สุนทรพจน์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เนื่องในการเปิดหอประชุมศรีบูรพา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สมาชิกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ควรมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ศิษย์เก่าคนหนึ่ง ซึ่งยืนหยัดอยู่ฝ่ายสันติประชาธรรมมาโดยตลอด แม้จะศูนย์เสียอิสรภาพไปเป็นคราวๆ จนต้องไปตายในต่างแดน แต่แล้วก็ได้รับการเชิดชูเกียรติจาก UNESCO ในฐานะบุคคลสำคัญระดับโลก ในโอกาสชาตกาลครบศตวรรษของเขา ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๘ และที่มหาวิทยาลัยตั้งชื่อหอ ประชุมศิลปวัฒนธรรม ตามนามปากกาของเขา ว่าหอประชุมศรีบูรพานั้น นับว่าเป็นการบูชาบุคคลที่ควรบูชา สมกับที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสรรเสริญว่านี่คืออุดมมงคล

ศรีบูรพาไม่เป็นเพียงนามปากกาของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หากยังมีกองทุนในนามนี้ ที่มอบรางวัลให้นักเขียนไทยตลอดมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่นักเขียนนั้นๆ ในอันที่จะอุทิศตนและนฤมิตรกรรมของตน ตามรอยของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยเฉพาะก็ในแนวทางของเสรีภาพ ภราดรภาพ และความเสมอภาค โดยเน้นเนื้อหาสาระแห่งอหิงสธรรม

หวังว่าหอประชุมศรีบูรพา จะไม่เป็นเพียงอาคารสถานที่ หากจักเป็นเวที ให้ได้มีการแสดงออกในทิศทางของความงาม ความดี และความจริงยิ่งๆ ขึ้น โดยเฉพาะก็ในทางแห่งความเป็นเลิศ

เวทีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ จำต้องมีสมาชิกของมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา พากันร่วมมือร่วมใจ กำหนดกิจกรรมอันจะนำไปสู่จิตสำนึกในทางที่เป็นศรีหรือสิริ แห่งบุรพทิศ ซึ่งไม่ได้หมายเพียงภาคตะวันออกของโลกเท่านั้น เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว บูรพา หมายถึง การเกิดขึ้นแห่งรุ่งอรุณ

รุ่งอรุณเป็นนิมิตหมายแห่งวันใหม่ เมื่อแสงเงินแสงทองขจัดความมืดของรัตติกาลให้เป็นแสงสว่าง ซึ่งถ้ารู้จักใช้อุบายอย่างแยบคาย ย่อมนำไปสู่ความสะอาด และความสงบ ทั้งในส่วนตนและสังคม

จึงหวังว่าจักมีบุคคลจำนวนหนึ่ง ซึ่งดำริตริตรองในทางนี้อย่างรอบคอบและลึกซึ้ง เพื่อให้หอประชุมศรีบูรพาเป็นเสวนาคาร และเป็นสถานที่ ที่ต้อนรับสาธุชน ผู้ซึ่งต้องการแสวงหาและแสดงออกในทิศทางอย่างที่นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ได้กระทำมา ให้เกิดความชอบธรรม อย่างสว่าง อย่างสงบ และอย่างสะอาด

อนึ่ง พึงตราไว้ด้วยว่าในปีที่นายกุหลาบ ผู้ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย มีชาตกาลครบศตวรรษนั้น นายดิเรก ชัยนาม อดีตอาจารย์และคณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์ ก็มีชาตกาลครบ ๑๐๐ เช่นกัน มหาวิทยาลัยมีดำริที่จะสนองคุณท่านผู้นั้นบ้างไหม อย่างน้อยก็น่าจะกระตุ้นให้กระทรวงการต่างประเทศตั้งชื่อห้องสมุด ห้องประชุม หรือห้องรับแขกที่สำคัญของกระทรวงนั้น ในนามว่าดิเรก ชัยนามด้วยเช่นกัน โดยที่อาคารสถานที่นั้นๆ ก็ควรเป็นเวที ที่เตือนคนร่วมสมัยและอนุชน ให้เห็นคุณค่าของความเป็นสุภาพบุรุษ มนุษยภาพของนายดิเรก ชัยนาม ซึ่งมีคุณงามความดีพอๆ กับนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ แม้จะต่างกันในทางวิชาชีพก็ตามที

อีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ ก็จะถึงศตวรรษชาตกาลของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยนี้เช่นกันกับนายกุหลาบ ทั้งยังเป็นอาจารย์และคณบดีของมหาวิทยาลัยนี้เช่นนายดิเรก โดยที่บัดนี้ ก็มีป๋วยเสวนาคารเกิดขึ้นแล้วที่วัดปทุมคงคา ซึ่งเป็นที่ที่เขาผู้นั้นเคยบวชเณร ทั้งยังเป็นที่ไว้อัฐิของเขา ตลอดจนของมารดาเขาและของยายเขาอีกด้วย ป๋วยเสวนาคารไม่เป็นแต่อนุสรณ์สถาน หากเป็นเวทีที่กระตุ้นให้วัดกลับมามีบทบาทกับสังคมร่วมสมัย และเป็นสถานที่จุดประกายในทางสันติประชาธรรม มาแต่ปีที่นาย ป๋วยละโลกนี้ไปใน พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่น่ายินดียิ่งกว่านี้ก็ตรงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีชมรมเศษฐธรรมเกิดขึ้นด้วยแล้วแต่เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๘ ณ วังเทวเวศน์ บางขุนพหรม โดยที่ชมรมดังกล่าวนี้นายป๋วยเป็นคนตั้งชื่อให้ในมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ แต่เมื่อเขาเป็นคณบดีแห่งคณะเศรษฐศาสตร์นั้นแล้ว

ก็ในเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยแลเห็นคุณูปการของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้ กระทรวงการต่างประเทศก็ควรเห็นคุณค่าของนายดิเรก ชัยนามได้เช่นเดียวกัน เพราะนั่นคือการแสดงออกทางความกตัญญูกตเวที ที่พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคนดี

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยมาแล้วในเรื่อง ชมรมเศรษฐธรรม ซึ่งฟื้นคืนชีพขึ้นใหม่ ในวังเทวเวศน์ จึงหวังว่ามหาวิทยาลัยจะกระตุ้นให้กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินกิจการด้านคุณงามความดีทำนองนี้ในนามของนายดิเรก ชัยนาม เพราะมหาวิทยาลัยไม่มีหน้าที่เพียงแต่กับกิจการในวิทยาลัยเขตเท่านั้น หากควรแสดงคุณานุภาพออกไปยังหน่วยงานต่างๆ นอกรั้วมหาวิทยาลัยด้วย

ว่าจำเพาะภายในมหาวิทยาลัยเอง ธรรมศาสตร์ก็ควรได้รับความสรรเสริญเป็นที่ยิ่งที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้มีหอประชุมศรีบูรพาขึ้นมาได้ และในพิธีเปิดหอประชุมแห่งนี้ ขอให้ศรีหรือสิริ จงมี จงเป็น ไปตามความหมายแห่งคำว่าบูรพา ซึ่งก็คือการเกิดขึ้นของความดีงาม และความดีงามที่แท้ ย่อมได้แก่อารยอัษฎางคิกมรรค ซึ่งมีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ เป็นจุดเริ่มต้น ยิ่งในบัดนี้ สังคมมีแต่มิจฉาทิฐิ ที่เต็มไปด้วยกิน กาม เกียรติ อย่างรุนแรงและกึ่งดิบกึ่งดี จึงหวังว่าหอประชุมศรีบูรพาจะเป็นเวทีที่ก่อให้เกิดสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับมิจฉาทิฐิและมิจฉาอาชีวะเหล่านั้น

เนื่องในงานฉลองกึ่งศตวรรษของการประกาศสันติภาพ เมื่อปี ๒๕๓๘ นั้น กรุงเทพมหานครได้เปิดสวนสันติภาพขึ้น โดยได้นำเอาลายมือของนายกุหลาบ ที่เขียนสรรเสริญคุณของสันติ ไปสลักไว้อย่างเด่น ให้เป็นอนุสติสำหรับทุกๆ คน ณวันที่ ๑๖ สิงหาคมศกนี้ ก็จะบรรจบครบ ๖๐ ปีแห่งการประกาศสันติภาพ โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปรีดี พนมยงค์ จึงควรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะจัดงานเพื่อปลุกมโนธรรมสำนึกของชาวสยาม ให้เห็นคุณค่าของศรีบูรพาและของเพื่อนร่วมรุ่นของเขา อย่างน้อยก็นายดิเรก ชัยนาม และนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยที่บุคคลทั้งสามนี้ รวมถึงคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เอ่ยนามอีกมาก หากรวมศิษย์เก่าของธรรมศาสตร์แทบทั้งหมด ที่อุทิศตนมาแล้ว แก่สันติประชาธรรม และเขาเหล่านั้นก็คือศิษย์ของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนี้ นั้นแล

เราต้องไม่ลืมว่าวันประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นั้น เป็นการประกาศอิสรภาพ และเสรีภาพพร้อมๆ กันไปในตัว ดังที่ท่านผู้นั้นได้อภิวัฒน์รัฐสยามให้เป็นประชาธิปไตยมาแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้นแล้ว โดยเราต้องไม่ลืมว่าสันติภาพ อิสรภาพและเสรีภาพ กลับคืนมาสู่สยามเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นั้น เป็นผลมาจากขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีศูนย์บัญชาการอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้นี่เอง และถ้านายปรีดีไม่ได้นายดิเรกเป็นผู้สนองงานอย่างใกล้ชิด จนนำเอาหลวงอดุลเดชจรัสมาร่วมงานได้ งานใต้ดินคราวนั้นย่อมยากที่จะสัมฤทธิ์ผล

อนึ่ง เมื่อวันประกาศสันติภาพเวียนมาบรรจบครบกึ่งศตวรรษนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในงานดังกล่าวที่หอประชุมใหญ่ ดังก็จะทรงพระมหากรุณาเช่นนี้อีก ในวันชาตกาลครบศตวรรษของนายกุหลาบ

หวังว่ามหาวิทยาลัยจักไม่แต่ร่วมฉลองร้อยปีแห่งชาตกาลของศรีบูรพาเท่านั้น หากจะร่วมจัดงานฉลอง ๖๐ ปี ของวันประกาศสันติภาพอีกด้วย

ก่อนจะถึงวาระอันพิเศษนั้น ก็ขอให้เราจงร่วมกันตั้งปณิธานให้หอประชุมศรีบูรพานี้เป็นนิมิตหมาย ให้พวกเราทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่ในที่นี้ หรือไม่ก็ตามให้พวกเราเข้าถึงเนื้อหาสาระแห่งสันติภาพ อิสรภาพ ภราดรภาพ และเสรีภาพ ด้วยเทอญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท