ค่อยๆไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆบนถนนลูกรัง ฝุ่นสีแดงปลิวตลบยิ่งในยามที่มีรถสวนมาจนทำให้ไอหมอกยามเช้าถูกกลืนหายไปด้วย

ครึ่งชั่วโมงต่อมายอดเขาที่เมื่อครู่ต้องแหงนมองจนคอตั้งบ่ากลับอยู่เพียงระดับสายตาเท่านั้น ปลายทางของเราในเช้าวันนี้ คือ ป่าชุมชน บ้านห้วยโผ อ.แม่สะเรียง จ.แม่อ่องสอน

สองข้างทางมีชาวบ้านจากชุมชนใกล้เคียงตลอดจนตัวแทนจากหมู่บ้านในอำเภออื่นๆนั่งเรียงรายอยู่ในชุดประจำถิ่นดูละลานตา วันนี้เราต่างมาเพื่อร่วมพิธีเลี้ยงผีป่า อีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวปกากะญอในการอยู่ร่วมกับป่า
.........................................................

บ้านห้วยโผ เป็นชุมชนชาวปกากะญอที่อยู่อาศัยกับป่ามาเนิ่นนาน ประมาณปี 2529 ได้เริ่มมีการสัมปทานทำไม้ในเขตป่าแม่ยวมฝั่งขวา ซึ่งต่อมาได้ปิดป่าสัมปทานเมื่อปี 2532 จนส่งผลให้ป่าไม้ลดน้อยลงและน้ำไม่พอในการทำเกษตร

ต่อมาในปี 2538 ชาวบ้านได้รวมตัวกันจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อดูแลรักษาป่า สร้างกฎระเบียบเพื่อเป็นข้อบังคับในการรักษาป่า ภายใต้ องค์กรชาวบ้านกับการจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำยวม น้ำเงา น้ำเมย และน้ำสาละวิน มีชุมชนสมาชิก 102 หมู่บ้าน ใน อ.แม่สะเรียง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

แต่ที่ผ่านมาการทำกิจกรรมรักษาป่าของชุมชนยังมีปัญหากับพ่อค้านายทุนที่ค้าไม้ รวมถึงหน่วยงานราชการมาโดยตลอด ในปี 2539 ชาวบ้านจึงร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายชาวบ้าน และหน่วยงานราชการ ร่วมกันบวชป่าเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า

และในปี 2547 ที่ผ่านมา ชุมชนบ้านห้วยโผได้รับรางวัล ลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 6 ประเภทชุมชน วันนี้กิจกรรมการรักษาป่าของชุมชนบ้านห้วยโผ ไม่ว่าจะเป็นการทำแนวกันไฟป่า การบวชป่า ได้รับการยอมรับในการอยู่ร่วมกับป่ามากขึ้น

และเป็นปีที่บ้านห้วยโผต้องสูญเสียอดีตพ่อหลวงคนสำคัญที่เป็นผู้บุกเบิกในการพยายามบอกเล่าวิถีแห่งชุมชนในการอยู่ร่วมกับป่าสู่ภายนอก มาถึงวันนี้ร่องรอยที่พ่อหลวงสร้างไว้ได้นำพาผู้คนในท้องถิ่นและต่างถิ่นมารวมตัวกันอีกครั้ง
..........................................................

จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน อุดมไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ น้ำ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12,681.259 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,925,812.5 ไร่ โดยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและป่าอนุรักษ์อื่นๆตามมติครม. ประมาณ 6,976,650 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 88.2 ของพื้นที่จังหวัดทั้งหมด

ประชากรทั้งสิ้น 239,502 คน ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า ประกอบด้วย ไทยใหญ่ ลีซู ลาหู่ ลัวะ ม้ง ปะโอ จีนฮ่อ คนเมือง และคนไทยอพยพจากภาคอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร ทำไร่หมุนเวียนปลูกข้าวและพืชผักในการยังชีพ และอาศัยป่าเป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องใช้ไม้สอย รวมไปถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมตั้งแต่เกิดจนตาย

ที่ผ่านมาวิถีชีวิตของชุมชนถูกตั้งคำถามไปจนถึงเกิดข้อขัดแย้งกับหน่วยงานต่างๆที่มองว่าชุมชนทำไร่เลื่อนลอย เป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงการขีดเส้นแบ่งเขตการอนุรักษ์ทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ก็ล้วนส่งผลต่อวิถีที่ดำรงมาอย่างยาวนาน เพราะชุมชนหลายพื้นที่หรือเกือบทั้งหมดในจังหวัด ไม่มีการรับรองสิทธิในที่ดินของตนเอง

ไร่หมุนเวียน คือระบบเกษตรเก่าแก่ที่ทำกันอยู่ทั่วโลก ตัด-ฟัน-เผา ทำในเขตป่า ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมแล้วกลับมาเป็นพื้นที่ป่าได้อีก เป็นระบบที่จับหัวใจระบบนิเวศแบบธรรมชาติได้ว่า ถ้าไม่หยุดกับที่หมุนพื้นที่ทำกิน ธาตุอาหารในดินก็กลับมาสู่สภาพเดิม

การทำไร่ของชาวบ้านจะมีการทำไร่หลายแปลง ตั้งแต่ 5-7 แปลง โดยจะมีการเวียนกลับมาทำเพาะปลูกเมื่อครบรอบ เพื่อให้ผืนดินได้พักฟื้นและคืนความอุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติ ไม่ใช่ย้ายพื้นที่เกษตรไปเรื่อยๆอย่างที่คนเมืองเข้าใจ แต่เมื่อพื้นที่ฟื้นตัวกลายสภาพเป็นป่าก็ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความเข้าใจว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ และนำไปสู่การจับกุม

ในภาษาของปกากะญอไม่มีคำว่าไร่หมุนเวียนโดยตรง แต่เรียกการทำไร่ข้าวว่า "ฉกี่คึ" มาจากคำว่า "ไร่เหล่า" กับ "ไร่ข้าว" โดยทั่วไป ไร่ข้าวในชุมชนจะปลูกพืชชนิดต่างๆร่วมด้วย เช่น เผือก มัน ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วชนิดต่างๆ งา แตงชนิดต่างๆ ผักต่างๆ พริก มะเขือ ฯลฯ ทำให้ไร่ข้าวจึงกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญของของครอบครัว และการปลูกโดยไม่พรวนดินแต่จะใช้ไม้แทงหน้าดินก่อนหยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปยังช่วยลดการชะล้างหน้าดิน

สจ.บารมี ปราชญ์ปกากะญอ เล่าเตือนสติลูกหลานว่า เราต้องเรียนรู้อดีต ปัจจุบันเพื่ออนาคต ตอนนี้เรามีเมล็ดข้าวอยู่หนึ่งกำมือ ถึงแม้ว่ายังมีคนที่ไม่เข้าใจแต่เราก็ต้องทำต่อไป เพื่อลูกหลาน
...........................................................

นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กและชุมชน ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่อ่องสอน กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เพื่อเพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในพื้นที่ รวมทั้งหาแนวทางและข้อเสนอในการจัดการทรัพยากรร่วมกันในอนาคต ทั้งชาวบ้านในชุมชนและหน่วยงานราชการ

เนื่องจากใกล้ถึงฤดูกาลในการเพาะปลูกของชาวบ้าน ทำให้เกรงว่าไม่ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ในเรื่องการทำไร่หมุนเวียนจะทำให้เกิดการจับกุมชาวบ้านขึ้นอีก ซึ่งทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว รวมถึงการประกันตัวที่มีวงเงินค่อนข้างสูงยิ่งจะมีความยากลำบาก

"เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจ มาขู่ชาวบ้าน มายึดข้าวของไปจนถึงจับกุม ชาวบ้านเองบางคนก็ไม่มั่นใจในสิทธิของตัวเอง มันน่าหดหู่มีชาวบ้านภรรยาไปไร่หายไปจนดึกมารู้อีกทีถูกจับไปไว้โรงพัก มีทั้งคนแก่อายุเกือบ 70 ถูกจับพอหนีก็ถูกทำร้าย"

นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากร ลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าในปีที่ผ่านมาความขัดแย้งในเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา

โดยมีชาวบ้านที่ทำไร่หมุนเวียน พื้นที่ อ.ปางมะผ้า จำนวน 7 คน ถูกฟ้องในข้อหาบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแม่ปาย โดยไม่ได้รับอนุญาต ตอนนี้เรื่องอยู่ที่อัยการ พื้นที่ อ.เมือง มีคดีแห้งหรือการยึดพื้นที่ โดยห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์ แต่ไม่มีการจับกุมชาวบ้าน จำนวน 5 แปลง และ อ.สบเมย มีการยึดพื้นที่จำนวน 3,000 ไร่

"สาเหตุที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา คือนโยบายเริ่มเข้มงวด ผลักให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่มีการดำเนินการจับกุม นอกจากนี้นโยบายแก้ปัญหาความยากจนก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะในส่วนที่ดินทำกิน ชาวบ้านไม่รู้เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีการอธิบาย เวลาชาวบ้านไปขึ้นทะเบียนคนจน พอระบุพื้นที่ทำกิน เจ้าหน้าที่ก็จะลงว่าอยู่ในเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ แล้วกลายเป็นนโยบายที่มาลดพื้นที่ทำกินชาวบ้านแทน" ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนฯ กล่าว

นายพงษ์พิพัฒน์ กล่าวอีกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเดิมๆ เมื่อแก้จุดหนึ่งก็ไปติดอีกจุดหนึ่ง หน่วยงานราชการลงมาคุยกันเมื่อมีปัญหาแล้วก็ยื้อกันไป พื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอนร้อยละประมาณ 70 ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียน และร้อยละ 80 เป็นพื้นที่ในเขตป่า

"เราเรียกร้องให้มีการกันพื้นที่ทำกินออกจากป่าให้ชัดเจนแต่ราชการไม่ยอม เพราะเป็นพื้นที่จำนวนมาก เมื่อไม่ชัดเจนชาวบ้านก็ต้องอยู่อย่างหวาดระแวง เราอยู่กับป่ามาตั้งแต่ปู่ย่า ตายาย นานแค่ไหนไม่รู้ เราเข้าใจวิถีป่า รักษาป่าเพราะมันมีเป็นทั้งความเชื่อและวิถีชีวิตของพวกเรา"
............................................................

เงินรางวัลกว่าสองแสนบาทที่ได้รับ ไปจนถึงสื่อมวลชนที่มาติดตามข่าวคราวการได้รับรางวัลในครั้งนี้ อาจเป็นเพียงใบเบิกทางในการสื่อสารอันหนึ่งเท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เป็นวิถีที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

ขณะที่เสียงสะท้อนจากหน่วยงานราชการที่มาร่วมงานในวันนี้กล่าวย้ำว่าจะไม่มีการจับกุมชาวบ้านหากไม่มีการบุกรุกพื้นที่แปลงใหม่ ยังตอกย้ำภาพความไม่เข้าใจลึกๆว่าวิถีการใช้ผืนดินแปลงเดียวยังเป็นคำตอบเดิม และการหมุนเวียนตามวิถีไร่หมุนเวียนของชาวบ้านก็ยังคงถูกจับจ้องต่อไปตราบใดที่ชาวบ้านยังหมุนเวียนแปลงเพาะปลูก ซึ่งคือการไม่ยอมรับในระบบไร่หมุนเวียน

...พ่อเฒ่าประกอบพิธีเลี้ยงผีป่า ท่ามกลางวงล้อมของผู้คนที่ยังยึดมั่นในวิถี สายลมเย็นพัดผ่านหุบเขา ขณะที่พวกเราเริ่มแยกย้ายนำผ้าเหลืองโอบล้อมต้นไม้ ให้เติบใหญ๋คงอยู่คู่วิถีอันงดงาม

"ตะเกเลอะเปอะโหม่โอ่ดิ" ผืนดินยัง แม่อยู่กับเรา
"ตะเกเลอะเปอะป่าโอ่ดอ" ผืนดินยัง พ่ออยู่กับเรา
"เก่อต่อเอะ เปอะขื่ออะคลี" รักษาผืนดินไว้ เก็บเผือก
"เก่อตอเอะ เปอะแหน่วยอะคลี" รักษาผืนดินไว้เก็บมัน
"เก่อตอเม แบเทาะเชอซิ" รักษาผืนดินไว้ ลงเมล็ดพันธุ์ให้ครบสามสิบอย่าง
"ตะขิหน่าเกอเบอเตอะซิ" เวลาหิว เวลาอดอยาก สิ่งเหล่านี้ประทังชีวิต

เรามิอาจละทิ้งการทำไร่หมุนเวียน
ขวัญของเรา "ปกาเกอะญอ" อยู่ที่ไร่
ดังที่คนเฒ่าคนแก่บอกแก่เราว่า
"หน่อแวโถ่บีข่าอะโพ บือพอโอะ เก๊าะอะโจ"
...เธอคือลูกหลานของนกขวัญข้าว
เธอจึงมียุ้งข้าวอยู่ทุกขุนเขา...

บททา ลำนำของชาวปกาเกอะญอที่สั่งสอนให้ลูกหลานสืบทอดการทำไร่ที่มีความหลากหลายของพืชอาหารให้ครบสามสิบอย่าง เพราะอาหารเหล่านี้จะเลี้ยงชีวิตลูกหลานปกาเกอะญอได้อย่างไม่อดอยาก...ศรัทธาแห่งวิถี ที่ไม่สิ้นสูญ "ถ้าเราทำไร่ไม่ได้...ก็จะไม่เหลือความเป็นปกากะญอ"

------------------------------------
ข้อมูลประกอบ เอกสารเผยแพร่เวทีเสวนา การจัดการ ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า โดยองค์กรชุมชนลุ่มน้ำสาละวินและสาขาในประเทศไทย วันที่ 25-26 ม.ค.48

จันลอง ฤดีกาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท