ธรรมรัฐVSอธรรมรัฐ

ปาฐกถาในงานแถลงผลการวิจัยและไต่สวนสาธารณะ เรื่อง "การบริหารกิจการบ้านเมือง และสังคมที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน กรณีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่" เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2548 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- - - - - - - - -

เราคุยกันวันนี้ถึง "โครงการขนาดใหญ่" จริง ๆ มันคืออะไร ถ้าสรุปถึงหัวใจแล้ว โครงการขนาดใหญ่ทั้งหลายไม่ว่าจะทำโดยรัฐหรือเอกชนก็ตาม คือ การเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร เอาทรัพยากรที่คนกลุ่มหนึ่งใช้ในลักษณะเอาไปใช้ในลักษณะหนึ่ง

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การสร้างเขื่อนที่ปากมูล เอาทรัพยากรแม่น้ำมูล ซึ่งคนเคยใช้ในการจัดปลา ในการทำประมงเลี้ยงชีพ เอาเขื่อนไปกั้นมันเสียเพื่อเอามาผลิตไฟฟ้า โดยอ้างว่าจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่อีสานตอนใต้

เราต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นในทุกสังคมในโลก เราไม่สามารถจะใช้ทรัพยากรเหมือนเก่าตลอดไปได้

แต่ว่าทรัพยากร เวลาเราเปลี่ยนการใช้ ไม่ใช่แปลว่าเราเปลี่ยนตัวทรัพยากรเฉยๆ ทรัพยากรทุกอย่างมันมีคนบางกลุ่มใช้มันอยู่ในอีกลักษณะหนึ่งตลอดเวลา ฉะนั้น ทุกครั้งที่เปลี่ยนการใช้ทรัพยากรจึงมีคนที่สูญเสียมันไป เข้าไม่ถึงบ้าง ใช้แบบเดิมไม่ได้บ้าง

เราก็อาจจะอ้างได้ว่าต้องการทำทั้งหมดเหล่านี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่คำนวณลำบากมากว่าอะไรคือ ประโยชน์ส่วนรวมกันแน่ เนื่องจากเหตุผลที่ว่าหลายอย่างด้วยกันที่ประชาชนใช้ทรัพยากรอยู่มันไม่สามารถคำนวณมูลค่าในทางเศรษฐกิจได้ เป็นต้นว่า ความมั่นคงทางด้านอาหารไม่สามารถคำนวณได้ หรือไม่อยากคำนวณก็แล้วแต่

หรือบางอย่างก็ตั้งใจเลยในการที่จะไม่ดึงเอามูลค่าที่เกิดขึ้นจากการผลิต หรือการใช้ทรัพยากรลักษณะนั้นเขามาสู่การคำนวณของสภาพัฒน์ฯ หรือของนักวางแผนเศรษฐกิจทั้งหลาย เช่น เศรษฐกิจภาคที่ไม่เป็นทางการของไทยโดยส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกดึงเข้าไปใช้ในการคำนวณตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศเลย และการใช้ทรัพยากรจำนวนมากของประชาชนที่เคยใช้กันมา มักจะใช้อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ

หรือแม้แต่กรณีที่มันเป็นตัวผลประโยชน์ส่วนรวมเองก็ตามแต่ ระบบในประเทศไทยมันไม่มีระบบภาษี คือ เวลาเราพูดถึงประโยชน์ส่วนรวม แล้วเราไม่พูดถึงระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม มันเป็นการขัดกันในตัว เพราะเมื่อไรที่เราพูดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเราต้องคิดถึงเรื่องของการดึงเอาผลประโยชน์เหล่านั้นกลับคืนมา กระจายใหม่ให้มันเป็นธรรมด้วย

ถ้าเรามาดูระบบภาษี เราจะพบว่าของประเทศไทยแทบจะไม่ได้แบ่งเอากำไรที่ได้จากการเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรมากระจายให้ถึงมือคนที่ต้องสูญเสียทรัพยากรเหล่านั้นไป ตัวอย่างในปัจจุบันที่พูดถึงกันอยู่มากๆ ก็คือ เอฟทีเอ

เอฟทีเอ มันก็มีส่วนที่ดีไม่มีปัญหา แต่คนที่สูญเสียจากการทำเอฟทีเอ เช่นกับจีน คนที่ปลูกหอม ปลูกกระเทียมในภาคเหนือเป็นตัวอย่างชัดเจน

ถามว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการทำเอฟทีเอ ต้องจ่ายอะไรบ้างเพื่อให้รัฐสามารถเอาเงินมาช่วยประคับประคองคนที่ปลูกหอมปลูกกระเทียมให้สามารถค่อยๆ ปรับตัวเข้าไปสู่ระบบใหม่ได้ คำตอบคือไม่มี

นี่ไม่ได้โทษตัวรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่โดยโครงสร้างระบบภาษีของเราทั้งหมดมันไม่มีเลย หรือที่ประสบตลอดมา ได้บ้างขาดทุนบ้างก็แล้วแต่เหมือนซื้อล็อตเตอรี่ก็คือ ถนนตัดผ่านเข้ามาแล้ว บางคนสูญเสียที่ดิน ส่วนเรารวยขึ้นจากการที่ที่ดินของเราจากที่ไม่มีค่าก็มีราคาเพราะถนนตัดผ่าน ถามว่าเราต้องเสียภาษีที่ดิน หรือภาษีอื่นๆ เพิ่มขึ้นไหมจากการที่รัฐไปริบที่ดินคนอื่นมาสร้างถนน คำตอบคือไม่ต้อง อย่างนี้คือความไม่เป็นธรรม ซึ่งถ้าเรามองแง่นี้ เราจะพบเยอะแยะไปหมด

จริงๆ ถ้าคุณจะเคร่งครัดกับการทำความสะอาดโรงไฟฟ้าที่แม่เมาะ เปลี่ยนพลังงาน จะกรองควันบ้าบอต่างๆ นานา พวกเราแต่ละคนเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นยูนิตหนึ่งไม่ถึงสตางค์เพื่อจะไปทำแค่นั้น จะช่วยให้คนแม่เมาะหายใจอากาศบริสุทธิ์ได้ พวกเราเสียเงินนิดเดียวเขายังไม่เก็บเลย เราต้องคิดถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟมาก เยอะแยะไปหมด แล้วเอาชีวิตของคนแม่เมาะมาสังเวยให้กับการพัฒนาประเทศ

ตัวระบบภาษีเรามันไม่เคยเป็นธรรมต่อการเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรเลย

และในระยะนี้ของสังคมไทยกำลังเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากรมากขึ้น ที่จริงเราก็เปลี่ยนมากขึ้นมาตั้งแต่ 2504 เป็นต้นมา ถึงช่วงนี้จะเพิ่มในหลากหลายมิติ

ในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้น่าเสียดายในเชิงการเมือง เพราะว่าไม่ว่าเรามีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ก็แล้วแต่ อาจจะพูดได้ว่าไม่มีใครกำกับการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากร ซึ่งจะเกิดเข้มข้นขึ้นในช่วงนี้ ไม่มีอำนาจอะไรจะเข้าไปกำกับเลย

ในแง่นี้ สิ่งที่เรียกว่าคอรัปชั่นเชิงนโยบายที่จริงทำมาแล้วในประเทศไทย แต่ว่ามันไม่เจอแบบที่เอารัฐวิสาหกิจไปขายแล้วให้พรรคพวกซื้อหุ้น ไม่ใช่ลักษณะแบบนั้น แต่มันเป็นการคอรัปชั่นในตัวระบบ คือระบบในการเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรแต่ละครั้ง เราไม่ได้สร้างกลไกทางกฎหมาย ทางสังคม ทางการเมือง ในการที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม ความระแวดระวัง ใครเสียคนนั้นต้องได้รับการชดเชย ซึ่งไม่ได้หมายถึงเงินอย่างเดียว และคนที่ได้ก็จะต้องจ่ายบ้าง

และในช่วงนี้เลยทำให้เราเรียกร้องสิ่งที่เรียกว่า ธรรมรัฐ มากขึ้น ซึ่งก็จะมาถึงสิ่งที่เขาชวนให้มาคุยด้วยวันนี้

ธรรมรัฐ คืออะไร เราจะไปเอาของฝรั่งมาสักเท่าไรก็แล้วแต่ แต่หัวใจสำคัญของธรรมรัฐ อย่างที่ท่านอาจารย์เสน่ห์ เคยพูดเอาไว้แล้วในการประชุมแบบนี้เหมือนกัน ท่านพูดว่าเกณฑ์การพิจารณาว่าอะไรคือธรรมรัฐ ไม่ต้องไปเปิดดูหลักการของสหประชาชาติเขียนมายืดยาว มันมีง่ายๆ อยู่ในรัฐธรรมนูญไทย และท่านเน้น 3 อย่างด้วยกัน ซึ่งมันปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญขณะนี้ คือ

เมื่อไรพูดถึงธรรมรัฐ เราต้องคิดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อไรเราพูดถึงธรรมรัฐเราต้องพูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อไรเราพูดถึงธรรมรัฐเราพูดถึงการตรวจสอบ อำนาจที่เราสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ จะตรวจสอบโดยตรงหรือประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบ อะไรก็ตามแต่ ต้องมีกลไกที่สามารถตรวจสอบได้ และเราเข้าไปมีส่วนร่วมได้

สิ่งสำคัญที่สุด รากฐานของมัน ถ้าจะพูดถึงธรรมรัฐแล้วไม่พูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้

เมื่อตอนที่ตำรวจตีหัวประชาชน วันที่ 20 ธันวาคมที่หาดใหญ่ นี่เรื่องใหญ่มากๆ และมันน่าเศร้าที่สังคมไทยไม่กระดุกกระดิกอะไรเลย เพราะว่านั่นคือทั้งหมดที่เรียกว่า ธรรมรัฐ ถ้าคุณปล่อยให้ประชาชนที่ลุกขึ้นมาอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมถูกตีหัวได้ง่ายๆ แบบนั้น เหม็นขี้ฟันที่จะพูดถึงธรรมรัฐ ไม่มีประโยชน์

ถามว่ามันเป็นประเพณีการบริหารบ้านเมืองของไทยหรือเปล่า ท้าให้ว่าสมมติว่าจารึกหลักที่1 เป็นจารึกที่ไม่ปลอมมันก็ไม่ใช่ ไล่ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ไทยจะพบว่ามันไม่ใช่ประเพณีการปกครองของไทย จริงๆ อยากจะลามปามไปถึงไม่ใช่ประเพณีการปกครองของอเมริกา อังกฤษ รัสเซีย ไม่ใช่ทั้งสิ้น

มันเป็นหลักการหรือหลักความคิดในประชาธิปไตยสมัยใหม่ ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่อุดมการณ์ที่หยุดนิ่ง มันมีการพัฒนามาตลอดเวลา และหลักการเรื่องธรรมรัฐไม่ใช่สหประชาชาติมานั่งโพนทะนาให้ประเทศโลกที่ 3 เท่านั้น หันไปโฆษณาในประเทศอเมริกาในเวลานี้บ้าง ทุกประเทศจะต้องพัฒนาหลักการประชาธิปไตยที่มันพัฒนาตัวเอง เปลี่ยนแปลงตัวเองโดยตลอดเวลา

ฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการที่อยากจะมีธรรมรัฐในบ้านเมือง

ผมจึงไม่เชื่อว่าเราจะสามารถทำให้เกิดธรรมรัฐได้จากการเรียกร้องจากรัฐบาล หรือใครก็แล้วแต่ แม้แต่รัฐธรรมนูญซึ่งเขียนหลักการเอาไว้ชัดเจน สร้างกลไกอย่างชันเจนในทางการเมือง มันยังถูกทำลายให้เป็นหมัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่น่าเศร้ามาก มันมีชีวิตอยู่อย่างสั้นมากๆ ภายในเวลาไม่นานวิญญาณของมัน เจตนารมณ์ของมันก็ถูกพรากออกไปหมด ทีละเล็กทีละน้อย ขอประทานโทษ จากหลายรัฐบาลด้วยกัน ไม่ใช่รัฐบาลเดียว

มันไม่ง่ายที่ชนชั้นปกครองของไทยจะปรับตัวเองเข้ากับคติประชาธิปไตยแบบใหม่เช่นนี้ได้ เพราะมันมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ไม่ช่วยทำให้คติประชาธิปไตยแบบใหม่ หรือที่เรียกว่าธรรมรัฐ เกิดขึ้นได้ในสังคม จะพูดถึงเพียง 2-3 อย่าง เป็นต้นว่า

การเมืองของไทย ที่เราเรียกว่า การเมืองการเมือง โดยเฉพาะในระบบที่เป็นทางการ กระจุกตัวอยู่ในคนจำนวนน้อยมากๆ ถามว่าประชาชนทั้งประเทศเกี่ยวกับการเมืองอย่างไร เกี่ยวข้อง 4 ปีครั้งหนึ่ง ถูกเขาเกณฑ์ไปลงบัตรในการเลือกตั้ง และที่เหลือเราไม่เกี่ยวเลย พรรคการเมืองทุกพรรคในเวลานี้ ไม่ว่าจะมีสมาชิกกี่สิบล้านคนก็แล้วแต่ จริงๆ แล้วไม่ได้วางนโยบาย ทำอะไรซักอย่างที่สัมพันธ์กันกับสมาชิกของตนเอง พูดง่ายๆ ก็คือ คุณไม่มีพรรคการเมืองจริงๆ ที่สามารถนำเอาความต้องการของประชาชนมาแปรสภาพเป็นนโยบาย เพราะไม่ได้สัมพันธ์กับประชาชนอย่างจริงจังเท่าไรนัก

ฉะนั้น การถ่วงดุลเชิงนโยบายจึงออกมาในรูปการทะเลาะกันของนักการเมือง ที่เราเห็นแล้วเรารู้สึกเบื่อ รำคาญต่างๆ ถ้าไม่ทำเช่นนี้แล้วจะทำอย่างไร ในเมื่อมันเป็นเรื่องของแกนเล็กๆ แกนหนึ่ง และพวกเราที่ดูกันอยู่ข้างล่างก็ดูกันเหมือนปาหี่ สนุกดี แต่ไม่มีผลอะไร เพราะการเมืองของเรามันไม่มีฐานอยู่ที่ประชาชน ระบบตรวจสอบที่อ่อนแอจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา

สื่อในประเทศไทย อยากจะพูดเรื่องนี้ต่อหน้าสื่อเลย ปัจจุบันนี้ถูกควบคุมทั้งจากรัฐและจากทุนอย่างหนาแน่น มากขึ้นๆ เป็นลำดับ และคุณภาพของตัวสื่อเองก็แย่ ถามว่าคุณภาพสื่อเองถ้าไม่ถูกควบคุมดีไหม ก็ไม่ค่อยดีเท่าไร ตัวอย่าง สื่อเกือบจะไม่สนใจในการเสนอข่าวเชิงเจาะลึกสักเท่าไร ทุกเรื่องจะกลายเป็นเรื่องที่วูบวาบ เป็นข่าวชั่วครั้งชั่วคราว

สื่อไม่มีดุลยภาพของการเสนอเรื่องราวของคนหลากหลายกลุ่ม เพราะว่าคนที่ซื้อสื่อ แม้แต่สื่อฟรีๆ เช่นโทรทัศน์ก็คือคนชั้นกลาง ไม่ใช่คนจนไม่ดูโทรทัศน์ แต่ดูไปแล้วก็เท่านั้น ไม่มีเงินซื้ออย่างอื่นมากไปกว่าแฟ้บ สื่อจึงมุ่งไปที่คนชั้นกลาง และเสนอข่าวเหมือนกับสินค้า เบื่อแล้วก็มีข่าวใหม่

คนที่เคลื่อนไหวไม่ว่าเหมืองโพรแทช หรือท่อก๊าซจะนะ จะพบได้เลยว่าสิ่งที่เป็นประเด็นหรือจุดยืนของพวกเขาทั้งหลายไม่มีเสนออยู่ในสื่อ ไม่มีใครสนใจทำเรื่องราวชีวิตชาวประมงที่แท้จริงที่จะนะ วงจรชีวิตของชาวนาในอุดร แม้แต่ที่นักวิชาการพูดถึงว่าการขุดเหมืองลงไป 100 เมตร จะทำให้เกิดการยุบตัวของแผ่นดินถึง 70 ซม. ถ้าจำไม่ผิด ข่าวนี้น้อยสื่อมากที่เสนอ คุณภาพสื่อเองก็แย่มากในการเป็นเครื่องมือของสังคมประชาธิปไตย

สภาพการเมืองแบบนี้ จะทำให้นโยบายของรัฐเอียงเข้าหาภาคเมือง และเศรษฐกิจสมัยใหม่ เศรษฐกิจที่เป็นทางการอยู่ตลอดเวลา เป็นนโยบายที่ลำเอียง แต่เป็นอริ ไม่สนใจ บางครั้งรังแกด้วยซ้ำไปกับภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการทั้งหลาย

ปัจจุบันยิ่งแย่ขึ้นไปอีก เพราะมีกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นแรงกดดันที่มาจากบริษัทข้ามชาติรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสามารถเข้าไปกุมองค์กรระหว่างประเทศ ที่จะผลักดันกดดันให้รัฐบาลไม่มีทางที่จะหันเข้าไปหาสิ่งที่เป็นเศรษฐกิจภาคที่ไม่เป็นทางการได้

ทุกรัฐบาลต้องยกย่องเศรษฐกิจพอเพียงทั้งนั้น เพราะเป็นพระราชดำรัส แต่ท้าว่าไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำจริง เพราะมันขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัทธุรกิจข้ามชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดเงิน เรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" จึงคล้ายคำว่า "สวัสดี" พูดกันไพเราะ แต่มันทำไม่ได้

ยิ่งสังคมที่คนจำนวนมากอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง แต่ว่าคนเหล่านี้ไม่มีกำลังทางการเมือง ก็จะขาดเจตจำนงทางการเมืองที่แข็งแกร่งเพียงพอ อันนี้ไม่โทษนักการเมือง ถ้าผมเป็นนักการเมืองผมก็แหย เพราะว่าหันไปดูข้างล่างก็ไม่มีใครมาหนุนเราเลยซักคน

ฉะนั้น ในระบบเช่นนี้ก็เกิดคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นในประเทศไทย

แต่คนชั้นกลางไทย เป็นคนชั้นกลางที่ค่อนข้างประหลาด เป็นคนชั้นกลางที่เกิดและเติบโต ในช่วงครึ่งแรกของชีวิตเขาเกิดขึ้นภายใต้เผด็จการทหาร คนพวกนี้คือคนที่ได้ คิดถึงคนที่อยู่ก้นตรอกในสมัยสฤษดิ์ ถนอม ประพาส แล้วก็ส่งลูกหลานเรียนหนังสือ แล้ววันหนึ่งลูกก็กลายเป็นโฟว์แมนของบริษัทที่มาผลิตรถยนต์ในประเทศไทย รายได้ก็ไปที่ก้นตรอกมากขึ้น เขาได้ตลอดมา

เขาไต่เต้าทางสังคม ไต่เต้าทางเศรษฐกิจ โดยไม่มีปากเสียงสักแอะ ดังนั้น วัฒนธรรมของคนชั้นกลางไทยคือวัฒนธรรมของการจำยอม ก็เพราะเขาได้อยู่ตลอดเวลา และทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ ถามว่าทำอะไรขัดกับสฤษดิ์บ้างไหม ไม่หรอก คนชั้นกลางคือเทวดาของการเมืองไทย จะทำอะไรก็แล้วแต่ต้องรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นกลางไว้ให้มากที่สุด ต้องให้คำสัญญาว่าชีวิตเขาจะดี รัฐบาลที่ในที่สุดถูกบีบจนลาออกก็คือ รัฐบาลชวลิต เพราะไม่สามารถบอกคนก้นตรอกได้ว่าชีวิตจะดีขึ้น แต่ไม่มีรัฐบาลไหนแคร์พอที่จะบอกชาวนาว่าชีวิตเอ็งจะดีขึ้น

สำหรับเมืองไทยคนชั้นกลางคือคนที่เคยชินกับอำนาจ ไม่ใช่แนวหน้าในการต่อสู้เหมือนประวัติศาสตร์ตะวันตก และเป็นพวกที่อ่อนแอมากๆ เพราะตลอดชีวิตของเขาพึ่งรัฐสูงมาก กรณีขยะราชาเทวะ ราชาเทวะเป็นหมู่บ้านจัดสรร สู้กันเป็นปีเลย แต่ในเชียงใหม่สู้กันไม่ถึง 6 เดือน เพราะสิ่งที่ชาวบ้านทำทันทีเวลาเอาขยะไปทิ้งคือ กูปิดถนนไม่ให้มึงเข้า

เมื่อเปรียบกับโลกตะวันตกคนชั้นกลางเขามีความเข้มแข็งกว่ามาก และคุณแทบจะไม่เคยเห็นการจัดองค์กรของชีวิตชนชั้นกลางไทยเลย แม้แต่รวมตัวกันตั้งโต๊ะบิลเลียดมันยังเจ๊งเลย อีกทั้งยังมีข่าวสารข้อมูลน้อย และสื่อเราเองคุณภาพก็ไม่ดีเท่าไร ไม่ได้เป็นแนวหน้า หัวหอกของการบุกเบิกให้เกิดธรรมรัฐขึ้นในเมืองไทยสักเท่าไร

คนชั้นกลางทำได้เฉพาะที่ถูกปลุกเร้าในบางสถานการณ์ ล้มรัฐบาลได้ 2-3 รัฐบาล แต่ล้มแล้วทำอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ล้มแล้วกลับบ้านนอน แล้วมันก็เหมือนเก่า และนำไปสู่การทุจริตมากในรัฐบาลต่างๆ เพราะกลุ่มที่น่าจะผลักดันธรรมรัฐคือกลุ่มที่อ่อนแอที่สุด

การเมืองไทยมันลำบากที่คุณจะไม่ทุจริต ไม่ว่าคุณจะมีอำนาจทางการเมืองมากแค่ไหน ได้รับการเลือกตั้งมากแค่ไหน หันไปดูพรรคพวกตัวเองก็จะพบว่าไม่รู้จะใครต่อใครร้อยแปด คนซึ่งมีอะไรซึ่งไม่ขอเรียกว่ามัวหมอง แต่เอาเป็นว่าเมื่อเช้ายังไม่ได้ทายากันขี้เต่าก็แล้วกัน เป็นคำถามติดค้างมากมายทั้งโรงบำบัดน้ำเสีย ค่าโง่ทางด่วน คนเหล่านี้ก็ไม่มีพรรคการเมืองใดรังเกียจ เพราะเขามีเงินพอที่จะอุดหนุน มันจึงยากมากในระบบการเมืองแบบนี้

ผมจึงคิดว่า เวลาที่เรารังเกียจคอรัปชั่น อย่ารอว่าเมื่อไรคนดีจะลงมาสู่การเมือง ให้ดีขนาดไหนก็แล้วแต่ยากมากที่จะรักษาความดีเอาไว้ได้ หนีไม่พ้นที่ต้องไปจับมือกับคนสกปรกมากๆ

ถ้าเราคิดถึงการสร้างการเมืองที่สะอาด ต้องคิดว่าเราในฐานะประชาชนทำอะไรได้บ้าง อยากจะสร้างธรรมรัฐ ถามตัวเองว่าเราทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ถามนักการเมือง เพราะผมไม่เชื่อว่าระบบการเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้จะแก้ปัญหาได้ คุณต้องทำเอง คุณต้องเล่นเอง ต้องเล่นการเมืองเอง อย่ารอให้คนอื่นไปเล่นการเมืองแทนคุณ

และเมื่อไรที่คุณทำได้สำเร็จ เมื่อนั้นนักการเมืองและระบบการเมืองจะดีขึ้น

เรื่องธรรมรัฐ ต้องเริ่มจากการมีส่วนร่วม แต่ไม่ควรจำกัดเพียงประชาพิจารณ์ ไม่ได้แปลว่ามันไม่สำคัญ แต่ไม่ใช่แค่นั้น กระบวนการตรวจสอบโดยภาคสังคมกระทำได้มากกว่านั้น มีส่วนร่วมได้ในทุกระดับ

โดยเฉพาะในช่วงนี้ของประเทศไทย เนื่องจากความเฟะฟอนของระบบการเมืองที่ผมพูดถึงเมื่อกี้ พูดตรงไปตรงมา การมีส่วนร่วมหมายถึงการเคลื่อนไหวโดยตรงของประชาชน เพราะเหตุผล 2 อย่าง

1.ประชาชนไม่มีพื้นที่ให้เคลื่อนไหวในระดับสังคมชาติ เพราะสื่อก็ไม่สนใจประชาชน

2.ต้องสร้างพื้นที่สำหรับการทำการเคลื่อนไหวด้วย ซึ่งถ้าทำสำเร็จต้องใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายมากกว่าการล้อมทำเนียบ ซึ่งต้องใช้ในบางครั้ง ยุทธวิธีเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องคิดเอาเองว่าต้องใช้อะไรบ้าง ทำยังไงจะเปิดพื้นที่ของตัวเอง ให้สื่อลงไปทำข่าวให้คนชั้นกลางที่ทั้งงี่เง่าทั้งอ่อนแอได้รู้บ้าง

โดยวิธีนี้เท่านั้นถึงจะมีส่วนร่วมอย่างค่อนข้างเสมอหน้า ทั้งหมดเหล่านี้พูดโดยย้ำสันติวิธี หลักการของสันติวิธีดียังไงจะไม่พูดถึง มันดีที่สุดเพราะเป็นการเคลื่อนไหวตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มันมีช่องทางในทางกฎหมายที่เราต้องดึงมาใช้ให้เต็มที่ แต่ต้องระวังการตีความสันติวิธีแบบแคบแค่ว่าการยื่นจดหมายให้นายอำเภอหรือนั่งโต๊ะประชุม ห้ามเคลื่อนไหวอย่างอื่น อันนี้ไม่ใช่

สันติวิธีของผมคือทำทุกอย่าที่รัฐธรรมนูญบอกให้ทำได้ ตีความรัฐธรรมนูญให้เข้าข้างตัวเอง อย่าไปเชื่อนักกฎหมาย เช่น สิ่งใดที่รัฐธรรมนูญตราไว้ว่าเป็นสิทธิ สิทธินั้นย่อมเกิดแล้ว การไม่มีกฎหมายลูก คำตอบคือ เรื่องของมึง ไม่ใช่หน้าที่ของเราต้องเขียนกฎหมายลูก ต้องระวังกลุ่มคนที่คุณพิภพ ธงไชย เรียกว่า หากินกับสันติวิธี

อีกทั้งการเปลี่ยนวิธีของรัฐจากการตีหัวมาเกลี่ยกล่อมชาวบ้านให้ยอมทำตามที่ต้องการแบบเดิมของรัฐ อันนี้ก็ไม่ใช่สันติวิธี ที่ไหนก็ตามที่อำนาจไม่เท่ากัน ถึงจะใช้วิธีเกลี้ยกล่อมก็ตาม ไม่ใช่สันติวิธีแน่นอน เพราะการบังคับขืนใจผู้อื่นก็เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง

ขณะเดียวกันผมก็ไม่ปฏิเสธว่าการกระทำเหล่านี้อาจโดนตีหัวได้ง่ายๆ เพราะอธรรมรัฐย่อมไม่ยอม การสร้างม็อบมาตีม็อบเขาทำกันเป็นเรื่องปกติ เป็นยุทธวิธีที่ใช้ไปนานๆ จะมีปัญหากับผู้ใช้เอง แต่ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ต่อไป ลุกขึ้นมาสร้างธรรมรัฐทั่วประเทศ ก็จะนำไปสู่การตรวจสอบโดยตรงของประชาชนมากขึ้น เพราะถ้าไม่มีแรงบีบจากประชาชนรัฐบาลก็จะไม่ตรวจสอบตัวเองอย่างแน่นอน ตัวอย่างในหนังสือของรสนา โตสิตระกูล ที่ต่อสู้เรื่องการทุจริตยา วิ่งเต้นให้เรื่องนี้ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถหาลายเซ็นส.ส.ฝ่ายค้านได้ครบจำนวน คำตอบที่ได้คือ "เฮ้ย เขาไม่เล่นกันแรงแบบนี้" เพราะเรื่องนี้ถึงติดคุก นี่ขนาดเป็นศัตรูกัน

ประเด็นสุดท้าย สิทธิเสรีภาพมีความสำคัญมาก เราจะเคลื่อนไหวไม่ได้ หากสิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการประกัน ซึ่งรัฐไม่มีวันจะประกันปกป้อง พวกเรากันเองต้องช่วยกันประกันปกป้องสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ เวลาคนที่จะนะถูกตีหัวที่หาดใหญ่ คนทั้งประเทศไทยที่เคลื่อนไหวในเรื่องเหล่านี้ต้องลุกขึ้นมาช่วยให้เต็มที่ เพราะมันตีหัวคนทั้งประเทศไทย เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องรักษากติกานี้ไว้ให้ได้

ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท