Skip to main content
sharethis

สรุปรายละเอียดสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟแห่งประเทศไทย

1. วันที่ 10 มีนาคม 2547 นายอดิศร ชาติค้ำชู พนักงานกั้นถนนที่สถานีรถไฟยะลา อำเภอเมืองยะลา ถูกคนร้ายไม่ทราบจำนวน ใช้อาวุธมีดทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัสในขณะปฏิบัติหน้าที่

2. วันที่ 18 มีนาคม 2547 คนร้ายลอบวางเพลิงสถานีรถไฟป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ทำให้ตัวอาคารสถานีเสียหายทั้งหมด และสายเคเบิลใยแก้วของบริษัทคอมลิ้งค์ ได้รับความเสียหาย

3. วันที่ 19 มีนาคม 2547 คนร้ายลอบวางเพลิงที่สถานีรถไฟเทพา จังหวัดสงขลา แต่ไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากไฟได้มอดดับเสียก่อน

4. วันที่ 31 มีนาคม 2547 คนร้ายได้ลอบวางเพลิงที่สถานีรถไฟจะนะ จังหวัดสงขลา แต่พนักงานช่วยกันดับไฟได้ทันท่วงที

5. วันที่ 9 เมษายน 2547 นายสมนึก วงศ์ธรรม นายสถานีรถไฟป่าไผ่ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ถูกคนร้ายยิงด้วยอาวุธปืนได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะปฏิบัติหน้าที่

วันเดียวกัน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่องการงดขบวนรถเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย

ต่อมา วันที่ 12 เมษายน 2547 ทางตัวแทนแม่ทัพภาคที่ 4, ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ, ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหาร นัดสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่เข้าเจรจา มีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย และมีการลงนามร่วมกัน

หลังจากนั้น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ชี้แจงผลการเจรจาต่อสมาชิก และสื่อมวลชน

6. วันที่ 14 เมษายน 2547 มีผู้ไม่หวังดี ถอดเครื่องยึดเหนี่ยวรางจำนวน 80 ตัว ระหว่างสถานีรถไฟวัดช้างไห้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี กับสถานีรถไฟคลองทราย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

7. เวลาประมาณ 06.30 น. วันที่ 18 เมษายน 2547 นายยงยุทธ เทียมทัต พนักงานกั้นถนนที่สถานีรถไฟสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงจนเสียชีวิต ในขณะปฏิบัติหน้าที่

จากนั้น เวลาประมาณ 07.00 น. วันเดียวกัน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ ได้เรียกประชุมสมาชิก และออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ประกาศหยุดเดินขบวนรถในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ตั้งแต่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ตลอดปลายทางสถานีรถไฟสุไหงโก - ลก รวมทั้งหมด 20 ขบวน

ต่อมา เวลา 12.30 น. วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐ นำโดยรองผู้ว่าการจังหวัดสงขลา, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, นายอำเภอหาดใหญ่, ปลัดอำเภอหาดใหญ่, ตำรวจรถไฟหาดใหญ่, และจดข. 5, อณาบาลรถไฟ, ได้เชิญทางผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ (นายวัย พรหมเศษ, นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม, นายพรชัย คำศรี, นายประชานิวัฒน์ บัวศรี, นายบรรยงค์ พงศ์ประยูร) เพื่อขอเจรจา แต่ไม่สามารถตกลงกันได้

เวลา 17.30 น. วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐได้นัดเจรจาอีกครั้ง โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหาร โดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ ได้ส่งผู้แทนเข้าเจรจา ประกอบด้วย นายวัย พรหมเศษ,นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม, นายพรชัย คำศรี, นายประชานิวัฒน์ บัวศรี, นายบรรยงค์ พงศ์ประยูร โดยมีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข นำทีมเข้าเจรจา

ทางผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ นำข้อเสนอของพนักงานเจรจากับฝ่ายรัฐทั้งหมด 9 ข้อ ผลการเจรจาทางแม่ทัพภาคที่ 4, ผู้บัญชาตำรวจภูธรภาค 9, ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, ได้ตกลงตามข้อเสนอทั้ง 9 ข้อ แล้วลงนามในข้อตกลงร่วมกัน โดยขบวนรถจะวิ่งปกติ ในวันที่ 19 เมษายน 2547

เวลาประมาณ 06.00 น. วันที่ 20 เมษายน 2547 แม่ทัพภาคที่ 4 , ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย, สื่อมวลชน, ได้ร่วมกันปล่อยขบวนรถที่เดินเข้าไปในพื้นที่ไม่ปลอดภัย ประกอบด้วย ขบวน 175, ขบวน 171, ขบวน 37 และเยี่ยมปลอบขวัญกำลังใจพนักงานรถจักร, พนักงานขบวนรถ, พนักงานสถานี, ประชาชนผู้ใช้บริการ

ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 ชี้แจงการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในการเดินรถให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟ รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนง

ต่อมา วันที่ 21 เมษายน 2547 คณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย, ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย, สื่อมวลชน เดินทางไปเยี่ยมปลอบขวัญให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานรถไฟ และเคารพศพนายยงยุทธ เทียมทัต ที่สุไหงปาดี

8. เวลาประมาณ 17.50 น. วันที่ 18 กรกฎาคม 2547 นายจงรัก ผ่องอำไพ ตำแหน่งคนคุมประแจ สถานีรถไฟไม้แก่น อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต เหตุการณ์เดียวกันนี้ ตำรวจตระเวนชายแดนชุดคุ้มครองรถไฟ ถูกยิงเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย

9. เวลา 16.50 น. วันที่ 12 ตุลาคม 2547 นายสัญญา รัตนโชติ คนคุมประแจสถานีตาแปด อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดนคนร้ายลอบยิงขณะเดินทางกลับที่พัก

10. เวลา 18.50 น. วันที่ 27 ตุลาคม 2547 นายกิตติศักดิ์ ไชยจันทร์ ลูกจ้างเฉพาะงานสถานีรถไฟวัดช้างไห้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โดนคนร้ายลอบยิงขณะเดินทางกลับที่พัก

11. เวลาประมาณ 09.50 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 นายอำพร ผดุงญาติ ตำแหน่งช่างฝีมือ 1 และนายยายา พรรณภักดี ตำแหน่งลูกจ้างเฉพาะงาน โดนคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตขณะเดินตรวจทางรถไฟ ระหว่างสถานีรถไฟโต๊ะเด็ง - สุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส

12. วันที่ 8 ธันวาคม 2547 ขบวนรถด่วนทักษิณที่ 38 โดนคนร้ายลอบยิง ระหว่างสถานีรถไฟตันหยงมัส - มะรือโบ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส กระสุนเกือบโดนพนักงานขับรถ รถจักรดีเซล 4535 ได้รับความเสียหายด้านรถจักรโดนกระสุนปืน 1 นัด ข้างรถจักรด้านช่างเครื่องโดนกระสุน 1 นัด ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

13. เวลาประมาณ 05.15 น. วันที่ 9 ธันวาคม 2547 ขบวนรถตรวจทาง ฉก.1 โดนระเบิดระหว่างสถานีรถไฟวัดควนมีด - สถานีรถไฟจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทสล. ที่ 962 - 3

14. และเมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 9 ธันวาคม 2547 ขบวนรถตรวจทาง ฉก.3 โดนระเบิดระหว่างสถานีรถไฟไม้แก่น - สถานีรถไฟรามัน อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ทสล.ที่ 1053/11

15. เวลาประมาณ 06.15 น. วันที่ 9 ธันวาคม 2547 ขบวนรถตรวจทาง ฉก. 2 โดนระเบิดระหว่างสถานีรถไฟนาประดู่ - สถานีรถไฟปัตตานี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ทสล. ที่ 1015/15

เวลาประมาณ 07.30 น. วันที่ 9 ธันวาคม 2547 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ เปิดประชุมสมาชิกด่วน

เวลาประมาณ 10.15 น. นายสุพิเชฐ สุวรรณชาตรี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ พร้อมคณะกรรมการบริหารสาขา ออกแถลงการณ์ต่อพนักงานและสื่อมวลชน "เรื่องขอให้มีมาตรการเพิ่มความปลอดภัยแก่ขบวนรถในเส้นทางสายใต้"

ต่อมา เวลาประมาณ 11.49 น. วันเดียวกัน ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ ได้รับโทรสารจาก ทภ.4 สน./ฉก.ทักษิณ สั่งการให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มปฏิบัติด้วยการจัดกำลัง ลว.พิสูจน์ทราบ ตามจุดล่อแหลมต่างๆ ตามเส้นทางรถไฟ ตั้งแต่สถานีรถไฟหาดใหญ่ - สถานีรถไฟสุไหงโก - ลก

จากนั้น ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ ได้รายงานให้สมาชิกทราบเกี่ยวกับมาตรการ ที่ทาง ทภ.4 สน./ฉก.ทักษิณ โทรสารแจ้งมา สมาชิกและพนักงานยินยอมที่จะเดินขบวนรถ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้โดยสาร เป็นขบวนรถพิเศษระหว่างสถานีรถไฟหาดใหญ่ - ยะลา - หาดใหญ่ เป็นการชั่วคราว โดยจะสรุปมาตรการอีกครั้งในการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เวลา 16.00 น. วันเดียวกัน ณ ห้อง 311 อาคารสถานีรถไฟหาดใหญ่ โดยมีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมด้วย

ต่อมา เวลา ประมาณ 16.45 น. วันเดียวกัน คณะผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกรถไฟแห่งประเทศไทย เดินทางถึงหาดใหญ่

เวลา 17.00 น. วันเดียวกัน ผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ เข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

16. เวลา 05.30 น. วันที่ 7 มกราคม 2548 เกิดเหตุระเบิดที่ซุ้มกั้นถนนเสมอระดับ ทางด้านเหนือสถานียะลา อำเภอเมืองยะลา ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย รถไฟ 1 นาย ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 2 นาย

17. เวลา 14.50 น. วันที่ 6 มีนาคม 2548 คนร้ายบุกโจมตีซุ้มกั้นถนนเสมอระดับทาง ที่สะโลร์บูกิตยือแร อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอรือเสาะ เสียชีวิต 2 นาย

18. เวลา 19.30 น. วันที่ 12 มีนาคม 2548 คนร้ายลอบยิงสถานีไม้แก่น อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

19. เวลา 9.30 น. วันที่ 15 มีนาคม 2548 คนร้ายลอบวางระเบิดเครื่องกั้นถนนยะลาด้านใต้ อำเภอเมืองยะลา ตำรวจเสียชีวิต 1นาย บาดเจ็บ 1 นาย เจ้าหน้าที่รถไฟได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 นาย

20. เวลา 06.20 น. วันที่ 27 มีนาคม 2548 คนร้ายลอบวางระเบิดทางรถไฟ ระหว่างสถานีรถไฟสุไหงโก - ลก กับสถานีรถไฟสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ทำให้ขบวนรถตรวจการณ์ตกราง ทางรถไฟเสียหาย พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับบาดเจ็บ 10 นาย ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 9 นาย

เวลา 09.00 น. กรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ ได้เรียกประชุมพนักงาน จากนั้นออกแถลงการณ์ 1 ฉบับ พร้อมกับทำหนังสือถึงกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย

เวลา 09.00 น. มีการประชุมร่วมระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายจิตต์สันติ ธนโสภณ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ (นายสุพิเชฐ สุวรรณชาตรี, นายวัย พรหมเศษ, นายบรรยงค์ พงศ์ประยูร) พล.ท.ขวัญชาติ กล้าหาญ แม่ทัพภาคที่ 47 ตัวแทนกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ตัวแทนกองตำรวจรถไฟ ที่ประชุมมีมติให้กองทัพภาคที่ 4 เป็นผู้รับภารกิจบูรณาการกองกำลังทั้งหมดในพื้นที่ เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยพนักงานรถไฟ เส้นทางรถไฟ ขบวนรถไฟ และผู้โดยสาร

บันทึกข้อมูล/วิรุฬห์ สะแกคุ้ม
เลขานุการสหภาพแรงงานรถไฟแห่งแประเทศไทย สาขาหาดใหญ่
28 มีนาคม 2548

สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟแห่งประเทศไทย
เกิดขึ้นทั้งหมด 20 ครั้ง แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้

สงขลา
อำเภอจะนะ 2 ครั้ง
อำเภอเทพา 2 ครั้ง
ปัตตานี
อำเภอโคกโพธิ์ 2 ครั้ง
อำเภอแม่ลาน 2 ครั้ง
ยะลา
อำเภอเมือง 3 ครั้ง
อำเภอรามัน 3 ครั้ง
นราธิวาส
อำเภอเจาะไอร้อง 1 ครั้ง
อำเภอสุไหงปาดี 3 ครั้ง
อำเภอระแงะ 1 ครั้ง
อำเภอรือเซาะ 1 ครั้ง

มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 9 คน เป็นตำรวจ 5 คน พนักงานการรถไฟ 4 คน
ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 29 คน เป็นตำรวจ 13 คน พนักงานการรถไฟ 16 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net