Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ-27 ก.พ.48 บทสรุปงานวิจัย 2 โครงการใหญ่ "เหมืองโพแทช-ท่อก๊าซจะนะ" ฟันธงไม่มีธรรมรัฐ

"ผลการวิจัยพบว่า โครงการพัฒนาขนาดใหญ่กลับมีนัยยะแอบแฝงในเชิงผลประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ของชาติ การทำสัญญาในโครงการเหมืองโพแทช เร่งให้ประโยชน์ต่อกลุ่มทุนข้ามชาติอย่างรีบร้อนเร่งเวลา ผ่าเงื่อนไขที่เป็นผลประโยชน์ของชาติไทยและประชาชน "มล.วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยฯ สถาบันไทยคดีศึกษา

การแถลงผลการวิจัยและไต่สวนสาธารณะ เรื่อง การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนกรณีโครงการพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลงานและวิธีการวิจัย ได้ทำหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบการกระทำทางการปกครองของรัฐ ซึ่งกระทบสิทธิชุมชนและละเมิดรัฐธรรมนูญในพื้นที่กรณีศึกษา โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย จ.สงขลาและโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี

โดยผลฯ มุ่งจะตอบคำถามที่ว่า การพยายามผลักดันโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ว่ามีการบริหารจัดการที่ดีและมีธรรมรัฐหรือไม่ ซึ่งจะพิจารณาใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล

มล.วัลย์วิภา กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทำร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งขั้นตอน ณ วันนี้ ถือว่า อยู่ในขั้นการตรวจสอบโดยชาวบ้าน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานวิจัยกับชาวบ้านกรณีโครงการเหมืองโพแทช เห็นว่า กระบวน การเกิดโครงการเหมืองโพแทช จ.อุดรธานีซึ่งเกิดขึ้นมาในปี 2526 ไม่ได้สร้างธรรมาภิบาล โดย
เฉพาะขั้นตอนการทำสัญญาทำเหมืองฯ ไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทั้งยังปกปิดและบิดเบือนข้อมูลมาโดยตลอด

เขากล่าวว่า เหมืองโพแทช อุดรฯ ถือเป็นกรณีพิเศษเพราะพื้นที่ทำเหมืองอยู่ในเขตชุมชน หากบริษัทฯ ต้องการครอบครองจะต้องซื้อที่ดินกว่า 70,000 ไร่ จะต้องใช้เงินมหาศาล ดังนั้นแทนที่จะใช้เงินก็ใช้วิธีให้รัฐแก้ไขกฎหมายแร่แทน โดยจำกัดสิทธิเจ้าของที่ดินจากผิวดินลงไปใต้ดินเพียง 100 เมตร แต่ต่ำกว่านั้นถือเป็นสิทธิของรัฐบาลที่จะนำไปให้สัมปทานได้

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ เนื่องจากบริษัทฯ จำเป็นต้องเร่งรัดโครงการเพื่อขอรับบัตรสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ในช่วงปี 2542 ทำให้มีการเร่งทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)แบบผิดขั้นตอน ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เพียงอาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจ แต่ยังไม่ได้ประทานบัตร ท้ายที่สุดรัฐก็ผ่านอีไอเอให้ โดยอ้างว่า สามารถทำได้

"มีการพิจารณาอีไอเอ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการสร้างเขตเหมืองแร่ทั้งบนดินและใต้ดินที่ชัดเจน พิจารณาไปได้อย่างไร...ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก"

นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานวิจัยกับชาวบ้านกรณีโครงการท่อก๊าซฯ จะนะ กล่าวว่า
จากการศึกษาวิจัยโครงการท่อก๊าซฯ พบว่า เจ้าของโครงการฯ พยายามปกปิดข้อมูล และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะส่วนที่คัดค้านโครงการฯ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น กระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้ ไม่ว่า จะเป็นเรื่องการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ เป็นเพียงการสร้างภาพของรัฐบาลเท่านั้น

หลังจากนั้นรัฐเริ่มขึ้นบัญชีดำและเริ่มข่มขู่ทั้งการฟ้องศาลและใช้ความรุนแรง รูปธรรมที่ชัดเจนคือ การส่งกำลังตำรวจลงไปในพื้นที่ถึง 5 กองร้อยเพื่อดูแลให้บริษัทฯ สามารถวางท่อฯ ให้เสร็จสิ้น ทั้งๆ ที่ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะ รวมถึงมีการบุกรุกที่ดินวะกัฟ

แม้ว่า ชาวบ้านจะเรียกร้องผ่านมาทางวุฒิสภา และกรรมการสิทธิฯ และมีการหารือเพื่อจัดการปัญหาแต่ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติ

"ถามว่า จะเรียกหาธรรมภิบาลจากใคร ถ้าธรรมาภิบาลคือ การมีส่วนร่วม สิทธิเสรีภาพ และการตรวจสอบ ชาวบ้านที่นั่นมาถึงขั้นการตรวจสอบ แต่รัฐบาลพยายามทำลาย" นายกิตติภพกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net