จิราพร ลิ้มปานนท์ : เอฟทีเอไทย-สหรัฐ "ความหวังเล็กๆ ว่ารัฐบาลจะฉลาดพอ"

"ยังมีความหวังเล็กๆ ว่ารัฐบาลทักษิณคงฉลาดพอ ที่จะไม่เอาชีวิตคนไทยทั้งหมดไปอยู่กับการร้องขอจากสหรัฐเพื่อให้มีชีวิตอยู่ เพราะถ้าเราให้ตามที่เขาเรียกร้องในเอฟทีเอ เราไม่สามารถทำอะไรอื่นได้เลย นอกจากรอความเมตตาจากท่านอเมริกาอย่างเดียว ยังหวังเล็กๆว่า เขาจะฉลาดตามที่เขาเคยบอกว่าเขาฉลาด" รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระหว่างวันที่ ๔-๘ เมษายนนี้ รัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพเปิดโต๊ะเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ กับสหรัฐรอบ ๓ ที่พัทยา

ไม่ว่ารัฐบาลจะทุ่มโฆษณาประชาสัมพันธ์สักกี่สิบล้านในการโน้มน้าวให้คนไทยเชื่อว่าการทำเอฟทีเอจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเพียงใดก็ตาม แต่ข่าวคราวของผลกระทบจากเอฟทีเอไทย-จีน ตลอดระยะเวลาปีเศษ และเอฟทีเอ ไทย-ออสเตรเลียที่เพิ่งเริ่มแค่ไตรมาสเดียวก็ทำให้หลายฝ่ายไม่เชื่อมั่นถึง "ความดีที่สุด" ของเอฟทีเอกับประเทศอื่นๆ ที่ทยอยตามมา

ภาพการล้มหายตายจากของเกษตรกรในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ อาจไม่กระตุกต่อมผวาได้เท่ากับตัวเลขการขาดดุลการค้าที่พุ่งพรวดพราดแบบรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ แต่นั่นคงไม่เท่าที่เรากำลังจะได้พบใน เอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ ที่มีอะไรต่อมิอะไรให้ขนหัวลุกได้มากกว่าที่คิด

FTA Watch ขออาสาพาไปพูดคุยกับ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) เพื่อทบทวนบทเรียนที่ผิดพลาดเมื่อ ๑๓ ปีที่แล้วกับ การแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร ตามแรงกดดันของสหรัฐ บอกเล่าประสบการณ์อันเจ็บปวดของการแลกเปลี่ยนระหว่างการค้าและชีวิต พร้อมกับฝากข้อห่วงใยถึงคนสำคัญมากๆ (ที่คุณก็รู้ว่าใคร) ให้มีความฉลาดมากพอที่จะตระหนักถึงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประเทศ

คำแนะนำก่อนอ่าน - กินเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องเขย่าขวด เนื้อหาอาจจะขมสักนิด แต่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสุขภาพ

กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) เริ่มต้นได้อย่างไร

กลุ่มศึกษาปัญหายาเริ่มต้น โดยมี อาจารย์สำลี (ภญ.สำลี ใจดี) เป็นหัวหน้ากลุ่มตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๑๘ ในปีนั้น อาจารย์และนิสิตในคณะเภสัชฯ ได้รวมตัวกันทำวิจัยในชนบท แล้วเราก็พบปัญหายา โดยเฉพาะเรื่องยาชุด หลังจากทำวิจัยเสร็จ เราก็ได้ทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสำนักงานอาหารและยา (อย.) และรัฐบาลในการแก้ปัญหา

จากนั้นกลุ่มของเรายังคงทำงานต่อเนื่องในเรื่องของการให้การศึกษา เช่น เรื่องของยาที่ไม่เหมาะสม การใช้ยาที่เหมาะสม มาตรการในการรู้เท่าทันการโฆษณา ไม่หลงไปใช้ยาที่ผิดตามคำชักชวนของการโฆษณา แต่ระหว่างที่อบรมให้ความรู้กับชาวบ้านนั้น เราพบว่าการดูแลของหน่วยงานของรัฐ นโยบายของรัฐบาล ประกอบกับปัจจัยภายนอก และบริษัทยาเองนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การอบรมของเราไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้านได้

ในขณะที่เราให้การอบรมไป บริษัทก็โฆษณาโหมหนักมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยเรื่องของการค้าอะไรก็ตามมา จนกระทั่งเห็นชัดขึ้นใน ปี ๒๕๒๘ นอกจากจะเป็นปัจจัยของบริษัทยาในประเทศแล้ว ก็มีความพยายามของบริษัทยาในต่างประเทศด้วย

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตและวิจัยยาของสหรัฐ (PhRMA) พยายามเคลื่อนไหวกดดันให้ประเทศไทยแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรผ่านผู้แทนการค้า หรือ USTR พยายามเข้ามาเจรจาการค้ากับประเทศไทย โดยมีข้อแลกเปลี่ยนในเรื่องสิทธิพิเศษทางการค้ากับการแก้ พรบ.สิทธิบัตรให้คุ้มครองในเรื่องของยามากขึ้น เข้มงวดขึ้น

ในช่วงนั้นเองกลุ่มศึกษาปัญหายาได้ศึกษาผลกระทบของการแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร พบว่าจะทำให้ยาราคาแพง จะทำให้เราต้องสูญเสียเงินที่เราต้องนำยาเข้าเป็นจำนวนมหาศาล เราก็ได้ทำข้อเสนอแนะกับรัฐบาล และพยายามให้ข้อมูลการศึกษากับรัฐบาล ทำให้การเจรจาการค้าตอนนั้นใช้เวลาพอควร

ขณะเดียวกันสหรัฐก็ใช้การกีดกันทางการค้าด้วยมาตรา ๓๐๑ กดดันตลอดเวลา เช่น ตอนแรกๆไทยไม่ยอม เราอ้างว่ามีข้อมูลชัดเจนว่าจะเกิดผลกระทบกับสุขภาพของคนไทย รัฐบาลสหรัฐก็ใช้วิธีบีบโดยลดสิทธิพิเศษทางภาษีทีละรายการ เพราะฉะนั้นในระยะหลังๆ กลยุทธ์นี้ทำให้อุตสาหกรรมในไทยทะเลาะกันเอง โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอ อัญมณี และดอกไม้ประดิษฐ์ที่ส่งออกไปตลาดสหรัฐเป็นสำคัญ ก็เห็นว่า ตัวเองโดนมาตรา ๓๐๑ จึงเคลื่อนไหวล็อบบี้กับรัฐบาลในขณะนั้น

ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการทางการบริหารของกระทรวงสาธารณสุข ที่เรียกว่าระบบการติดตามความปลอดภัย ที่เนื้อหาไม่ได้ต่างจาก Data Exclusivity ที่สหรัฐต้องการในขณะนี้ คือให้มีการผูกขาดยา เพียงแต่มีระยะเวลาคราวละ ๒ ปี แล้วในที่สุดก็ยกเลิกไปในสมัยที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นเลขาธิการ อย.

ในขณะนั้น สหรัฐพอใจหรือไม่

พอใจในระดับหนึ่ง ไม่พอใจทั้งหมด คือไม่ใช้ มาตรา ๓๐๑ เพิ่ม ขณะเดียวกันก็กดดันให้มีการแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร

จนในที่สุดปี ๒๕๓๕ พรบ.สิทธิบัตรก็ถูกแก้ตามที่สหรัฐต้องการในช่วงของรัฐบาล รสช. คือคุ้มครองสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ยา และขยายการคุ้มครองจาก ๑๕ ปี เป็น ๒๐ ปี เนื้อหาใน พรบ.สิทธิบัตรที่เราถูกกดดันให้แก้ไขนั้น ถือว่าเราต้องคุ้มครองสิทธิบัตรก่อนที่ข้อตกลง TRIPs (ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา) ใน WTO บังคับล่วงหน้าประมาณ ๘ ปี

ตอนนั้นรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุนก็ออกมาบอกว่า เขาจะเอาเงินที่ได้จากการส่งออกนั้น มาตั้งกองทุนเพื่ออุดหนุนรายจ่ายเรื่องยา ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เขาประเมินแค่ตัวเลข เราบอกว่ามันไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่เป็นการผูกขาดในระยะยาว รวมถึงการเสียโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศด้วย เขามองแต่ว่า โอ๊ย ยังไงก็น้อยกว่ามูลค่าการส่งออก

จากบัดนั้นมาจนถึงบัดนี้ไม่มีกองทุนเกิดขึ้น ผลกระทบก็เป็นไปตามที่เราวิจัยไว้ก่อนหน้า คือ ผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค ยาราคาแพงขึ้นอย่างมากเพราะยาถูกผูกขาด โดยเฉพาะโรคติดเชื้อที่ต้องการยาใหม่ เช่น เอดส์ รวมทั้งกลุ่มโรคเรื้อรังที่ต้องการยาต่อเนื่อง เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน ราคายาสูงมาก ขณะที่อุตสาหกรรมยาในประเทศก็ไม่สามารถผลิตยาเหล่านี้มาทำตลาดได้เพราะติดสิทธิบัตร ช่วงแรกเมื่อแก้ไขกฎหมายใหม่ๆ อุตสาหกรรมยาเหล่านี้ยังกินบุญเก่าอยู่ แต่จากนั้นประมาณ ๔-๕ ปีก็ล้มหายตายจากกันไป

ประเทศอื่นๆมีใครถูกสหรัฐบังคับแบบเราบ้างไหม

ประเทศอื่นเช่น อินเดียไม่ได้ทำเช่นที่สหรัฐบังคับ อินเดียสามารถใช้ช่วงเวลาดังกล่าวที่เราทำล้ำหน้าไป ๘-๙ ปี พร้อมทั้ง WTO ได้ขยายเวลาการเตรียมการเพื่อแก้ไขออกไปอีก ๕ ปี จึงทำให้ขณะนี้อินเดียมีการพัฒนาอุตสาหกรรมยามาอยู่ในระดับแนวหน้าได้

หากเราไปดูประวัติศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยาในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วจะเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมขั้นปลาย นั่นคือ การที่เอาตัวยามาพัฒนาสูตรตำรับ ใช้เงินวิจัยไม่สูงนัก เมื่อทำสูตรตำรับได้ดีก็จะเป็นที่เชื่อถือ จากในประเทศก็ขยายเป็นประเทศข้างเคียง พอขยายตลาดมากขึ้นก็เข้าตลาดหุ้นระดมทุนมาพัฒนาวิจัยและค้นคว้ายาตัวใหม่ รวมถึงวัตถุดิบยา เมื่อถึงขั้นนั้นประเทศนั้นก็จะมีการเปลี่ยนปรับกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อให้สอดคล้อง จากกฎหมายสิทธิบัตรที่คุ้มครองกรรมวิธีการผลิต ก็เป็นการคุ้มครองตัวยา เมื่ออุตสาหกรรมยาในประเทศเริ่มคิดตัวยาใหม่ได้

แต่ของไทยไม่ใช่อย่างนั้น กฎหมายสิทธิบัตรเราแก้ เนื่องจากระบบการค้าเปิด หรือที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ที่รัฐบาลไทยถูกแรงกดดันทางการค้าให้แก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่ตัวเองยังไม่แข็งแรงพอ เพราะฉะนั้นเมื่ออุตสาหกรรมยังไม่แข็งแรงพอ แต่กฎหมายนั้นแข็งมากในประเด็นการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ยา ทำให้อุตสาหกรรมในประเทศซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขั้นปลายไม่สามารถพัฒนาสูตรตำรับยาได้ เพราะติดสิทธิบัตรอย่างน้อย ๒๐ ปี ทั้งที่จริงแล้วหากเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมขั้นปลายพัฒนาสูตรตำรับยาและออกขายได้ จะทำให้ยาใหม่เหล่านั้นถูกลงมากเป็นสิบกว่าเท่า

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการแก้ไข พรบ.สิทธิบัตรในขณะนั้น ทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศไทยพัฒนาถอยหลัง เพราะเขาไม่สามารถพัฒนาวิจัยยากลุ่มใหม่ ก็ต้องไปผลิตยาที่ใช้ทั่วๆไป เช่น พาราเซตตามอลที่หมดสิทธิบัตรนานแล้ว ก็เลยเหมือนกับถอยหลัง

นอกจากนี้ในเชิงกระบวนการ การที่เราแก้กฎหมายเพราะโดนฝรั่งสั่งให้เราแก้ เราก็ไม่ได้มีการเตรียมการที่ดีพอ การพิจารณาให้สิทธิบัตรก็ไม่ได้พิจารณาโดยผู้ตรวจสอบอย่างรอบคอบเหมือนในสหรัฐ ยกตัวอย่างกรณี "สูตรยาดีดีไอ" ที่ได้สิทธิบัตรในบ้านเรา และได้มีกรณีฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญากลาง เพื่อเพิกถอนสิทธิบัตร โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในที่สุดบริษัท Bristol-Myer Squibb ต้องขอยอมความถอนสิทธิบัตรโดยสมัครใจ

สหรัฐพยายามในการผลักดันเนื้อหาการคุ้มครองระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างที่ตัวเองต้องการในการเจรจา WTO มากน้อยแค่ไหน

การที่สหรัฐจะผลักดันมาตรการต่างๆ ผ่าน WTO ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับยาและสาธารณสุข เพราะปัญหามันเห็นชัดกับประเทศที่ต้องแก้ไขกฎหมายตามที่สหรัฐเรียกร้องเกิดผลกระทบในเรื่องการเข้าถึงยาทั้งนั้น

ดังนั้นในกรณีของอินเดียมีข้อผูกมัดตาม TRIPs ว่าต้องแก้กฎหมาย อินเดียก็ไม่แก้โดยให้เหตุผลว่า มันเป็นเรื่องของชีวิต ฝ่ายบริหารก็เสนอกฎหมายไป แต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ผ่านให้ จนทำให้ WTO ต้องยอมขยายเวลาการแก้ไขกฎหมายสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดียไปอีก ๕ ปี และจัดให้มีระบบ mail box ขึ้น นอกจากนั้นในข้อตกลง TRIPs ยังมีมาตราการแก้ไขปัญหาเมื่อมีปัญหาจากการผูกขาด เช่น มาตรการบังคับใช้สิทธิและการนำเข้าซ้อน

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ก็เป็นประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ใน WTO หนึ่งประเทศคือหนึ่งเสียง เพราะฉะนั้นเสียงมันค่อนข้างดังว่า แบบนี้มันไม่ไหวแล้ว มันเป็นการเอาเปรียบ ฉะนั้นใน WTO ประเด็นเรื่องยา สหรัฐไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แม้ประเทศกำลังพัฒนาจะไม่สามารถยันประเด็นอื่นๆได้มากนัก แต่ก็สามารถยันสหรัฐในประเด็นของยาได้ดีระดับหนึ่ง

เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นชัดว่า เวลาที่สหรัฐอเมริกาจะไปทำเอฟทีเอกับประเทศใดก็ตาม เรื่องแรกที่สำคัญที่สุดและเป็นเรื่องที่เขาเก่งมากก็คือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นเรื่องที่เขาผลักดันผ่าน WTO ไม่ได้ก็คือเรื่องยา

เมื่อสหรัฐอเมริกาเจรจาเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ ทั้งที่ผ่านมาแล้วและกรณีของไทย เนื้อหาในส่วนของยาที่เขาต้องการมากที่สุดคืออะไร

ก็ชัดเจนว่า ต้องการผูกขาดตลาดยานานขึ้น เพราะผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาของเขามหาศาล อุตสาหกรรมยาในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ถ้าเราไปศึกษาข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ จะพบว่า หนึ่ง เป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรสูงสุด ๑๐-๒๐ อันดับแรกของสินค้ามาโดยตลอด แล้วการตั้งราคาจะสูง เพราะผูกขาดอยู่เจ้าเดียวเป็นเวลาตามอายุสิทธิบัตร สอง อุตสาหกรรมนี้มักอ้างเสมอว่าต้องตั้งราคายาสูง เพื่อหาเงินไปวิจัยและพัฒนาเพื่อหายาช่วยชีวิต เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเหมือนข้ออ้างที่ยอมรับกลายๆ

ข้ออ้างนี้จริงไหม

แล้วยังอ้างตัวเลขที่สูงถึง ๘๐๐ กว่าล้านดอลลาร์ต่อหนึ่งตัวยา ซึ่งจริงๆ แล้วมีการศึกษาโดยเฉพาะในหนังสือ The Truth about the Drug Companies โดย Marcia Angell ที่อาจารย์และทีมกำลังแปลให้กับมูลนิธิหมอชาวบ้าน ชี้ว่าข้ออ้างนี้ไม่เป็นความจริง อุตสาหกรรมยาใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาน้อยมาก อันที่จริงแล้วแทบไม่ได้วิจัยหรือพัฒนาเลย

งบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านการจัดการการตลาด และการโฆษณา และยิ่งน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับผลกำไร การตั้งราคายาก็เกินความจริงไปมาก เพื่อทำกำไรสูงสุด ซึ่งหนังสือเล่มนี้พูดชัดมากถึงยาแต่ละตัว

บอกว่า ๘๐๐ ล้านเหรียญดอลล่าร์ ต่อยา 1 ตัว เขาไปมองตรงเฉพาะในตัว Chemical ใหม่ แต่จริงๆ ถามว่า โดยเฉลี่ยๆ แล้ว นั้นมันไม่ถึง ๑๐๐ ล้านด้วยซ้ำของยาใหม่ที่ออกมาที่ติดสิทธิบัตร ที่ออกมาสำหรับชาวบ้านใช้ ที่เหลือเป็นการบวกค่าเสียโอกาส มีความพยายามที่จะทำให้เกิดความชอบธรรมว่าในเมื่อเขาคิดค้นเยอะ ลงทุนเยอะ ก็ต้องให้การคุ้มครองเขายาวพอที่จะได้มีเงินไปวิจัย ไม่งั้นเดี๋ยวไม่มียาใช้ในโลกนี้นะ คุณจะลำบากนะ ตื่นขึ้นมาคุณป่วยแล้วไม่มียาใช้ ความพยายามตรงนี้ พยายามเอาข้อมูล ที่มันทำให้เหมือนเป็นจริงอย่างนี้ ฉลาดและทำได้เยอะ

แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อครั้งปี ๓๕ ก็ยอมตามสหรัฐมาครั้งหนึ่งแล้ว ในการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐครั้งนี้ก็มีแนวโน้มจะยอมตามเขาอีก

เห็นชัดเลยว่าวงจรมันกลับมา เมื่อตอนปี ๓๕ ขอขยายสิทธิบัตรจาก ๑๕ ปี เป็น ๒๐ ปี และผูกขาดผลิตภัณฑ์ยา ครั้งนี้ต้องการผูกขาดเพิ่มอีก ๕ ปี จาก ๒๐ ขอเป็น ๒๕ ปี โดยอ้างว่า กระบวนการจดสิทธิบัตรของไทยล่าช้า เป็นความผิดของภาครัฐที่ทำให้เขาเสียผลประโยชน์ในตลาดจึงต้องได้รับการชดเชย คำถามคือ จริงหรือเปล่ากับข้ออ้างที่ว่านี้

อาจารย์ได้ศึกษาการขอจดสิทธิบัตรเฉพาะคำขอที่เกี่ยวข้องกับยา ตั้งแต่ปี ๓๕-๔๕ ดูว่าใครเป็นเจ้าของคำขอ พบว่า ๙๘ เปอร์เซ็นต์เป็นคนต่างชาติ เมื่อดูที่ระยะเวลาของการออกสิทธิบัตร จริงอย่างเขาว่าคือ ใช้เวลานานประมาณ ๗-๙ ปี คำถามก็คือว่า เวลาที่นานเป็นเวลาจากอะไร พอไปดูในรายละเอียดพบว่า ในกระบวนการจดสิทธิบัตรจะเริ่มจากการยื่นคำขอจดสิทธิบัตร จากนั้นเจ้าหน้าที่จะประกาศโฆษณาเพื่อให้ใครจะท้วงก็มาท้วง ขั้นตอนที่สามจึงเป็นการพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญ

ขั้นตอนจากการประกาศโฆษณาจนถึงการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ กฎหมายไทยให้เวลา ๕ ปี คือการพิจารณาจะพิจารณาไม่ได้จนกว่าเจ้าของคำขอจะมายื่นว่า พร้อมให้คุณพิจารณาแล้ว ถ้าเจ้าของคำขอไม่มายื่นคำร้อง กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่ทำอะไร และในกฎหมายมาตรา ๒๙ ระบุว่า ถ้าไม่มายื่นคำขอให้ตรวจสอบภายในห้าปี คำขอจะตกไป ฉะนั้นเมื่อใกล้ๆห้าปี เจ้าของก็จะมายื่นคำขอให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาตรวจสอบ

เพราะอะไรเจ้าของผลิตภัณฑ์จึงไม่รีบยื่นพิจารณา แต่ถ่วงเวลาไว้จนเกือบหมดเวลา ๕ ปี

ยาไม่เหมือนสินค้าอื่นๆ ถ้าเขารีบยื่นก็จะเป็นภาระของเขาในการที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าข้อมูลไม่สมบูรณ์ หรืออาจปฏิเสธคำขอถ้าไม่ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม ฉะนั้นถ้ารีบก็เสี่ยงที่จะไม่ได้รับสิทธิบัตร ถึงไม่รีบทำ บริษัทยาอื่นๆ ก็ไม่กล้าออกตลาดตัวยาอย่างเดียวกันอยู่แล้ว เพราะสินค้ายาไม่เหมือนสินค้าอื่น

การจะออกตลาดต้องไปขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งต้องพิสูจน์ว่า เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายจะได้รับยาเท่ากับยาต้นตำรับ เพราะฉะนั้นต้องมีการวิจัย ต้องมีการลงทุน ในขณะที่สินค้าอื่นไม่ต้อง ทำปุ๊บออกตลาดได้เลย ดังนั้น หากอุตสาหกรรมจะลงทุน เขาต้องแน่ใจว่าทำวิจัยแล้วต้องออกตลาดได้ เพราะฉะนั้นช่วงเวลาเหล่านี้ที่ไม่แน่ใจว่าเจ้าของคำขอจะได้รับสิทธิบัตรหรือไม่ได้รับสิทธิบัตรไม่มีใครกล้าลงทุน ถึงแม้เผลอหรือไม่รู้ไปลงทุนก็จะได้รับโนติสจากเจ้าของคำขอว่า ถ้าคุณจะออกสู่ตลาด ฉันกำลังอยู่ระหว่างการขอสิทธิบัตร ฉะนั้น ยิ่งช่วงนี้ยาวเท่าไร ตัวเองก็จะได้เปรียบเท่านั้น

ดังนั้น การที่สหรัฐมาอ้างว่า กระบวนการจดสิทธิบัตรของไทยล่าช้า เอาผลสุดท้ายของข้อมูลมาอ้างโดยไม่วิเคราะห์ว่าทำไมถึงช้า ทั้งที่จริงเกิดจากผู้ขอสิทธิบัตรเอง ไม่ได้ช้าจากขั้นตอนพิจารณา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การพิจารณาใช้เวลาประมาณ ๒ ปี เท่ากับระดับสากล

นอกจากการขอขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรอีก ๕ ปี ยังขอผูกขาดข้อมูลอีก

เรื่องการผูกขาดข้อมูลทางการค้า หรือ Data Exclusivity นั้นเกิดจากข้อตกลง TRIPs ใน WTO ข้อ ๓๙.๓ ในกรณีที่หน่วยงานรัฐต้องการให้บริษัทยื่นข้อมูลที่เป็นความลับของเขาจากกระบวนการขึ้นทะเบียนตำรับยาหรือสารเคมีเกษตร รัฐต้องปกป้องข้อมูลความลับไม่ให้เอาความลับนั้นไปใช้ในทางที่ไม่เป็นธรรมในการทางค้า (unfair commercial use) เพราะฉะนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องมาออก พรบ.ความลับทางการค้า ในมาตรา ๑๕ จึงแปลออกมาจากภาษาอังกฤษเลย

ทีนี้การแปลความว่า รัฐ หรือ อย.ไม่ให้คนอื่นเอาข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่เป็นธรรม แปลความกันอย่างไร หลายประเทศแปลความไม่เหมือนกัน นั่นก็คือ ประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาก็แปลความอย่างหนึ่ง สหรัฐก็แปลอีกอย่าง

สหรัฐแปลว่า ถ้าบริษัทไปขึ้นทะเบียนตำรับแล้ว อย.จะต้องไม่ให้คนอื่นขึ้นทะเบียนยาในเวลาที่คุ้มครองเช่น ๕ ปี ซึ่งในที่นี้ก็คือ Data Exclusivity โดยอ้างว่า การที่ อย.ให้บริษัทยาที่สองไปขึ้นทะเบียนเหมือนกับเป็นการอ้างข้อมูลความปลอดภัยทางอ้อม พูดง่ายๆก็คือ หาว่าเอาข้อมูลของเขาไปใช้อย่างไม่เป็นธรรม

ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น อาร์เจนติน่า หรือในประเทศไทยเอง ตีความว่า การที่ยาออกสู่ตลาดได้ต้องมีการทดลองทางคลินิก ซึ่งข้อมูลตรงนี้บางส่วนที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ คือข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าที่ต้องแสดงเมื่อมาขอขึ้นทะเบียนตำรับยา

แต่เมื่อออกสู่ตลาดก็จะต้องมีการเก็บข้อมูลหลังออกตลาดถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพ รัฐบาลในประเทศต่างๆ ถือว่า ไม่ได้ไปใช้ข้อมูลของคุณ แต่ใช้ข้อมูลเมื่อยาออกสู่ตลาดแล้วที่พิสูจน์ว่ายาใช้ได้มีความปลอดภัย แล้วก็รับขึ้นทะเบียนคนอื่นได้ เพราะใช้มานานพอควร บริษัทอื่นจะมายื่นจดทะเบียนก็รับ ไม่ได้ปิดกั้นอะไร แต่จะดูแลความลับให้เป็น Data Protection โดย อย. ไม่เกี่ยวกับการผูกขาดตลาด แต่ในทางกลับกัน อย. ต้องส่งเสริมให้เข้าถึงยา

จากการตีความแบบนี้ทำให้อาร์เจนติน่าถูกสหรัฐฟ้อง เรื่องก็ถึงอนุญาโตตุลาการของ WTO ผลสรุปออกมาว่า เนื่องจากความไม่ชัดเจนของของ ๓๙.๓ ไม่ได้ขยายความว่า unfair commercial use หมายถึงแค่ไหน เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลอาร์เจนติน่าตีความเช่นนี้ไม่ผิด

หมายความว่า ถ้าในเอฟทีเอเรายอมรับ Data Exclusivity ก็เท่ากับเราทำเกิน ข้อตกลง TRIPs อีกแล้ว

ใช่เกิน TRIPs อีกแล้ว เนื้อหาของเอฟทีเอที่สหรัฐต้องการจะมีลักษณะที่เป็น TRIPs+ มีเนื้อหาอื่นๆมากไปกว่าข้อตกลง TRIPs ใน WTO

จากข้อตกลง TRIPs ในกรณีที่เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุข ประเทศสามารถผลิตหรือนำเข้ายาที่ติดสิทธิบัตรในราคาถูกเพื่อบรรเทาปัญหาที่เรียกว่า มาตราการบังคับใช้สิทธิ และการนำเข้าซ้อน เราจะยังสามารถทำได้ต่อไปหรือไม่ หากต้องยอมรับเนื้อหาเอฟทีเอเช่นนี้

ถ้าเรามีกฎหมายที่ไปผูกขาดข้อมูลในทางการค้า หรือ Data Exclusivity เช่นที่ว่า เราจะไม่สามารถใช้มาตรการบรรเทาปัญหาทั้ง การนำเข้าซ้อน การบังคับใช้สิทธิ ได้เลย

ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตด้านสาธารณสุข หายนะ หรือมหันตภัย

ก็ไม่ได้เลย เพราะเนื้อหาในส่วนนี้ไม่ได้อยู่ในกฎหมายสิทธิบัตร แต่อยู่ในกฎหมายความลับทางการค้า ต้องไปขออนุญาตเจ้าของอย่างเดียว ถ้าเขาฟ้องก็มีความผิด ซึ่งความผิดในกฎหมายความลับทางการค้านั้นโทษแรงมาก เพราะว่าในกฎหมายจะเขียนว่า ถ้าเรายอมให้คนอื่นขึ้นทะเบียนตำรับยา ก็เท่ากับใช้ข้อมูลของเขา โทษความผิดนี้เป็นโทษอาญา เพราะฉะนั้นจะต้องผูกขาดข้อมูล ห้ามใครมาขึ้นทะเบียนซ้ำเป็นเวลา ๕ ปี พูดง่ายๆคือ ต้องปล่อยให้เขาขายคนเดียว ๕ ปี ห้ามใครมาแข่ง

ถ้าหากในช่วง ๕ ปีนี้ เกิดโรคระบาดใหญ่โต เราต้องใช้ยาของเขา เราก็ไม่มีทางบังคับใช้สิทธิ ด้วยการผลิตเองหรือให้ประเทศอื่นที่มีความสามารถผลิตให้ เราไม่มีทางนำเข้าซ้อน ไม่มีทางที่จะทำอะไรเลย นอกจากขอความเมตตาอย่างเดียวว่า กรุณาลดราคายาด้วยเถิด กรุณาช่วยฉันด้วย

ทำได้แค่นี้

ทำได้แค่นี้เอง คือต้องรอความเมตตา

เป็นไปได้ไหมที่ในการเจรจาเอฟทีเอกับไทย สหรัฐจะไม่ต้องการประเด็นเหล่านี้ เพราะนายกฯทักษิณเคยประกาศในงานเอดส์โลกว่า จะไม่จำกัดการเข้าถึงยา

อาจารย์เชื่อว่าในการเจรจาเราโดนแน่ๆ เพราะว่ามาตรการนี้ สหรัฐคำนึงถึงแล้ว และล้วนแต่ไปปรากฏในข้อตกลงเอฟทีเอที่สหรัฐทำกับสิงคโปร์ ชิลี และอีกหลายประเทศก่อนหน้า

หมายความว่าประเทศที่มีศักยภาพในการต่อรองที่ดีกว่าไทย อย่าง สิงคโปร์ก็โดนมาแล้ว

สิงคโปร์โดนมาแล้ว เพราะฉะนั้นประเทศไทย อาจารย์เชื่อแน่ว่าถ้าผู้เจรจาไม่เข้าใจ แล้วไม่ประเมินถึงผลกระทบอย่างนี้ อาจารย์เชื่อว่าเราโดนแน่

ถึงผู้เจรจาเราเข้าใจ แต่การแลกเปลี่ยนแบบยื่นหมูยื่นแมว เหมือนคราวที่เราโดนเมื่อตอนแก้ไขสิทธิบัตรยาปี ๓๕ ที่อุตสาหกรรมส่งออกมีความสำคัญกว่าชีวิตคน

เพราะฉะนั้น อาจารย์ถึงได้บอกว่า ประเด็นเรื่องยาต้องแยกออกมาต่างหาก จะไปรวม trade off กับสินค้าอื่นๆไม่ได้ การเข้าถึงยาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ การมีสุขภาพดี มันไม่ควรจะถูกนำไป trade off กับสินค้าอื่นๆ

เมื่อต้นสัปดาห์ กลุ่มผู้ติดเชื้อได้เข้าหารือกับรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา คุณวิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ทางรองอธิบดีก็ยืนยันว่าจะเจรจาแยกต่างหากไม่แลกกับเรื่องอื่นๆ และจะไม่ให้เกินทริปส์

เชื่อมั่นได้แค่ไหน เพราะรายงานข่าวในเวลาใกล้เคียงกันระบุว่า คณะเจรจาฝ่ายไทยพูดเป็นนัยว่า ในที่สุดเราคงต้องยอมเขา

นี่ไง เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก แทนที่เราจะใช้จุดยืนที่อ้างข้อตกลงพหุพาคีใน WTO ในการยืนยันไม่ยอมตามสหรัฐ เพราะประเทศเราได้เดินตามกติกาของโลกแล้ว ไม่น่าที่จะไปยอมในประเด็นที่สหรัฐเรียกร้องเพิ่มเติมมา ถ้าสหรัฐอยากได้ก็ให้ไปคุยกันใน WTO ซึ่งจะประชุมในเร็วๆ นี้อยู่แล้ว ก็ใช้เวทีนั้นในการเจรจา

สิ่งที่อาจารย์ยืนยันตลอดมาก็คือ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะเรื่องยา ควรเอาออกจากการเจรจาเอฟทีเอ เพราะเราทำตามกติกาสากลแล้ว เราเคารพข้อตกลงระหว่างประเทศแล้ว

นอกจากนั้น อันตรายในเรื่องการเจรจาทรัพย์สินทางปัญญาในเอฟทีเอก็คือ ในข้อตกลง TRIPs ข้อ ๔ พูดชัดเจนว่า ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าไปทำข้อตกลงกับประเทศใด ต้องให้ประโยชน์อย่างเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิก WTO ด้วย นั่นแปลว่า เราจะต้องให้มาตรฐานการคุ้มครองนี้กับทุกประเทศ

อุตสาหกรรมยาของยุโรปที่ใหญ่กว่าสหรัฐ

ใช่ พวกนี้มาได้เลยโดยอัตโนมัติไม่ต้องเจรจาเอฟทีเอกับไทยเลย อันตรายมาก

Rob Portman ผู้แทนการค้าสหรัฐคนใหม่เป็นอย่างไรบ้าง

น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากผู้แทนการค้าสหรัฐคนใหม่นี้เป็นคนที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมยาตั้งแต่การเป็น ส.ส.ของรัฐโอไฮโอ จนถูกเสนอชื่อให้มาดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าของสหรัฐ ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เขาเอาแน่

อาจารย์คิดว่า ควรเอาเรื่องยาออกจากการเจรจาเอฟทีเอ

จุดยืนของอาจารย์ตลอดมาคือ ต้องเอาเรื่องยาออกจากการเจรจา และเสนอเพิ่มว่า ไม่ควรมีสิทธิบัตรในเรื่องของยาจำเป็นหรือยาช่วยชีวิต (Life Saving Drug) มันเป็นยาที่ช่วยชีวิตคนเป็นความจำเป็น ฉะนั้นต้องไม่ควรผูกขาดตลาด ต้องพยายามที่จะขยายหรือส่งเสริมเทคโนโลยีให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ได้อ่านข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศบราซิลน่ารักมากๆ บราซิลเป็นประเทศที่พยายามมีนโยบายที่ชัดเจนในการเข้าถึงยา โดยเฉพาะการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ ล่าสุดออกนโยบายว่า ยาต้านใหม่ ๒-๓ ตัวสำหรับผู้ติดเชื้อ อาทิ เอฟฟ่าไวเรน อินดินาเวีย รัฐบาลบราซิลจะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิในการผลิตยาเอง แม้ว่ายาเหล่านี้จะติดสิทธิบัตรก็ตาม และรัฐบาลก็ได้ติดต่อโดยตรงกับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยาเหล่านี้ให้มาทำข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตให้กับอุตสาหกรรมยาในบราซิลผลิตได้

ทำไมภาครัฐไทยไม่ทำแบบนี้บ้าง

ก็นี่แหล่ะ ความฉลาดของบราซิล ซึ่งหลายเรื่องฉลาดมาก เขาใช้มาตรการนี้เพื่อต่อรองให้ราคายาถูกลง นอกจากนั้นยังพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ เพราะยากลุ่มพวกนี้จะทำยาก แม้แต่ในประเทศไทย องค์กรเภสัชกรรมก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการวิจัยผลิตยาเอฟฟ่าไวเรน แต่บราซิลมาทางลัดเลย แทนที่จะไปวิจัยอะไรมากมาย บังคับให้เจ้าของสิทธิถ่ายทอดเทคโนโลยีเลย

เรื่องแบบนี้รัฐบาลไทยไม่ทำ ทั้งที่ในประเทศไทยขณะนี้กำลังขาดแคลนยาเอฟฟ่าไวเรน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเจรจากับกองเอดส์ กระทรวงสาธารณสุขหลายครั้ง แต่จนป่านนี้เรายังไม่ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือนำเข้าซ้อน

เพราะอะไรถึงไม่ทำ

ก็อาจจะเกรงกลัว กลัวอะไรก็ไม่ทราบ

ช่วงที่นั่งดูข้อมูล เห็นอาจารย์บ่นว่า สงสัยจะต้านไม่ไหวรู้สึกอย่างนี้จริงๆหรือเปล่า

รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เพราะว่า ผู้แทนการค้าสหรัฐคนใหม่ก็มาจากอุตสาหกรรมยา เป็นผลประโยชน์ของอเมริกาที่เขาประกาศชัดเจน แล้วก็มีการแลกเปลี่ยน (trade off) ในการเจรจามาก

แต่ก็ยังมีความหวังเล็กๆ ว่ารัฐบาลทักษิณคงฉลาดพอ ที่จะไม่เอาชีวิตคนไทยทั้งหมดไปอยู่กับการร้องขอจากสหรัฐเพื่อให้มีชีวิตอยู่ เพราะถ้าเราให้ตามที่เขาเรียกร้องในเอฟทีเอ เราไม่สามารถทำอะไรอื่นได้เลย นอกจากรอความเมตตาจากท่านอเมริกาอย่างเดียว

ยังหวังเล็กๆว่า เขาจะฉลาดตามที่เขาเคยบอกว่าเขาฉลาด

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท