Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อปี 2547 กลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง (Karen Rivers Watch-KRW) เคยจัดทำรายงาน Salween Dams: Development Version of Burma Military Regime (เขื่อนสาละวิน: "การพัฒนา" ของรัฐบาลทหารพม่า) ซึ่งให้ข้อมูลผลกระทบ โดยเฉพาะมิติการเมืองและสังคมที่จะเกิดขึ้น หากโครงการเขื่อนสาละวินเป็นจริง

รายงานชิ้นนี้ระบุว่า โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนไทย - พม่า จะกั้นลำน้ำนานาชาติที่ยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สายสุดท้าย ที่ยังคงไหลอย่างอิสระ โครงการยักษ์ขนาดสองแสนล้านบาทนี้ ประกอบด้วยสองเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินชายแดนไทย - พม่า เขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรงกันข้ามกับรัฐกะเหรี่ยง โดยเขื่อนเล็กตั้งอยู่ใกล้บ้านท่าตาฝั่ง และเขื่อนใหญ่อยู่ที่เว่ยจี มีกำลังผลิตรวมกว่า 5,000 เมกกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศไทย ในราคาที่เจ้าของโครงการ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อ้างว่าถูกแสนถูก

การลงทุนทั้งหมด เป็นภาระของประเทศไทยที่จะต้องจัดหาเงินทุน โดยเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งหมายความว่าทหารพม่าจำนวนมาก จะเข้ามายึดพื้นที่บริเวณสร้างเขื่อนทั้งสอง และสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด ก็คือ การทำลายล้างชาวกะเหรี่ยง และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว โดยอาศัยเขื่อนในฐานะสัญลักษณ์แห่งการพัฒนา เหมือนกับที่รัฐต่างๆ ทั่วโลกเคยทำเสมอมา เมื่อต้องการยึดพื้นที่และขับไล่ ทำลาย "ศัตรู" กองกำลังต่างๆ หรือชนกลุ่มน้อยที่รัฐไม่ต้องการ

รายงานฉบับดังกล่าวของกลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง ระบุอย่างชัดเจนถึงความกังวลของชาวกะเหรี่ยงต่อเขื่อนสาละวิน ในประเด็นทางการเมือง การเข้ามาของทหารพม่า ที่จะนำมาซึ่งการควบคุมพื้นที่และประชาชน อันหมายถึงการละเมิดสิทธิมนุษย - ชน ในรูปแบบต่างๆ อาทิ ทำลายเผาหมู่บ้าน บังคับอพยพ ข่มขืน ทารุณกรรม และเกณฑ์แรงงาน ดังจะเห็นได้จากรายงาน "แรงงานทาสในพม่า : อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ที่รวบรวมคำสัมภาษณ์ของผู้ใหญ่บ้านจาก 10 หมู่บ้านในเขตภาคตะวันออกของพม่า โดยรายงานได้เปิดเผยให้เห็นถึงการบังคับใช้แรงงานทาสอย่างเป็นระบบโดยทหารพม่า ซึ่งหมายความว่าโครงการเขื่อนมา ทหารพม่ามา ประชาชนก็ต้องเผชิญชะตากรรมเดิมๆ แต่รุนแรง กว่าเดิม
"ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันก็เห็นได้อย่างแจ่มชัดแล้วว่า ทหารพม่าทำทารุณกับชาวบ้านอย่างไร หากมีเขื่อน ชาวบ้านก็ต้องอพยพหนีน้ำ และถูกไล่ออกไปจากเขตสร้างเขื่อนเพื่อความปลอดภัยของเขื่อน และดูเหมือนว่าชาวบ้านจะมิได้รับความช่วยเหลือในการอพยพหรือค่าชดเชย ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าก็เคยใช้โครงการพัฒนาเป็นข้ออ้างในการอพยพ ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กรณีโครงการท่อก๊าซยาดานาไทย - พม่า" รายงานของกลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยงระบุ

คณะทำงานของกลุ่มปกป้องกะเหรี่ยงได้รวบรวมข้อมูลจากพื้นที่จังหวัดมือตรอว์ (Mutraw) ของรัฐกะเหรี่ยงติดกับลำน้ำสาละวิน ซึ่งเป็นบ้านของประชาชนราว 54,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง

จากการสำรวจของหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่ (Backpack Health Worker Team) ซึ่งเป็นคณะหมอที่เข้าไปช่วยรักษาผู้ป่วยตามหมู่บ้านหรือหลบซ่อนอยู่ในป่า ในจำนวนนี้กว่า 1 ใน 3 เป็นชาวบ้านที่ต้องหลบหนีทหารพม่า กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons-IDPs)

สถิติของกองทัพสหภาพกะเหรี่ยง (KNU) ระบุว่า ชาวบ้านถูกทหารพม่าปฏิบัติเยี่ยงศัตรู โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตจังหวัดมือตรอว์ เป็นเขต "ยิงเสรี" ที่ทหารพม่ากำหนดไว้ ระหว่างปี 2540 - 2545 ชาวบ้านในเขตนี้ ถูกทหารพม่าสังหารและทำร้ายกว่า 150 คน

นับตั้งแต่ปี 2540 หน่วยทหารพม่า 5 กอง ถูกส่งมาประจำการในพื้นที่มือตรอว์และในปี 2545 ทหารพม่าก็สามารถตั้งฐานที่มั่นริมฝั่งน้ำสาละวินได้อีกหลายจุด เพื่อควบคุมเขตชายแดน

ล่าสุด มีรายงานข่าวจากพื้นที่ว่า ช่วงที่ผ่านมามีการสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนสาละวินตลอดแนวชายแดนไทย - พม่า และในเขตพม่า โดยมีทหารพม่านำทีมสำรวจชาวไทยเข้าไปในฝั่งพม่าด้วย ขณะที่ทหารเคเอ็นยูซึ่งคัดค้านโครงการก็ถูกกดดัน มิให้ขัดขวางการทำงานของทีมสำรวจ

แม้ประชาชนในพื้นที่และกองกำลังกู้ชาติ จะไม่ต้องการเขื่อนสาละวินเพียงใด แต่ก็ดูเหมือนว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการมิเคยมองเห็น มิเคยคำนึงถึงหยาดน้ำตาและเลือดที่จะหลั่งลงสู่ แผ่นดินและสายน้ำหากมีการสร้างเขื่อน

เสียงหนึ่งของชาวบ้านจากริมฝั่งสาละวินแว่วมา

"เราอยากปกป้องแม่น้ำและชีวิตของเรา แต่เราเป็นชาวบ้าน เป็นชนกลุ่มน้อย เราไม่มีสิทธิมีเสียงบนแผ่นดินนี้"

อาทิตย์ ธาราคำ
ที่มา : สาละวินโพสต์
ฉบับที่ 15 วันที่ 16 พฤษภาคม 2547 - วันที่ 30 มิถุนายน 2547

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net