Skip to main content
sharethis

เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.5 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราเมื่อกลาง ดึกเมื่อคืนวานนี้ ซึ่งใกล้ครบรอบ 100 วันหลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความโกลาหลตามเกาะแก่ง และเมืองชายทะเลริมมหาสมุทรอินเดีย

หลังเหตุการณ์ ชาวบ้านตามเมืองต่างๆ รวมทั้ง 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลด้านอันดามันของไทย ต่างอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยเนื่องจากมีประสบการณ์การเกิดคลื่นยักษ์ซึนามิมาแล้วครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางคำชมเชยของนายกรัฐมนตรีต่อหน่วยราชการที่รับผิดชอบว่า มีความฉับไวในการเตือนภัยประชาชนให้อพยพออกจากพื้นที่ได้ทันท่วงที แต่ในสายตาและความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่กลับคิดไปอีกทางหนึ่ง

นางไหมหยำ หลั่งน้ำ ชาวบ้านหาดประพาส ต.กำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ จ.ระนองกล่าวว่าเมื่อเวลาประมาณ 24.00 น.ของคืนที่ผ่านมาขณะที่ตนกำลังนอนหลับพักผ่อนที่บ้านบริเวณหาดประพาส ได้ยินเสียงชาวบ้านซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียงส่งเสียงว่ามีแผ่นดินไหว ระวังคลื่นยักษ์ ตนและครอบครัวจึงได้รีบหนีไปยังที่สูงทันที

"ม๊ะ ไม่ได้เอาอะไรไปเลยลูก กลัวจนหัวเข่าสั่น ใจสั่นไปหมด คิดแต่ว่าหนีๆ ให้ห่างจากทะเลก่อน ตอนนี้ม๊ะไม่กล้าอยู่บ้านแล้วลูก อาจจะไปดูๆกลางวัน แต่กลางคืนคงไม่มีใครกล้านอนหรอก เพราะบ้านอยู่ใกล้ทะเล กลัวจะเป็นเหมือนครั้งที่แล้ว ยิ่งเกิดกลางคืนยิ่งน่ากลัว" นางไหมหยำกล่าว

นางไหมหยำกล่าวอีกว่า ข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหว และอาจเกิดคลื่นยักษ์ซึนามิรอบสองนั้น ชาวบ้านรู้ข่าวจากในทีวี ไม่มีหน่วยงานราชการหน่วยงานไหนมาแจ้งให้ทราบก่อนเลยว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงและอาจมีคลื่นยักษ์ตามมา มาทราบข่าวอีกทีตอนสื่อออกข่าวให้อพยพผู้คนหนีตายกันแล้ว

นายประเกียรติ ขุนพล เลขานุการเครือข่ายชุมชนประมงพื้นบ้านกิ่งอ.สุขสำราญ กล่าวว่า หลังจากทราบเหตุการณ์ตนได้ชักชวนชาวบ้านบางส่วนซึ่งโดยมากเป็นชายไปละหมาดที่มัสยิดใกล้เคียงเพื่อทำใจให้สงบนิ่ง และจนถึงตอนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่กล้ากลับลงไปในพื้นที่ และยังคงพักอาศัยอยู่บริเวณภูเขาสูงห่างจากทะเล เนื่องจากยังคงหวาดกลัวเหตุการณ์ซึนามิครั้งแรกอยู่ อีกทั้งยังไม่มั่นใจการทำงานของภาครัฐว่าพร้อมมากแค่ไหนในการรับมือมหันตภัยหากเกิดขึ้น

นายศุภชัย สาโรจน์ ชาวมอแกนบ้านในไร่ ต.บางเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา กล่าวว่า มีการประกาศข่าวทางวิทยุ FM ตนจึงเอาวิทยูผูกติดกับรถเครื่อง เปิดเสียงให้ดังที่สุด แล้วขับไปในชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านคนอื่นๆได้ยิน ทุกคนที่ทราบข่าวต่างหนีตายกันอลหม่าน

"ก่อนที่วิทยุจะประกาศ เรารู้สึกว่าแผ่นดินมันสั่นๆ พอในวิทยุประกาศให้หนี เราก็ตะโกนไปด้วย ขับรถไปด้วย และเปิดวิทยุเสียงดังๆให้คนอื่นๆ ตื่น"นายศุภชัยกล่าวและว่า ขณะนี้ชาวบ้านที่นี่ทยอยกลับไปที่พักแล้ว แม้ว่าเมื่อเช้าที่ผ่านมาลักษณะน้ำทะเลจะขึ้นเร็ว ลงเร็วกว่าปกติเล็กน้อยก็ตาม เนื่องจากการขึ้นลงของน้ำครั้งนี้ผิดปกติเพียงเล็กน้อยไม่เหมือนเมื่อครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามชาวบ้านได้แบ่งหน้าที่กัน โดยมีคนคอยเฝ้าดูน้ำในทะเลและติดตามข่าวเพื่อรอดูสถานการณ์

นายเวชจรัล ใจประโชติ ประธานองค์กรบริหารส่วนตำบลเกาะคอเขา บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา กล่าวว่า ชาวบ้านทราบข่าวจากทางโทรทัศน์ ทั้งพระ ทั้งชาวบ้านและนักศึกษาที่อาสาสมัครมาในพื้นที่จึงรีบอพยพผู้คนขึ้นที่สูงอย่างเร่งด่วน

นายสมยศ แซ่เด็ง ผู้ใหญ่บ้านท่าแป๊ะโย้ย ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา กล่าวว่าขณะนี้เกาะพระทองมีชาวบ้านอยู่ประมาณ 200 กว่าคนจาก 530 คน ปัจจุบันท่าเทียบเรือที่เข้าออกระหว่างเกาะกับแผ่นดินพังลงทำให้การเดินทางไม่สะดวก ซึ่งเป็นเรื่องลำบากมากหากจำเป็นต้องขนย้ายคนออกจากเกาะพระทอง

"เมื่อคืนผมทราบข่าวจากทางทีวี ต่อมานายอำเภอคุระบุรีต่อสายตรงมาให้อพยพชาวบ้านขึ้นที่สูง พวกเราจึงรีบประกาศและวิ่งหนีกันกลางดึก"นายสมยศกล่าว

นายประสาท โต๊ะมัย ชาวบ้านเกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา กล่าวว่า ชาวบ้านที่เกาะยาวไม่ได้อพยพไปไหนเพราะบ้านอยู่บนที่สูงอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงรอดูสถานการณ์ และติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ ในเบื้องต้นยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องถิ่นออกมาพูดคุยว่าจะให้ชาวบ้านทำเช่นไร ชาวบ้านที่นี่จึงรอดูข่าวและคำแนะนำจากสื่อมวลชนที่รายงานข่าว

"ผมก็ไม่รู้จะกลัวอะไร เพราะที่ผ่านมาที่เกาะยาวไม่ได้รับความเสียหายด้านชีวิต ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นพวกกระชังเลี้ยงปลามากกว่า สื่อเขาให้ทำยังไงพวกเราก็ทำอย่างที่เขาบอกเพราะไม่เห็นหน่วยงานในท้องถิ่นเขาบอกอะไร เลยเลือกเชื่อข่าวทางทีวีมากกว่า" นายประสาทกล่าว

นายวิโชติ ไกรเทพ เจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธ์พืช จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุทราบข่าวจากเพื่อที่อยู่หาดใหญ่ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ตนจึงได้รีบไปที่ เกาะสิเหร่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อเตือนพี่น้องที่เป็นชาวอูลักลาโว๊ย และชาวบ้านที่อยู่ที่นั้น

นายวิโชติกล่าวอีกว่า ที่สำคัญคือมีการออกรายการทางวิทยุท้องถิ่นในเมืองภูเก็ต ทำให้ชาวบ้านได้เข้าถึงข่าวสารได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งชาวบ้านผวากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อมีปรากฏการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดคลื่นซึนามิซ้ำสอง ชาวบ้านก็รีบหนีทันทีโดยไม่ลังเล หรือสงสัยปรากฏการณ์แปลกๆทางธรรมชาติเหมือนเช่นที่ผ่านมา

"สภาพตอนนั้นทุกคนต่างหนีกันมาที่ศาลากลางเมืองภูเก็ตกันหมด การสื่อสารทางโทรศัพท์ทำให้สามารถกระจายข่าวไปยังแต่ละพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว แม้ทุกคนกำลังหนีกันอลหม่าน แต่ยังดีที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ เพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมาอำนวยความสะดวก ทำให้การจราจรสามารถขยับได้อย่างสะดวกมากขึ้น"นายวิโชติกล่าว

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net