Skip to main content
sharethis

ในที่สุด "องค์กรความร่วมมือผู้ประกอบการรายย่อย แรงงาน และชุมชนที่ประสบภัยคลื่นยักษ์ซึนามิเกาะพีพี" ก็ยกพลตัวแทนมวลสมาชิกหลายสิบคนเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร

กำหนดการตลอดวันที่ 7 มีนาคม 2548 ของบรรดาตัวแทนเหล่านี้ ก็คือ การเดินสายยื่นหนังสือคัดค้านแผนการพัฒนาเกาะพีพีเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับสูง ภายใต้การดำเนินการของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)" หรือ "อพท."

อันเริ่มต้นจากการเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีการจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546

ต่อด้วยการเดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา พร้อมกับเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

ปิดท้าย ด้วยการเดินทางไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

อันเป็นการเดินสายยื่นหนังสือคัดค้าน ภายหลังจากจังหวัดกระบี่ มีหนังสือที่ กบ 0020.2/ว.642 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 ลงนามโดยนายอานนท์ พรหมนารท ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เชิญเจ้าของที่ดินบนเกาะพีพีดอน ร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการฟื้นฟูและจัดระเบียบพื้นที่เกาะพีพี ตามแนวทางขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และกรมโยธาธิการและผังเมือง ในเวลา 10.00 น. วันที่ 10 มีนาคม 2548

ในหนังสือฉบับนี้ ระบุให้เจ้าของที่ดินบนเกาะพีพีดอนที่ได้รับเชิญเข้าประชุมครั้งนี้ จัดเตรียมรายละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางการฟื้นฟู เช่น ราคาที่ดินและทรัพย์สินกรณีที่มีการเวนคืนที่ดิน แนวทางการแลกเปลี่ยนที่ดินกรณีมีความประสงค์ย้ายสถานที่ตั้งการประกอบกิจการ และหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อันตามมาด้วยเสียงกระซิบจากคนวงในรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 มีนาคม 2548 นี้ จะมีการเสนอมาตรการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ 6 จังหวัด ต่อคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดให้เกาะพีพีเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว ภายใต้การบริหารจัดการของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)"

ทำไม พวกเขาเหล่านี้ ถึงต้องลงทุนเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เดินสายยื่นหนังสือคัดค้านการพัฒนาเกาะพีพี ให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว ถึง 3 แหล่ง 3 ที่ด้วยเล่า

หากย้อนรอยถอยหลังกลับไปยังห้องประชุมศาลากลางจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 จะพบว่า เป็นการประชุมครั้งแรก ที่มีแบบแปลนแผนผังการฟื้นฟูเกาะพีพีมาให้เจ้าของที่ดินเกาะพีพีได้ดูเป็นครั้งแรก 2 แบบ

แบบที่ 1 เป็นของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)"

แบบที่ 2 เป็นของ "กรมโยธาธิการและผังเมือง"

แบบแรก จะก่อสร้างรีสอร์ตหรู และสถานบริการนักท่องเที่ยวระดับ 5 ดาว บนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นภูเขาบนเกาะพีพี ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี ภายใต้การบริหารจัดการของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)"

ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ บนที่ราบในพื้นที่ของเอกชน 34 ราย 389.20 ไร่เศษ ด้วยข้ออ้างเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย

คำชี้แจงของ "นายธัญญา หาญพล" รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีเพียงว่า สำหรับชาวบ้านที่ยังประสงค์จะอยู่บนเกาะพีพีต่อ ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จะรับผิดชอบดูแลทั้งหมด ด้วยการอพยพขึ้นไปอยู่บนภูเขา

สำหรับที่ดินเอกชนบนที่ราบนั้น ถึงแม้จะยังไม่ได้ระบุแนวทางการจัดการที่ชัดเจน แต่ก็พอคาดการณ์กันได้ว่า คงหนีไม่พ้นไปจากเวนคืน จัดซื้อ หรือไม่ก็เปิดทางให้ร่วมทุนกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ส่วนแบบที่สองของกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น จัดรูปที่ดินบนพื้นที่ราบใหม่ ด้วยการถอยร่นออกห่างจากชายหาด 20 - 30 เมตร ส่วนที่สูงบนภูเขา จัดให้เป็นพื้นที่หลบภัย

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 บรรดาเจ้าของที่ดินนัดประชุมพิจารณาแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาเกาะพีพีอีกรอบ

ไม่แปลก ที่เจ้าของที่ดิน จะไม่ยอมรับแนวทางของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"

มติที่ประชุมดังกล่าว ถูกนำไปยืนยันต่อ "นายอานนท์ พรหมนารท" ในการประชุมพิจารณาเรื่องผังเมืองเกาะพีพี เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548

ด้วยเหตุนี้ เมื่อทางจังหวัดกระบี่ โดย "นายอานนท์ พรหมนารท" นัดเจ้าของที่ดินมาประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 10 มีนาคม 2548 โดยระบุให้เจ้าของที่ดินเตรียมรายละเอียดเรื่องราคาที่ดินกรณีที่มีการเวนคืน แนวทางการแลกเปลี่ยนที่ดินกรณีมีความประสงค์ย้ายสถานที่ตั้งการประกอบกิจการ

ด้วยเหตุผลที่ระบุชัดเจนว่า เพื่อนำมาประกอบแนวทางการฟื้นฟูและจัดระเบียบเกาะพีพี ของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ซึ่งเจ้าของที่ดินปฏิเสธไปแล้ว และกรมโยธาธิการและผังเมือง

เมื่อนำมาประกอบกับข่าวที่แว่วไปถึงจังหวัดกระบี่ว่า จะมีการนำเสนอแนวทางการฟื้นฟูเกาะพีพี โดย "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548

นี่คือ ที่มาของขบวนแถวชาวเกาะพีพี จำต้องเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร ออกโรงเดินสายคัดค้านแผนยึดเกาะพีพี ในคราวนี้

ศูนย์ข่าวภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net