Skip to main content
sharethis

ปัตตานี-14 มี.ค.48 เมื่อเวลา 14.00 น.วานนี้ ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายองค์กรมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติสุข ได้ประชุมจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับมุสลิมชายแดนใต้ มีผู้ข้าร่วมประชุมประมาณ 20 คน

สำหรับร่างแผนพัฒนาฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย การแก้ไขระบบการเมืองการปกครอง และระบบราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ การพัฒนาสังคมจะต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ละเว้นสิ่งที่ขัดต่อศาสนาอิสลาม เช่น สถานบริการ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"

การพัฒนาจะต้องตั้งอยู่บนความต้องการของประชาชน การพัฒนาด้านการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ต้องสนองความต้องการของชุมชน สอดคล้องกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและศาสนา

ด้านสิทธิมนุษยชน ควรจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทุกจังหวัด ให้แต่ละชุมชนเป็นผู้คัดเลือก โดยไม่คำนึงว่านับถือศาสนาใด การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ควรละเว้นสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เช่น การโฆษณาขายสุราทางสถานีโทรทัศน์

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกิจการอิสลาม พ.ศ. 2540 เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และยกระดับองค์กรศาสนาอิสลามให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

พ.ต.อ.จำรูญ เด่นอุดม รองประธานเครือข่ายองค์กรมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติสุข ประธานคณะทำงานด้านการเมือง การปกครอง ได้เสนอหลักการเกี่ยวกับการจัดทำแผนด้านสังคมว่า จะยึดหลักรัฐประศาสโนบายของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงให้ไว้ 6 ประการ เมื่อปี 2466 และข้อเสนอของหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ที่เสนอต่อหลวงหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2490 ยกเว้นข้อที่ 7 ที่เรียกร้องให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลาม แยกจากศาลจังหวัด (กอฎี หรือดะโต๊ะยุติธรรม) เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

พ.ต.อ.จำรูญ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ จะยึดหลักการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามข้อเสนอของนายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และผลการศึกษายุทธศาสตร์การบริหารจัดการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ศึกษาโดยคลังสมองวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเพื่อสังคม กลุ่มป้องกันประเทศ

พ.ต.อ.จำรูญ กล่าวถึงการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสว่า จะบรรจุเป็นกรณีตัวอย่างในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้ในแผนนี้ด้วย โดยระบุว่ารัฐบาลต้องดำเนินคดีกับตำรวจ ที่ทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาคดีปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2548 เพื่อให้รับสารภาพ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้นายสมชายนำเรื่องนี้มาเปิดเผย จนถูกตำรวจ 5 นายนำตัวไปทำร้าย และทำลายศพ ซึ่งถึงขณะนี้คดีดังกล่าว ยังไม่มีความคืบหน้า ไม่มีการสืบสวนหาตัวผู้อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งยังไม่มีการแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ

พ.ต.อ.จำรูญ กล่าวต่อไปว่า เช่นเดียวกับเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมจากหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีคนตายในที่ชุมนุม 6 คน ที่การดำเนินการทางคดียังไม่มีความคืบหน้า ส่วนกรณีมีผู้เสียชีวิตในขณะขนย้าย 78 ศพ กรณีนี้มีผู้กระทำผิดทางอาญาแน่นอน เพราะมีการสั่งการชัดเจน ไม่ใช่การเสียชีวิตเอง ตามที่ทหารระบุ เยาวชนที่อยู่ในเหตุการณ์หลายคนบอกว่า ถูกทำร้ายระหว่างเดินทางด้วย

"ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้ง 2 ก็คือ ต้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และชดเชยความเสียหายให้เพียงพอกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น" พ.ต.อ.จำรูญ กล่าว

พ.ต.อ.จำรูญ กล่าวอีกว่า ยังมีเรื่องที่จะนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบ และนำไปแก้ไขผ่านแผนฉบับนี้อีกหลายประเด็น เพราะขณะนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้อุตริกระทำการขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม เช่น สร้างอนุสาวรีย์นกสันติภาพที่จังหวัดนราธิวาส ทั้งที่ศาสนาอิสลามห้ามทำรูปปั้นสิ่งมีชีวิต มีการจัดบวชภิกษุ - สามเณร ร่วมกับการจัดอบรมเยาวชนมุสลิม มีการทอดผ้าป่าให้กับวัดและมัสยิดรวมด้วยกัน เป็นต้น

น.พ.อนันต์ไชย ไทยปาทาน แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ผู้รับผิดชอบร่างแผนด้านสาธารณสุข เสนอให้ใช้แผนจัมโปร์ตางันเพื่อการพัฒนาอนุภาค 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยเคยศึกษาเอาไว้แล้ว มาประยุกต์ใช้ด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เสนอกรอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการศึกษา ประกอบด้วย การจัดให้มีทุนการศึกษาที่ปราศจากดอกเบี้ย การเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาของรัฐให้มากขึ้น การจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือให้เยาวชน ที่ต้องการศึกษาต่อได้มีโอกาสมากขึ้น

นายวรวิทย์ บารู ประธานคณะกรรมการเครือข่ายฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มีแนวคิดที่จะนำเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปของแผนยุทธศาสตร์และหลักปฏิบัติแต่ละด้าน นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี แทนการจัดทำแผนแม่บทที่ต้องใช้เวลานาน

จากนั้น ที่ประชุมกำหนดให้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านสังคม มีพ.ต.อ.จำรูญ เป็นผู้รับผิดชอบ ด้านเศรษฐกิจ มีนายสาเหะอับดุลเลาะ อัลยุฟรี รับผิดชอบ ด้านการศึกษา มีนายจีระพันธุ์ เดมะ รับผิดชอบ และด้านการสาธารณสุข มีน.พ.อนันต์ชัย ไทยประทาน รับผิดชอบ ในวันที่ 6 เมษายน 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net