Skip to main content
sharethis

"สงกรานต์" แวะเวียนมาอีกครั้ง พร้อมกับวันหยุดยาวให้ผู้คนได้เติมเต็มชีวิต แม้จะเป็นช่วงโกลาหลบนท้องถนนที่ต้องระมัดระวังอุบัติเหตุเป็นพิเศษ แต่ก็นับเป็นวาระอันดีที่พ่อแม่ได้เจอหน้าลูก วัยรุ่น หนุ่มสาวได้ตระเวนเล่นน้ำ หรือกระทั่งคนขี้เกียจได้โอกาสนอนเท้งเต้งอยู่บ้าน

นั่นคือวันสงกรานต์ หรือ "วันขึ้นปีใหม่" ที่เราท่านต่างคุ้นเคยกันดีมาแต่โบราณกาล ก่อนหน้าที่จอมพลป.พิบูลสงครามจะมาเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม ในปีพ.ศ.2485

เปล่า ไม่ได้มาพูดถึง "ปีใหม่" เวอร์ชั่นสงกรานต์ หรือ ตรุษจีน ที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่จะพาขึ้นที่สูงไปพบความหลากหลายของเทศกาลปีใหม่ …. ณ บ้านน้ำบ่อใหม่ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของบ้านที่นั่นมีชื่อว่า "ลีซู"

ลีซู เป็นคำที่พวกเขาใช้เรียกตัวเอง ซึ่งมีนัยที่สุภาพกว่า ลีซอ ในภาษาภาคกลาง และถือเป็น 1 ใน 6 เผ่าพันธุ์ที่อพยพมาอาศัยอยู่ที่เมืองชายแดนแห่งนี้อย่างกลมกลืนมานานมากแล้ว ชนพื้นเมืองของอำเภอนี้มีทั้ง ไทใหญ่ ลีซู ลาหู่ ปกากะญอ รวมทั้งคนจีนด้วย เฉพาะที่บ้านน้ำบ่อใหม่นี้มีประชากรลีซูประมาณ 80-100 หลังคาเรือน

ปีใหม่ของลีซูอยู่ในช่วงใกล้เคียงกับตรุษจีน คือ ราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีตามปฏิทินจันทรคติ แน่นอน ขึ้นชื่อว่า "ปีใหม่" ที่นี่ก็หยุดทำไร่ข้าวโพด ปลูกข้าว ฉลองกันยาวเป็นสัปดาห์เช่นกัน

ที่นี่เหมือนดินแดนมหัศจรรย์ที่เกือบๆ จะตัดขาดกับโลกภายนอก เอาแค่ทางขึ้นดอยที่ทั้งแคบ ทั้งขรุขระ ทั้งชันเลียบขอบผา ก็เล่นเอาหลายคนขวัญหนีดีฝ่อกว่าจะถึงที่หมาย คนที่นั่นอยู่กันง่ายๆ บ้านก็เป็นไม้ไผ่ หรือไม้เนื้อแข็งตามป่า หลังคามุงแฝก ส่วนใหญ่จะยกพื้นสูงและ…ใช่แล้ว เลี้ยงหมูยักษ์ตัวดำๆ อยู่ใต้ถุน

เวลากลางคืนคือเวลาที่สวยงามที่สุดของที่นี่ เพราะท่ามกลางกองไฟ และแสงไฟนีออนจากแบตเตอรี่เพียงดวงเดียว ทุกคนจะหยิบชุดเก่งออกมาใส่เต็มยศ เพื่อเต้นรำรอบ "หินตู๊ผู่" หรือต้นไม้ปีใหม่ เสื้อผ้าลีซูนั้นมีสีสันฉูดฉาดเน้นไปทางดำ ส้ม เขียวสะท้อนแสง ผู้หญิงมีหมวกปักลูกปัดหมุดดอกไม้ และมีเครื่องเงินประดับแวววาวทั้งชุดชายหญิง

ภายใต้แสงวับแวม เพลงประจำเผ่าถูกบรรเลงจากเครื่องดนตรี "ซือบือ" ของพ่อเฒ่า ประกอบด้วย ซึงหนังแลน แคนน้ำเต้า และขลุ่ยไม้ไผ่ บรรเลงสลับกันไปมา พร้อมๆ กับจังหวะการก้าวเท้าสนุกสนานที่แม้ใครบางคนจะพยายามสักเท่าไรก็ไม่เข้าจังหวะเสียที

ใครนึกไม่ออก ให้นึกภาพหนังฝรั่งที่จับมือกันเต้นรำเป็นวงกลม การเต้นรำลักษณะนี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับหนุ่มๆ สาวๆ ที่แอบปิ๊งปั๊งกันมาทั้งปี หรือกระทั่งหนุ่มๆ ที่อื่นที่ขึ้นมาร่วมสนุกก็ตาม เทศกาลนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้หญิงสาวและชายหนุ่มได้มาพูดคุย ทำความรู้จักและสัมผัสมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น กระทั่งหนุ่มสาวหลายต่อหลายคู่ อาจถือเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมชีวิตในอนาคต ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วคนที่นี่เขาแต่งงานมีครอบครัวกันตั้งแต่อายุ 16-17 ปี

การเต้นรำ ไม่ใช่จะเต้นกันพอเป็นพิธี แต่เต้นกันฝุ่นตลบยันเช้า 5-7 คืนติดต่อกัน เริ่มจากบ้านของ "เหมอเมอผ่า" หรือผู้นำทางจิตวิญญาณของหมู่บ้านและวนไปยังบ้านอื่นๆ จนครบ ส่วนที่เต้นกันเหนียวแน่นและแสนคึกคักเห็นจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นและเด็กๆ บางช่วงก็มีการร้องเพลงโต้กันคึกครื้นระหว่างหนุ่มๆ สาวๆ คล้ายกับเพลงฉ่อยของภาคกลาง

ขณะที่หลายคนก็ผิงไฟนั่งดู ย้ายที่ทีก็กระเตงตัวน้อยเฮโลตามกันไปเป็นโขยง โดยแต่ละบ้านจะมีเหล้าต้มเองเตรียมไว้เป็นแกลอน เหล้าแรงช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและคึกคักขึ้นท่ามกลางความหนาวยะเยือกของดงดอย

ระหว่างนั่งผิงไฟ ได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องราวของที่นี่กับ "ครูเคน" และ "ครูเสือ" ครูดอยสองคนที่ขึ้นมาสอนหนังสือให้เด็กๆ บนนี้มานานหลายปี ทำให้รู้สึกเหมือนชีวิตครูดอยในนิยายเพื่อชีวิต กำลังโลดแล่นให้เห็นอยู่ตรงหน้า

นอกจากที่นี่จะมีความงดงามทางวัฒนธรรม ผู้คนก็ยังบริสุทธิ์ห่างไกลจากความแสแสร้างและความซับซ้อนของคนเมือง อย่างไรก็ตาม ที่นี่ยังมีปัญหาสำคัญเช่นเดียวกับพื้นที่ชายขอบอื่นๆ คือ เรื่องสัญชาติ และปัญหาเก่าแก่ซึ่งยังคงอยู่จนบัดนี้คือ การลงไปทำงานพื้นราบ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงหน้าตาดีที่ยึดอาชีพขายบริการทั้งที่สมัครใจและถูกหลอก เป็นปรากฏการณ์ซึ่งเป็นผลมาจากความเจริญที่คืบคลานเข้ามา

แต่อย่างน้อยที่สุด ที่นี่ก็ยังมีกลิ่นอายทางวัฒนธรรมเฉพาะตัว และประชากรหลากหลายรุ่นก็ยังคงทำหน้าที่ส่งต่อประเพณีของพวกเขาอย่างครึกครื้น

นับว่าเป็นความงดงามที่ยังไม่ถูกทำให้ซับซ้อนหรือซ้ำซากด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างในหลายพื้นที่….แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นเช่นนี้ได้อีกกี่นานในยุคอันซีนไทยแลนด์

มุทิตา เชื้อชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net