Skip to main content
sharethis

เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลไทยมีนโยบายผลักดันผู้ลี้ภัยประมาณ 3,000 คน ให้เข้าไปยังพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่เรียงรายตามแนวชายแดนไทย-พม่า ในจำนวนนั้นส่วนหนึ่ง คือ นักศึกษาพม่าหรือผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศพม่า

นักศึกษาเหล่านี้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมพม่ามาโดยตลอดแต่ถูกบีบคั้นและกลั่นแกล้งจนไม่อาจทนอยู่ในประเทศพม่าได้อีกต่อไป เนื่องจากเหตุผลคือเพื่อความอยู่รอดจากความตาย เพื่อความปลอดภัยในชีวิต เขาเหล่านี้จึงต้องหนีตายเข้ามาขอพึ่ง "ใบบุญ" ของประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยให้สิทธิคนเหล่านี้สามารถพักพิงในกรุงเทพฯ ได้หลังจากการปิดที่พักพิงของนักศึกษาพม่าคือศูนย์มณีลอย แต่ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

สำหรับเงื่อนไขสำคัญที่นำมาสู่การเข้าจัดการกักขังนักศึกษาพม่า อาจเนื่องมาจากสองเงื่อนไข ได้แก่

เงื่อนไขแรก คือ การ งัดข้อ ระหว่าง นายกไทยกับ UNHCR

หลังจากนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ขึ้นสู่อำนาจในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ก็มีความขัดแย้งภายในกับ UNHCR อยู่เนือง ๆ เช่น ผลกระทบจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่รุนแรงและเด็ดขาดจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 ศพ (ยิ่งกว่าเกิดสงครามกลางเมืองเสียอีก) จนเป็นเหตุให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต้องออกมาเสนอความคิดเห็นขอให้ทบทวนนโยบายนี้เนื่องจากนำไปสู่การฆ่าตัดตอน แต่นายกฯก็ไม่ฟัง

ในที่สุดองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต้องนำเรื่องนี้ไปรายงานไปยัง UNHCR เพื่อขอความช่วยเหลือในการเสนอให้ทบทวนนโยบายนี้ เพราะเป็นการ "ฆ่าหมู่" คนไทยด้วยกันเอง โดยที่ยังไม่สามารถยืนยันความผิดได้เพราะโดยหลักในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนและหลักของกฎหมายนั้น "...บุคคลมีสิทธิในการได้รับสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาเปิดเผย..." จนนายกฯทักษิณถึงกับอดกลั้นไว้ไม่ไหว จนนำไปสู่วลีอันโด่งดังที่ว่า " ... ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ..."

และ นี่คงเป็นการประกาศกลาย ๆ ว่า ... ใครใหญ่

เงี่อนไขที่สอง ผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า

รัฐบาลไทยกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่ามีข้อตกลงทางเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ดาวเทียมในพม่า และล่าสุดเรื่องสัมปทานการวางระบบโทรคมนาคมพื้นฐานในประเทศพม่า หลายโครงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้นำและนักการเมืองบางคนอยู่ ที่อาจเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการตกลงครั้งนี้ แต่เนื่องจากผู้ลี้ภัยทางการเมืองส่วนหนึ่งยังคงอยู่ในไทยและคงรกหูรกตารัฐบาลเผด็จการทหารพม่าพอสมควร ไทยจึงต้องเซ่นด้วยเครื่องบรรณาการชิ้นนี้ เพื่อการตกลงทางผลประโยชน์จะได้รวดเร็วขึ้น?

เงื่อนไขประการหลังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่เป็นตัวเร่งให้รัฐบาลไทยหลับหูหลับตาสั่ง จนลืมเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องธรรมเนียมปฏิบัติในประเด็นผู้ลี้ภัยไปโดยสิ้นเชิง เหตุใดรัฐบาลไทยต้องรีบเร่งสั่งการให้ยัดผู้ลี้ภัยทั้งหมดรวมทั้งนักศึกษาพม่าเข้าไปอยู่ในค่ายที่ไม่มีความพร้อมเพียงพอในการดำรงชีพของมนุษย์ที่จะพึงได้รับ

ความปลอดภัยอยู่ที่ไหน?

ค่ายพักพิงชั่วคราวทุกค่ายจะตั้งอยู่เรียงรายตามแนวชายแดนไทยพม่า ใกล้กับทหารพม่ามากจนน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายพักพิงชั่วคราว บ้านต้นยาง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ติดกับชายแดนไทยพม่าไม่มีการปิดแนวชายแดนคือทุกคนสามารถเดินข้ามไปมาได้โดยไม่มีการตรวจ นั่นหมายถึงทหารพม่าก็สามารถข้ามมาทำร้ายในค่ายได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งท่ามกลางสนามรบของทหารพม่า มอญ กะเหรี่ยงทั้งกะเหรี่ยงพุทธและกะเหรี่ยงคริสต์ ไม่มีความปลอดภัยใด ๆ สำหรับผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพเลย

ขาดน้ำ ขาดอาหาร ไม่มีที่พัก

สภาพความเป็นอยู่ในค่ายแย่มากเกินกว่ามนุษย์สามารถอยู่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลี้ภัยไม่ใช่อาชญากร เขาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เขาเป็นผู้มาขอความช่วยเหลือเพื่อลี้ภัยชั่วคราว ซึ่งประเทศไทยก็ต้องให้ความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ทั่วโลกควรยึดถือปฏิบัติตาม

ปัญหาที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องเผชิญคือ สภาพความแออัดในค่าย ไม่มีที่พักให้พวกเขาเพียงพอ กลุ่มที่เข้าไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา มีจำนวนถึง 300 คน แต่ในจำนวนนี้เกือบ 200 คนไม่มีที่พัก ต้องนอนใต้ต้นไม้ กลางคืนก็ยุงชุกชุมซึ่งอาจทำให้เป็นโรคมาลาเรียได้ สำหรับเครื่องนอนก็ไม่มีหมอน มีให้เพียงผ้าห่มผืนเล็ก ๆ และมุ้งเล็ก ๆ ที่ต้องใช้ร่วมกัน 1 หลังต่อคน 4 คน(ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอ) กว่าจะได้นอนต้องเลยเที่ยงคืนไปแล้วเพราะต้องระวังยุงกัด ในจำนวนนี้มีเด็กเล็ก ๆ กว่า 50 คน ในค่ายไม่มีหมอไม่มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อยู่เลย หากมีใครไม่สบายจะทำอย่างไร โดยเฉพาะในจำนวนนี้มีทั้งเด็กเล็ก ๆ ผู้หญิงที่กำลังท้อง และคนป่วย ใครจะสามารถดูแลได้ ถ้าไม่สบายจะลำบากมาก กว่าจะถึงมือหมอคงไม่ทันเวลาเสียแล้ว!

ยิ่งตอนนี้เป็นหน้าร้อน อากาศกลางวันร้อนมากบางวันร้อนถึง 34 องศาเซลเซียส ขณะเดียวกันกลางคืนก็หนาวมากเช่นกัน ในค่ายพักไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ(มีเพียงท่อน้ำที่สหประชาชาติไปสร้างให้แต่ไม่มีน้ำไหล) ลำคลองก็อยู่ไกลมากและเนื่องจากเป็นหน้าร้อนน้ำในลำคลองก็แห้งขอดเหลือเพียงน้ำเน่าเหม็น เรื่องอาบน้ำไม่ต้องคิดถึงเพราะไม่มีโอกาสอาบแค่น้ำล้างหน้ายังไม่มีเพียงพอสำหรับทุกคน

เมื่อผู้ลี้ภัยเดินทางถึงค่ายต้องย้ายที่พักไปเรื่อย ๆ มากกว่า 3 ครั้งภายใน 3 วัน โดยย้ายขึ้นภูเขาสูงไปเรื่อย ๆ ขณะที่บนภูเขานั้นยังไม่มีที่พักให้เลย แน่นอนว่าบนภูเขาสูงนั้นไม่มีน้ำมีเพียงถังเล็ก ๆ 1 ใบที่ให้ใช้ร่วมกันสำหรับทุกคนในกลุ่ม

อาหารที่แจกจ่ายให้ก็ไม่มีคุณภาพและไม่เพียงพอ มีเพียงข้าวสารที่เป็นเพียงเศษข้าวที่ถ้าเป็นคนทั่วไปคงใช้เลี้ยงหมู ทั้งเก่า ทั้งเหม็น , ถ่าน 2 ตะกร้าเล็กๆ ต่อจำนวนคน 5 คน ต่อเดือนเพื่อใช้ในการหุงข้าว , กะปิเน่า ๆ ทั้งเหม็นทั้งแฉะ , ถั่วเหลืองซึ่งพอใช้ได้ (ไม่มีปลาแห้งไม่มีเนื้อ), เกลือเปียก ๆ แฉะ ๆ, ถ้วยใบเล็ก ๆ 1 ใบต่อคน ,หม้อหุงข้าวด้วยถ่าน 1 ใบต่อ 4-5 คน , เทียนไขอันเล็ก เพียง 7 อันต่อ 1 คนซึ่งต้องใช้ตลอดทั้งเดือน อาหารและเครื่องใช้ยังชีพทุกอย่างให้น้อยมากไม่พอ และต้องใช้ด้วยกัน 4-5 คน และ 1 เดือนจะแจกจ่ายให้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น หากอาหารเหล่านี้หมดก่อนจะทำอย่างไร ในเมื่อเขาถูกสั่งห้ามออกนอกค่าย ห้ามติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก ห้ามใช้โทรศัพท์ จดหมายพัสดุต่าง ๆ ต้องถูกเซ็นเซอร์และใช้เวลานานกว่าจะถึงผู้รับ

นอกจากไม่มีความพร้อมสำหรับคนที่มาถึงแล้วยังมีปัญหาคือต่อจากนี้ก็มีคนมาเพิ่มอีกจำนวนมาก ทั้งพม่า กะเหรี่ยง มอญ โดยนักศึกษาเหล่านี้ต้องอยู่รวมกับคนที่หนีสงครามเข้ามาด้วย และไม่รู้ว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าไหร่

ที่นี่ไม่มีหมอ !! มีแต่ไข้ป่า

ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งที่ไม่สบายต้องการการดูแลเป็นพิเศษ มีคนจำนวนหนึ่งที่มีครอบครัวเป็นคนไทย แต่ไม่มีใครสามารถเข้าเยี่ยมได้แม้ทางราชการจะให้โอกาสทำเรื่องขอเยี่ยมได้แต่ในความเป็นจริง ต้องใช้เวลายาวนานมากกับการตรวจสอบของรัฐบาลและจะได้เยี่ยมหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและเกือบทั้งหมดไม่มีใครเคยได้เข้าไปเยี่ยมเลย

คำถามสำคัญคือผู้ลี้ภัยเหล่านี้คือใคร เขาคือมนุษย์หรือไม่ เขาเป็นผู้ลี้ภัยหรือนักโทษกันแน่? ? ? .

ประเด็นสำคัญอย่างยิ่งคือหากค่ายไม่มีความพร้อมสำหรับผู้ลี้ภัย ก็ควรอนุญาตให้เขาอยู่ข้างนอกได้ โดยที่ต้องรายงานตัวต่อ UNHCR อย่างเคร่งครัด ห้ามทำการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก หญิงมีครรภ์ และ ผู้ป่วย เขาเหล่านี้สมควรอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งหญิงมีครรภ์และคนป่วยต้องรักษาตัวเองต้องพบแพทย์อย่างต่อเนื่องแน่นอนเป็นอย่างยิ่งว่าการส่งตัวเขาเข้าไปอยู่ในค่าย ที่นั่น ไม่มีหมอ(ไม่ต้องคิดถึงแพทย์เฉพาะทางแค่หมอทั่วไปยังไม่มี) ที่นั่นไม่มียา แล้วเมื่อไหร่คนป่วยจะหายจากอาการป่วย เมื่อไหร่เขาจะได้เดินทางไปประเทศที่สาม เป็นอนาคตที่มืดมิด มองไม่เห็นทางออกเลยแม้นิดเดียว.

รัชนีกร ทองทิพย์
สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net