Skip to main content
sharethis

อุดรธานี- 29 มี.ค. 48 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมคำชะโนด ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ได้มีการประชุมคณะทำงานศึกษาผลกระทบและประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โปแตชระดับจังหวัด

ว่าที่ร้อยตรีดุสิต พรหมสิทธิ์ ประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบและประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โปแตช แจ้งในที่ประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 และในการประชุมครั้งแรกคณะทำงานได้ตั้งกรอบการทำงานศึกษาผลกระทบและประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โปแตช โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน

ทั้งนี้นายจารึก ปริญญาพล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้มีคำสั่งที่685/2548 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2548 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบและประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายข้าราชการ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา นักกฎหมาย นักพัฒนาเอกชน นักธุรกิจอุตสาหกรรม และตัวแทนประชาชน

คณะทำงานชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ วัฒนธรรม และด้านอื่น ๆ ทั้งข้อดีข้อเสียจากโครงการเหมืองแร่โปแตช และสามารถเรียกข้อมูลและบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพื่อประกอบการศึกษาผลกระทบดังกล่าว รวมทั้งกำหนดกรอบเวทีสาธารณะเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่คณะทำงานได้ทำการศึกษาแก่ประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้แก่ประชาชน ลดความขัดแย้งที่เกิดจากการชักจูงประชาสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงด้านเดียว

ในการประชุมครั้งนี้ได้กำหนดวาระการประชุมคือการศึกษาข้อมูลเรื่อง การสรุปผลการดำเนินงานของคณะทำงานพิจารณาสัญญาการให้สิทธิในการสำรวจและผลิตแร่โปแตชระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรมกับบริษัทเอพีพีซี ในสัญญาข้อที่ 1 เรื่องการมีส่วนร่วมของคนไทย ซึ่งระบุว่าในโครงการนี้รัฐบาลไทย หรือคนไทยจะต้องเป็นเจ้าของ หรือควบคุมโครงการอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของหุ้นที่บริษัทมีอยู่ ซึ่งจะต้องรักษาสัดส่วนนี้ไว้ตลอดอายุของสัญญา

โดยที่ประชุมได้ติดใจซักถามเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นซึ่งนับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมาได้มีการเปลี่ยน แปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวถึง 75 % อันหมายถึงกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์หากเกิดโครงการขึ้นจริงนั้นมิใช่คนไทยตั้งแต่เริ่มต้นจนปัดนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กรรมการพิจารณาสัญญาฯ หนึ่งในคณะทำงานระดับจังหวัด กล่าวว่า จากข้อสรุปของคณะกรรมการพิจารณาสัญญา ภายหลังกรณีพิพาทระหว่าง บริษัทเอพีพีซี กับกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้น แม้บริษัทจะทำผิดเงื่อนไขสัญญาข้อที่ 1 เพราะได้เปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นให้คนต่างด่าวถือหุ้น 75 % ก็ตาม แต่ได้มีการประนีประนอมกันระหว่างสองฝ่ายโดยตกลงกันว่า บริษัทต้องพยายามกระจายสัดส่วนการถือหุ้นให้เป็นของคนไทยให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทก็ยังคงถือหุ้น 75 % นักธุรกิจไทย 15 % และรัฐบาลไทย 10 % ซึ่งไม่มีความเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่า บริษัทไม่มีความจริงในเรื่องการมีส่วนร่วมของคนไทยในเรื่องนี้

นายภานุ ลิ้มสุวัฒน์ ผู้แทนของบริษัทเอพีพีซี ชี้แจงว่า ผู้บริหารของบริษัทฯมีเจตนารมณ์ที่จะให้คนไทยมีส่วนร่วมเสมอมา แต่เนื่องจากหุ้นของบริษัทอยู่ในตลาดหุ้นประเทศแคนนาดา และทางฝ่ายบริษัทได้ทำการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนไทยมาซื้อหุ้น โดยการต่อโทรศัพท์ถึงโดยตรงแต่ไม่อาจเปิดเผยได้ในรายละเอียดเพราะเป็นเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจ แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีคนไทยมาซื้อหุ้นแต่อย่างใด

ว่าที่ร้อยตรีดุสิต พรหมสิทธิ์ ประทานคณะทำงานศึกษาฯ กล่าวว่าจากประสบการณ์การพิจารณาสัญญาต่าง ๆ ของรัฐบาลไทยกับบริษัทมักเห็นข้อเสียเปรียบเช่นนี้เสมอ เพราะนักกฎหมายไทยมองเพียงสถานการณ์ปัจจุบันขณะเขียนสัญญาเท่านั้น แต่ไม่ได้พิจารณาถึงเงื่อนไขที่จะมีความเปลี่ยน แปลงในอนาคต

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้ความชัดเจนในข้อนี้ที่ประชุมมีมติว่าจะมีการทำหนังสือสอบถามไปยังบริษัทถึงเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยเข้าร่วมถือหุ้นกับบริษัท ว่ามีการวางแผนไว้อย่างไรบ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและจะได้ทำการสรุปข้อดีข้อเสียของสัญญาออกมาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือเรื่องถึงวาระการประชุมของคณะกรรมการครั้งต่อไปซึ่งจะมีวาระการประชุมเรื่องข้อบกพร่องของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งจะได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาที่เป็นกลาง ผู้รับผิดชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะ กรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา อีไอเอ (คชก.) มาชี้แจงเพื่อเป็นการให้การศึกษาอย่างแท้จริงแก่คณะทำงานและจะได้ทำถ่ายทอดเสียงผ่านสื่อในจังหวัดไปยังประชาชนด้วย ทั้งนี้ผู้แทนของบริษัทได้เสนอให้ ผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายบริษัท มาให้ข้อมูลแก่คณะทำงานพร้อมในคราวเดียวกัน

สำนักข่าวประชาธรรม อุดรธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net