Skip to main content
sharethis

ประชาไท- 26 มี.ค.48 ผู้คนที่ติดตามการประชุมรัฐสภาอภิปรายนโยบายรัฐบาล ตลอด 3 วันที่ผ่านมา จะพบว่าวันสุดท้ายของวันอภิปราย อันตรงกับวันที่ 25 มีนาคม 2548 นั้นd

ตอนหนึ่งของการประชุมรัฐสภาอภิปรายนโยบายรัฐบาลด้านการต่างประเทศ

"นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลุกขึ้นมาอภิปรายนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบันชนิดถึงพริกถึงขิง

หนึ่งในหลายเรื่อง ที่ "นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ" นำมาอภิปรายคราวนี้ มีเรื่องที่ "นายศุภชัย พานิช ภักดิ์" ผู้อำนวยการองค์การค้าโลก ที่กำลังจะหมดวาระในอีกไม่นานนี้แล้ว ได้รับการเสนอชื่อจากเลขาธิการสหประชาชาติ "นายโคฟี่ อันนัน" ขึ้นเป็นเลขาธิการอังค์ถัด หรือ UNCTAD

อันเป็นข้อเสนอ ที่มีบางประเทศออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับวิธีคัดสรรของ "นายโคฟี่ อันนัน" ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง การค้าระหว่างประเทศ

ทว่า ประเด็นที่ "นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ" นำมาบอกเล่าเชิงสอบถามคราวนี้ ที่สร้างความแปลกใจเล็กๆ ให้กับคนจำนวนไม่น้อย ก็คือ ข่าวเกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลไทย ที่ออกมาว่าร่วมวงคัดค้านการเสนอชื่อ "นายศุภชัย พานิชภักดิ์" ขึ้นเป็นเลขาธิการอังค์ถัดด้วย

คำบอกเล่าของ "นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ" ต่อเรื่องนี้ ถ้าดูจากมุมทางการเมืองแล้ว ดูจะมีน้ำหนักอยู่ไม่น้อย

ด้วยเพราะ "นายศุภชัย พานิชภักดิ์" คือ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนสำคัญ เคยเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ มาแล้วหลายสมัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ทางด้านเศรษฐกิจมาหลายรอบ

คนในพรรคประชาธิปัตย์บางกลุ่ม ถึงขั้นเคยคิดจะดึง "นายศุภชัย พานิชภักดิ์" กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวขบวนสู้กับ "พรรคไทยรักไทย" หรือนัยหนึ่ง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" มาแล้ว
คำพูดของ "นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ" ที่ว่ารัฐบาลไทย "ลอยแพ" คนไทยกันเอง และขอให้กำหนดท่าทีต่อเรื่องนี้ให้ชัดเจน จึงพลอยทำให้สื่อมวลชนให้ความสนใจ หันมาจับตาดูความเคลื่อนไหวและท่าทีของ "รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร" ต่อกรณีนี้ขึ้นมาทันที

คำถามในเบื้องต้นนี้ ก็คือ อังค์ถัด หรือ UNCTAD ที่ "นายศุภชัย พานิชภักดิ์" ถูกเสนอชื่อให้ไปรั้งตำแหน่งเลขาธิการ แตกต่างจากองค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่ "นายศุภชัย พานิชภักดิ์" เป็นผู้อำนวยการอยู่ ณ บัดนี้อย่างไร

คำตอบ ก็คือ อังค์ถัด หรือ UNCTAD เป็นองค์กรชำนัญพิเศษภายใต้กรอบสหประชาชาติ หรือ United Nation ที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีในการหารือและเสริมสร้างความร่วมมือ และความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยเน้นเรื่องความสำคัญของการค้าที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการมุ่งเน้นการสร้างขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา (capacity building) ให้มีความพร้อมและมีศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ที่เห็นได้ชัด

จุดแตกต่างระหว่างอังค์ถัดกับองค์การการค้าโลก (WTO) มีดังนี้

1. WTO มุ่งเน้นในเรื่องการเปิดเสรีทางการค้า นอกจากเรื่องการค้าสินค้าแล้ว ในระยะต่อมาได้ครอบคลุมถึงเรื่องการค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และการลงทุน แต่อังค์ถัดจะเน้นในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมถึงเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สิ่งแวดล้อม การเงิน และการขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนา

2. อังค์ถัดมุ่งเน้นถึงผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก โดยจะให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ เช่น การศึกษา วิจัย และเสนอแนะข้อคิดเห็นเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการกำหนดกรอบนโยบายเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ในประเด็นและแง่มุมต่างๆ แต่ WTO นั้น กำหนดให้ทุกประเทศสมาชิกได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้มุ่งประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก เพียงแต่มีข้อยกเว้นเป็นการเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่เรียกว่า การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment : S&D) ในบางเรื่องเท่านั้น

3. WTO เป็นองค์กรเจรจาที่ทำหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ (rulesbased organ ization) เพื่อเปิดเสรีทางการค้าและเป็นธรรม ซึ่งมีผลผูกพันด้านกฎหมายต่อประเทศสมาชิก หากสมาชิกไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ ก็จะถูกฟ้องร้องและถูกลงโทษในลักษณะที่เป็นการตอบโต้ทางการค้าโดยสมาชิกอย่างชอบธรรมตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติ ในทางตรงกันข้าม อังค์ถัดไม่มีการกำหนดข้อผูกพันใดๆ ต่อสมาชิก เป็นเพียงการแถลงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อให้มีผลเร่งรัดทางการเมืองเท่านั้น ที่ผ่านมา สมาชิกจะให้ความร่วมมือกับอังค์ถัดในการดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ และหากสมาชิกใดไม่ปฏิบัติตาม ก็จะไม่ได้รับโทษใดๆ

แล้วบทบาทสำคัญของอังค์ถัด ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อยู่ตรงไหน

คำตอบ ก็คือ อังค์ถัดมีหน้าที่สำคัญในฐานะที่เป็นเวทีในการเสริมสร้างความช่วยเหลือและความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนา ด้านการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน อังค์ถัดจึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและต่อไทยในท้ายที่สุด ในหลายประการ ดังนี้

1. อังค์ถัดเป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุนให้มีการให้สิทธิพิเศษทางการค้า GSP ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรให้กับประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทยได้รับ GSP ในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และต่อมาการให้สิทธิพิเศษนี้ได้ขยายเพิ่มเติมเป็น GSTP (Global System of Trade Preference) ที่ประเทศกำลังพัฒนาให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งไทยได้ให้สิทธิพิเศษนี้แก่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง คือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นต้น

2. อังค์ถัดเป็นผู้ริเริ่มในการจัดทำความตกลงสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศ และข้อตกลงการจัดตั้งกองทุนร่วม (Common Fund) เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือในการศึกษาวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบริการด้านข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

3. อังค์ถัดยังทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในการพิจารณาดำเนินนโยบายด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุม การศึกษาวิเคราะห์ และการเสนอแนะแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาการค้าและสิ่งแวดล้อม

4. อังค์ถัดทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินนโยบายต่างๆ ของประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการค้าและการลงทุน การแข่งขัน และมาตรการการจำกัดการทำธุรกิจ (RBP) การค้ากับเทคโนโลยี การขนส่ง การประกันภัย การพัฒนากับนโยบายการเงินและหนี้สินของประเทศกำลังพัฒนา วิกฤตเศรษฐกิจของเอเชีย รวมทั้งผลกระทบของการเจรจารอบอุรุกวัย เป็นต้น

5. อังค์ถัดยังให้ความร่วมมือกับ WTO ในการจัดตั้ง International Trade Center (ITC) ขึ้นมาเป็นศูนย์ข้อมูลด้านการค้าเพื่อช่วยเหลือการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาอีกทางหนึ่ง

ด้วยบทบาทเช่นนี้แหละ ท่าทีของรัฐบาลไทย ต่อการสนับสนุน หรือไม่สนับสนุน "นายศุภชัย พานิชภักดิ์" เป็นเลขาธิการอังค์ถัด จึงควรจับตาดูด้วยความใกล้ชิดยิ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net