Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 เม.ย.48 "ผมอยากให้รัฐบาลทบทวนเพื่อยืนยันกฎหมายที่ประชาชนนำเสนอทั้ง 3 ฉบับด้วย ดีกว่าตัดสิทธิ์การมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายบริหารพิจารณาว่าเขาสมควรเสนอหรือไม่" นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวในการประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อพิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมายที่ยังค้างพิจารณาตามที่รัฐบาลนำเสนอเพื่อดำเนินการต่อจำนวน 41 ฉบับ

ทั้งนี้ กฎหมายที่ประชาชนนำเสนอมีทั้งสิ้น 3 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.... ร่างพ.ร.บ.สภาการเกษตรแห่งชาติ พ.ศ.....และร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.....ซึ่งรัฐบาลเสนอร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน เพียงฉบับเดียวในวันนี้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ระบุว่า อย่างน้อยที่สุดควรเปิดโอกาสให้กฎหมายเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระเบียบวาระพิจารณาไว้ก่อน แต่หากรัฐบาลหรือสภายังไม่พร้อมก็ถือว่าวาระนี้เป็นการเตรียมตัว

นอกจากนี้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านยังได้ตั้งข้อสังเกตไว้อีกหลายประการ คือ ควรนำกฎหมายซึ่งทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเห็นตรงกันเพิ่มเติมเข้ามาด้วย เช่น กฎหมายขจัดความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายบัตรเครดิต รวมทั้งกฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนบางฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)เป็นผู้เสนอรัฐสภาเอง แต่กลับไม่นำมายืนยันในครั้งนี้ เช่น พ.ร.บ.สถาบันการเงิน พ.ศ.....ซึ่งมีความ สำคัญมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนกฎหมายแม่บทที่ควบคุมสถาบันการเงิน ที่เคยเกิดวิกฤตไปแล้วเมื่อปี 2540

"เหตุที่รัฐบาลไม่ยืนยัน เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติแล้ว ได้มีการแก้ไขซึ่งทำให้ไม่ตรงกับความต้องการของรัฐบาล เช่น มีการควบคุมช่องว่างของดอกเบี้ยเงินฝากและดอดเบี้ยเงินกู้ การคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อย" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุ

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ขณะที่กฎหมายบางส่วนที่รัฐบาลยืนยันเข้ามาก็ไม่ควรยืนยัน เพราะวุฒิสภาได้ยับยั้งไปแล้ว การยืนยันกฎหมายเหล่านี้ไม่เป็นธรรมต่อวุฒิสภา เพราะหากยืนยันแล้ว วุฒิสมาชิกจะไม่ได้มีส่วนร่วมอีกต่อไป เช่น ร่างพ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่...) พ.ศ....เพราะเกรงกันว่าจะเป็นการห้ามชุมนุม ร่างพ.ร.บ.ค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน (ฉบับที่...)พ.ศ....ที่กำลังมีการนำเงินก้อนใหญ่ไปนอกระบบงบประมาณ

ในส่วนของกฎหมายบางส่วนยังมีข้อขัดแย้ง เช่น ร่างพ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะไปอยู่ในกำกับรัฐ การเสนอเข้ามาเท่ากับเป็นการยืนยันว่าจะออกนอกระบบ หากจะเดินหน้าเรื่องนี้ควรเร่งสร้างความชัดเจนในนโยบาย ไม่ให้เป็นความขัดแย้งในประชาคมวิชาการ และเพื่อความชัดเจนของฝ่ายนิติบัญญัติในการพิจารณา หากเป็นไปได้รัฐบาลควรยืนยันไปเลยว่าหลังออกนอกระบบจะอุดหนุนไม่ด้อยกว่าเดิม

"ส่วนกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมนั้น รัฐบาลเสนอกฎหมายนี้เข้ามา ในครั้งนั้นผมเป็นคนแปรญัตติว่าระบบการให้บริการพรีเพด (per-paid) ถึงเวลาแล้วที่ต้องกำกับดูแล ในชั้นกรรมาธิการก็เห็นด้วย แต่รัฐบาลก็ไม่เดินหน้า เพราะเกรงจะกระทบผู้ประกอบการ ถ้าเดินหน้าเสียตั้งแต่ตอนนั้น วันนี้ก็ไม่ต้องมาปวดหัวเรื่องจัดระเบียบซิมการ์ด สามารถใช้กฎหมายบังคับได้เลย" นายอภิสิทธิ์ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net