Skip to main content
sharethis

ประชาไท-28 มี.ค.48 "โครงสร้างตามโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ผ่านอ่าวไทยผิดหลักวิศวกรรมทางทะเลเนื่องจากสะพานข้ามนั้นจะวางตัวในทิศทางเกือบขนานกับทิศทางของกระแสน้ำ ทำให้กระแสน้ำปะทะกับเสาตอหม้อโดยตรง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดและทิศทางการไหลของน้ำโดยสิ้นเชิง จึงส่งผลต่อสภาพนิเวศของอ่าวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"นายสมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่กล่าวในวงสัมมนา"เส้นทาง ลัดสู่ภาคใต้ ลัดกฎหมายด้วยหรือเปล่า"

นายสมบูรณ์กล่าวต่อว่าการก่อสร้างลักษณะดังกล่าวไม่ควรเรียกว่าสะพานข้ามอ่าวเพราะมีลักษณะเหมือนฝายกั้นน้ำ เนื่องจากลักษณะการวางเสาตอม่อเป็นการปิดกั้นกระแสน้ำไหลเวียนของมวลน้ำในทะเลอ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อธรณีสัณฐานของอ่าวไทยซึ่งอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

นายสมบูรณ์กล่าวอีกว่า ธรรมชาติเป็นเรื่องซับซ้อน ควรมีการศึกษาอย่างรอบคอบและเปิดเผย โดยต้องศึกษาด้วยแบบจำลองทางกายภาพทะเลอ่าวไทยที่ประชาชนทั่วไปสามารถเห็นได้ อีกทั้งต้องมีแผนการจัดการทรัพยากรชุมชนเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมซับซ้อนมากเกินกว่าการจะพิสูจน์ด้วยกฎหมายตามปกติ ดังนั้นการจัดการทรัพยากรชายฝั่งจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในโครงการมากขึ้น

อุษณีย์ ศิราวุธ ตัวแทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)กล่าวว่า สผ.ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการผู้ชำนาญการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันรายงานยังไม่มีการเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เนื่องจากเมื่อพิจารณารายงานแล้วทางคณะกรรมการยังไม่ให้รายงานผ่าน ประเด็น เรื่องสมุทรศาสตร์ การเปลี่ยนแปลง การกัดเซาะ การเวนคืนที่ดิน มาตรการวัดผลกระทบ มาตรการวัดผลตรวจสอบ แต่ทั้งนี้จะจัดประชุมเพื่อตอบข้อซักถามของประชาชนและข้อคิดเห็นอื่นๆอีก ในวันที่ 7เมษายน 2548 อีกครั้ง

อุษณีย์กล่าวอีกว่าเนื่องจากผลการอนุมัติเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีส่งผลให้มีการก่อสร้างโครงการก่อนที่จะมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออาจมีการก่อสร้างโครงการไปพร้อมกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตัวอย่างโครงการที่ยังไม่ผ่านการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้คือโครงการก่อสร้างสนามบินหัวหิน โครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นางสาวสุมล สุตวิริยะวัฒน์ประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพชรบุรีกล่าวว่าที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนแต่กลับไม่มีการนำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณาอีกทั้งโครงการนี้มีการลุกลี้ลุกลนในการก่อสร้างมากสังเกตได้จากการไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เสร็จไปตามขั้นตอนก่อนการออกแบบก่อสร้างอีกทั้งประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจโครงการนี้เพราะรัฐตัดสินใจเองทั้งหมด

"เราเจอความกะล่อนของรัฐเพราะรัฐบาลเป็นผู้ใช้กฎหมาย บังคับให้เราทำตามกฎหมายแต่รัฐบาลกลับมาอ้างมติครม.ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมรัฐบาลกลับกลายเป็นผู้ละเมิดกฎหมายเสียเอง"นางสาวสุมลกล่าว

ด้านนายวสันต์ พานิชประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิในทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่าทางกรรมการสิทธิจะขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องเนื่องจากข้อมูลในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนักทั้งนี้เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงของโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ผ่านอ่าวไทยต่อไป

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net