ตำนาน ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม สงกรานต์...ที่สังคมชายขอบจันทบูรณ์

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

อีกไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาลสงกรานต์ ประเพณีประจำปีที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน และแต่ละพื้นที่ก็ได้ใช้ช่วงเวลานี้จัดกิจกรรมทั้งที่มีพื้นฐานมาจากดั้งเดิมสืบทอดกันมา แฝงนัยยะสื่อความหมายที่แสดงถึงวิถีวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น การทำบุญตักบาตร ทรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และอีกด้านหนึ่งคือกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการท่องเที่ยวดังที่เริ่มจะคุ้นชินกันมากขึ้น

แต่...สำหรับพื้นที่บ้านสำโรง ต.ทรายขาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี กิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนหนึ่งยังเป็นการแสดงออกถึงเรื่องของ ตำนาน ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมที่มีความสัมพันธ์กันกับวิถีชีวิตผู้คน ความเป็นท้องถิ่นดินแดนชายขอบจันทบูรณ์ หรือบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งในเรื่องเหล่านี้เรามักพูดเตือนกันเสมอว่า ถ้าไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ ทั้งนี้พิธีกรรมที่แสดงถึงความเชื่อเหล่านี้ได้ดี นั่นคือ การเรียกเจ้าเข้าทรงแก้บน ซึ่งจะทำก่อนถึงสงกรานต์ประมาณ 4-5 วัน อันเนื่องมาจาก ความเชื่อ เกี่ยวกับ อิทธิปาฎิหาริย์ของพระยาเสาร์ ซึ่งเป็นผู้นำของบ้านสำโรงในอดีต

มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับ พระยาเสาร์ว่ามีบุคลิกน่าเกรงขาม มีความยุติธรรม เด็ดขาด แต่ก็มีความเอื้อ
เฟื้อช่วยเหลือผู้อื่น พระยาเสาร์ทราบว่าพระยาระวีนำลูกน้องเข้ามาปล้นในหมู่บ้าน จึงได้ท่องมนต์คาถาโดยใช้ข้าวสารสาดไปทั่วหมู่บ้าน ทำให้พวกโจรมองเห็นบ้านของชาวบ้านเป็นบ้านร้าง มีเถาวัลย์ขึ้นเต็มหลังคาหน้าบ้านเห็นเป็นป่า เห็นสุนัขกลับคิดว่าเป็นเสือ เห็นคนที่อยู่ในบ้านว่าเป็นผีหลอก หัวหน้าโจรคือพระยาระวีจึงสั่งลูกน้องกลับโดยไม่ได้อะไรติดตัวไปเลย

กล่าวกันว่า พระยาเสาร์เป็นผู้มีวิชาอาคมมาก เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วชาวบ้านในชุมชนบ้านสำโรงจึงให้ความเคารพนับถือ จึงตั้งศาลไว้ (ปัจจุบันอยู่หน้าโรงเรียนวัดสำโรง) ใครมีปัญหาเดือดร้อนเรื่องอะไรจะไปบนบานศาลกล่าวขอให้ช่วย แล้วแต่จะบนให้อะไร เมื่อใกล้ถึงวันสงกรานต์ประมาณ 4-5 วัน จะมีการเรียกเจ้าเข้าทรง และพระยาเสาร์จะเข้ามาในร่างทรงด้วย ผู้ที่เคยบนอะไรไว้จะนำของมาแก้บน เช่น หัวหมู เหล้า น้ำหวาน บุหรี่ พวงมาลัย ตามแต่ว่าใครบนอะไรไว้ต่อหน้าร่างทรง ถ้าใครไม่ทำตามคำพูดอาจจะเกิดภัยพิบัติกับตนเองหรือลูกหลาน คนใกล้ชิด หรือมีอันเป็นไป ชาวบ้านจึงเกรงบารมีมาก แม้พระยาเสาร์จะสิ้นชีวิตไปนานหลายช่วงอายุคนแล้วก็ตาม

"ว่ากันว่า ในเรื่องคาถาอาคม การอยู่ยงคงกระพัน เสน่ห์ยาแฝด ยาสั่ง หลังจากยุคพระยาเสาร์แล้วคนที่ชอบก็ยังเรียนต่อจนถึงช่วงอายุของคนประมาณ 50 ปีขึ้นไป คนที่อายุต่ำกว่านี้มีน้อยมากจนถึงปัจจุบันนี้แทบไม่มีใครเรียนเลย" ทีมวิจัยสรุป

หลังจากนั้นในช่วงสงกรานต์กิจกรรมที่เกิดขึ้นคือ การตักบาตรหนองฆ้องและการจับมาร การตักบาตรหนองฆ้องและการจับมารเป็นพิธีกรรมหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการละเล่นที่เป็นส่วนหนึ่งในงานประเพณีสงกรานต์ของบ้านสำโรง การตักบาตรและการจับมารในประเพณีสงกรานต์วันที่ 16 เมษายนของทุกปี

การตักบาตรหนองฆ้องและการจับมาร มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยที่บ้านสำโรงปกครองดูแลโดยพระยาเสาร์ มีสองสามีภรรยา โดยภรรยาชื่อนางซอลได้ไปช้อนลูกอ๊อดที่หนองน้ำ และได้พบฆ้องขนาดใหญ่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ได้นำมาให้พระยาเสาร์ดู

พระยาเสาร์ลองตีฆ้องก็เกิดฟ้าผ่า เกิดพายุ พระยาเสาร์จึงนำไปจังหวัด แล้วถูกส่งต่อไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่กรุงเทพฯ โดยฆ้องนี้ไม่ว่าจะนำไปไว้ที่ไหนหากลองตีก็จะเกิดฟ้าผ่า พายุ ชาวบ้านจึงไปเข้าทรงเพื่อสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าว ซึ่งเจ้าเข้าทรงบอกว่าความจริงแล้ว ฆ้องมี 2 ใบเจ้าของเดิมตั้งใจจะให้อีกใบหนึ่ง แต่เมื่อไปตีฆ้องใบแรกของเขาแล้ว เจ้าของจึงไม่ให้ จึงได้เพียงใบเดียวที่พบครั้งแรก แล้วบอกว่าให้ชาวบ้านในหมู่บ้านทำบุญตักรบาตรอุทิศส่วนกุศลให้เขาและพวกมารด้วย โดยการตีตะโพนซึ่งจะทำให้พวกมารได้ยินและมากินของเซ่น ซึ่งมีขนม ข้าวต้ม เหล้าขาวในวันสงกรานต์ของทุกปี

โดยเมื่อถึงวันที่ 13 เมษายน เวลาประมาณ 17.00 น. ชาวบ้านจะไปยกธงขาบ(คล้ายตุงของทางภาค
เหนือ) ซึ่งทำด้วยผ้าด้ายดิบ เสร็จแล้วไปขอทรายจากแม่ธรณีที่คลอง สมัยก่อนจะมีการก่อเจดีย์ทรายเล่นกันที่คลองก่อน แล้วจึงนำเอาทรายใส่ภาชนะมาที่บริเวณยกธง ข้างพระอุโบสถ ใกล้ ๆ กับเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของบรรพบุรุษ จากนั้นจึงช่วยกันยกธง เมื่อธงรูปตะขาบขึ้นสู่ยอดเสาแล้วเป็นสัญญาณตามความเชื่อที่เล่าสืบกันมาว่า พวกมารจะมารบกวนมนุษย์ไม่ได้แล้ว เพราะถูกเทวดาห้าม

ชาวบ้านจึงจะช่วยกันทำร้านเทวดา มีหมากพลู ม้วนบุหรี่ เครื่องหอม น้ำอบ แป้ง หวี กระจก น้ำหวาน น้ำเปล่า กระถางธูป เทียน ดอกไม้ วางบนร้านที่มีเสาไม้ตั้งสูงแค่อก และมีไม้แผ่นสี่เหลี่ยมกว้างยาวพอวางสิ่งของบูชาได้เพื่อรับนางสงกรานต์ พอตอนกลางคืนจะจุดเทียนธูปบูชานางสงกรานต์

ดั้งนั้นเมื่อเทวดาห้ามพวกมารทั้งหลายเข้าหมู่บ้าน ทำให้มารเกิดความอดอยากหิวโหย ไม่มีใครให้อาหารจึงต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ที่หนองฆ้อง คือหนองน้ำที่นางซอลพบฆ้อง จึงต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของฆ้อง (ตักบาตรส่งทุ่ง) และเหล่ามารซึ่งเป็นผีเร่ร่อน ซึ่งตรงกับวันที่ 16 เมษายนของทุกปี การจับมารดังกล่าวในประเพณีสงกรานต์ดำเนินไปด้วยความสนุกสนาน จับได้นำไปให้พระพรมน้ำมนต์ก็จะเสร็จพิธี

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตำนาน ความเชื่อ ที่นำไปสู่กิจกรรม ประเพณีการดำรงอยู่ของชุมชนชายขอบจันทบูรณ์แห่งนี้ และเป็นเสี้ยวหนึ่งของผลการศึกษาที่เป็นภาพสะท้อนพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของชุมชนท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ ย้อนหลังไปอย่างน้อย 2-3 ชั่วอายุคน ซึ่งนอกจากคนในท้องถิ่นจะเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาของสังคมท้องถิ่นตนเองแล้ว ยังทำให้คนภายนอกหรือการพัฒนาจากภายนอกที่กำลังเคลื่อนเข้าไปกระทบกับท้องถิ่นเป็นไปอย่างเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น

บ้านสำโรง เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่เก่าแก่ มีประชากรในพื้นที่อาศัยอยู่มายาวนานนับร้อยปี มีพื้นที่ติดกับอำเภอโป่งน้ำร้อน เป็นหมู่บ้านชายแดนไทย-กัมพูชา บ้านสำโรงถือได้ว่าเป็นพื้นที่ทางผ่านสู่ชายแดนประเทศกัมพูชา จึงเป็นหมู่บ้านที่มีลักษณะเด่นในด้านประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน วัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลาย ความเชื่อ การประกอบอาชีพ การดำรงชีวิตและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างไทยกับกัมพูชา มีการสืบเนื่องของประเพณีพิธีกรรมหลายอย่าง ค่านิยมและความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนในชุมชนสร้างความเป็นปึกแผ่นได้ดี

ตำนาน ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม เป็นสิ่งหนึ่งที่บ้านสำโรงรุ่มรวยเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนถึงรากฐานที่มั่นคงของวัฒนธรรมท้องถิ่น การผสมผสานกับของระบบความเชื่อในอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ ศาสนาพราหมณ์และพุทธสะท้อนออกมาเกี่ยวกับบันทึกเรื่องราวประเพณีพิธีกรรม ซึ่งหลาย ๆ ด้านมีการปรับรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป แต่ความเชื่อบางอย่างยังดำรงอยู่ ยังมีอิทธิพลในการกำกับดูแลชุมชน เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับพระยาเสาร์ เจ้าตะเคียนที่ชาวบ้านยังให้การนับถือ และมีการจัดประเพณีพิธีกรรมในวาระต่าง ๆ แม้ปัจจุบันจะมีความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับบ้านสำโรงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องรูปแบบ ประเพณีปฏิบัติในหลาย ๆ เรื่องที่หลาย ๆ ขั้นตอนได้ลดบทบาทกระทั่งสูญหายไป อย่างไรก็ตามในแง่โดยรวมของชุมชนอาจกล่าวได้ว่า บ้านสำโรงมีรากฐานที่มั่นคงของวัฒนธรรมท้องถิ่นยังดำรงอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนอื่น

และนี่คือผลการศึกษาของชาวบ้านและบรรดาครูในท้องถิ่นโดยเฉพาะคณะครูโรงเรียนบ้านสำโรงที่ร่วมกันสืบค้น หาความรู้สร้างความชัดเจนต่อความเป็นชุมชนท้องถิ่นในทุกแง่มุม ภายใต้การสนับสนุนของโครงการอบรมและวิจัยเชิงปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและชาติพันธุ์ ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ต้องการสร้างนักวิจัยท้องถิ่นและผลงานวิจัยที่มาจาก "คนใน" และท้องถิ่นนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง

อย่างน้อยในวันหยุดช่วงเทศกาลปีนี้ หากคุณได้ไปเยือนชุมชนท้องถิ่นบ้านสำโรงหรือได้ร่วมประเพณีอันสำคัญนี้ก็จะได้เป็นไปอย่างเข้าใจ หรืออาจนำไปสู่การฉุกคิดที่จะหาคำตอบให้กับท้องถิ่นของตนเองบ้างก็ได้.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท