"วิชาชีวิต" แบบเรียนเสนอแนะจากคนสองรุ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เด็กเยาวชนที่เรียนหนังตะลุง จาก จ.สุราษฎร์ธานี ฝึกเล่นการละเล่นของชนเผ่าปกาเกอะญอ จาก อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
-----------------------------------------------------------------------

ครบรอบ ๑๑๓ ปีของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑ เมษายนที่ผ่านมา ความเข้มข้นของการปฏิรูปการศึกษาถูกบอกเล่าโดยหัวขบวนของกระทรวงว่าตั้งแต่นี้ต่อไป ทุกสถานที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ศึกษา ไม่ใช่มุ่งใช้เพียงห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบๆ เป็นที่นั่งเรียน

แต่กว่าที่นโยบายนี้จะฉายชัดเป็นรูปธรรม ในวันเดียวกันนั้น ที่ลานสนามหญ้าของสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ได้เปิดมิติใหม่ของ "ห้องเรียนชุมชน" ก้าวนำหน้ากระทรวงศึกษาไปแล้ว

งาน "มหกรรมห้องเรียนชุมชน" จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๓ เมษายนที่ผ่านมา เป็นผลสืบเนื่องจากการมองเห็นศักยภาพในชุมชนที่สามารถพึ่งตัวเองได้โดยไม่ต้องอิงกับการศึกษาในห้องเรียนอย่างที่เคยเป็นมา การคัดเลือกพื้นที่ ๗ แห่งของการเรียนรู้จึงเกิดขึ้น โดยความตั้งใจจะให้คนในชุมชนออกมาสื่อสารกับคนเมืองโดยตรง

ศิวกร โอ่โดเชา หรือ แซวะ ลูกไม้ใกล้ต้นของพะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ผู้เฒ่าปกาเกอะญอ และยังสวมหมวกผู้ประสานงานเครือข่ายลุมน้ำวางตอนบน ให้ความเห็นต่อภาพงานว่า "ในพื้นที่เล็กๆ ที่ใช้จัดงานครั้งนี้ เราเห็นชีวิตที่เป็นอยู่จากทั้ง ๗ แห่ง คือทุกแห่งเป็นความพยายามของการทำให้พื้นที่เล็กๆ มีชีวิต มีสีสัน เป็นการสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้มีคุณค่าขึ้น"

๗ แหล่งเรียนรู้ที่กล่าวถึงประกอบด้วยชุมชนจากภาคเหนือ ๒ แห่ง คือ ลุ่มน้ำแม่วาง และชุมชนบ้านแม่ทา จ.เชียงใหม่ ซึ่งความโดดเด่นในด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม่วางเป็นชุมชนปกาเกอะญอที่เติบโตมาจากวิถีการจัดการดิน น้ำ ป่า ให้สมดุลกับวัฒนธรรมความเชื่อของคนบนดอย มีการใช้คำสอนแต่โบราณเป็นจุดเชื่อมร้อยความยั่งยืนของวิถีชีวิต ส่วนแม่ทา เป็นชุมชนสมัยใหม่ที่เกือบจะถูกการค้ากลืนกินวิถีดั้งเดิม จนต้องพลิกชีวิตให้กลับมาหาอยู่หากินให้ได้ โดยยึดเอาการเกษตรแบบผสมผสานและเกษตรอินทรีย์เป็นทางรอด

นอกจากนั้นก็มีบ้านแม่เปิน-แม่วงก์ นครสวรรค์ที่เน้นสร้างงานจากพืชริมรั้วหลังจากประสบความล้มเหลวจากการเกษตรเชิงเดี่ยวเมื่อหลายปีก่อนมาแล้ว พื้นที่แก่งเสือเต้นที่มีเยาวชนศึกษาชีวิตผ่านสายน้ำยมที่ร้อยรัดเข้ากับวัฒนธรรมล้านนา

ทางภาคตะวันออกมีพื้นที่จากกลุ่มรักษ์เขาชะเมา จ.ระยอง มาบอกเล่าวิถีชนบทที่คาบเกี่ยวกับความเป็นเมืองเพราะอยู่ในเขตการสร้างภาคอุตสาหกรรมของรัฐ การสร้างบ้านดินให้กลายเป็นโรงเรียน โรงเล่นของเด็กๆ จึงเกิดขึ้นจากการโหยหาวัยเยาว์ที่ขาดหายไป

ภาคใต้เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ เนื่องจากมีกลุ่มเยาวชนที่ร่วมเปิดห้องเรียนของตัวเองมากเกือบ ๑๐ กลุ่ม โดยแรกๆ มาจากกลุ่มกิจกรรมในโรงเรียนก่อนจะพัฒนามาเป็นเครือข่ายตามชุมชนในอำเภอต่างๆ จนกระทั่งปัจจุบันก้าวไปสู่การสืบสานภูมิปัญญาโดยเข้าไปร่วมกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

แหล่งเรียนรู้สุดท้ายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือพื้นที่ปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูน ซึ่งทุกวันนี้ พ่อใหญ่แม่ใหญ่ไม่ได้จับไมค์เรียกร้องสิทธิแล้ว แต่หันมากู้วิถีหาเลี้ยงชีพด้วยการกู้บ้านพรานปลาปากมูนกลับคืนสู่ท้องน้ำ หลายๆ คนพอเห็นหน้าคนจากปากมูนก็มักจะคิดว่ามาตั้งม็อบแน่ๆ แต่ถ้าถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่นั่นก็มักจะได้รับคำตอบว่าชีวิตคนเราเป็นการเมืองอยู่ทุกขณะ

"หลักใหญ่ๆ ในการเรียนรู้มีสามอย่างคือ สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ต้องพูดให้มันครบ ไม่ใช่แค่โฮงเฮียนก็เป็นแหล่งเรียนรู้ได้แล้ว ลองคิดดูแม้แต่เรานอนหลับเรายังเล่นการเมือง ไม่เล่นยังไง ดูอย่างที่นอน หมอน มุ้ง เสียภาษีร้อยละ ๗ นะ ตื่นเช้ามาเข้าห้องน้ำ เปิดไฟ ใช้น้ำ ก็เสียเงิน" พ่อสมเกียรติ พ้นภัย ครูภูมิปัญญาไทบ้านจากอุบลราชธานี แจงแจงให้ฟัง

สอดคล้องกับ แซวะที่ชี้ชัดว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่เรียนรู้ที่สำคัญที่สุด "ห้องเรียนเป็นเพียงแค่ทฤษฎีที่คุณจำเขามา คุณไม่ได้อยู่ในพื้นที่จริง ไม่ได้ทำกิน ใช้เอง แต่ในชุมชนเป็นความรู้ที่แต่ละคนเอาไปใช้ได้จริง ซึ่งความรู้ในระบบการศึกษาเอาไปใช้ไม่ได้เลย"

จะเห็นได้ว่าการศึกษาทางเลือกที่เคยกล่าวกันในวงแคบๆ เมื่อหลายปีก่อน แท้จริงแล้ว มีการปฏิบัติสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นมานาน แต่ในกลุ่มคนชั้นกลางของประเทศกลับระบุว่าคนในชนบทอันห่างไกลเป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีอันจะกิน ขณะเดียวกันก็มองข้ามความสามารถในการพึ่งพาธรรมชาติ และการอยู่ได้อย่างพอเพียงของพวกเขา

"ความรู้ของวิถีชีวิตสืบทอดกันมานาน แต่ถูกกระแสทุนนิยมครอบงำ ลดถอยความสำคัญลงไป แต่พอได้นำกลับมาใช้จริง จะเห็นว่าแม้ไม่มีเงินก็อยู่ได้ ความรู้อย่างนี้มีประโยชน์และประเมินค่าไม่ได้เลย" พ่อสมเกียรติ เท้าความและบอกถึงความสำคัญของการเรียนรู้ชุมชน

แซวะ เสริมในประเด็นนี้ว่า "ตอนนี้กระแสสังคมส่วนใหญ่ ทั้งแนวนโยบายการพัฒนาไม่ได้ชูว่าการเรียนในชุมชนเป็นนโยบายหลัก ไม่ได้ชูสังคมที่สามารถพึ่งตนเองได้ แต่สังคมชูเรื่องการใช้เทคโนโลยี ชูเรื่องการตามคนอื่น เลียนแบบคนอื่นได้ดี สังคมชูกระแสนิยมที่ตัดกับชีวิตจริง กระแสนี้แรงมาก"

แม้ว่าจะเป็นครั้งแรกของการเปิดวิชาชีวิตในห้องเรียนชุมชนสู่สายตาของคนเมือง แต่นับว่าได้ผลมากพอสมควรเมื่อมีคนจากทั่วทุกสารทิศมาชมงานด้วยความตั้งใจ บ้างกลับไปพร้อมความกระจ่างชัด บ้างกลับไปทั้งที่คำถามยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ตรงนี้พ่อสมเกียรติแสดงทัศนะว่า

"งานครั้งนี้เป็นความมหัศจรรย์ครั้งยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน เพราะได้นำความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วสารทิศมารวมกัน เอาภูมิปัญญามาบอกเล่าให้เกิดการรวมกันจนเป็นสิ่งที่น่าสนใจในเมืองใหญ่ ซึ่งคนในกรุงเทพฯ ก็มีจากทุกทิศที่เข้ามาทำงาน อย่างน้อยที่นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของประกายความคิดให้เขารู้จักวิถีดั้งเดิม ก่อนที่วันหนึ่งเขาจะกลับไปอยู่บ้าน"

แซวะ ทิ้งท้ายกับวิชาชีวิตจากชุมชนปกาเกอะญอของเขาว่า "สิ่งสำคัญของงานนี้คือ ห้องเรียนป่าความรู้ลุ่มน้ำวางแตกต่างจากในโรงเรียน เพราะนี่คือวิถีชีวิต เป็นการใช้ชีวิตจริง และเป็นการชี้ทางรอดว่าคุณจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไรในอนาคต"

สำหรับพ่อสมเกียรตินั้น ยืนยันว่าในห้องเรียนพรานปลาของพ่อ เด็กๆ ที่มาเรียนจะได้รับประโยชน์สองอย่างหลักคือ เด็กไม่มีทางหลบห้องเรียน และที่สำคัญไม่มีคำว่าตกงาน พร้อมทั้งกล่าวบทสรุปเตือนใจว่า

"สังคมทุกวันนี้ ผมว่าการพัฒนาไปสูงสุดแล้ว ทรัพยากรไม่มีป้อนโรงงานแล้ว เมื่อขึ้นสูงสุดก็ต้องกลับลงมา เหมือนบั้งไฟที่หมดดินประสิวแล้วก็ต้องโค้งกลับลงมายังดินเดิมที่มันจากไป"
รายงานโดย อุษามาศ เฉลิมวรรณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท