Skip to main content
sharethis

เมื่อย้อนดูความเคลื่อนไหวด้านพลังงานของบ้านเราที่ผ่านมา ข่าวสารการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ร้อนแรงมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้น กระแสถ่านหินฟีเวอร์ คำบรรยายสรรพคุณของถ่านหินใหม่ ๆ อาทิ "ถ่านหินสะอาด" หรือ "เป็นทางเลือกของพลังงาน" รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่สนับสนุนการใช้ถ่านหินก็ปรากฎตามสื่ออย่างผิดหูผิดตา

ผนวกกับการรับเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมถ่านหินโลกที่ จ.ลำปางในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ของผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของประเทศ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ย่อมเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ถ่านหินจะถูกนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้น หลังจากที่ปล่อยให้กลุ่มก๊าซอย่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ขายก๊าซธรรมชาติ และยึดกุมส่วนแบ่งทางการตลาดของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามาโดยตลอด

ดังนั้น ความเข้าใจที่ว่าไฟฟ้าคืออะไรบางอย่างที่ไหลมาตามสาย เมื่อเราใช้แล้วก็มีค่าบริการเป็นเดือน ๆ ไปนั้นจึงไม่เพียงพอแล้ว เพราะ"พลังงาน"มีความสัมพันธ์กับมิติอื่น ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสุขภาพของคนใกล้เคียงโรงงานไฟฟ้า รวมถึง ผลประโยชน์ของธุรกิจพลังงานที่สามารถผูกขาด และรวมศูนย์ได้! ซึ่งเราในฐานะผู้บริโภคไฟฟ้าไม่อาจมองข้ามได้

เมื่อพลังงานคือเรื่องเดียวกันกับผลประโยชน์ สิ่งที่ตามมาคือ การช่วงชิงนโยบายพลังงาน และโอกาสในการตักตวงกำไรของนักธุรกิจเชื้อเพลิงพลังงานทั้ง 2 ประเภท ถ้าเปรียบเป็นมวยก็กำลังชกกันอย่างดุเดือด แต่ทว่าสังเวียนนี้ตั้งอยู่บนภาระความเสี่ยงของคนไทยทั้งประเทศ ในรูปแบบของค่า FT และค่าชดเชยต่าง ๆ ของความผิดพลาดในการตัดสินใจด้านพลังงาน

ธุรกิจพลังงานถ่านหิน

เครื่องมือที่นักธุรกิจพลังงานพยายามแสวงหา เพื่อไปถึงเป้าหมายของการค้าขายเชื้อเพลิงได้ไวที่สุดก็คือ การเข้าไปยึดกุมแผนการพัฒนาผลิตกำลังผลิตไฟฟ้าหรือเรียกสั้น ๆ ว่า "แผนพีดีพี" นั่นเอง ซึ่งแผนนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ และทิศทางการพัฒนาพลังงานของประเทศเลยทั้งในปัจจุบันและในอนาคตทีเดียว

แผนพีดีพีที่ว่านี้จะกำหนดปริมาณพลังงานที่ต้องการ สัดส่วนของเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าภายในประเทศทั้งหมด และแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตด้วย ส่วนผู้รับผิดชอบจัดทำแผนนี้ก็คือคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งในทางปฏิบัติก็ได้มอบหมายให้ทาง กฟผ. ผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ที่สุดของประเทศเป็นคนคิดคำนวณมาโดยตลอด

ย้อนกลับมาดูสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่า ไทยเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงมาก คิดเป็น 74.4% ของพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด ส่วนถ่านหินอยู่รองลงมาที่ 14% และจากเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ เช่น น้ำ น้ำมัน ฯลฯ อีก11% หรือเมื่อพิจารณาตามแผนพีดีพี 2003 (พ.ศ.2547-2558) ที่ กฟผ.เคยเสนอไว้ในปี 2546 สัดส่วนของการใช้ก๊าซธรรมชาติมาผลิตกระแสไฟฟ้าก็ยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี พ.ศ.2558 จะมีสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติถึง 81% ในขณะที่ถ่านหินลดเหลือแค่ 11%ดังนั้นเราอาจเรียกแผนพีดีพี 2003 ว่าเป็นแผนพีดีพีก๊าซธรรมชาติเลยก็ได้ เพราะทิศทางการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าถูกกำหนดให้พึ่งพิงกับก๊าซธรรมชาติอย่างแยกไม่ออก

สอดคล้องกับความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจด้านพลังงานอย่าง อ.เดชรัต สุขกำเนิด จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ระบุว่า "แผนพีดีพี 2003 นั้นเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มก๊าซธรรมชาติอย่างมาก ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้สามารถทำกำไรได้ถึง 150,000 ล้านบาท เมื่อกำไรจากการค้าขายพลังงานอยู่ในอัตราที่สูง จึงเป็นเหตุผลให้กลุ่มธุรกิจถ่านหินเริ่มเปิดเวทีในการสร้างกระแสถ่านหินขึ้นมา เพราะหากปรับเปลี่ยนรายละเอียดของแผน PDP ได้ ก็ย่อมหมายถึงกำไรที่งอกเงยตามมาเช่นกัน"

ในช่วงปี 2546 เมื่อเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าที่คาดการณ์ตามแผน PDP 2003 สิ่งที่ อ.เดชรัต อธิบาย แจ่มชัดขึ้น เพราะนี่เป็นโอกาสทอง ในการผลักดันให้ถ่านหินกลับมาสู่สังคมอีกครั้งภายใต้ชื่อใหม่ว่า "ถ่านหินสะอาด" และ "เชื้อเพลิงราคาถูก " สอดแทรกเข้ามาแบ่งเค้กก้อนงามจากธุรกิจพลังงาน

กลุ่มถ่านหินจัดแถวรบใหม่ด้วยการเสนอ แผน PDP 2004 (พ.ศ.2547 - 2554) ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณา โดยได้เพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินให้มากขึ้น โดยในปี พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนการผลิตไฟฟ้าของทั้งประเทศจะมีใช้ถ่านหิน 27% ในขณะการใช้ก๊าซธรรมชาติจะลดลงเหลือ 65% ซึ่งแตกต่างจากแผนพีดีพี 2003 อย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าอีก 18 โรงที่จะสร้างใหม่ หลังจากปี พ.ศ.2554 เป็นต้นไปก็หันมาใช้ถ่านหินทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ว่า การพึ่งพาแหล่งเชื้อเพลิงแหล่งเดียวจะทำให้การผลิตพลังงานไม่มั่นคง เพราะราคาของก๊าซนั้นผูกติดอยู่กับราคาน้ำมันโลก ดังนั้น สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวน จึงทำให้ทางเลือกคือการใช้เชื้อเพลิงราคา" ถูก" อย่าง ถ่านหิน ส่วนจะถูกจริงหรือไม่นั้นก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องแลกเปลี่ยนถกเถียงกันต่อไป

วาระซ่อนเร้น

กระแสถ่านหินยังแรงต่อไปไม่หยุด โดยในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนการจัดงานประชุมถ่านหินโลกไม่กี่วัน ผอ.ฝ่ายพัฒนาพลังงานทดแทนของกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานยังออกโรงมาสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินในการผลิตความร้อน ด้วยเหตุผลที่ว่า "ถ่านหินที่สะอาดก็ถือเป็นพลังงานทดแทนอย่างหนึ่งเหมือนกัน" อันเป็นการสนับสนุนการนำถ่านหินมาใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการใช้คำว่า "พลังงานทดแทน" ในลักษณะนี้ถือเป็นนิยามใหม่ของวงการพลังงาน ที่นำมาใช้กับพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไปอย่างถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งแม้เจ้าตัวจะตั้งใจหรือไม่ ก็ได้ทำให้ ถ่านหินดูดีขึ้นมาอีกระดับ

สุดท้ายก็คือ งานประชุมถ่านหินโลก ซึ่งงานนี้เป็นงานระดับชาติของพ่อค้าถ่านหินยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่มาเสนอขายสินค้า และจัดแสดงเทคโนโลยีในการใช้ถ่านหินกัน งานนี้ กฟผ.ก็ออกหน้ารับเป็นเจ้าภาพจัดงานให้เลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นหัวเรือใหญ่อย่างนายกระทรวงพลังงานในฐานะหน่วยงานของรัฐก็ยังให้ความสำคัญถึงขั้นส่งตัวแทนมากล่าวเปิดงานการประชุม ทั้ง ๆ ที่เป็นงานของภาคเอกชนที่มาเจรจาธุรกิจกัน

ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อหาหลักที่กล่าวต่อที่ประชุมถ่านหินโลก ก็ส่งสัญญาณกับพ่อค้าถ่านหินทั้งหลายว่านโยบายพลังงานของไทยจะหันมาใช้ถ่านหินมากขึ้น และจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินนำเข้าให้มากขึ้น เพราะถ่านหินที่ผลิตได้ในประเทศมีส่วนใหญ่เป็นลิกไนต์ ซึ่งมีคุณภาพการให้ความร้อนต่ำ และยังปล่อยสารพวกคาร์บอน และซัลเฟอร์เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจูงใจให้หันมาใช้ถ่านหินมากมาย อาทิ การบอกว่าเรามีแหล่งสำรองพลังงานเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่อย่างจำกัด จากข้อมูลการสำรวจในปี 2545 ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเหลืออยู่ที่ 33 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งใช้ได้นาน 30 ปี สำรองน้ำมันดิบ 714 ล้านบาร์เรล ใช้ได้นาน 20 ปี แต่ปริมาณสำรองของถ่านหิน 1,330 ล้านตัน สามารถใช้ได้นาน 60 ปี หรือเมื่อดูปริมาณถ่านหินของทั้งโลก เรายังใช้คงถ่านหินอีกกว่า 200 ปีเลยทีเดียว

ดังนั้น การพูดถึงถ่านหินมาก ๆ ในช่วงนี้จึงมีข้อน่าสังเกตว่า มันมีวาระอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ เพราะหลายหน่วยหลายองค์กรต่างสดุดีคุณูปการของถ่านหินกันยกใหญ่ เพราะเป็นวาระสำคัญของถ่านหิน ทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้า และในภาคอุตสาหกรรม

ทางเลือกไม่ใช่ถ่านหิน

สิ่งที่รัฐพร่ำบอกว่าเราจำเป็นต้องมีทางเลือกของพลังงานที่มากกว่าก๊าซธรรมชาตินั้น มันก็พอมีเหตุผล แต่ทำไมทางเลือกถึงมีแค่ถ่านหิน ตรงนี้มันน่าสงสัย เพราะเรารู้กันมาอย่างยาวนานว่า การเผาถ่านหินทำให้เกิดมลพิษอย่างมหาศาล ดังเช่นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับชาวแม่เมาะ

จากผลการศึกษาของวิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างปี 2543 - 2545 พบว่า ทั้งเด็กและผู้ใหญ่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจมากกว่าพื้นที่อื่นในจังหวัดลำปาง 2 - 3 เท่า อาการที่พบ คือ ไอเรื้อรัง มีเสมหะเรื้อรัง หอบหืด หลอดลมอักเสบ ทั้งหมดล้วนเกิดจากการสัมผัสมลพิษแบบสะสมยาวนาน

นอกจากนี้ผลการศึกษายังยืนยันว่า ภายหลังจากที่มีการติดตั้งเครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ปริมาณก๊าซพิษมีแนวโน้มลดลง แต่ในบางช่วงก็เพิ่มสูงขึ้นที่ระดับ 2,000 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งส่งต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง

ดังนั้น จากข้อมูลเหล่านี้จึงทำให้เราตระหนักว่า แม้จะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย หรือคุ้มค่าพอที่จะเอาชีวิตและลมหายใจของเพื่อนร่วมชาติไปเดิมพัน

อีกทั้งยังมีข้อโต้แย้งของคริส เกรเซน นักวิชาการด้านพลังงาน จากกลุ่มพลังไทย ที่ยืนยันว่า ในด้านเศรษฐศาสตร์ การใช้ถ่านหินก็ไม่ได้แตกต่างจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพราะไทยต้องพึ่งพาถ่านหินนำเข้าในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาของถ่านหินก็ผันผวนตามราคาน้ำมันถึง 60% ซึ่งย่อมหมายความว่า เมื่อราคาน้ำมันเพิ่ม ราคาของถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ก็ผันผวนตามเช่นกัน การใช้ถ่านหินจึงไม่ได้เพิ่มความมั่นคง และลดความเสี่ยงจากการใช้เชื้อเพลิงหลักอย่างเดียวตามที่มักจะมีการอ้างถึงเสมอ ๆ

ในทำนองเดียวกัน ศุภกิจ นันทะวรการ เจ้าหน้าที่แผนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและระบบประเมินผลกระทบทางสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนั้นมีต้นทุนผลกระทบภายนอกจากการใช้ถ่านหินถึง 2.76 บาท/หน่วย ซึ่งสูงกว่าค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยที่เราจ่ายกันอยู่เสียอีก ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้ถ่านหินตามแผน PDP 2004 ทำให้ต้นทุนผลกระทบภายนอกจากการผลิตไฟฟ้าในปี 2546-2558 เพิ่มขึ้นเป็น 2.71 ล้านล้านบาท

"ถ่านหินที่ว่าต้นทุนถูก น่าใช้ เพราะไม่เคยรวมผลกระทบภายนอก เช่น สุขภาพของคนในบริเวณใกล้เคียง หรือผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เข้าไปรวมกับต้นทุนการขุดเจาะ การขนส่งลำเลียงเลย"

พลังงานทางเลือกแต่ไม่ถูกเลือก

ท่ามกลางเสียงสนับสนุนการใช้พลังงานจากถ่านหิน ย่อมตามมาด้วยเสียงท้วงติง แต่ไม่ว่าคำตอบจะออกมาแบบไหน เสียงที่ดังน้อยที่สุดในสังคมนี้คงหนีไม่พ้นแชมป์อย่าง "พลังงานทางเลือก "

แม้ว่าปัจจุบันเราจะมีเทคโนโลยีในการพัฒนาพลังงานจากธรรมชาติ อาทิ พลังงานลม แสงอาทิตย์ น้ำขึ้น-ลง คลื่น ชีวมวล ฯลฯ มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า หรือที่เรียกกันว่าพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนนั้น แต่ในทางปฏิบัตินั้นมีแนวโน้มสูงว่า ทิศทางการผลิตพลังงานของไทยจะตกอยู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติต่อไป

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีทางออก หรือทางเลือกเลย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะเลือกทางนั้นหรือไม่ต่างหาก อ.เดชรัต ปอกเปลือกให้เห็นเนื้อแท้ของนโยบายพลังงานของประเทศไทยว่า แม้ยุทธศาสตร์พลังงานของชาติจะส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแผนที่ไม่การส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริง

"ปัญหาที่พบจากการทำแผน PDP คือ มักมีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินความเป็นจริง ทำให้ต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มทั้งที่ยังไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังขาดการวิเคราะห์ทางเลือกของพลังงานในด้านอื่น ๆ กล่าวคือเป็นการคิดบนพื้นฐานพลังงานแบบเดิม ไม่ถ่านหิน ก็ก๊าซธรรมชาติวนเวียนอยู่อย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่พลังงานทดแทนอย่างชีวมวล แสงอาทิตย์ก็มีความพร้อมแล้ว ที่สำคัญคือไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าใช้ระบบรวมศูนย์การจัดการพลังงาน ซึ่งหากจะส่งเสริมพลังงานทางเลือกจริงต้องเปลี่ยนความคิดจากกระจุกเป็นกระจาย " อ.เดชรัต กล่าว

อ.เดชรัต เสนอสาระสำคัญของแผนพีดีพีทางเลือกว่า ต้องมีการปรับปรุงค่าการพยากรณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจจาก 3,652 เมกะวัตต์ มาอิงตามการใช้ตามจริง (573 เมกะวัตต์ ตัวเลขของปี 2547) ส่งเสริมให้มีการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าให้ประหยัดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 2,400 เมกกะวัตต์ (มากกว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าบ่อนอกและหินกรูดรวมกันเสียอีก) นอกจากนี้ควรมีการพัฒนาพลังงานทางเลือกต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาการลงทุนในระบบผลิตพลังงาน ร่วมกับการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิม

ข้อเสนอแผนพีดีพีทางเลือกนี้ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะประโยชน์ที่งอกเงยออกขึ้นมาใกล้เคียงมาก กับผลประโยชน์ของคนทั้งชาติ แต่ติดปัญหาที่ว่าจะมีโอกาสร่วมสังเวียนเดียวกันกับเชื้อเพลิงพลังงานยักษ์ใหญ่ทั้งคู่ได้หรือไม่ ตรงนี้พวกเราทุกคนต้องร่วมกันผลักดันในเชิงนโยบายด้วย การปล่อยให้คณะกรรมการพลังงานของชาติ คงทำไม่ได้แล้ว เพราะชีวิตเราล้วนสัมพันธ์กับพลังงานเพียงอย่างแยกไม่ออก

..........................................................

ธีรมล บัวงาม
สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.053-810779, 09-759-9705
Email : newspnn@hotmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net