แบบนี้ยังมีอีกเพียบ "อายุ นามเทพ" มีฝีมือแต่ไร้ตัวตน พิสูจน์ความจริงใจรัฐต่อคนไร้สัญชาติ

ชีวิตเธอวันนี้ ก้าวเข้าสู่วัย 50 ปี แล้ว แต่เหมือนกับว่า ตัวตนของเธอยังไม่เคยได้อยู่ในโลกใบนี้มาก่อน 26 ปีที่อยู่กับเสียงเพลง ขับกล่อมและสร้างต้นกล้าแห่งดนตรีมานักต่อนัก นอกจาก Acapella 7 ,ครรชิตกับทิดแหลม, จิ๋ว The star, ETC และนักร้องอีกจำนวนมาก ที่ผ่านการเคี่ยวกรำให้เทคนิคมาจากเธอ ตัวเธอเองก็ผลิตงานด้านดนตรีอย่างไม่หยุดยั้ง เส้นทางครูดนตรีของเธอน่าจะก้าวไปได้ไกล ไปสร้างชื่อระดับสากลให้กับเมืองที่เธอพักพิงอยู่ได้มากกว่านี้ หากเพียงแต่เธอมีสัญชาติ

สิทธิ์ที่ถูกริดรอนไปจากเธอ เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่าง ที่คนไร้รัฐอีกมากในเมืองไทยกำลังเผชิญอยู่
--------

อายุ นามเทพ หญิงวัย 50 ปี อาจารย์ประจำภาควิชาดุริยศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพคือเธอคนนั้น

เธอเป็น อนุกรรมการดนตรีศักดิ์สิทธิ์แห่งประเทศไทย เป็นประธานชมรมนักร้องประสานเสียงแห่งสังฆมณฑลกรุงเทพ เป็นวิทยากรพิเศษด้านการคุมคณะนักร้องประสานเสียงทั่วประเทศ และเป็นที่รู้จักดีของบรรดาโรงเรียนดนตรีเกือบทั้งหมดในเชียงใหม่ รวมถึง เป็นอาจารย์สอนร้องเพลงให้กับศิลปินชื่อดังอีกเป็นจำนวนมาก

ชื่อของเธอกำลังเป็นที่รู้จักอีกครั้งในอีกมิติหนึ่ง เป็นมิติแห่งการรอคอยมากกว่า 50 ปี ขณะนี้ ดร.บุญทอง ภู่เจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพได้กำลังเตรียมส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานรัฐสภา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ. เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานรัฐสภา ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เพื่อพิจารณา "สัญชาติ" ให้กับอาจารย์อายุ ที่ต้องเป็นบุคคลไร้รัฐมาถึง 50 ปี ทั้งที่ได้ทำคุณประโยชน์เป็นอาจารย์สอนที่ ม.พายัพ มา 26 ปี

อาจารย์อายุ เป็นบุตรของผู้ลี้ภัยสัญชาติพม่า เชื้อชาติกะเหรี่ยง ที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ. 2499 ซึ่งครั้งนั้นอาจารย์อายุเพียง 1 ปี อาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

" ความที่คุณพ่อ นายยอร์ช แมนซราโพ เป็นผู้มีความรู้จึงได้สอนภาษาอังกฤษให้กับคนที่แม่สะเรียง นอกจากนี้ยังเป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านจนเป็นที่รักใคร่ของคนในละแวกนั้น ชาวบ้านจึงทำเรื่องไปถึงนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ หลังจากนั้น จอมพลสฤษดิ์ จึงได้เดินทางมาดูด้วยตาของตนเอง ทางครองครัวจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นครั้งแรก และ จอมพลสฤษดิ์ ได้ให้เอกสารรับรองให้ลูกๆได้รับการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น"อาจารย์อายุเล่า

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้อาจารย์อายุและพี่น้องอีก 5 คนได้เรียนหนังสือ แต่ไม่มีบัตรประชาชนสักคนเดียว โดยตัวของอาจารย์ ได้เรียนที่โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่อง
สอน ต่อมาได้มาศึกษาในโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 และจบปริญญาตรีที่วิทยาลัยพายัพ เมื่อปี 2521 จากนั้นได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยกับนายเธียรชัย นามเทพ คนสัญชาติไทย และมีบุตรชายด้วยกัน 2 คน นอกจากนี้ และทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาดุริยศิลป์ ตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน

"น้องสาวคนหนึ่งของอาจารย์ เคยเป็นพยาบาลอยู่โรงพยาบาลแมคเคน ก็ยังเป็นคนไร้สัญชาติอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีหลานชายอีกคนหนึ่งที่เป็นครูสอนเด็กพิการทางสมอง ที่โรงเรียนกาวิละอนุกูล เชียงใหม่ ที่เพิ่งจะถูกยึดสัญชาติไปเนื่องจากไปดำเนินเรื่องขอสัญชาติ ขอไปขอมาถูกยึดสัญชาติไปเลย เพราะมีพ่อเป็นคนต่างด้าว โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ"

อาจารย์อายุ ยังนับว่าโชคดีและมีโอกาสกว่าคนไร้รัฐ หรือไร้สัญชาติอีกเป็นจำนวนมาก ที่ได้ก้าวเข้าสู่แวดวงการศึกษา ทุกวันนี้เธอได้ใช้ บัตรบุคลากรของมหาลัยพายัพในการแสดงตน ส่วนบัญชีธนาคารก็สามารถเปิดได้ แต่ก็ไม่ได้ใช้บัตรประชาชน ทะเบียนสมรสก็มีแล้ว เพราะได้มาแบบฟลุ๊คๆ

"ตอนไปติดต่อขอสัญชาติแล้วนายอำเภอเข้าใจว่ามาจดทะเบียนก็เลยจดให้ " น่าขำและฟังดูเหมือนว่า ชีวิตอาจารย์ราบรื่นดีไม่มีอุปสรรค เพียงแค่ไม่มีบัตรแสดงตัวตนบนโลกใบนี้เท่านั้น แต่เมื่อถามถึงปัญหาที่อาจารย์ประสบ อาจารย์ จึงอธิบายว่า

"ปัญหาที่สำคัญคือ ไม่สามารถเดินทางไปเรียนต่อหรือดูงานทางด้านดนตรีที่ต่างประเทศได้ ทั้งที่มันเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต ในการที่จะได้นำความรู้จากต่างประเทศมาถ่ายทอดและพัฒนาดนตรีในประเทศไทย ซึ่งปกติแล้วทางมหาวิทยาลัยจะมีทุนให้อาจารย์ไปดูงานและเรียนต่อ ต่างประเทศ อาจารย์ก็ได้รับทุนนั้นแต่ไปไม่ได้เนื่องจาก ไม่มีบัตรประชาชนใช้ในการทำพาสปอร์ต และส่งผลกระทบถึงลูกๆด้วย

เมื่อก่อนลูกชายอาจารย์ ได้แชมป์อิเล็กโทน YAMAHA 2 ปีซ้อน และยังได้ทุนให้ไปเข้าค่ายดนตรีที่ต่างประเทศ แต่ไม่สามารถไปได้เนื่องจากตอนนั้นเขายังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องให้ผู้ปกครองเซ็นต์รับรอง อาจารย์เซ็นต์ไม่ได้เพราะอาจารย์เป็นคนไม่มีตัวตนบนโลกนี้ จึงทำให้ลูกต้องเสียโอกาสนี้ไป น่าเสียดายมาก แต่ตอนนี้เขาบรรลุนิติภาวะแล้วและยังมีบัตรปะชาชนด้วย"

นอกจากตัวเองจะเชี่ยวชาญด้านดนตรีระดับปรมาจารย์ ทายาทก็มีฝีมือระดับประเทศ อาจารย์อายุยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตศิลปินเพลงที่โลดแล่นอยู่ในวงการปัจจุบัน อาจารย์เล่าถึงการสอน บรรดาลูกศิษย์ศิลปินทั้งหลายว่า ได้สอนการร้องเพลงให้ อย่างเช่น Acapella 7

เป็นธรรมดาที่ครูสอนดนตรีจะสนิทสนมกับนักเรียนมากกว่าปกติ ไม่ใช่แค่เราจะสอนแต่ทฤษฎีการร้องเพลง เราต้องเป็นทั้งที่ปรึกษาทั้งเรื่องส่วนตัว และเรื่องทั่วไป เป็นผู้ให้กำลังใจ เป็นแบบอย่าง ให้เขาเพราะพวกเขาเองก็ต้องการแบบอย่าง แล้วใครจะมาเป็นแบบอย่างในการที่ดีให้เขาก็ต้องเป็นครู เพราะครูเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับพวกเขามาก

ที่สำคัญต้องสอนเขาถึงเรื่องของความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมว่า เมื่อเราเป็นศิลปิน เราต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับทุกคนโดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งระหว่างที่สอนการร้องเพลงนั้นก็ต้องสอนจริยธรรมแทรกเข้าไปด้วย ทุกคนที่ได้สอนจะสอนในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น น้องจิ๋ว The Star นายครรชิดกับทิดแหลม วงETC ก็จะสอนเหมือนกันทุกคน
อาจารย์บฤงคพ วรอุไร หัวหน้าภาคดุริยศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ได้กล่าวถึง
อ.อายุว่า เป็นผู้ที่มีความรู้รอบตัวมาก โดยเฉพาะเรื่องดนตรี ท่านสามารถสอนได้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ สอนได้ทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ ซึ่งหาได้ยากมากสำหรับคนที่มีความสามารถแบบนี้ ผลงานด้านวิชาการก็มีมาก โดยท่านจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับดนตรีเล่มใหญ่มากประมาณครึ่งหนึ่งของหนังสือโทรศัพท์ เฉลี่ยปีละประมาณ 2 เล่ม เช่น หนังสือประวัติศาสตร์ดนตรี และหนังสือคำศัพท์เฉพาะทางดนตรี ที่เป็นการแปลจากหนังสือต่างประเทศ แล้วรวบรวมไว้

นอกจากนี้แล้วด้านการเรียนการสอนอาจารย์ยังมีความสนิทสนมกับลูกศิษย์ทุกรุ่น เชื่อได้ว่า นักศึกษาดุริยศิลป์ ม.พายัพ รู้จักและจำอาจารย์ได้เป็นอย่างดี บางครั้งอาจารย์ตามไปสอนถึงที่บ้าน ไปเที่ยวกับนักเรียนนักศึกษาในวันหยุด ถ้ากำหนดวันส่งงาน ก็จะมีนักศึกษาไปส่งงานถึงที่บ้านตอนเที่ยงคืนของวันสุดท้าย อาจารย์อายุก็ยังรับอยู่

"ผมชื่นชนในความเป็นครูของท่านมาก "

เมื่อถามถึงการไร้สัญชาติของอ.อายุ หัวหน้าภาคดุริยศิลป์ ม.พายัพ บอกว่า "เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะอ.อายุเป็นคนที่มีความสามารถระดับประเทศ การไม่มีสัญชาติทำให้ท่านขาดโอกาสดีๆมากมายรวมถึงขาดโอกาสในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วย

เช่นเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการแข่งขันร้องเพลงประสานเสียงนานาชาติที่ ประเทศเกาหลี พวกเราเชื่อมั่นมากว่าถ้าหากอ.อายุมีโอกาสได้เข้าร่วมการแข่งขัน ท่านต้องได้รางวัลแน่นอน แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับประเทศไทยมาก เพราะอ.อายุ ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน สำหรับการทำพาสปอร์ต"

อาจารย์ต่อสู้เพื่อให้ได้สัญชาติมาโดยตลอดแต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจาก ไม่มีเอกสารยืนยันแสดงตัวตนการเข้าประเทศ ส่วนเอกสารที่ได้ขึ้นกับทางกระทรวงมหาดไทยครั้งแรกที่ อ.แม่สะเรียง เมื่อไปสอบถามปรากฏว่าไม่พบข้อมูล

ด้านมหาวิทยาลัยพายัพ จึงได้ดำเนินการเรื่องนี้ โดยในขณะนี้ ดร.บุญทอง ภู่เจริญ อธิการบดีเตรียมส่งหนังสือถึงนายกยกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย ประธานรัฐสภา ผบ.ตร. เลขาธิการ สมช. เพื่อพิจารณา "สัญชาติ" ให้กับอาจารย์อายุ โดยการร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย
นางพันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความเป็นไปได้ทางกฎหมายในการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่อาจารย์อายุว่ามี 2 ทาง คือ ร้องขอให้เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย ซึ่งมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2517 กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องนำเรื่องเข้าขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายแล้ว อาจารย์อายุ ก็จะยังไร้สัญชาติอยู่ และการจะไปพิสูจน์สัญชาติพม่านั้นคงจะยาก เพราะไม่มีพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารมหาชนว่าอาจารย์อายุ เกิดในพม่าและการได้มาซึ่งสัญชาติพม่าก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อนางอายุ ซึ่งเป็นมารดาของชายไทยถึง 2 คน และเป็นอาจารย์สอนดนตรีที่มีผลงานมากว่า 20 ปี

ส่วนสำหรับแนวทางที่ 2 คือร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้ ซึ่งกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยที่ให้อำนาจทำได้ก็คือมาตรา 10-12 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งมาตรา 10 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจที่อนุญาตให้นางอายุ ได้สัญชาติไทย โดยการแปลงสัญชาติ หากมีคุณสมบัติครบ 5 ประการ ดังต่อไปนี้

1.บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยและตามกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ 2.มีความประพฤติดี 3.มีอาชีพเป็นหลักฐาน 4.มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องมาจนถึงวันยื่นขอแปลงสัญชาติเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และ 5.มีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กล่าวคือ พูดได้ฟังเข้าใจไม่จำเป็นต้องเขียนได้ หรือหากพิจารณาถึงคุณประโยชน์ที่อาจารย์อายุ มีต่อประเทศไทยก็อาจใช้การแปลงสัญชาติภายใต้เงื่อนไขพิเศษ

กล่าวคือเป็นคนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับประเทศไทย ทั้งนี้ โดยมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งกำหนดให้อาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ ถ้ามีคุณสมบัติเพียง 3 ประการแรกของเงื่อนไขที่มาตรา 10 กำหนด โดยไม่จำเป็นต้องมีภูมิลำเนาเป็นเวลา 5 ปี ในประเทศไทย ก่อนร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย และโดยไม่จำเป็นต้องมีความสามารถพูดและฟังภาษาไทยได้

ดังจะเห็นว่าหากจะพิจารณาคุณานูปการที่อาจารย์อายุ สอนดนตรีให้แก่นักศึกษาไทยมายาวนาน อาจารย์ก็มีข้อเท็จจริงที่ทำให้อาจใช้สิทธิร้องขอแปลงสัญชาติไทยภายใต้เงื่อนไขพิเศษดังกล่าว
ความฝันของ อาจารย์อายุจะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงไร ในแนวนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ต้องมองไปที่ยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิและสถานะบุคคลซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะ
รัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548

"อาจารย์อายุเป็นบุคคลในกลุ่มที่อพยพเข้ามาในประเทศและอาศัยอยู่เป็นเวลานานแล้ว หรือกลุ่มบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทย หรือกลุ่มคนที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศ ได้แก่ บุคคลที่มีผลงาน ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ถูกดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและอย่างจริงจังทั้งระบบภายใน 2 ปี ปัญหาของอาจารย์อายุ นั้นก็น่าจะอยู่ในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ ถ้ารัฐบาลรักษาสัญญาที่ให้ไว้ในมติคณะรัฐมนตรีนั้น" อาจารย์พันธุ์ทิพย์ กล่าว.

2 ปี คงไม่นานเกินไป สำหรับผู้ที่ได้อยู่ในสถานะที่ไร้รัฐมาถึง 50 ปีเต็ม !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท