ส.ว.รับลูกเสนอวุฒิฯ ถก "โฮลดิ้ง คอมพานี"

รัฐสภา - 7 เม.ย.48 "ท่านนายกฯบอกตลอดเวลาว่าไม่ได้ขาย การขายเป็นเพียงภาษาชาวบ้านที่ประชาชนเข้าใจง่าย แต่ท่านเลี่ยงไป ยิ่งทำให้ประชาชนสับสน ความคิดที่จะเอารัฐวิสาหกิจทั้งหมดไปก่อรูปเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี แล้วเอาไประดมทุน ผมฟันธงว่าผิด เราควรจะเลิกคิดได้" น.พ.เหวง โตจิราการ หรือหมอเหวง ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยกล่าว

น.พ.เหวง พร้อมนายสาวิต แก้วหวาน ตัวแทนเครือข่ายสมาพันธ์แรงงาน และตัวแทนจากสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจ เข้าชี้แจงคัดค้านการรวมรัฐวิสาหกิจเป็น โฮลดิ้ง คอมพานี ต่อกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา หลังจากได้ยื่นหนังสือกับกรรมาธิการไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หมอเหวงชี้แจงว่าเรื่องนี้เป็นกรณีเร่งด่วน เพราะการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายก รัฐมนตรีประกาศว่า จะทำโฮลดิ้งฯ ให้สำเร็จภายในวันที่ 1 พ.ค.48 นั้นเร็วเกินไป เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน จึงต้องยื่นคัดค้าน

"จริงๆ แล้วเขาไม่เคยประกาศว่าจะทำโฮลดิ้งอย่างไร โครงสร้างเป็นอย่างไร จุดมุ่งหมายเป็นอย่างไร จึงอยากเสนอให้สาธารณะชนรู้ว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังเสนอรูปแบบการแปรรูปแบบใหม่ โดยใช้ชื่อใหม่แต่ความจริงคือเรื่องเก่าหมด" น.พ.เหวงกล่าว

น.พ.เหวง ชี้ว่า โฮลดิ้ง คอมพานี คือ การแปรรูปแบบหนึ่งที่ประชาชนเริ่มคัดค้าน แต่รัฐบาลกลับ ฉวยโอกาสช่วงที่สหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอ่อนแอ มาเร่งจัดการ ทั้งที่การแปรรูปเป็นการเปลี่ยน แปลงเป้าหมายเดิมของรัฐวิสาหกิจอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่รัชกาลที่ 5 ต้องการให้เป็นหลักประกันชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นกิจการที่รับใช้ประชาชน แต่เมื่อแปรรูปเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ต้องสร้างมูลค่าหุ้น มองเรื่องกำไรสูงสุดเป็นหลัก เป็นผลประโยชน์ของเอกชนบางกลุ่ม กลายเป็นกิจการขูดรีดประชาชน

"นอกจากนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะผู้ที่จะตรวจสอบได้ต้องเป็นผู้ถือหุ้นเท่านั้น" หมอเหวงกล่าว

อย่างไรก็ตาม น.พ.เหวง ยกบมจ.ปตท. เป็นกรณีศึกษารัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปแล้วและประชาชนเสียผลประโยชน์ โดยชี้ว่ามีเอกชนเพียง 13 ราย ถือหุ้นถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และเกี่ยวพันกับคนในรัฐบาล พอเป็นเอกชนรัฐก็ต้องเข้าไปอุ้มเพื่อให้มีผลกำไรและสร้างราคาหุ้น ความจริงแค่ 12.13 เปอร์เซ็นต์ก็พอ แต่เมื่อผ่านครม.กลับอุ้มถึง 16 เปอร์เซ็นต์ ทำให้หุ้นพุ่งสูงจาก 35 บาท เป็น 200 กว่าบาท รวมแล้วเกือบ 7 เท่า

น.พ.เหวงระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาปตท.มีกำไร 190,000 กว่าล้านบาท โดยเป็นของเอกชนถึง 17,000 ล้านบาท ซึ่งควรจะเข้ากระเป๋ารัฐเพื่อเอามาใช้ทำประโยชน์ กลับเข้ากระเป๋าเอกชนโดยเฉพาะ 13 คนดังกล่าว นอกจากนี้ในการขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 3 บาท ครั้งล่าสุดทำให้มีผู้ได้กำไรทันที 6,000 ล้าน

"ถ้าเป็นไปได้ก็ควรนำ ปตท.กลับมาเป็นของรัฐ" หมอเหวงกล่าวพร้อมทั้งเสนอว่ารัฐบาลควรทำประชามติและตั้งกล่องลงคะแนน แต่ต้องมีเวลาให้ประชาชนศึกษาก่อน 90 วันและผ่านกระบวน การมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด

"จากนี้จะพยายามพูดในเวทีสาธารณะ ต้องทำเป็นประชามติ ไม่ใช่ประชาพิจารณ์ เพราะถ้าเป็นประชาพิจารณ์ผมไป 6 โมงเช้า คิวผมอยู่ 398 อันดับ1-397 พูดกันทั้งวัน พอถึงคิวผมไม่ได้พูดบอกหมดเวลาแล้ว จึงสรุปได้ว่าประชาพิจารณ์เป็นเพียงกลยุทธ์ฝ่ายรัฐ" น.พ.เหวงกล่าว

หลังฟังคำชี้แจงกรรมาธิการพัฒนาสังคมเห็นพ้องร่วมกันว่าจะเตรียมสรุปข้อมูล เพื่อเสนอเป็นญัตติเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวาระต่อไป

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท