Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 มี.ค.48 "คุณปลอดประสพยืนยันว่าไม่เคยบอก อบต. ไปบีบชาวบ้านให้ยอมรับแผนฟื้นฟูเกาะพีพีขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) การตัดสินใจว่าจะเลือกการพัฒนาแบบไหนขึ้นอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่ แผนของอพท.เป็นแค่แนวคิดหนึ่ง" ณัฐวุฒิ แก่นทอง ตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนเกาะพีพี จ.พังงา เปิดเผยกับ "ประชาไท" หลังเข้าหารือกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานอพท.

การหารือดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการเชิญตัวแทนผู้ประกอบการและชาวบ้านเกาะพีพี ที่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านแผนจัดทำผังเมืองเพื่อพัฒนาเกาะพีพีของ อพท. ต่อนายกรัฐมนตรี กรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากแผนฟื้นฟูดังกล่าวจะมีการเวนคืนที่ดินพื้นราบริมหาดกว่า 270 ไร่ เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะ โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย และโยกย้ายประชาชนไปอยู่บนเขา อีกทั้งจะมีการปลูกสร้างโรงแรมห้าดาวและรีสอร์ตบนเขาด้วย

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ในครั้งที่เคยประชุมร่วมกันนั้น นายธันยา หาญผล ผอ.อพท.พูดชัดเจนว่าแนวทางการจัดทำผังเมืองเพื่อฟื้นฟูเกาะของ อพท.จะเป็นแนวทางหลัก แต่เมื่อมาทำความเข้าใจกับนายปลอดประสพ ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการบีบบังคับนั้น ก็มีตัวแทนชุมชนบางคนกล่าวขอโทษไปแล้ว อย่างไรก็ตาม อพท.จะส่งผู้จัดการโครงการลงไปในพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านเป็นเวลา 3 เดือน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคมนี้

ก่อนหน้านี้ นายสง่า โภคบุตร รองอธิบดีกรมโยธาธิการ ในฐานะกรรมการดำเนินการจัดทำผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะบริเวณเกาะพีพี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ทางอพท.ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นผู้วางผังเกาะแต่อย่างใด และกรมโยธาธิการยืนยันว่า จะดำเนินการวางผังเมืองเกาะพีพีต่อไปตามหน้าที่ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน โดยกรมฯ คงต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่มาดำเนินการเอง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติเงินผ่านทางอพท.ในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ แต่อพท.กลับไม่ให้งบประมาณมายังกรมฯ เพื่อใช้วางผัง

นักผังเมืองสงสัยอำนาจ "อพท."

ด้าน นางภารณี สวัสดิรักษ์ จากสมาคมนักผังเมืองไทย ซึ่งเคยร่วมกับหลายหน่วยงานลงพื้นที่ไปสำรวจความขัดแย้งเรื่องการจัดการที่ดินบนเกาะพีพี ให้ข้อมูลว่า กรมโยธาธิการได้มีการจัดทำผังเมืองบนเกาะพีพีตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ซึนามิ เป็นภารกิจตามกฎหมายตามพ.ร.บ.ผังเมือง ซึ่งมีการเปิดการมีส่วนร่วมของประชาชนระดับหนึ่ง

"แต่โครงการของอพท.ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม อีกทั้งยังไม่แน่ใจด้วยว่ามาอย่างไร และอพท.ใช้อำนาจอะไรเข้ามาทำภารกิจทับซ้อน ในเมื่อเกาะพีพียังไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเหมือนเกาะช้าง" นางภารณีตั้งข้อสังเกต

นางภารณีกล่าวต่อว่า การย้ายชุมชนขึ้นไปบนภูเขาและการปลูกสร้างโรงแรมหรูบนเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ลาดชันนั้น ต้องใช้งบประมาณสูง ต้องมีการทำลายธรรมชาติเพิ่มขึ้น และอาจต้องประสบปัญหาอื่นแทน เช่น ปัญหาดินถล่ม โดยส่วนของพื้นที่ราบด้านล่างก็ไม่แน่ใจว่าจะควบคุมการใช้พื้นที่ได้ ที่สำคัญคือ อพท.ไม่มีคำตอบว่าจะจัดการชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินอย่างไร ดังนั้น จึงน่าจะมีการจัดเวทีประชาคมระหว่างหน่วยงานรัฐทั้ง 2 หน่วย ชุมชน กรมอุทยานฯ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างพูดคนละที

"ชาวบ้านเองก็ต้องเรียนรู้มากขึ้นด้วย ไม่ใช่มองว่าชาวบ้านถูกต้องไปหมด พวกเขาก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยว่าสามารถจะรักษาสภาพแวดล้อมได้ เพราะถ้าทำเละนักท่องเที่ยวก็ไม่มา" นางภารณีกล่าวสรุป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net