ดร.สุมธ ตันติเวชกุล ว่าที่นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด ปัจจุบันอายุ 65 ปีเต็ม เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2482 บิดาคือ "อารีย์ ตันติเวชกุล" อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร มารดาคือ "ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล" ต้นเครื่องพระกระยาหารไทยในพระตำหนักจิตลดารโหฐาน

ในวัยเด็กเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย แต่เมื่อถึงระดับชั้นมัธยม ได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ไปเรียนในระดับชั้น High School ที่โรงเรียนของฝรั่งเศสในประเทศเวียดนาม ท่านได้ศึกษาอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 6 ปี จนสถานการณ์ในประเทศเวียดนามเริ่มไม่สงบ จึงได้ย้ายไปเรียนต่อที่ประเทศลาวจนจบระดับอนุปริญญา สาขาปรัชญา

ชีวิตในเวียดนามและลาว นอกจากการศึกษาแล้ว ท่านยังได้เห็นสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดอันเนื่องมาจากการคอร์รัปชั่น, การขายชาติ และการครอบงำทางนโยบายและกำลังทหารจากประเทศอภิมหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่ายในยุคสงครามเย็น

จากนั้นก็ได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ไปเรียนต่อทางด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมองต์ เปลิเอร์ (Mont Pellier) ประเทศฝรั่งเศส จนจบการศึกษาระดับปริญญาเอก เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปี 2512

ภรรยาของท่านคือ "คุณหญิงจินตนา ตันติเวชกุล" (สกุลเดิม "แสงโสมทิพย์" ) เพิ่งเกษียณอายุจากอาจารย์ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ไม่นานนัก

ดร.สุเมธ เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณครั้งแรกที่กองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ในสมัยที่ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ เป็นประธาน โดยเริ่มไต่เต้าจากการเป็นข้าราชการชั้นโท จนมีความก้าวหน้าในราชการโดยลำดับ

บทบาทสำคัญในระยะแรกของการรับราชการที่ทำให้ท่านได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา คือการนำเสนอแนวความคิดใหม่ในการต่อสู้กับภัยจากผู้ก่อการร้าย ด้วยการใช้เครื่องมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเข้าแก้ไขปัญหา เพื่อหลีกเลี่ยงการรบราฆ่าฟันของคนไทยด้วยกัน หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า "การเมืองนำการทหาร"

ทั้งยังได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาลและผู้บังคับบัญชาระดับสูง โดยเฉพาะพล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีโอกาสได้แสดงฝีมือในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของชาติในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤต จนเป็นที่ประจักษ์อย่างโดดเด่น

ครั้นปี 2524 รัฐบาลในยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ก.ป.ร.) ขึ้นเป็นหน่วยงานในสังกัดสภาพัฒน์ฯ ดร.สุเมธได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการคนแรก

ภายหลังจากที่ได้มีการแยกก.ป.ร.ออกมาจากสภาพัฒน์ฯประมาณ 1 ปี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ พร้อมกับยังรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการก.ป.ร.ด้วย น่าจะเป็นนักรัฐศาสตร์คนแรกที่ได้เป็นหมายเลข 1 ของสำนักงานวางแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เคยคัดใช้แต่ผู้นำที่มาจากเหล่านักเศรษฐศาสตร์

ดร.สุเมธเป็นหัวแรงจัดทำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 อันเป็นฉบับแรกที่เริ่มพลิกโฉมยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศจาก "วัตถุ" มาเป็น "คน" จนเสร็จสิ้น แล้วจึงได้กลับไปสวมหมวกเลขาธิการก.ป.ร.เพียงตำแหน่งเดียวดังเดิม จนเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2542

แม้จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการ และกรรมการ ในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง แต่สิ่งที่ท่านถือเป็นเกียรติประวัติที่สำคัญที่สุด คือการที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2531 และยังคงดำรงตำแหน่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน

เรียบเรียงจาก ผู้จัดการออนไลน์ โดย พายัพ วนาสุวรรณ 15 ก.ย. 47

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท